ผีกะ : กฎข้อห้ามความสัมพันธ์ในชุมชน


เอื๊อก ... ก็อบ ๆ ๆ ๆ...

                 เสียงไก่ตัวใหญ่มหึมาแผดเสียงก้องดังจากเนินเขาหน้าวัดประจำหมู่บ้าน  ตามมาด้วยฝีเท้าของอาชาไนยผู้วิ่งไวปานลมกรด  นวลหญิงสาวตัวน้อยผวาตื่น ไม่กล้าแม้แต่จะกระดิกตัวด้วยกลัวว่าเจ้าของเสียงที่ได้ยินและวิ่งผ่านไปนั้นจะรู้ เสียงอย่างนี้มันไม่ใช่ไก่ตัวใหญ่และม้าอย่างที่ได้ยินแน่นอน หรือมันอาจจะเป็นสิ่งนั้นอย่างที่หม่อนแก้วเคยเล่าให้ฟัง   ความหนาวเข้ามากัดกินหัวใจของเธอจนสั่นสะท้านทั้งที่ตอนนี้เป็นค่ำคืนหนึ่งกลางเดือนเมษายน ที่อากาศร้อนระอุมาตั้งแต่เช้าถึงย่ำค่ำ ผู้ใหญ่จึงพากันมานอนกลางชานเพื่อรับลมและคุยกันจนม่อยหลับไป

                ณ หมู่บ้านชนบทที่นวลอาศัยอยู่    ความเจริญจากในเมืองยังเข้าไปแทรกไม่ถึง แสงสว่างยามค่ำคืนอาศัยชันและอย่างดีที่สุดคือจากโคมน้ำมันก๊าซ  ผู้คนต่างพากันอาศัยอยู่ในหมู่บ้านและออกเรือนกับคนในหมู่บ้านเดียวกัน จนนับได้ว่าเป็นเครือญาติกันทั้งหมู่บ้าน  วัฒนธรรมและความเชื่อถูกถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาและคงสืบต่อไปอย่างเหนียวแน่นสู่คนรุ่นลูกหลาน บางอย่างไม่เข้าใจและไม่มีคำอธิบายแต่ทุกคนต่างไม่ปฏิเสธกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะหากขัดขืนนั่นอาจหมายถึง ชีวิต  โดยเฉพาะในเรื่องจิตวิญญาณ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า  ผี  

 

                 ผี  มีสภาพเป็นวิญญาณที่ไม่มีตัวตน แต่อาจแสดงฤทธิ์ให้เห็นเป็นคนหรือสัตว์ต่าง ๆ ได้ มีฤทธิ์อำนาจมากกว่าคน  ผีอาจให้คุณเมื่อได้รับการขอร้องให้ช่วยเหลือ  และจะให้โทษเมื่อถูกทำให้โกรธ

                ผีชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน คือ ผีกะ หากใครที่มีเชื้อสายผีกะจะเป็นที่ลังเกียจของชาวบ้านและไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน หากทนความกดดันไม่ไหวก็อาจอพยพไปอยู่ต่างถิ่นหันไปเข้ารีตศาสนาอื่น  ตัดขาดจากวงสังคมแห่งนั้นไปเลยอย่างเช่นที่เคยมีครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านของนวลที่ละทิ้งมรดกมากมายที่บรรพบุรุษหาไว้ให้ ทรัพย์สินที่ทิ้งไว้ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะต้อง จึงทิ้งไว้เป็นมรดกของหลวง  ชาวบ้านมีความเชื่อว่าถ้าหลวงเข้าไปใช้ประโยชน์ผีกะจะกลัวและไม่ทำร้ายคนที่อาศัยอยู่เพราะกลัวครุฑที่เป็นสัญลักษณ์ของหลวงเชื่อกันว่าแมวโพง หรือแมวคราวกลัวครุฑ  ชาวบ้านเชื่อว่าผีกะเป็นผีที่สืบสกุลทางฝ่ายมารดาคือลูกสาวคนเล็ก ในครอบครัวผีกะจะต้องเป็นผีกะสืบจากมารดาซึ่งหากครอบครัวนั้นไม่มีลูกสาวหรือลูกสาวไม่ปรารถนาจะรับเป็นผีกะแล้ว ก็จะเอาน้ำลายของผู้ที่เป็นผีกะนั้นป้ายที่ปากแมวโพง  ทำให้แมวโพงนั้นรับสภาพเป็นผีกะไป 

               มีเรื่องเล่าจากหมู่บ้านที่ผู้ใหญ่เคยเล่าให้นวลฟังว่า มีครอบครัวผีกะครอบครัวหนึ่งได้สะใภ้ใหม่มาอยู่ร่วมเรือนด้วย วันหนึ่งทุกคนไปทำงานในท้องทุ่งกันหมดยกเว้นสะใภ้ใหม่ นางได้ยินเสียงคล้ายกับลูกหนูร้องอยู่บนที่เก็บของใต้หลังคา เมื่อแหงนคอดูก็เห็นหม้อต่อมอยู่บนนั้น เมื่อปีนขึ้นไปเปิดดูก็เห็นลูกหนูอ้าปากร้องอยู่ นางจึงไปต้มน้ำร้อนมาเทลงในหม้อนั้น ทำให้ลูกหนูทั้งหมดตายไป และในเวลาเดียวกันทุกคนในครอบครัวนั้นก็ตายหมดรวมทั้งตัวของสะใภ้ใหม่เอง

                ผีกะ เป็นผีที่มักเข้าสิงคนเพื่อเรียกร้องจะกินอาหาร โดยเฉพาะพวกอาหารเนื้อสัตว์ดิบ เช่น ลาบ หลู้  เมื่อคนนำมาให้กินจะกินปริมาณมากอย่างที่คนทั่วไปไม่กินกันและกินอย่างอย่างตะกละตะกราม จึงเรียกผีชนิดนี้ว่า ผีกะ

              แม่หม่อนแก้วเคยเล่านิทานเรื่องผีกะให้ฟังว่า  ครั้งหนึ่งมีกษัตริย์หนุ่มกับอำมาตย์คู่พระทัยเดินทางไปเรียนวิชาถอดจิตกับทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักกสิลา เมื่อเรียนวิชาจบแล้วทั้งสองก็เดินทางกลับ ระหว่างทางได้พบซากกวางที่ตายใหม่ตัวหนึ่ง  เจ้าชายจึงลองวิชาที่ศึกษามาโดยถอดจิตเข้าสิงซากกวางนั้นและบอกให้อำมาตย์คอยดูแลร่างของตนให้ดี แต่อำมาตย์กลับถอดจิตของตนเข้าสิงอยู่ใน   ร่างของกษัตริย์หนุ่มนั้นแล้วเผาร่างของตนเสีย  จากนั้นจึงรีบเดินทางกลับเมืองเพื่อไปครอบครองทั้งราชสมบัติและพระชายา แต่พระชายาเห็นลักษณะท่าทีของ “ พระสวามี ” แล้ว  เห็นว่าผิดแผกไป   จากเดิมจึงไม่ยอมให้อยู่ร่วมด้วย ฝ่ายกษัตริย์หนุ่มองค์นั้น ต่อมาเมื่อถอดจิตเข้าสู่ร่างของนกแก้วแล้ว  ก็ได้บินไปบอกเรื่องราวทั้งหมดแก่พระชายา แล้วให้พระชายาลวงอำมาตย์ทีสิงในร่างของกษัตริย์หนุ่มให้ทดลองวิชา โดยจัดหาซากแพะมาให้ถอดจิตเข้าสิงในซากแพะนั้น เมื่ออำมาตย์ถอดจิตไป    สิงในซากแพะแล้ว กษัตริย์หนุ่มก็ถอดจิตเข้าสู่ร่างเดิมของตน แล้วจึงให้ฆ่าและทำลายซากแพะนั้นเสีย เมื่อจิตของอำมาตย์ทรยศไม่มีที่สิงแล้วจึงเตลิดหนี ครั้นพบว่าผู้ใดมีผมหอมก็เข้าสิงคนผู้นั้น จนกลายเป็นผีกะไปในที่สุด

                ในครอบครัวหนึ่งๆ ผู้ที่มักจะเป็นผีกะคือแม่บ้าน เมื่อแม่บ้านเป็นผีกะแล้วคนในครอบครัวก็อาจเป็นผีกะได้ คือเป็นได้ทั้งครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก ลูกเขย ลูกสะใภ้  กล่าวกันว่าผู้ใดก็ตามที่หลับนอนกับหญิงที่เป็นผีกะหรือกินข้าวร่วมกับผู้ที่เป็นผีกะครบเจ็ดไหแล้ว ก็จะเป็นผีกะไปด้วย  แต่ผู้ที่จะมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผีกะต่อจากตนก็คือแม่บ้านเท่านั้น  คนที่เป็นผีกะนั้นมักจะมีกลิ่นคาวจากปากและลมหายใจ

                ตัวผีกะนั้น มีสัตว์พาหนะประจำตัวคือ นกเค้าผีกะหรือนกเค้าแมว โดยเฉพาะนกเค้าแมวตัวเล็ก เวลาเย็นหรือยามค่ำคืน เมื่อคนที่เป็นผีกะไปที่ไหน นกนี้ก็ไปปรากฏตัวในที่นั้น ๆ เป็นการล่วงหน้าเสมอ ซึ่งบางท่านก็ว่านกเค้าแมวกับผีกะไม่ถูกกัน นกเค้าแมวจึงคอยแสดงตัวต่อต้านอยู่เสมอ แต่บางท่านก็ว่าผีกะมักจะอาศัยนกที่ว่านี้ออกไปหากิน โดยเจ้าของหรือคนที่เป็นผีกะไม่รู้เรื่อง เที่ยวซอกซอนไปสูบหรือดูดเลือดคนป่วย โดยมากมักเป็นพวกที่ซูบซีดผอมแห้งแรงน้อย พวกนี้มักขวัญอ่อนตกใจง่ายและเบื่ออาหาร แต่พวกที่แข็งแรงสมบูรณ์นั้น ผีกะ ไม่ชอบที่จะไปยุ่งด้วย

                ครอบครัวของนวลก็เชื่อเรื่องผีกะมาก ครั้งนั้นที่พี่ชายจะมีเมียก็ถูกพ่อแม่ให้ทดสอบว่าที่พี่สะใภ้ก่อนว่ามีเชื้อสายผีกะหรือไม่ โดยสังเกตว่าหากตนไปไหนยามค่ำคืนตามลำพัง แล้วมีนกเค้ามาบินโฉบบินตัดหน้าหรือร้องดักอยู่ข้างหน้า ก็แสดงว่าสาวนั้นเป็นผีกะ และตอนที่ไปแอ่วสาวให้สังเกตดูว่ายิ่งดึกสาวนั้นยิ่งสวยแสดงว่าเป็นผีกะ และให้นำตองกล้วยงำเครือ หรือ   ใบตองใบสุดท้ายที่ปกเครือกล้วยอยู่นั้น มาเสกแล้วมองลอดใบกล้วยนั้นหรือใช้ใบพลูมาเสก และให้เสกคาถาแล้วมองลอดหว่างขาของตน หากสาวนั้นเป็นผีกะแล้ว จะพบว่ามีแมวตัวเล็ก ๆ สองตัวเกาะที่ไหล่ของหญิงนั้น แล้วคอยแลบลิ้นเลียแก้มและใบหน้าให้สาวเจ้างามผุดผ่องยิ่งขึ้น

                พ่อหนานปั๋น  ปู่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านคาถาอาคมและการปราบผีเล่าให้ฟังถึงวิธีการปราบผีกะว่า ต้องมีอุปกรณ์ในการปราบผีดังนี้ 

                ๑.  คาถาอาคม

                ๒.  มีดหมอ  ซึ่งอาจใช้งาช้างกำจัดหรือแง่งไพลแทนก็ได้

                ๓.  ต้นข่าแดง  ใช้เสกแล้วตีต่างของคนที่ถูกสิง

                ๔.  หางปลาไม  หรือหางปลากระเบน ใช้เสกแล้วตีตามตัวของคนที่ถูกผีเข้าสิง

                ๕.  เชือก  ถ้าจะขลังต้องใช้ “ เตี่ยวหม้อหนึ้ง ” หรือผ้าที่ใช้ยารอยต่อของหม้อนึ่งกับไหข้าว

                   ใช้ผูกคอคนที่ผีกะเข้าสิง

                ๖.  ข้าวสาร  พริกหรือพริกไทย ให้เสกพ่นใส่หน้าคนถูกผีเข้า

                ๗.  หม้อแกงดินเผาที่ใช้งานมามากแล้ว ใช้เสกแล้วครอบศีรษะผู้ถูกผีเข้าและขูดก้นหม้อ ซึ่ง มีผลทำให้เจ้าของผีกะผมร่วงเป็นแนวอย่างที่ปรากฎตามรอยขูดก้นหม้อนั้น

                ๘.  น้ำ  ใช้เสกแล้วพ่นที่ใบหน้า แต่บางคนใช้น้ำร้อน มักจะใช้กรอกปากคนที่ถูกผีกะเข้าซึ่ง  อาจจะเป็นการบังคับให้บอกชื่อเจ้าของผีกะมากกว่าใช้ปราบผีกะจริง ๆ

                ๙.  ด้ายสายสิญจน์  ใช้ผูกขวัญและกันผี ในกรณีที่คนถูกผีเข้า

               ๑๐.  “ ยันต์ก้อม ” หรือ “ ตะกรุด ” ใช้ป้องกันโดยร้อยด้วยด้ายสีแดง ผูกคล้องคอหรือข้อมือ  ตะกรุดนี้ กว้าง – ยาว สี่เหลี่ยมไม่เกิน๑ นิ้ว ลงอักขระไม่เกิน๘ ตัว หุ้มด้วยครั่งเป็นก้อนกลมรีเล็ก ๆ  

 

               ชาวบ้านเชื่อว่าวิธีปราบผีกะที่เข้าสิงผู้หญิงที่ได้ผลมากวิธีหนึ่งคือ การจับหญิงนั้นแก้ผ้าประจานหรืออาจจะหนักไปกว่านั้นคือ ข่มขืนผู้ถูกผีเข้าสิงเพื่อเป็นการไล่ผีอีกวิธีหนึ่งด้วย

               ผีกะหรือคนเลี้ยงผีกะไม่ชอบ “ นกเอี้ยงคำ ” หรือนกขุนทองเลย เพราะขุนทองพูดเลียนเสียงมนุษย์ได้ ว่ากันว่านกเอี้ยงคำที่เลี้ยงตามบ้านมักอายุไม่ค่อยยืน เพราะโดนผีกะทำร้ายเอาเสมอ และที่เคยพบเสมอในบ้านชนบทที่คนนิยมเลี้ยงนกขุนทอง เขาจะมียันต์กัน “ ผีกะ ” ห้อยไว้กับกรงนก ป้องกันนกจากผีกะด้วยเหตุผลดังกล่าว

               ความเชื่อเรื่องผีกะ สะท้อนค่านิยมในการดำรงชีวิตของผู้คนชนบท  ความสัมพันธ์เกื้อกูลกัน เป็นสิ่งจำเป็นที่ก่อให้สังคมอยู่อย่างสันติ  การถูกปฏิเสธ และไม่ได้รับการยอมรับในสังคม เป็นบทลงโทษที่ร้ายแรงยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดสำหรับผู้คนชาวชนบทล้านนา

คำสำคัญ (Tags): #ผีกะ
หมายเลขบันทึก: 640312เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2017 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2017 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-เกี่ยวกับเรื่อง"ผีกะ"นี้ผมก็ได้รับฟังจากผู้คนรุ่นเก่าก่อนมาบ้าง

-บางครั้งกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นก็มี 2 ด้านเสมอ

-หากแต่เราเองก็ต้องนำเอามาพิจารณาและไต่ตรอง

-ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่านี้ ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่อง"ผีกะ"มากขึ้น นอกเหนือจากเพียงจินตนาการผ่านการเล่าขาน

-ด้วยความอบอุ่นใจที่ได้อ่านบันทึกของอาจารย์

-"แม่ผมก็เป็นนักเขียน"โสฬส บอกผมในวันที่เราอยู่ด้วยกัน

-แต่สำหรับผมแล้ว ไม่ได้เป็น"นักเขียน"แต่เป็นเพียง"นักเล่าเรื่อง"

-หากมีโอกาสคงได้เรียนรู้และยินดีที่ได้พบกับอาจารย์ หรือต่อไปขออนอญาตเรียกขานในบันทึกว่า"แม่ครู"นะครับ

-โชคดีที่ได้พบกัน...

-ขอบคุณครับ..."แม่ครู"

ขอบคุณค่ะอ้ายบุญส่ง(ของน้องโสฬส) ยินดีที่ได้พบกัลยาณมิตรอีกท่าน มีโอกาสคงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท