จากการที่ได้ทำงานในชนบทมาหลายปี ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมาพอสมควร ได้พบกับแพทย์ที่จบมาจากสถาบันต่างๆหลายแห่ง ได้เรียนรู้วิทยาการทางการแพทย์หลายอย่างที่หมุนกลับไปมาดั่งล้อเกวียน ผมมีความเห็นว่าการศึกษาแพทยศาสตร์เพื่อประชาชนไทยน่าจะมีการปรับปรุงมากขึ้น เราจะพบว่าความต้องการของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความเชื่อมั่นต่อแพทย์เริ่มลดลง ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์เริ่มมากขึ้น นั่นไม่ใช่เพราะหลักสูตรแพทยศาสตร์เดิมไม่ดี แต่สังคมเปลี่ยนไป หลายครั้งที่พบว่าแพทย์จบใหม่ไม่สามารถอยู่ในชนบทได้อย่างมีความสุขอาจเนื่องมาจากการขาดเครื่องมืออุปกรณ์ การไม่เข้าใจชาวบ้าน การไม่ชินอยู่กับชีวิตชนบทเพราะเติบโตและศึกษาในเมืองใหญ่มาตลอด ทำให้บริการสุขภาพในปัจจุบันจึงไปเน้นที่Hi tech มากกว่า Hi touch เน้นรักษาโรคมากกว่ารักษาคน ผมจึงได้ลองเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยน ดังนี้
- สอนให้เป็นคนก่อนเป็นหมอ
- สอนให้รู้จักคนก่อนรู้จักไข้
- สอนให้รู้จักสังคมชุมชนก่อนรู้จักโรงพยาบาลหรือห้องผ่าตัด
- สอนให้รู้จักสุขภาวะก่อนรู้จักทุกข์ภาวะ
- สอนให้มองภาพรวมหรือองค์รวมก่อนแยกส่วน
- สอนให้สร้างก่อนซ่อม
- สอนให้รู้จักโรงพยาบาลที่ขาดแคลนก่อนโรงพยาบาลที่มีพร้อม
เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้คน ครอบครัว สังคม ชุมชนก่อนเนื่องจากส่วนใหญ่เด็กเรียนเก่งก็มัวแต่อ่านตำราหรือกวดวิชาอยู่ในห้องเรียน กลับบ้านมืดค่ำ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์ กับชุมชนไป ผมคิดว่าในปีแรกของการเป็นนักศึกษาแพทย์ น่าจะให้เรียนรู้เรื่องของสังคม ชุมชน คนปกติก่อนโดยให้อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนและเรียนรู้หมู่บ้านก่อนพร้อมทั้งเรียนรุ้แนวคิดเวชศาสตร์ชุมชนและเวชศาสตร์ครอบครัว สังคมศาสตร์ เป็นต้น ส่วนความรู้Basic scienceก็ลดลงหรือหรือเปลี่ยนวิธีเรียนโดยให้ศึกษาจากตำราหรืออินเตอร์เน็ตแล้วให้จัดทำรายงานส่งในลักษณะของPBLก็ได้ เอาเวลามาเรียนรู้ชีวิตจริงก่อนที่จะขึ้นชั้นพรีคลินิกและชั้นคลินิกต่อไป ในปีที่ 2-6 ยังคล้ายๆแบบเดิมแต่พยายามเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบบูรณาการหรือAction Learning และเพิ่มการเรียนรู้ชุมชนชั้นปีละ 1 เดือนเพื่อไม่ให้นักศึกษาห่างหรือลืมความเป็นชุมชน
ผมก็คงได้แต่เสนอเท่านั้นเพราะคงไม่ค่อยมีใครสนใจนักเพราะส่วนใหญ่ก็อยากจะให้เรียนแต่ตำราแพทย์ ตำราโรคกัน ซึ่งเรียนเท่าไหร่ก็จำไม่ไหว เพราะหลายอย่างที่เรียนไปไม่ได้ใช้ ที่ใช้ไม่ได้เรียนต้องมาหาอ่านเอง ยิ่งความรู้ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นทุกวันๆ อีกหน่อยถ้าเรียนแบบนี้อาจต้องเรียนแพทย์ 9 ปี 10 ปีก็ได้
ในโรงพยาบาลชุมชนจะเป็นแหล่งความรู้ในเรื่องต่างๆทางสุขภาพมากมาย ใกล้ชิดชุมชน วิชชาชีพต่างๆมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันมาก หากมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้านสุขภาพปรับการเรียนการสอนและใช้พื้นที่จริงในโรงพยาบาลชุมชนก็จะทำให้นักศึกษาได้นำทฤษฎีหลักการมาฝึกใช้จริงทำให้รู้ลึกและรู้รอบพร้อมทั้งรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นจริงของชุมชนและสังคมมากขึ้น เพียงแต่ว่าช่วยเสริมศักยภาพในด้านการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัยให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลชุมชนที่มีใจรักและพร้อมจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานจริงออกมา ในการฝึกงานของนักศึกษาหากเป็นไปได้ถ้ามีทั้งนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด เภสัชหรืออื่นๆมาฝึกชุมชนร่วมกันในเวลาเดียวกันก็จะดีเพราะจะได้ให้เขาเรียนรู้การทำงานในชุมชนร่วมกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา ทำให้คุ้นเคยและทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น เฟรเซอร์
จากออสเตรเลียได้มาดูงานที่โรงพยาบาลและบอกว่าที่ออสเตรเลียใช้โรงพยาบาลขนาดเล็กสอนแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวได้เลยและได้รับการยอมรับจากแพทยสภาของออสเตรเลียและทำให้แพทย์โรงพยาบาลเล็กๆอยู่ได้นาน
รู้สึกมีศักดิ์ศรีเพราะได้ทำอะไรๆที่ท้าทาย ได้ถ่ายทอดความรู้
ได้ทำงานวิชาการควบคู่ไปกับงานบริการและอย่างโรงพยาบาลที่ท่านอยู่ก็เป็นแหล่งสอนนักศึกษาแพทย์ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลเล็กๆ
เพียงแต่ว่าแพทย์ที่เป็นพี่เลี้ยงจะได้ฝึกเทคนิคการสอน
การเป็นพี่เลี้ยงก่อนและได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์
หากแพทยสภาไทยมองให้ไกล ทำใจให้กว้างมากขึ้น
ก็อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ได้เพราะเราให้นักศึกษาได้เรียนในชนบท
ได้ใช้ชีวิตจริงตั้งแต่เรียน
ไม่ใช่การเรียนและเติบโตอยู่ในเมืองใหญ่แต่พอเรียนจบต้องถูกบังคับออกมาทำงานในชนบทก็ทำให้เกิดความอึดอัด
ไม่แน่ใจและปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ยาก
และยิ่งรัฐบาลจะมีโครงการหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ(ODOD)
เราน่าจะอาศัยโอกาสตรงนี้สร้างแพทย์แนวใหม่ที่มีหัวใจของการสร้างเสริมสุขภาพ
มองคนทั้งคน มองแบบองค์รวม
เป็นแพทย์ของชุมชนที่คัดเลือกโดยชุมชน
เรียนอยู่กับชุมชนและจบออกมาทำงานกับชุมชน
จะช่วยลดการเลือกทำงานที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่และการหมุนเวียนแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนที่เปลี่ยนบ่อยมากจนเกิดปัญหามากมายตามมาไม่รู้จบ
และยิ่งในสังคมยุคปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สังคมฐานความรู้ที่ต้องใช้การจัดการความรู้อย่างเหมาะสม
ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้จากสถานศึกษาอย่างเดียว
ควรจะเป็นลักษณะของทุกคนเป็นครู ทุกที่เป็นห้องเรียน
มองความรู้ที่เป็นความรู้ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง
ที่มีทั้งความรู้ในตำรา ความรู้ในคนที่เป็นประสบการณ์ ทักษะ
ไม่ใช่แค่การท่องตำรามาสอบตอบให้ตรงใจครูอย่างเดียวแล้ว
เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงคำตอบที่ถูกไม่ได้มีแค่คำตอบเดียวและการเรียนรู้ก็ไม่ได้มีแค่วิธีเดียว