ปลูกข้าวให้ได้กำไร สไตล์ “ชาวนาขี้เกียจ”


ปลูกข้าวให้ได้กำไร สไตล์ “ชาวนาขี้เกียจ”

            ตามที่เราได้รับรู้มา อาชีพชาวนาคือคนที่เอาหลังสู้ฟ้า เอาหน้าสู้ดิน ต้องขยันขันแข็งทำมาหากิน ตื่นแต่เช้ามืด หากตะวันไม่ตกดินก็ไม่ได้กลับบ้าน แต่กับ ประเสริฐ พุ่มพวง และ ขวัญชัย เอี่ยมสะอาด ชาวนาตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เขาเลือกที่จะเป็น “ชาวนาขี้เกียจ” ไม่ต้องไปสนใจแปลงนาของตัวเองมากนัก

            คำถามคือ ทำไมพวกเขาถึงทำได้ ?

            “ทำนาอินทรีย์” คือคำตอบ โดยคิดค้นและผลิตน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยและดินชีวภาพ ไปใช้ในแปลงนาของตนเอง ได้ผลผลิตอย่างงาม มีกำไรเหลือมากกว่าการทำนาแบบเคมี นอกจากนี้ยังเผยแพร่ความรู้นี้ไปยังเพื่อนๆ ชาวนาด้วย

            ประเสริฐ พุ่มพวง หรือ “พี่จุก” บอกว่า เขาศึกษาเรื่องน้ำหมักชีวภาพมานานถึง 8 ปี ศึกษาจากคนที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แล้วนำมาประยุกต์เป็นสูตรของตัวเอง ลองผิดลองถูก จนขณะได้สูตรน้ำหมักชีวภาพมากมายหลายชนิด เช่น สมุนไพรไล่แมลง ไล่เพลี้ย จุลินทรีย์ขุยไผ่ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ซุปเปอร์ฮอร์โมน ปุ๋ยปลาหมัก ฮอร์โมนไข่ เป็นต้น แล้วนำไปทดลองใช้บนผืนนาขนาด 2 ไร่ของตัวเอง ก่อนจะไปใช้กับที่นาอื่นๆ

            น้ำหมักชีวภาพของพี่จุกใช้เงินไม่ถึง 300 บาท ใช้ได้ทั้งบำรุงข้าว บำรุงดิน บำรุงน้ำ และไล่แมลงได้มากกว่า 10 ไร่ แต่หากใช้เงินจำนวนเดียวกันไปซื้อยาเคมีได้แค่ลิตรเดียว หรือจะไปจ้างคนฉีดเขาก็จะคิดไร่ละ 50 บาท หากทำนามาก ก็ต้องใช้เงินมากตามไปด้วยและต้องพ่นหลายรอบ

            “อย่างที่นา 10 ไร่ ถ้าไปจ้างเขาฉีดก็ต้องต้องจ้างไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท แต่ใช้น้ำหมักชีวภาพของผมที่ขายลิตรละ 50 บาท ก็เสียไม่ถึง 300 บาท หรือจะหมักทำเองก็ได้ ไม่ยาก” พี่จุก บอกและว่า “ถ้าเราทำนาแบบอินทรีย์จะช่วยลดต้นทุน อย่างนาเคมีจะมีต้นทุนไร่ละประมาณ 5,000-6,000 บาท แต่นาอินทรีย์จะมีต้นทุนเพียงประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมดินเราก็หมักซังข้าวให้เป็นปุ๋ยบำรุงดินด้วยการใช้น้ำหมักสลายตอซัง ซึ่งเมื่อดินดีมีแร่ธาตุก็จะช่วยลดอัตราการใช้ปุ๋ยอื่นๆ เมื่อหว่านข้าวแล้วก็ฉีดพ่นฮอร์โมนต่างๆ ตามช่วงเวลา และอาการที่พบ เช่น ฮอร์โมนสังเคราะห์แสง ช่วยแร่งการเจริญเติบโต  เวลาฉีดแต่ละครั้งใช้น้ำหมักสมุนไพรผสมน้ำหมักไล่แมลงต่างๆ ฉีดคลุ่มและบำรุงในคราวเดียวกัน ถ้าไม่มีราก็ไม่ต้องใช้กันรา ฉีดเหมือนทั่วไปๆ ปลอดภัยไม่ต้องกลัว ไล่แมลงได้แทบจะ 100%”

            ประเสริฐ หรือจุก ยอมรับว่า เขาทำนาแบบขี้เกียจ เพราะไม่ต้องไปดูแลแปลงนาให้มากมาย บางคนเห็นข้าวไม่เขียว ก็รีบฉีดยา ยิ่งไปบำรุงให้ข้าวงามเท่าไหร่ แมลงก็ยิ่งมามากขึ้นเรื่อยๆ พอแมลงมาก็ต้องพ่นยาฆ่าแมลงอีก เสียเงินหลายรอบ ทำให้ต้นทุนสูง

            เขาจึงแนะนำว่า ต้องปล่อยให้ข้าวมีสีเขียวกลางๆ ไม่ต้องให้เขียวสดมาก เวลามีแมลงก็ใช้น้ำหมักสมุนไพรไล่ไป ไม่ต้องฆ่า เพราะถ้าใช้ยาฆ่าแมลงจะทำให้แมลงทุกชนิดตายหมด ซึ่งจริงๆ แล้วในแปลงนาจะมีแมลงที่เป็นทั้งศัตรูและเป็นมิตรกับต้นข้าว เช่น แมลงปอกินหนอน แมงมุมน้ำกินเพลี้ยกระโดด ซึ่งจะเป็นวงจรแมลงที่คอยดูแลนาข้าวโดยอัตโนมัติ

            “เมื่อกลไกในนาทำหน้าที่ของมันเอง ผมก็ไม่ต้องไปดูแลแปลงนาทุกวัน ไปเป็นรอบๆ ก็พอ ผลผลิตก็ขอแค่ 70-80 ถังต่อไร่ ไม่ต้องถึงไร่ละเกวียนเหมือนนาเคมีที่คาดหวัง เพราะต้นทุนเราต่ำกว่า เงินก็จะเหลือมากกว่า” พี่จุก บอก

            ขณะที่ ขวัญชัย ถือเป็นชาวนามือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำนาได้เพียง 4 ปี แม้จะไม่เคยทำมาก่อนเลยก็ตาม แต่ก็พยายามศึกษาหาความรู้อยู่เรื่อยๆ จนกลายมาเป็น “หมอดินอาสา”

            ขวัญชัย กล่าวว่า อาชีพหลักของครอบครัว คือ ธุรกิจขายปลาย่าง แต่เพราะความชื่นชอบธรรมชาติ และเห็นที่นาของพ่อตา จึงขอแบ่งมาทำเอง 2 ไร่ ใช้ทุน 20,000 บาท ขาดทุนทุกปี พอเข้าสู่ปีที่ 3 -4 ก็หันมาทำแบบชีวภาพ ทำนา 15 ไร่ ก่อนทำ เขาได้มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ คือทำนาก่อนผู้อื่น เพื่อไม่ให้ผลผลิตออกมาพร้อมกัน สุดท้ายได้ผลผลิต 13 ตัน ขายได้ตันละ 8,600 บาท ขณะที่คนอื่นขายทีหลังได้ 6,000 บาท

            เคล็ดลับในการเพิ่มผลผลิตของขวัญชัย คือ ปุ๋ยมูลสัตว์อัดเม็ดจากมูลสัตว์ 3 ชนิด ได้แก่ สุกร 60% นกกระทา 30% และไส้เดือน 10% ซึ่งมูลสัตว์แต่ละชนิดจะมีแร่ธาตุสำคัญในการบำรุงดิน บำรุงต้นข้าว เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟอร์ เป็นต้น จากนั้นเคล้ารวมกันใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง น้ำหมักฮอร์โมนต่างๆ ไป แล้วใช้เครื่องบดเป็นปุ๋ยอัดเม็ดแล้วไปตากแดด

            “เราใช้ปุ๋ยหมักให้ผลดีเท่ากับปุ๋ยเคมี แต่ต้นทุนเราถูกกว่าเยอะ อย่างปุ๋ยเคมีตอนนี้กระสอบละประมาณ 500-600 บาท แล้ว แต่ปุ๋ยหมักเราใช้ต้นทุนเพียงไม่กี่ร้อยเท่านั้น” ขวัญชัย กล่าว

            การทำนาแบบขี้เกียจของ “ประเสริฐ” และ “ขวัญชัย” สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากถึงครึ่งหนึ่ง ทำให้มีกำไรเหลือ ประกอบกับการทำอาชีพเสริม มีรายได้จากหลายทาง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

            ทั้งน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยชีวภาพ ปัจจุบันได้ถูกถ่ายทอดให้เพื่อนชาวนา ภายใต้ โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวจาก 10 ตำบล รวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำทุกเดือน เผยแพร่และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นโครงข่ายให้เพื่อนเกษตรกร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

          เหตุนี้-หนึ่งในทางรอดของชาวนาไทยยุคปัจจุบัน คือลดต้นทุนการทำนาลงให้ได้ โดยทำนาแบบอินทรีย์ พึ่งพาสารเคมีให้น้อย ดังที่เกษตรกรชาวพระนครศรีอยุธยากลุ่มนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว

หมายเลขบันทึก: 643364เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2017 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2018 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมในการทำนาแบบขี้เกียจแต่ดีต่อระบบสิ่งแวดล้อม ได้หมดเลย เยี่ยมมากๆนะคะ ผลผลิตสูง ลดต้นทุน 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท