​ชีวิตที่พอเพียง : 3020b โรงงานผลิตปัญญา : 13. ศตวรรษแห่งเยอรมนี


อุดมศึกษาอเมริกันค่อยๆ ปรับจากเลียนแบบอังกฤษ ไปเลียนแบบเยอรมนี แต่อเมริกันก็ไม่ ถึงกับลอก มีการปรับให้เข้ากับบริบทของตนด้วย

ชีวิตที่พอเพียง  : 3020b โรงงานผลิตปัญญา :  13. ศตวรรษแห่งเยอรมนี

บันทึกชุด โรงงานผลิตปัญญา ตีความจากหนังสือ Wisdom’s Workshop :  The Rise of the Modern University    สำหรับตอนที่สิบสองนี้ ตีความจากบทที่ 5  The German Impress

กล่าวถึงความล้าหลังของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙    โดยมีสองสาเหตุใหญ่ คือ (๑) นักศึกษาที่เข้าเรียนมีมาตรฐานต่ำ หรือแตกต่างกันมาก   เนื่องจากการศึกษาระดับมัธยมยังไม่เป็นระบบ    ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขในช่วงหลังสงครามกลางเมือง   (๒) ไม่มีระบบสร้างอาจารย์ที่มีคุณภาพสูง

ประเทศที่มีระบบสร้างอาจารย์ที่มีคุณภาพสูงคือเยอรมนี    มีระบบการศึกษาระดับ PhD    ตลอดทั้งศตวรรษที่ ๑๙ คนอเมริกันที่ต้องการเป็นนักวิชาการระดับสูงจึงไปเรียนปริญญาเอกที่เยอรมนี

ระบบปริญญาเอกเพิ่งเกิดขึ้นที่อ็อกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ในศตวรรษที่ ๒๐    คือในปี 1917  และ 1920 ตามลำดับ   

ระบบอุดมศึกษาของเยอรมันที่พัฒนาต่อเนื่องตลอดศตวรรษที่ ๑๘ คือระบบที่มหาวิทยาลัยจัดการศึกษา ๓ ด้าน ได้แก่การศึกษาระดับปริญญาตรี  การศึกษาเพื่อวิชาชีพ  และการศึกษาหลังปริญญาตรีสำหรับผลิตอาจารย์     ซึ่งปริญญาเอกที่ไม่ใช้ปริญญาด้านวิชาชีพของเยอรมันมีปริญญาเดียว คือ PhD    ทำให้อุดมศึกษาของเยอรมัน มีความเข้มแข็งและมีลักษณะจำเพาะมาก    

ในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ผู้ต้องการเป็นนักวิชาการในสหรัฐอเมริกา ต่างก็ฝันใฝ่ต่อการไปเรียนต่อ ในเยอรมนี อย่างน้อยก็สักปีสองปี   

เมื่อ ๑๕๐ ปีก่อน มหาวิทยาลัยในอเมริกา ออกทุนส่งอาจารย์ไปเรียนต่อที่เยอรมนี    เหมือนกับที่ปัจจุบัน ไทยส่งไปเรียนที่อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น    

ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยเยอรมนีเป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าทางวิชาการ    โดยการมีเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์ และนักศึกษา     หลักสูตรจัดเฉพาะนักศึกษาเป็นรายๆ    นักศึกษาแต่ละคนจะเรียนอะไร เมื่อไร ที่ไหน กับใคร ได้ทั้งนั้น     โดยสามารถไปเรียนจากมหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวนราวๆ ๒๐ มหาวิทยาลัยได้อย่างเสรี  

อาจารย์มีเสรีภาพที่จะสอนวิชาการตามที่ตนเชื่อ   และรัฐมีกลไกปกป้องอาจารย์  ไม่ให้ถูกกดดัน จากภายนอก    

นักวิชาการอเมริกันไปรับแรงบันดาลใจ  วิธีวิทยาวิจัย  ห้องปฏิบัติการวิจัย  เครื่องมือวิจัย   และวัฒนธรรมวิชาการ จากเยอรมนี    ซึ่งมีห้องปฏิบัติการวิจัยราคาแพงที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ   มีห้องสมุดสำหรับสนับสนุนงานวิจัย   และในบางกรณีมีพิพิธภัณฑ์ 

ในช่วงนั้น มหาวิทยาลัยในเยอรมันมีเป้าหมายแตกต่างจากมหาวิทยาลัยในอเมริกา     ในขณะที่มหาวิทยาลัยอเมริกันมุ่งสร้างวัฒนธรรมทั่วไป    แต่มหาวิทยาลัยเยอรมันมุ่งสร้างการฝึกฝนเฉพาะทาง     และมุ่งวิจัยความรู้ใหม่เพื่อการตีพิมพ์    ไม่ใช่มุ่งให้นักศึกษาดูดซับความรู้ที่มีอยู่แล้วให้ครบถ้วนอย่างในอเมริกา     จุดแข็งอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยเยอรมันคือการสร้างพลังเสริมระหว่างการวิจัยกับการสอน 

ในเยอรมนี ประมาณร้อยละ ๑๐ - ๒๕ ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีเรียนต่อระดับปริญญาเอก    เพื่อไปมีอาชีพ อาจารย์มหาวิทยาลัย    โดยต้องทำผลงานวิจัยเพื่อการตีพิมพ์เป็นหลัก ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ เป็นเล่มหนาๆ     และในการสอบปากเปล่าต้องตอบสาระของวิชานอกสาขาหลักของตน ๒ สาขา     คือบัณฑิตปริญญาเอก ต้องมีทั้งความลึกและความกว้าง  

ยุคนักวิชาการอเมริกันมุ่งหน้าเรียนต่อที่เยอรมนีดำเนินต่อเนื่องจนถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙ 

แต่มหาวิทยาลัยเยอรมันก็ไม่ใช่ว่าจะเลอเลิศไปทุกด้าน   จุดด้อยที่หนักข้อที่สุดน่าจะเป็นการกีดกัน เพศหญิง    บัณฑิตสตรีอเมริกันด้านแพทย์ หรือจบจากวิทยาลัยเฉพาะเพื่อสตรี ยากลำบากมากในการไป ศึกษาต่อในเยอรมนี 

นอกจากนั้นก็มีเสียงบ่นเรื่องห้องบรรยายมีกลิ่นและอับชื้น   ห้องสมุดคับแคบ และหนาว   การบรรยายที่น่าเบื่อ   นักศึกษาส่วนใหญ่ไปนั่งหาวในห้องบรรยาย โดยไม่จดเล็กเชอร์   ฯลฯ

ระบบที่ชัดเจนที่สุดที่บัณฑิตอเมริกันที่จบจากเยอรมนีนำกลับบ้านคือระบบการเรียนการสอนด้วย (๑) การบรรยาย (lecture)  (๒) การสัมมนา (seminar)  และ (๓) การฝึกในห้องปฏิบัติการ (laboratory)    แต่สิ่งที่ให้คุณ แก่ระบบอุดมศึกษาอเมริกันมากที่สุดคือระบบ PhD    ที่บัณฑิตจากเยอรมนีนำกลับบ้าน    ไปผลิตบัณฑิต ปริญญาเอก    สร้างระบบวิชาการชั้นสูง และสร้างนักวิชาการของตนเอง     สร้างมหาวิทยาลัยวิจัย (มีมหาวิทยาลัย Johns Hopkins เป็นผู้นำในปี 1876) ที่เป็นที่ ยอมรับของยุโรป    โดยมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะต่อสถานการณ์ ของอเมริกัน    ถึงปลายศตวรรษที่ ๑๙ การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นวิชาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติ ไปเรียบร้อยแล้ว    แม้จะไม่ได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูงจากคนทั่วไปเท่าศาสตราจารย์ในเยอรมนี ที่คนเรียกว่า ท่านศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ (Herr Doktor Professor)

ดังนั้นระบบการศึกษาปริญญาเอกของอเมริกาจึงแตกต่างจากระบบเยอรมันดังต่อไปนี้ 

  • กำหนดให้ปริญญา PhD เป็นปริญญาเอกเฉพาะสำหรับผู้จบปริญญาตรีจาก Liberal Arts College
  • กำหนดให้การจบปริญญาเอกเป็นคุณวุฒิอย่างเดียวที่ต้องการสำหรับผู้จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย    ในขณะที่ในเยอรมนีผู้สมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องไปสอนระดับต่ำกว่า มหาวิทยาลัย และทำวิทยานิพนธ์ชิ้นที่สองในหัวข้อที่กว้างขึ้น    แล้วได้รับอนุญาตจาก มหาวิทยาลัย ให้เริ่มเป็นผู้ช่วยอาจารย์    จะเห็นว่าเส้นทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอเมริกัน ง่ายกว่าเยอรมันมาก    นอกจากนั้นวิทยานิพนธ์อเมริกันก็ค่อยๆ งอกความหนาขึ้น
  • การมีบัณฑิตวิทยาลัย แยกจากคณะวิชาด้านวิชาชีพ   ทั้งๆ ที่คณะวิชาด้านวิชาชีพก็มีการวิจัย ทั้งด้านวิชาชีพและด้านวิชาพื้นฐาน    การที่คณะวิชาของอเมริกันแยกออกเป็นภาควิชา ตามสาขาวิชาการ    ในขณะที่มหาวิทยาลัยเยอรมันมีคณะวิชาใหญ่ราวๆ ๕ คณะ มีหัวหน้ารับผิดชอบ    และมหาวิทยาลัยเยอรมันมีการสอบนักศึกษาปริญญาเอกเป็นระยะๆ และให้คะแนน เพื่อดูพื้นความรู้    แต่ของอเมริกันไม่มี
  • อุดมศึกษาเยอรมันมีมิติด้านอุดมการณ์สูงส่งอยู่ด้วย    ในด้านการสร้างคน และสร้างวิชาการ ในเชิงอุดมการณ์ แต่ของอเมริกันตัดหรือลดทอนส่วนนี้ลงไป  เหลือเพียงด้านวิจัย 

จะเห็นว่า อุดมศึกษาอเมริกันค่อยๆ ปรับจากเลียนแบบอังกฤษ    ไปเลียนแบบเยอรมนี    แต่อเมริกันก็ไม่ ถึงกับลอก    มีการปรับให้เข้ากับบริบทของตนด้วย 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 638650เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2017 05:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2017 05:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท