เหตุแห่งความสุข


เหมือนจะตกผลึกในความคิดประการหนึ่งว่า ความสุขของคน มาจาก ๓ ทางเท่านั้น ได้แก่ ๑) สุขจากการเสพ ๒) สุขจากการสร้าง และ ๓) สุขจากความสงบ   

๑) ความสุข จากการ "เสพ" 

การได้สุขสมใจ สมปรารถนาทางรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส  (กามคุณ ๕)  ความสุขแบบนี้หากเลยขอบเขตของศีล ๕ จะนำพาผู้เสพลงต่ำไปสู่ภพภูมิที่ต่ำลง  แรงผลักดันให้เสพสุขประเภทนี้คือ "กิเลส" 

  • หลงเสพจนติดสุขจากการกิน ดื่ม เล่น เพลินไปกับอบายมุข ๖ ขาดจากศีล ๕ มีสัตว์เดรัจฉาน เป็นที่ไป 
  • เสพแล้วยึดมั่น มีทิฐิ มานะ อัตตา มีอสุราหรืออสุรกาย เป็นที่ไป 
  • อยากเสพจนเกิดความโลภ อยากได้ อยากมี อยากเป็น จนเลยขอบเขตของศีล มีเปรตวิสัยเป็นที่ไป 

ความสุขจากการเสพนี้ น่าตรงกับว่า "เสพสุข" ของมนุษย์โลก ณ ขณะ พ.ศ. กึ่งพุทธกาลนี้ที่สุด 

๒) ความสุข จากการ "สร้าง" 

สุขจากการสร้าง เกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีการสร้างสรรค์ "ความดี" หรือสร้างสรรค์สิ่งดีเท่านั้น  ต้องเป็นการสร้างสิ่งดีที่ไม่ทำให้คนอื่นหรือสัตว์อื่น ๆ เดือดร้อน สิ่งที่เรียกว่า "ความดี" คือสิ่งที่ทำแล้วนำสุขมากให้ ไม่ก่อทุกข์โทษในภายหลัง ทำแล้วเกิดจิตกุศล หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า "ทำบุญ"  แรงผลักดันให้สร้างสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ ความอยากดี บางทีก็อยากได้รับการยอมรับชื่นชมจากคนที่ตนรักและสังคม

๓) ความสุข จากความสงบ 

ความสุขจากความสงบ เกิดจากความไม่เสพ และไม่สร้าง แต่เป็นการละวางความอยาก ใช้สติและสมาธิ ตามรู้ตามดูให้เท่าทันกิเลสที่จะมาให้เรา "เสพ" และ "สร้าง"  พระพุทธเจ้าตรัสว่า 

ความสุขใดเสมอด้วยความสุขจากความสงบไม่มี ครูบาอาจารย์ทุกรูปสอนตรงกันหมด ท่านบอก ความสุขทางโลก ในที่นี้ก็คือ ความสุขจากการเสพนั้น เหมือนกินเนื้อติดฟัน เหมือนเด็กสุขจากการเล่นสนุกกับโคลนดิน ดังนั้น หากจะให้เรียงลำดับระดับความสุขทุกท่านคงจะทราบคำตอบได้ไม่ยาก

ขอขยายความประกอบภาพนี้ 


  • ทางสายเอกสายเดียวที่จะไปถึงความสุขนิรันดร์ คือการเข้าสู่นิพพาน เปรียบเหมือนเส้นตรงที่วางกลางชี้ไปทางที่จะทะลุออกไปจากโลกียะ
  • การสร้างความดี จะทำให้จิตใจเบาสบาย เปรียบได้กับการ "ลอยขึ้น" หากตายไปก็จะได้ไปอยู่ในภพภูมิสวรรค์เป็นเทวดาชั้นต่าง ๆ 
  • การเสพสิ่งตามใจ เปรียบเหมือนการไหลไปตามกิเลส  พระพุทธเจ้าสอนว่า จิตใจที่ไม่ได้รับการฝึกฝน จะไหลลงต่ำไปตามกิเลส  ดังนั้นจึงวาดวงจรแห่งความสุขแบบโลก ๆ นี้ไว้ด้านล่าง 

จำได้ว่า ในตำราเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีเทวดามาถามพระพุทธเจ้าทำนองว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านสามารถข้ามโอฆะได้อย่างไร"  พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า  "ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว"  (โอฆะ คือ ห้วงน้ำในที่นี้คือกิเลส ข้ามโอฆะคือข้ามกิเลส) เทวดาองค์นั้นถามว่า "ไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ เป็นอย่างไรเล่า" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "เมื่อพักอยู่คือจมอยู่โดยแท้ เพื่อเพียรอยู่คือลอยอยู่โดยแท้ ไม่พักและไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้ว" .... 

เราโชคดีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนาที่พระธรรมดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์ยิ่ง ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านฟัง ศึกษา และปฏิบัติ โดยเฉพาะธรรมที่ถ่ายทอดโดยหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช 

หมายเลขบันทึก: 642961เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2017 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2017 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท