การดูแลของครอบครัว และชุมชนต่อผู้ที่เป็นโรคจิตในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน


การดูแลของครอบครัว และชุมชนต่อผู้ที่เป็นโรคจิตในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน                                                                                               

                                                                                                นางวารุณี  อินโองการ  และคณะ

              โรงพยาบาลลี้   ลำพูน     โรคจิตเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังทางจิตเวชที่ต้องการให้การรักษาเป็นเวลานาน การรักษาผู้ที่เป็นโรคจิตในอดีตจะเป็นการรักษาเฉพาะในโรงพยาบาลทางจิตเวช และการรักษาที่ตัวบุคคล แต่พบว่าปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้ลดน้อยลงไป และจากความเชื่อที่ว่าบุคคลและสิ่งแวดล้อมมีปฏิสัมพันธ์กันเสมอ จึงทำให้แนวทางการรักษาผู้ที่เป็นโรคจิตในปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนมากที่สุด โดยมุ่งเน้นให้ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย               การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาการดูแลของครอบครัวและชุมชนต่อผู้ที่เป็นโรคจิตในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้  การค้นหาความหมายของการดูแล ตามมุมมองของ สมาชิกในครอบครัวที่มีผู้ดูแลผู้ที่เป็นโรคจิต และแกนนำชุมชนที่มีผู้ที่เป็นโรคจิตอยู่ วิธีการจัดการดูแลในวิถีชีวิตประจำวัน วิธีการดูแลเพื่อสุขภาพเบี่ยงเบน                ศึกษาในสมาชิกที่มีหน้าที่เป็นผู้ดูแลหลักในครอบครัวที่มีผู้ที่เป็นโรคจิตอยู่ โดยผู้ที่เป็นโรคจิตนั้นสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่กลับไปรักษาซ้ำในแผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาลสวนปรุง ภายในเวลา 2 ปี และในสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่เป็นโรคจิตที่กลับไปรักษาซ้ำในแผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาลสวนปรุงมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี รวมถึงแกนนำชุมชนในหมู่บ้านนั้น    ผู้ให้ข้อมูลเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มีหน้าที่หลักในการดูแลผู้ที่เป็นโรคจิตกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นแกนนำในชุมชนของหมู่บ้านนั้นได้มาโดยการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ รวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ เจาะลึก ร่วมกับการบันทึกภาคสนาม จนข้อมูลมีความอิ่มตัวในรายที่ 10 ของทำกลุ่มครอบครัว และกลุ่มแกนนำชุมชนและใช้การสนทนากลุ่ม เพื่อตรวจสอบความตรงของข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา    

             ผลการวิจัย  การให้ความหมายของการดูแลตามมุมมองของผู้ให้ข้อมูลพบว่าหมายถึงการเอาใจใส่ การสอดส่องติดตามความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน  โดยวิธีการจัดการดูแลในวิธีชีวิตประจำวันในส่วนของครอบครัวพบว่ามี 6 ประการ เรียงตามลำดับความสำคัญที่ผู้ให้ข้อมูลได้จัดไว้ดังนี้  1.ด้านการรับยา การรักษาต่อเนื่อง 2.การป้องกันการใช้สุราและสาร/เครื่องดื่มกระตุ้นประสาท 3.การสังเกตความผิดปกติต่างๆของอารมณ์พฤติกรรม  4.ด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล 5.ด้านอาหา6.ด้านการจิตใจและอารมณ์  7.ด้านการพักผ่อนนอนหลับ ในส่วนของชุมชนพบว่าจะดูแลในการป้องกันการดื่มสุรา บางชุมชนจะแจ้งในที่ประชุมหมู่บ้านให้ช่วยกันดูแลการให้การยอมรับผู้ป่วยชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนการพูดคุยสนทนาให้สบายใจ  วิธีจัดการเมื่อสุขภาพเบี่ยงเบนในส่วนของครอบครัวพบว่า เมื่อพบอาการผิดปกติทางอารมณ์ หรือพฤติกรรมเช่นหงุดหงิดก้าวร้าวกลางคืนไม่หลับเดินมากไม่เชื่อฟังดื่มสุรา เศร้าคิดอยากตายระแวงไม่สนใจตัวเองญาติ  ส่วนใหญ่จะรีบมาบอกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ทราบถ้ามีอาการมากจนอาจเป็นอันตายต่อผู้อื่นและตัวผู้ป่วยเองชุมชนจะเข้ามาช่วยจัดการประสานงานกับตำรวจนำส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้พบว่าลักษณะนิสัยบุคลิกภาพส่วนตัว ความรู้ความเข้าใจในโรคการยอมรับการเจ็บป่วยของตัวผู้ป่วยเอง และ ครอบครัว ลักษณะของสัมพันธภาพของสมาชิกในครอบครัว รวมถึงบริบทของชุมชน  ความรู้เรื่องโรค ทัศนคติ สัมพันธภาพของผู้ป่วยและครอบครัวกับชุมชนมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคจิตสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในชุม ชนได้อย่างปกติสุขและมีคุณภาพชีวิต                 

               ข้อเสนอแนะ จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การดูแลของครอบครัวและชุมชนนั้น มีผลต่อการดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนของผู้ที่เป็นโรคจิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นทีมสุขภาพจึงควรจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผน กำหนดเป้าหมายในการดูแล โดยเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน 

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 63807เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท