การจัดการความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมโรค


ทีมแกนนำที่เข้มแข็งจะสามารถนำพากระบวนการ KM ไปสู่จุดมุ่งหมายที่วางไว้ได้ตามที่ได้รับมอบหมาย

     เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2549 ได้มีโอกาสนำเสนอประสบการณ์การจัดการความรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตร ในเวทีการสัมมนาวิชาการเรื่องการจัดการความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมโรค กระบวนการเรียนู้และเครือข่าย ณ โรงแรมนารายณ์

                            prevent-disease1.gif

     การสัมมนาครั้งนี้จัด 3 วัน(27-30 พ.ย.2549) มีภาคนิทรรศการ และภาคบรรยายในห้องเรียน มีการนำเสนอประสบการณ์จริงของหน่วยงานภายในกรมฯ 3 หน่วยงานและเชิญวิทยากรภายนอกหน่วยงานภาคราชการและภาคประชาสังคมได้แก่คุณภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดิฉันจากกรมส่งเสริมการเกษตร คุณจันทนา หงษา มูลนิธิข้าวขวัญ และนายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง เครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์  และนายแพทย์พิเชษฐ์ บัญญัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก รวมทั้งการศึกษาดูงาน ณ กรมศุลกากร และกรมราชทัณฑ์อีกด้วย

                                          ภาคนิทรรศการ

                                   prevent-disease3.gif

 

          prevent-disease7.gif            prevent-disease5.gif

     ผู้จัดได้มีการเตรียมการสัมมนาล่วงหน้า ดิฉันเองก็ได้รับการติดต่อให้มาเป็นวิทยากรล่วงหน้านานพอสมควร จึงได้สอบถามความต้องการของผู้จัด ทราบว่าต้องการให้เล่าเรื่องประสบการณ์ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันว่าทำอะไรไปบ้างอย่างไร โดยมีประเด็นสำคัญคือ

  • จุดเริ่มต้นและที่มาของการทำ KM
  • ขั้นตอนการทำ KM
  • ความสำเร็จของการทำ KM
  • ผลสำเร็จโดยอ้อม
  • ปัญหาและอุปสรรค
  • ทักษะและเทคนิคต่าง ๆ ในการทำ KM
  • ปัจจัยความสำเร็จ ข้อแนะนำในการทำ KM

     ดิฉันได้พยายามเตรียมเนื้อหาและประเด็นในขอบเขตที่ผู้จัดต้องการในประเด็นของปัจจัยความสำเร็จเล็ก ๆ หลายจุดที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นจุดเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ได้สร้างกระแสการตื่นตัวของการจัดการความรู้ไปทั่วทั้งองค์กร   นอกจากนี้มีกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ ทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่สบาย ๆ มีความสุข มีความสนุกเกิดขึ้นในวงการทำงานขององค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรม KM

     เมื่อจบการนำเสนอ ได้มีผู้ถามคำถามว่า CKO เป็นปัจจัยความสำเร็จแต่จะทำอย่างไรหาก CKO ไม่ให้ความสนใจ เรื่องนี้ดิฉันได้บอกว่า หาก CKO เฉย ๆ แสดงว่าท่านสนับสนุนแล้ว และเราควรมีเทคนิคเฉพาะเป็นรูปแบบการกระตุ้นทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการควบคู่กันไป  ประเด็นนี้บางครั้งอาจมองว่าCKO ไม่ให้ความสำคัญ ดิฉันคิดว่าในวงราชการไทยมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่CKO จะต้องดำเนินการหลายเรื่องที่เราไม่เข้าใจ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องทำ โดยเฉพาะประเด็นนโยบายและการเมือง อย่างไรก็ตามเราอาจจะต้องมีทีมแกนนำที่เข้มแข็งจะสามารถนำพากระบวนการ KM ไปสู่จุดมุ่งหมายที่วางไว้ได้ตามที่ได้รับมอบหมายเพราะมีภาคบังคับจาก ก.พ.ร.

     ประสบการณ์จากการเป็นวิทยากรในครั้งนี้ ได้รับรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่สำนักจัดการความรู้ของกรมควบคุมโรคพยายามสรรหามาให้แก่ผู้เข้าสัมมนา มีการจัดทำเอกสารความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนนิทรรศการหน่วยงานดีเด่นด้านการจัดการความรู้ภายในกรมฯ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ส่วนราชการพยายามเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง KM  ก็หวังว่าจะได้พันธมิตรเพื่อการ ลปรร.เรื่องนี้อันจะนำไปสู่การพัฒนาคน งานและองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องความสำเร็จได้โดยง่าย

ธุวนันท์ พานิชโยทัย

29 พ.ย. 2549

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 64181เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท