836. Appreciative Inquiry ใช้ได้กับทุก Field จริงหรือ?


ผมเองอยู่ในแวดวงวิขาการและที่ปรึกษา OD Consultant เนื่องจากทำงานมาสิบปีด้าน Appreciative Inquiry .. และก็ได้กลายมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ IS ให้กับนักศึกษาจากหลายสถาบัน ทั้งป.โท .เอก เราผลิตงานวิจัยด้านนี้ออกมามากน่าจะราวๆ 300-400 งาน   

ระยะหลังมีอาจารย์ผู้สนใจ เข้ามาดูงานแนวนี้ และตั้งคำถามว่า AI นี่มันใช้ได้ทุก Field เลยรึ เพราะเห็นเป็นการตลาดก็ได้ เป็นกลยุทธ์ก็ได้ หมอก็ได้ ทหารยังได้เลย ... เว่อร์ไปไหม  

ก็ต้องบอกกันนิดครับ AI คือเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาองค์กร  มันพัฒนาคนที่อยู่ร่วมกัน ผ่านการตั้งคำถามเชิงบวก โดยทำให้คนเชื่อก่อนว่าทุกคนทุกระบบมีเรื่องราวดีๆ ซ่อนเร้นรอการค้นพบอยู่เสมอ .. เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผมเลยอยากอุปมาอุปมัยว่า AI มันก็เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ครับ มันคือเครื่องมือเหมือนกัน (AI ถือเป็นหนึ่งใน OD Tools)ลองมาเปรียบเทียบกันนะครับ




1. คุณสามารถเอาคอมพิวเตอร์มาอำนวยความสะดวกให้กับคนในสาขาอาชีพใดก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นนักบินอวกาศ จนถึงเกษตรกร  แทบไม่มีข้อจำกัดอะไร เพียงแต่คุณต้อง Apply หน่อยเท่านั้น …AI ก็เช่นกันครับ  เนื่องจากทุกองค์กรต้องการการพัฒนา ต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับองค์กรอยู่แล้ว AI ซึ่งเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งก็เข้าไปในองค์กรทุกประเภทได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์  ที่เอามาใช้กับการเมือง ศาสนายังได้เลย  (หลวงพี่สองสามท่านเรียน Theory U ซึ่งผมผสม AI เข้าไปเป็น Theory U แบบผม ไปใช้กับญาติโยมได้ เพราะ Theory U ได้แรงบันดาลใจมาจากสมถภาวนา)    …สรุปคือทุกอาชีพใช้ AI ได้

2.ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ของคุณจะทรงพลังแค่ไหน คุณต้องการทักษะที่จะควบคุมมันครับ  …ของดีไม่ใช่ทุกคนจะใช้เป็น เอาง่ายๆคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ทำงานโง่ๆ อยู่นี่ ยังต้องการทักษะ อย่างน้อยก็ต้องพิมพ์เร็วๆ  อย่างน้อยต้องรู้จักว่าจะแก้ปัญหาเบื้องต้นอย่างไร (ไปไม่ถูกก็ปิดเครื่องเปิดใหม่)… AI ก็เช่นกัน มันเป็นเครื่องมือที่วิเศษมากก็จริง แต่คุณก็ต้องการทักษะพื้นฐานบางอย่างที่จะใช้งานมัน  เช่นคุณต้องฟังเป็น ต้องถามเชิงบวกเป็น ต้องรู้จักซัก ลงลึกหาเรื่องดีๆออกมาให้เป็น ต้องรู้จักว่าจะเอาเรื่องราวดีๆ จากการค้นพบไปใช้ประโยชน์อย่างไร   เพราะฉะนั้นคุณต้องหัด Skills พื้นฐานของการทำ AI ให้คล่อง   

3.คอมพิวเตอร์มีพัฒนาการของตัวเอง  คุณจะเห็นว่าคอมพิวเตอร์และอะไรที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ มีพัฒนาการก้าวล้ำนำหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว ขนาด หรือรูปแบบ ตั้งแต่เครื่องตั้งโต๊ะ จนถึงมาถึง IWatch.. AI ก็เช่นกัน หลังมีคนคิด AI ขึ้นมา ก็มีคนใช้มากขึ้น ก็มีนักคิดได้พยายามพัฒนาเครื่องมือ AI ให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ทรงพลังมากขึ้น คุณเองก็ต้องตามเทคโนโลยีไปเรือยๆ   เช่นกัน คุณจะเห็น AI มีพัฒนาการ เช่นมี AI สำหรับทำกลยุทธ์โดยเฉพาะเรียกว่า SOAR Analysis  .. คุณเองก็ต้องคอยตามความก้าวหน้าในสาขานี้ ปัจจุบันมีการประชุมระดับโลกด้าน AI และมีหนังสือออกมาเรื่อยๆ   …AI เริ่มครั้งแรกๆ ก็ทำในองค์กรขนาดใหญ่ ตอนนี้มาทำคนเดียวยังได้ครับ เอามาเป็นบทสนทนาในโต๊ะอาหารก็ได้   

4.มีการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ นี่ชัดมาก เช่นคุณจะเห็น Apple Watch ใช้ร่วมกับ Sensor สามารถเก็บข้อมูลการวิ่งการออกกำลังกายของคุณได้ …   พูดง่ายๆคุณสามารถเอาคอมพิเตอร์ไปดัดแปลงใช้งานกับอุปกรณ์ต่างๆได้อย่างไม่ที่สิ้นสุด  … AI ก็เช่นกัน คุณสามารถเอามาผสมผสานกับศาสตร์อื่น หรือเครื่องมืออื่นๆได้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด … เอา AI ไปผสมเครื่องมือทางการตลาด มันก็จะทำให้คุณค้นหาเรื่องดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ของลูกค้าได้ลึกไปอีกแบบ … เอา AI ไปผสมศาสตร์การโค้ชก็กลายเป็น Appreciative Coaching   ….เพราะ AI มันคือศาสตร์ในการตั้งคำถามเพื่อค้นหาสิ่งดีๆ มาขยายผล …  คุณเอา AI ไปผสมศาสตร์อะไรก็ได้ ตราบที่ศาสตร์นั้นต้องการการถาม การค้นหาข้อมูล…  

5. การเรียนรู้คอมพิวเตอร์ในห้องเรียน 2-3 วัน แม้กับคนที่ดูแววฉลาด แต่ที่ไม่เคยเล่นเลย  การเรียนในห้องกับครูเจ๋งๆ อาจทำให้คุณได้แรงบันดาลใจ แต่ยากที่จะทำให้คุณเชี่ยวชาญได้  หากคุณไม่ไปฝึกใช้เองเพิ่มเติม พูดง่ายๆ อาศัยฟังคนพูดแล้วนั่งเล่นตามในห้องอย่างเดียว ไม่ทำให้คุณเชี่ยวชาญได้เลย คุณต้องไปทดลองผิดถูกเอาเองมากๆ …AI เช่นกัน ผมและหลายคนเคยเรียนกับผู้คิดทฤษฎี AI ที่ทั้งเก่งทฤษฎีและปฏิบัติด้วย …เรียนกันสองวัน ..ผมรู้เลยครับ แทบไม่เห็นใครมาทำต่อเป็นเรื่องเป็นราว ก็มีผมกับเพื่อน หรือลูกศิษย์ไม่กี่คน  เราต้องมาทำต่อ มาลุยเอง  สรุป …เรียนในห้องไม่พอ ต้องทำเองมากๆ  หรือไม่เคยเรียน ไม่เป็นไร ฝึกเองได้

6.การเรียนคอมพิวเตอร์กับสถาบันที่ดังที่สุดได้มาตรฐานที่สุดในโลก ไม่ได้ทำให้คุณเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดในโลกตามไปด้วย จะว่าไปคนที่เป็นเจ้าพ่อด้านคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน ไม่ว่าเป็น Hardware หรือ Software จำนวนมากค้นคว้าทดลองสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มาด้วยตนเองด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น Bill Gates หรือ Steve Jobs …ฝั่ง Asia ก็มี Jack Ma นั่นก็ไม่ได้เรียนที่ไหนมา … AI เช่นกันครับ ผมก็เชื่อเช่นนั้น เท่าที่ดูคนเก่งๆ ในบ้านเราก็เรียนกันเองทั้งนั้นครับ  …  เพราะฉะนั้นต่อไปอาจมีมหาลัยดังๆเปิด Course หรือมีบริษัทที่ปรึกษามาเปิดหลักสูตรแพงๆ ... ถ้าคุณไม่มีตังค์เรียนก็ไม่ต้องกังวลครับ   ไม่เกี่ยวเลยครับ

7.ในเรื่องสถานที่ คุณแบกคอมพิวเตอร์ไปใช้ที่ไหนก็ได้ …ร้านกาแฟ ที่ทำงาน บนภูเขา … เช่นกันครับ AI นี่คุณจะเอาไปทำที่สถานที่ใดก็ได้ ร้านกาแฟ ที่บ้านที่ทำงาน คุณสามารถเอาไปใช้ได้หมด …พวกผมทำ AIกันที่ร้านกาแฟบ่อยๆ  …บางที่ก็ทำใน Line ก็มี เมื่อครู่ก็พึ่งทำ

8.การที่จะใช้งานคอมพิวเตอร์จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ คุณต้องอาศัยการคิดนอกกรอบ แหกกฏกติกาเป็น  … และไม่ต้องกลัวเรื่องเครื่องมือจะล้าหลังไม่ได้มาตรฐานโลก เคยมีข่าวเด็กรัสเซียใช้คอมพิวเตอร์รุ่นโบราณ เจาะเข้าไปล้วงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ที่แสน Hitechในกองทัพสหรัฐได้ …  AI เช่นกัน ขอให้คุณใช้มันเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ Model เดียวเช่น 4D Model นี่ก็เอาไปทำมาหากินได้ ไม่ว่ากับองค์กรระดับไหน  ตอนผมทำ AI ที่ต่างจังหวัด พอทำคล่องแล้ว เข้าไปทำในองค์กรชั้นนำในกรุงเทพได้ไม่ยาก   ปรับเปลี่ยนเท่าที่คุณอยากปรับเปลี่ยนไปเลยครับ 

9. คอมพิวเตอร์เป็นเพียงเครื่องมือ คุณจะเอาไปใช้งานศาสตร์ไหน คุณก็ต้องรู้ลึกในศาสตร์ที่คุณทำด้วย หรือไม่ก็ต้องเอาไปทำร่วมกับคนเก่งๆในสาขานั้นๆ  เช่นถ้าคุณเป็นนักการตลาด คุณก็ต้องเก่งการตลาด เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค แล้วค่อยเอาคอมพิเตอร์ไปช่วยงาน ทำให้คุณทำงานคล่อง ได้ปริมาณ และคุณภาพดีขึ้น แต่คุณก็ต้องลึกในเรื่องการตลาด มันจึงจะทรงพลัง …พิมพ์เก่งเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นเขียนโปรแรมเป็น นั่นเพียงเส่วนเดียว  …AI เช่นกัน คุณเก่ง AI อย่างเดียวไม่ได้ คุณต้องลึกในศาสตร์อื่นด้วย ขนาดผมเองทำ AI ผมก็ต้องลงลึกศาสตร์ในการพัฒนาองค์กร ต้องแม่น Action Research และอื่นๆ ลูกศิษย์ผมเอา AI ไปทำร้านกาแฟ ก็ลึกในเรื่องกาแฟ มันก็จะทรงพลังครับ 

10. ไม่ใช่ทุกคนจะใช้คอมพิวเตอร์เก่ง... ลูกศิษย์ผมไปทำ Consulting ครับ ในโรงพยาบาล เอาคอมพิวเตอร์ไปทำให้โรงพยบาลมันทันสมัยครับ ปรากฏว่า ลืมไป คนที่ไปคุยมันเป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งหมอที่ซื้อระบบ กับคนขาย...แต่คนใช้งานคืออาจารย์หมออายุมากๆ ที่ขี้รำคาญกับคอมพิวเตอร์ การต้องมาเสียเวลากับการป้อนข้อมูล ที่สุด Fail ครับ ต้องจัดการกันใหม่ เอาคนช่วยหมอผู้ใหญ่ใช้งานคอมพ์ พัฒนาระบบที่เรียบง่ายให้เป็นมิตต่อผู้ใช้ User-freindly  ... AI เช่นกัน คุณจะใช้งานคุณต้องดูครับ ว่าลูกค้าคุณเป็นใคร บางคนก็ถูกบังคับมา คุณคุยกับคนที่อยากให้เข้าไปทำ มันรู้กันทุกเรื่องครับ แต่คนที่มาทำกับเราในสนามจริงๆ อาจเป็นชาวบ้าน ภาษาอังกฤษไม่เอาเลย วิชาการไม่เอา...ปรับครับปรับ...ผมปรับจนมีรุ่นที่ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า Appreciative Inquiry ปรากฏ...ใช้กับชาวบ้านเลย ออกมาได้ผลเหมือนกันครับ เคยมีครั้งหนึ่งดื้อ มีภาษาอังกฤษด้วย มีคำไทยแปลด้วยไปไม่รอด... .. พูดง่ายๆ ต้องรู้จักขีดจำกัดของลูกค้า ทำอะไรให้ User-friendly ครับ 

11. คนเก่งคอมพิวเตอร์ที่ผมเห็นมา คือคนที่ลงลึกไปแก้ปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ในหน้างานครับ เก่งในสถานการณ์จำลองในโรงเรียนนี่มันเด็กๆ ครับ …เช่นกัน คนทำ AI เก่งต้องเอา AI ไปแก้ปัญหาจริงๆ ที่เกิดในชีวิตครับ และตามผลดู ว่ามันใช้ได้ไหม  ไม่ใช่แก้ใน Workshop หรูๆ ของฝรั่งครับ  เอาง่ายๆ เหมือนชกมวยครับ …มีคนเรียนแชมป์คาราเต้มาเจอมวยไทย   นี่เกือบตาย เพราะมวยไทยมันลงสนามจริงมากกว่า     

(ไม่ได้ดิ้นรนฝึกมาลุยแบบคนไทย)




สรุปเมื่อเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ใน Appreciative Inquiry   มีคุณสมบัติดังนี้ครับ

1.AI ใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกแวดวง

2.การทำ AI ให้เป็นคุณต้องการทักษะพื้นฐานเช่นการตั้งคำถามเชิงบวก และการทำวงจร 4D

3.AI เป็นเครื่องมือที่มีพัฒนาการ จะมี Innovation หรือการประยุกต์ใช้ Model ใหม่มาเรื่อยๆ

4.สามารถนำ AI ไปประยุกต์กับศาสตร์อื่นๆได้ เช่น การตลาด การจัดการความรู้

5.เรียนรู้ในห้องเรียนอย่างเดียว ไม่พอ ต้องเอาไปฝึกทำในสนามจริงมากๆ

6.เรียนจากสถาบันดังๆ ไม่ Gurantee ว่าคุณจะเก่งศาสตร์นี้ หัวใจอยู่ที่การทำจริงมากๆ

7.การทำ AI ไม่จำกัดสถานที่ ร้านกาแฟก็ได้ ในห้องเรียน ห้องประชุมก็ได้

8.การทำ AI ให้เก่งคุณต้องคิดนอกกรอบ   พลิกแพลงการใช้งาน

9.AI เป็นเพียงเครื่องมือ จะเอาไปใช้ศาสตร์ไหน ก็ต้องลงลึกศาสตร์ที่คุณเอาไปใช้ด้วยครับ 

10.การใช้งาน AI พัฒนาองค์กรจริง ต้องทำในรูปแบบที่ลูกค้าเข้าถึง ใช้งานง่ายๆ  User-friendly 

11.จะเก่ง AI ได้ต้องเอา AI ไปใช้ในชีวิตจริง มีการตามผล ไม่ใช่เรียนแต่ในห้องเรียน 


สรุปแล้วใช้ได้ทุก Field ครับ เพียงแต่คุณต้องแม่นวิธีการใช้งาน และรู้จักกาลเทศะในการใช้ครับ


คงพอให้คุณมองเห็นว่า Appreciative Inquiry มีพลวัตรอย่างไร คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนนะครับ 



บทความโดยดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ www.aithailand.org

Credit ภาพทั้งหมดมาจาก  https://www.pexels.com/

คำสำคัญ (Tags): #appreciative inquiry
หมายเลขบันทึก: 640452เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2017 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2017 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท