ประเภทของโรคจิตที่พบบ่อยที่สุด!!


ประเภทของความผิดปกติทางจิตใจ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับปรุงแก้ไขการ จำแนกประเภทของความผิดปกติทางจิตใจเป็นครั้งที่ ๙ เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๒ กล่าวโดยย่อแบ่งความผิดปกติทางจิตใจออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ๑) โรคจิต (psychoses) ๒) โรคประสาท บุคลิกภาพแปรปรวน และความผิดปกติอื่นๆ ที่มิใช่โรคจิต (neurotic disorders, personality disorders, other nonpsychotic mental disorders)๓) ปัญญาอ่อน (mental retardation) โรคจิต เป็นความผิดปกติของจิตใจ ซึ่งการทำงานของจิตใจเสียหน้าที่ไปอย่างเห็นได้ชัดเจน จนทำให้บุคคลนั้น  ม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติ ประกอบด้วย อาการทั่วไป ๓ ประการ คือ ๑) บุคลิกภาพเดิมของผู้ป่วยเปลี่ยนไป เช่น เคยเป็นคนสะอาด และสุภาพ ก็เปลี่ยนเป็นสกปรก และหยาบคาย เคยเป็นคนพูดน้อย ก็กลายเป็นพูดไม่หยุด ฯลฯ๒) ไม่อยู่ในโลกของความจริง เช่น มีอาการ ประสาทหลอน ได้ยินเสียงคนด่าตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ ในขณะนั้นไม่มีใครด่าเขาเลย หลงผิดว่ามีคนคิดร้าย และกำลังตามฆ่าเขา ๓) ไม่รู้สภาวะตนเอง เช่น ไม่รู้ว่าตนเอง กำลังป่วย จึงขัดขืนไม่ยอมไปพบแพทย์ การขัดขืนบางครั้งรุนแรงจนถึงกับใช้กำลังกายโรคจิตแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ ๑. โรคจิตที่มีสาเหตุเนื่องจากพยาธิสภาพทางกาย ผู้ป่วยจะมีอาการงุนงง สับสน สูญเสียความจำ อารมณ์ผันแปรง่าย สติปัญญาเสื่อม แบ่งออกได้ เป็น ๕ ประเภท คือ ๑.๑ โรคสมองเสื่อมในวัยชราและใกล้ชรา (senile and presenile dementia) เริ่มเมื่ออายุ ๖๕ ปี ขึ้นไป ผู้ป่วยจะมีอาการระแวง ซึมเศร้า หูแว่ว พฤติกรรมคล้ายเด็ก รักษาให้ทุเลาอาการทางจิตได้ด้วยยา ทางจิตเวช แต่ไม่สามารถจะทำให้ความจำกลับคืนปกติ ได้ นอกจากนี้ โรคสมองเสื่อม อาจเนื่องมาจาก หลอดเลือดในสมองแข็ง พบในผู้ป่วยที่มีความดันเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษา ๑.๒ โรคจิตจากสุรา (alcoholic psychoses) องค์การอนามัยโลกได้วิจัยพบว่า คนดื่มสุรา ๕๐ คน จะมี ๑ คนเป็นโรคจิตจากสุรา โรคนี้มี ๗ ชนิดที่พบบ่อย ในประเทศไทย คือ โรคสั่นและเพ้อ (delirium tremens) จะมีอาการมือสั่นหวาดกลัว เห็นภาพหลอน หลงผิด งุนงง สับสน โรคจิตจากสุรานั้นสามารถ รักษาให้หายได้
                      ฝิ่น พืชที่ทำให้ผู้เสพเป็นโรคจิตได้ฝิ่น พืชที่ทำให้ผู้เสพเป็นโรคจิตได้ ๑.๔ โรคจิตชั่วคราวจากสาเหตุฝ่ายกาย (transient organic psychotic conditions) เกิดจากการป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ไทฟอยด์ โรคติดเชื้อ โรคต่อมไร้ท่อ และโรคระบบ เมแทบอลิซึม มักมีอาการงุนงง สับสน เลอะเลือน พูดเพ้อ เห็นภาพลวงตา ประสาทหลอน เมื่อรักษา โรคทางกายทุเลาหรือหายจะไม่มีอาการร่องรอยของโรค จิตเหลืออยู่เลย ๑.๕ โรคจิตเรื้อรังจากสาเหตุฝ่ายกาย (chronic organic psychotic conditions) เกิดจากการ ป่วยด้วยโรคทางกาย ที่ทำให้เนื้อสมองเสียหรือเสื่อมไป เช่น โรคซิฟิลิสขึ้นสมอง โรคตับในระยะสุดท้าย เป็นต้น ๒. โรคจิตอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพยาธิสภาพทางกาย ได้แก่๒.๑ โรคจิตเภท (schizophrenia) มักเกิดในวัย ๑๕-๔๐ ปี สถิติโลกพบประมาณร้อยละ ๑ ของประชากร โรคจิตเภทเกิดจากสาเหตุร่วมกันหลายประการ อาการที่สำคัญ มีความผิดปกติทางความนึกคิด พูด หัวเราะ ร้องไห้คนเดียว โดยไม่มีเหตุผล ทำท่าแปลกๆ โรคจิตเภทแบ่งออกเป็นชนิดย่อย ๙ ชนิด แต่ที่พบบ่อยคือ๒.๑.๑ โรคจิตเภทชนิดระแวงเป็นโรคจิตชนิดที่พบบ่อยที่สุด มีอาการสำคัญ คือ ระแวงว่า คนจะมาทำร้าย มาใส่ยาพิษ หรือคิดว่า ตนเองใหญ่โต เกินความเป็นจริง เป็นต้น๒.๑.๒ โรคจิตเภทชนิดคาทาโทนิก (catatonic type) เป็นชนิดที่พบรองลงมา ลักษณะสำคัญ คือ มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น หรือน้อยลงผิดปกติอย่างชัดเจน เช่น พูดมากไม่หยุด เดินไปมา ก้าวร้าวหยาบคาย เอะอะอาละวาด หรือตรงกันข้าม ไม่พูด ไม่ขยับเขยื้อน ไม่กินอาหาร และไม่นอน เป็นต้น ๒.๑.๓ โรคจิตเภทชนิดธรรมดา เกิดอาการค่อยเป็นค่อยไป บุคคลภายนอกจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้ ต้องใช้เวลาแรมเดือน หรือแรมปี ลักษณะสำคัญ คือ แยกตัวเอง หลบไปอยู่คนเดียวในห้อง เฉื่อยชา เฉยเมย พูดคนเดียว ยืนคนเดียว เป็นต้น การรักษาส่วนมากใช้ยากลุ่มฟิโนไทอะซีนส์ (phenothiazines) ได้ผลดี บางรายรักษาด้วยการทำช็อก ไฟฟ้า นอกจากการให้ยาแล้ว โรคพยาบาลจิตเวชทุก แห่งให้การรักษาแบบสิ่งแวดล้อม (milieu therapy) ร่วม ด้วย เช่น การรักษาแบบกิจกรรมกลุ่ม การสังสรรค์ อาชีวบำบัด นันทนาการบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเป็นอยู่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสังคม และชุมชนเดิม มีความเชื่อมั่น สามารถติดต่อกับบุคคลอื่นได้ และพร้อมที่จะเผชิญปัญหาได้ตามสมควร และเพื่อป้องกันมิให้อาการกลับอีก ผู้ป่วยจะต้องติดตามการรักษาเป็นเวลานาน หรือบางรายอาจต้องติดตามตลอดชีวิต ๒.๒ โรคจิตทางอารมณ์ (affective psychoses หรือ manicdepressive psychoses) เป็นโรคจิตที่มีความผิดปกติอย่างมากของอารมณ์ พบมากในประเทศทางซีกโลกตะวันตก ประมาณร้อยละ ๑-๒ ของประชากร ส่วนมากมักเกิดอาการระหว่างอายุ ๓๐-๕๐ ปี อาการจะเกิดเป็นพักๆ เมื่อหายป่วยจะเป็นปกติดีเหมือนธรรมดา สาเหตุใหญ่เนื่องจากกรรมพันธุ์ เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีบางอย่างในสมอง ถ้าเด็กที่เกิดจากบิดามารดาป่วยด้วยโรคนี้ จะมีโอกาสเกิดโรคร้อยละ ๑๐-๒๕ อาการสำคัญคือมีอารมณ์ผิดปกติ เศร้าหรือครึกครื้น กังวล หงุดหงิด โกรธง่าย งุนงง โรคจิตทางอารมณ์แบ่งเป็นชนิดต่างๆ ๗ ชนิด ที่พบบ่อยคือ๒.๒.๑ โรคจิตทางอารมณ์ชนิดครึกครื้น หรือคลั่ง มีพลังกระตือรือร้นมากผิดธรรมดา ทำกิจกรรมมากขึ้น ไม่เหน็ดเหนื่อย ขาดความยับยั้งชั่งใจ มีกิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น หลงผิดคิดว่า ตนเป็นคนใหญ่โต หรือมีความระแวงร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมี ลักษณะอารมณ์ครึกครื้น หรือโกรธง่าย หงุดหงิด พูดมาก ความคิดไหลบ่าท่วมท้นจนพูดไม่ทัน เป็นต้น ๒.๒.๒ โรคจิตทางอารมณ์ชนิดเศร้า พบในหญิงมากกว่าชาย ในวัยระหว่างอายุ ๔๕-๕๕ ปี มีอาการเศร้า สิ้นหวัง อยากร้องไห้เสมอๆ รู้สึกว่า ตัวเองไร้ค่า คิดอยากฆ่าตัวตาย ขาดพลัง ขาดความ ริเริ่ม รู้สึกว่างานธรรมดากลายเป็นงานยาก นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ความสนใจทางเพศลดลงมาก วิตกกังวล กระวนกระวายใจมาก ๒.๒.๓ โรคจิตทางอารมณ์ชนิดผสม มีอาการทั้งสองชนิดข้างต้นปนกันในเวลาเดียวกัน ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทุเลาได้ในเวลา ๓-๖ เดือน ถ้ารักษา อาการจะทุเลาได้ภายใน ๒-๓ สัปดาห์ การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอาการ อาจใช้ลิเทียม (lithium) หรือใช้ยาแก้เศร้า แล้วแต่กรณี ๓. โรคจิตภาวะระแวง มีอาการสำคัญเพียงอย่างเดียวคือ มีความหลงผิดชนิดระแวง บุคลิกภาพไม่เปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจน โรคจิตชนิดนี้พบน้อยกว่าโรคจิตเภท และโรคจิตทางอารมณ์ ที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ ภาวะระแวงในวัยต่อและวัยชรา เช่น ระแวงว่าขโมยจะขึ้นบ้าน ระแวงว่าภรรยาจะมีชู้ ส่วนมากสามารถรักษาให้ทุเลาได้ด้วยยารักษาโรคจิต ๔. โรคจิตอื่นๆ ที่มีอาการเกิดจากความเครียด ทางอารมณ์ เช่น ตกงาน ไฟไหม้บ้าน เป็นต้น อาจมีอาการออกมาในรูปเศร้า อยากฆ่าตัวตาย งุนงง หวาดกลัว หลงผิด ระแวง อาการจะทุเลาได้เร็ว ถ้า ได้รับการรักษา โดยเฉลี่ยเมื่อภาวะที่ทำให้ตึงเครียดนี้ หมดไป โรคนี้จะเกิดกับคนบางคนเท่านั้น คนส่วนมากสามารถปรับตัวได้เมื่อเผชิญปัญหา โรคประสาท โรคประสาทเป็นความผิดปกติ หรือความแปรปรวนทางจิตใจ อาการต่างๆ ที่ปรากฏคือ กังวล ย้ำคิด ย้ำทำ เหนื่อยง่าย ฯลฯ อาการเหล่านี้ไม่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการทำงาน หรือการเข้าสังคมอย่างเห็นได้ชัดเจน บุคลิกภาพไม่เปลี่ยน จนคนภายนอกสังเกตเห็นได้ ไม่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน ไม่มีความคิดแปลกประหลาด ส่วนมากจะหยั่งเห็นสภาพของตน หรือรู้สภาวะของตนเอง รู้ว่าตนไม่สบายใจ หงุดหงิด และกลุ้มใจ ต้องการให้แพทย์หรือคนอื่นช่วยเหลือปัจจุบันสรุปว่า โรคนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องของจิตใจ มีความขัดแย้งทางใจ ซึ่งถูกกดเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก บางคนเชื่อว่า โครงสร้างทางชีววิทยาของบุคคลนั้น อาจเป็นสาเหตุที่น่าจะทำให้เป็นโรคอยู่แล้วก็ได้ นอกจากนี้ อาจเป็นผลสืบเนื่องจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ที่ทำให้เด็กเกิดความขัดแย้งทางใจ เช่น เด็กเกิด ความรู้สึกว่าพ่อแม่ทอดทิ้ง หรือถูกพ่อแม่ติเตียนบ่อยๆ ทำให้รู้สึกว่า ตนไม่ดี ไม่มีค่า โรคประสาทมีผลสืบเนื่องมาจากพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม เนื่องมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ทำให้เกิดความขัดแย้งใจ ซึ่งอยู่ในจิตไร้สำนึก ตามทฤษฎีของฟรอยด์ บุคลิกภาพของคนเรามีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ คือ๑. อิด (id) เป็นแรงขับภายในโดยสัญชาติญาณทางเพศและความก้าวร้าว เพื่อให้มนุษย์คงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ ได้แก่ ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ เป็นต้น ๒. ซุบเปอร์อีโก (superego) เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่พัฒนามาจากประสบการณ์ จากการใช้จิต กลไกเลียนแบบผู้ที่ตนนับถือ ตามกฎเกณฑ์ของสังคม และวัฒนธรรมของตน เป็นส่วนของมโนธรรม ศีลธรรม เป็นต้น ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับอิด ๓. อีโก (ego) เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลนั้นๆ ให้เป็นไปในทางที่ สังคมยอมรับองค์ประกอบทั้งสามของบุคลิกภาพ ถ้ามีส่วนพอดี จะทำให้ตัวเราเองอยู่ในสังคมอย่างเป็นจริง และมีเหตุผลพอสมควร ถ้ามีความขัดแย้งระหว่างองค์ประกอบทั้งสาม อาจทำให้เกิดอาการของโรคประสาท แผนภาพแสดงองค์ประกอบสำคัญ ของบุคลิกภาพ ๓ ประการ
                                                                                  แผนภาพแสดงองค์ประกอบสำคัญของบุคลิกภาพ ๓ ประการ
โรคประสาทแบ่งออกเป็น ๘ ชนิด แต่ที่พบบ่อย มี ๖ ชนิด คือ ๑. โรคประสาทกังวล (anxiety states) อาจเกิดอย่างเฉียบพลันหรือเกิดอย่างเรื้อรัง มีอาการ กังวล ตึงเครียด ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก รู้สึก หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก ถ้าเกิดอาการรุนแรงผู้ป่วย มักตกใจกลัวมาก เพราะเกรงหัวใจจะวาย กลัวตาย เป็นโรคประสาทที่พบมากที่สุด ๒. โรคประสาทฮีสทีเรีย (hysteria) โรคนี้ไม่ได้เกิดจากความต้องการทางเพศสูงอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นโรคประสาทที่ใช้จิตไร้สำนึกชนิดแปรเปลี่ยนตามความวิตกกังวล ให้เป็นอาการทางกาย บางรายมีอาการแบบเจ้าเข้า พบในหญิงมากกว่าชายในวัยรุ่น สาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งทางใจ ซึ่งผู้ป่วยหาทางออกไม่ได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลท่วมท้น ๓. โรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorders) ผู้ป่วยมีอาการคิดซ้ำๆ หรือทำอะไรซ้ำๆ โดยห้ามตัวเองไม่ให้คิด หรือไม่ให้ทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า ความคิดหรือการกระทำนั้น ไร้สาระ ไม่มีเหตุผล ๔. โรคประสาทโฟบิก (phobic states) จะมีอาการกลัววัตถุหรือสถานการณ์บางอย่าง ซึ่งคนปกติ จะไม่กลัว จนเกิดอาการใจสั่น อาเจียน เหงื่อท่วมตัว เช่น กลัวที่โล่ง กลัวผีเสื้อ กลัวสีแดง เป็นต้น ๕. โรคประสาทซึมเศร้า (neurotic depression) โดยมากเกิดภายหลังการสูญเสีย เช่น สูญเสีย บุคคลอันเป็นที่รัก ค้าขายขาดทุน สอบตก อกหัก จะมีอาการเศร้าขึ้นลงได้ง่าย อาจเข้าสังคมได้ตามปกติ แต่ยังมีอาการร้องไห้ รู้สึกตัวเองไร้ค่า คิดอยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ ๖. โรคประสาทไฮโพคอนดริอะซิส (hypo-chondriasis) พบมากในชาวเอเชีย ผู้ป่วยกังวลแต่เรื่องสุขภาพกาย มีอาการปวดศีรษะ ปวดข้อ ชา แน่นท้อง โดยที่แพทย์ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่ทำ ให้เกิดโรคทางกาย ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีความเศร้าแฝงอยู่ลึกๆ ปรากฏออกมาในรูปของอาการทางกายการรักษาโรคประสาท ส่วนมากไม่จำเป็นต้อง รับไว้รักษาในโรงพยาบาล การรักษาอาจทำได้โดยรักษาด้วยยา ที่แพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น ควบกับการทำจิตบำบัด (psychotherapy) ซึ่งเป็นการรักษาด้านจิตใจ หรือรักษาด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัด (behavior therapy) ซึ่งเป็นการรักษาที่มุ่งเปลี่ยนแปลงอาการที่สำคัญ เช่น โรคกลัว ภาวะติดอ่าง เป็นต้น บุคลิกภาพแปรปรวน บุคลิกภาพแปรปรวน เป็นความผิดปกติทางจิตเวช ที่มีลักษณะของการปรับตัวไม่ถูกต้อง ซึ่งมักแสดงออกทางพฤติกรรมที่เริ่มในระยะต้น ของพัฒนาการทางบุคลิกภาพตั้งแต่วัยเด็ก แต่จะปรากฏชัดเจนในวัยรุ่น มีสาเหตุมาจากหลายด้านคือ ๑. โครงสร้างทางชีวเคมี กรรมพันธุ์ ประสาทสรีรวิทยาของบุคคลนั้นๆ เอง มีลักษณะชวนให้เกิดความแปรปรวนทางบุคลิกภาพ ๒. เลียนแบบบุคคลใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ คนเลี้ยง ทั้งทางพฤติกรรม อารมณ์ และท่าที ฯลฯ มาตั้งแต่วัยเด็ก แล้วรับเป็นแบบฉบับของพัฒนาการทางบุคลิกภาพของตนเอง เช่น พ่อมีลักษณะก้าวร้าว โมโหร้าย ลูกก็จะมีลักษณะเหมือนพ่อ ๓. ประสบการณ์บางอย่างตั้งแต่วัยเด็ก ที่ทำให้เด็กปรับตัวเข้ากับสภาพนั้นๆ จนยึดถือลักษณะนั้น เป็นส่วนของบุคลิกภาพของตน เช่น เด็กร้องไห้อยากได้ของเล่นทีไร แม่ก็ซื้อให้ทุกที เด็กก็จะแสดงอารมณ์ทุกครั้งที่เขาต้องการสิ่งใด แม้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็จะมีลักษณะเช่นนั้นติดไป บุคลิกภาพแปรปรวน แบ่งออกเป็น ๙ ลักษณะ คือ ๑. บุคลิกภาพแบบระแวง มีลักษณะขี้สงสัย อิจฉาริษยา ขี้หึง รู้สึกว่า ตัวมีความสำคัญกว่าผู้อื่น มนุษยสัมพันธ์ไม่ดี ปรับตัวเองไม่ได้ ชอบนินทา และตำหนิผู้อื่น มองผู้อื่นในแง่ร้าย ท่าทีไม่เป็น มิตรต่อผู้อื่น ก้าวร้าว๒. บุคลิกภาพแบบอารมณ์แปรปรวน มีอารมณ์เศร้าและสนุกครึกครื้นง่าย บางเวลากระตือรือร้น ทะเยอทะยาน สนุกสนาน บางเวลาหดหู่เศร้าหมอง ซึม เบื่อหน่าย๓. บุคลิกภาพแบบเก็บตัว แยกตัวจากสังคม ชอบคิดเพ้อฝัน หลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ ไม่ชอบการแข่งขัน ผู้ที่มีบุคลิกภาพชนิดนี้อาจประสบความสำเร็จสูงส่งได้ ถ้ารู้จักเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพ เช่น เป็นนักค้นคว้าวิจัยในห้องทดลอง แต่ไม่เหมาะที่จะเป็นนักแสดง หรือนักประชาสัมพันธ์๔. บุคลิกภาพแบบก้าวร้าว หรือแบบระเบิดโผงผาง อารมณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รุนแรง แสดงความโกรธ เกลียด ก้าวร้าว ดุดัน โต้เถียง ด่าทอ เกรี้ยวกราด ชอบใช้อำนาจ มีเรื่องขัดใจเพียงเล็กน้อยก็มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้๕. บุคลิกภาพแบบย้ำคิดย้ำทำ มีลักษณะเคร่งเครียด เจ้าระเบียบ มีความรับผิดชอบสูง ทำอะไรต้องสมบูรณ์ บกพร่องไม่ได้ รอบคอบ ถี่ถ้วน กลัวผิด วิตกกังวลเสมอ ถ้าเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับบุคลิกภาพ อาจได้รับความสำเร็จเป็นผลดี เช่น เป็นนักบัญชี นักวิทยาศาสตร์๖. บุคลิกภาพแบบฮีสทีเรีย มีลักษณะพึ่งพิงผู้อื่น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ไม่แน่นอน เรียกร้องความสนใจ ถูกชักจูงได้ง่าย มีท่าทียั่วยวน ถือตนเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่บรรลุวุฒิภาวะ มักแสดงท่าทางคล้ายแสดงละคร บุคลิกภาพชนิดนี้พบในหญิงมากกว่าชาย๗. บุคลิกภาพแบบอ่อนแอ มีลักษณะอ่อนแอ สมยอมเชื่องซึม ท่าทางเหนื่อยหน่าย ขาดความกระตือรือร้น และขาดความสนุกสนาน๘. บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม หรืออันธพาล มีลักษณะเห็นแก่ตัว ขาดความรับผิดชอบ เอาแต่ได้ ไม่นึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น หุนหันพลันแล่น ชอบทะเลาะวิวาท ไม่ซื่อสัตย์ ไม่รักหมู่คณะ ไม่รู้จักหลาบจำ เมื่อถูกลงโทษ มักพบว่า ในวัยเด็กขาดการอบรม มาจากครอบครัวที่แตกแยก หรืออยู่ในถิ่นที่สิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น ชุมชนแออัด เป็นต้น๙. บุคลิกภาพแบบก้าวร้าวอย่างเฉื่อย มีลักษณะผัดผ่อน หน่วงเหนี่ยวถ่วงเวลา ดื้อรั้นเป็นประจำ พบได้มาก โดยเฉพาะในคนไทย ซึ่งถูกอบรมให้กดเก็บความรู้สึก ถ้าไม่รุนแรงก็ดำเนินชีวิตไปได้ตามสมควรคนปกติอาจมีบางเวลาที่ผัดผ่อนงาน เจ้าระเบียบในบางเรื่องหรือบางเวลา ภาวะเหล่านี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว มิได้เป็นลักษณะประจำ เช่นนี้ไม่จัดว่า เขาผู้นั้นมีบุคลิกภาพที่แปรปรวน การรักษาบุคลิกภาพแปรปรวน ค่อนข้างรักษา ยาก โดยเฉพาะเมื่อขาดแรงจูงใจ การทำจิตบำบัดอาจ ช่วยได้บ้างในบางราย แต่ส่วนมากไม่ใคร่ได้ผล เพราะ ส่วนมากบุคคลเหล่านั้นไม่คิดว่า ตนเองต้องการรักษา ดังนั้นจึงควรป้องกันมิให้เกิดขึ้น โดยพ่อแม่ต้องอบรม เลี้ยงดูบุตรด้วยความรักอย่างเหมาะสมตั้งแต่เกิด ความผิดปกติทางเพศ พฤติกรรมทางเพศ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละสังคมและวัฒนธรรม การวินิจฉัยว่าบุคคลใดมีความผิดปกติทางเพศ (sexual deviations) จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ส่วนมากเชื่อว่า เกิดจากพัฒนาการทางบุคลิกภาพไม่สมบูรณ์ ชะงักงัน หรือผิดปกติ หรือเคยมีประสบการณ์ถูกชักจูงจากผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมทางเพศไม่ปกติ ความผิดปกติทางเพศมี ๙ ชนิด ที่พบบ่อยในเมืองไทยได้แก่ ๑. รักร่วมเพศ (homosexuality) มีลักษณะสนใจเพศเดียวกันอย่างฉันคู่รัก ไม่สนใจเพศตรงข้าม พบได้ทั้งในหญิงและชาย รักร่วมเพศอาจมีหรือไม่มีความสัมพันธ์ทางกายก็ได้ ๒. เปลือยอวัยวะเพศ (exhibitionism) ส่วนมากพบในชาย ชอบเปิดเผยอวัยวะเพศต่อหน้า เด็กสาวหรือหญิงสาวถ้าบุคคลใดประกอบกิจกรรมทางเพศที่ผิดปกติ ในภาวะหรือสิ่งแวดล้อมซึ่งเขาไม่สามารถหาทางออกทางเพศได้อย่างปกติ ก็ไม่จัดว่าเขามีความผิดปกติทางเพศ เช่น บุคคลที่เกิดการรักร่วมเพศในหมู่ทหาร ในคุก ในโรงเรียนประจำ ซึ่งขาดแคลนเพศตรงข้ามเป็นเวลานาน และมิใช่พฤติกรรมที่เขาปฏิบัติอย่างถาวรซ้ำๆ ก็อาจไม่ต้องรักษา ความผิดปกตินั้นจะหมดไป เมื่อเขาอยู่ในภาวะแวดล้อมปกติ ในสังคมที่มีทั้งสองเพศอยู่ปะปนกัน การรักษาความผิดปกติทางเพศรักษายากและมักไม่ได้ผล แต่บางรายอาจช่วยได้โดยจิตบำบัด จึงควรป้องกัน โดยพ่อแม่อบรมเลี้ยงดูบุตรอย่างถูกต้อง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุตร และมีพฤติกรรมเหมาะสมตามบทบาทของตน การติดสุรา การติดสุรา คือภาวะที่เสพสุราติดต่อกันมาเป็นเวลานาน หรือเสพติดต่อกันเป็นช่วงๆ จนทำให้ขาดสุราไม่ได้ ถ้าเป็นมานานเรียกว่า โรคพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism) การติดยาเสพติด การติดยาเสพติด คือภาวะการใช้ยาอย่างใด อย่างหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานหรือเป็นช่วงๆ จนทำ ให้ขาดยานั้นไม่ได้ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน ยาม้า ยา ขยัน ยานอนหลับ หากขาดยา จะทำให้เกิดอาการ ไม่พึงประสงค์ เช่น ใจสั่น มือสั่น ท้องเดิน เหงื่อ ออกมาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 
หมายเลขบันทึก: 638806เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2017 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2017 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท