ชีวิตที่พอเพียง : 3032. เรียนรู้จาก PMAC Retreat : 2. ผลการประเมิน PMAC


ผลการประเมิน PMAC เบื้องต้นนำเสนอเป็น side meeting ตอนเที่ยงของการประชุม PMAC 2017   ข้อสรุปของผมคือ ทีมประเมินชุดนี้ทำงานอย่างมีข้อมูลหลักฐาน และให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา     ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ    แต่ก็พบว่าผู้ทำงานบางคนรู้สึกว่าถูกตำหนิ    แต่ก็เป็นอารมณ์ชั่วคราวเท่านั้น    เรามุ่งใช้ผลการประเมินนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อ transform PMAC ใน ๑๐ ปีข้างหน้า

 สาระของผลการประเมินโดยสรุป ที่ผมสรุปเอง    คือเขาช่วยให้เรามองเห็นภูมิทัศน์ของการประชุม ใหญ่ระดับโลก ด้านนโยบายสุขภาพ    ที่ในช่วงเวลา ๑๑ ปีของการมี PMAC มีวิวัฒนาการไปมาก    พูดง่ายๆ คือ PMAC มีคู่แข่งที่แข็งแรงเพิ่มขึ้น    เราจึงต้องหาตำแหน่งของเราในภูมิทัศน์นี้    ที่เราทำได้ดีที่สุด คู่แข่งสู้ไม่ได้      

ที่ผ่านมา ๑๑ ครั้ง PMAC เป็นการประชุมเพื่อให้ผู้เข้าร่วม (โดยการเชิญเท่านั้น) ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และข้อคิดเห็น ตามหัวข้อการประชุม    จุดแข็งคือเจ้าภาพไม่มีเป้าหมายหรือผลประโยชน์แฝง    และเป็นประเทศรายได้ปานกลาง     ไม่ใช่มหาอำนาจ    จุดอ่อนคือคนเข้าร่วมไม่กระจายทั่วถึง     และไม่มีหลักฐานว่าผลการประชุมได้นำไปสู่การปฏิบติ    กล่าวง่ายๆ ว่าเป็นการประชุมเชิงนโยบาย  แต่ไม่เห็นผลกระทบต่อนโยบายอย่างจริงจัง  ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับประเทศไทย    แต่ก็มีบางประเด็นที่มีการนำไปขับเคลื่อนในสมัชชาอนามัยโลก (โดยประเทศไทย)

อย่าลืมนะครับ ว่า PMAC ได้รับคำยกย่องว่าเตรียมการจัดประชุมอย่างละเอียดลออมาก    และการจัดการระหว่างประชุมก็มีมาตรฐานสูง    คล้ายๆ เราเก่งด้าน process    แต่ impact ไม่ชัด  

impact ไม่ชัดไม่ได้หมายความว่าไม่มีนะครับ    รายงานการประเมินนี้ดำเนินการและเขียนอย่างมืออาชีพ มาก    ผมอ่านแล้วจับความได้ว่า     หน่วยงานเจ้าภาพร่วมบางหน่วยงานคิดโครงการความร่วมมือ ตามหน้าที่ ของตน จากพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของการประชุม PMAC    หน่วยงานนั้นคือ JICA และประเทศคู่ร่วมมือคือไทย 

อีกความเห็นหนึ่งคือ หากมองให้ลึก ประเด็นของ PMAC ไม่ได้เปลี่ยนไปทุกปีตามชื่อการประชุม    ประเด็นที่ยืนพื้นอยู่ตลอดของการประชุมนี้คือ UHC   คล้ายๆ เป็นการจับประเด็นต่างๆ มาทำความเข้าใจเชิงระบบ เชิงนโยบาย ภายใต้อุดมการณ์ คุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า 

โดยสรุป ข้อเสนอแนะข้อแรกของคณะประเมิน ต่อ PMAC คือจะคงวัตถุประสงค์เดิมไว้หรือจะเปลี่ยนแปลง     วัตถุประสงค์เดิมคือเป็นเวทีระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์นโยบาย/ระบบสุขภาพ    ซึ่ง PMAC ทำได้ดีมาก    คำถามหลักคือ PMAC หวังผลต่อการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับโลก ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยเอง แค่ไหน    สิบเอ็ดปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างความสำเร็จดีๆ คือเรื่อง UHC    ที่ทีมไทยเอาไป เคลื่อนไหวในสมัชชาอนามัยโลก และในสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ    เกิดมติเชิงนโยบายขึ้น

แต่ก็ยังมีคำถามว่า ในด้านการดำเนินการตามนโยบาย (policy implementation)    PMAC หวังให้การประชุมส่งผลด้วยหรือไม่    คำถามที่ชัดเจนคือ จะใช้ IOC และ/หรือ side meeting เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายที่เสนอไว้ หรือไม่  

ข้อเสนอแนะข้อที่สอง คือควรขยายวงขององค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้กว้างขวางกว่าในปัจจุบัน    ที่เป็นหน้าเดิมๆ เกินไป (ที่จริงผมก็เป็นคนหน้าเดิม  แต่เหี่ยวลงไปเยอะ)   

ข้อเสนอแนะข้อที่สาม   ให้ปรับปรุงหน้าที่ของทีมประสานงาน    ให้ทำหน้าที่ประสานงานด้านการ ประยุกต์ใช้มติของ PMAC ด้วย

ข้อเสนอแนะข้อที่สี่   ปรับโครงสร้างการประชุม    ให้ interactive ยิ่งขึ้น    ใช้เทคโนโลยีการประชุมช่วย    กระจายกลุ่มผู้เข้าร่วมให้กว้างขวางขึ้น    อาจจับที่ประเด็นสำคัญประเด็นเดียว จัดต่อเนื่องสองสามปี    เพื่อให้เกิดผลกระทบจริงจัง    ควรใช้ side meeting อย่างมีเป้าหมายสร้างผลกระทบเชิงนโยบาย ให้มากกว่าที่ผ่านมา  

ข้อเสนอแนะข้อที่ห้า    เสนอหัวข้อที่ควรพิจารณาสำหรับการประชุมในอนาคต คือ ประชากรสูงอายุ    ความยั่งยืนของระบบสุขภาพถ้วนหน้า   Agenda 2030 และ SDG   

อ่านรายงานผลการประเมิน PMAC ที่นี่

ในการประชุมวันแรก ๒๖ กันยายน ๒๕๖๐ Prof. Kenji Shibuya หัวหน้าทีมประเมิน  ไปร่วมประชุมด้วย และนำเสนอสรุปผลการประเมินต่อที่ประชุมอย่างครวถ้วน กระชับ และชัดเจน   ช่วยให้การเสวนาเข้าประเด็นสำคัญอย่างรวดเร็ว 

คนที่กล่าว keyword ของลักษณะจำเพาะของ PMAC คือการเป็นการประชุมที่มี mandate-free nature    ซึ่งช่วยให้เป็นการประชุมที่นำไปสู่ความสร้างสรรค์ได้ดี   คือ Doug Webb ของ UNDP 

David Harper แห่ง Chatham House  กล่าวถึงการสร้าง social movement ผ่าน social media   ซึ่งหมายความว่าทีมประสานงานของ PMAC  ต้องพัฒนาทักษะในการทำงานด้านนี้    


วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๖๐

ห้อง ๑๑๖  De Vere Davenport House, Greenwich, London

 


Pmac assessment from Pattie KB




หมายเลขบันทึก: 639595เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2017 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2017 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท