ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด ๔. คุยกันเรื่องการเรียน มากกว่าเรื่องการสอน



บันทึกชุด ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด  นี้ตีความจากหนังสือ Visible Learning for Teachers : Maximizing Impact on Learning เขียนโดย John Hattie ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕  

ตอนที่ ๔ คุยกันเรื่องการเรียน มากกว่าเรื่องการสอน  ตีความจากบทที่ 9 Mind frames of teachers, school leaders, and systems  หน้า ๑๘๕ Mind frame 3 : Teachers / leaders want to talk more about the learning than the teaching

ครูที่ดีต้องคิดถึงลูกศิษย์มากกว่าคิดถึงตนเอง     หนังสือ Visible Learning and the Science of How We Learn เขียนโดย John Hattie and Gregory Yates (2014)  กล่าวว่า “... achievement in schools is maximised when teachers see learning through the eyes of students, ...”    ซึ่งผมตีความว่า ครูที่ดีต้องเอาใจศิษย์มาใส่ใจตนเอง     ข้อท้าทายคือศิษย์มีหลายคน และมีความแตกต่างกันมาก

การเรียนเป็นเรื่องของศิษย์ การสอนเป็นเรื่องของครู     ดังนั้นในหมู่ครูและผู้บริหารการศึกษาต้องคุยกัน เรื่องการเรียนมากกว่าเรื่องการสอน   

กล่าวอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าการสอนไม่สำคัญ    การสอนที่ดีสำคัญอย่างไร อ่านได้จากบันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ของการสอน (https://www.gotoknow.org/posts...ศาสตร์และศิลป์ของการสอน)

การเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องของศิษย์ฝ่ายเดียว  ยังเป็นเรื่องสำคัญของครูและผู้บริหารการศึกษาด้วย     ครูและผู้บริหารการศึกษาต้องคุยกันเรื่องการเรียนรู้ของครูและของผู้บริหารการศึกษาเอง     ที่เป็นการเรียนรู้ เพื่อจัดการเรียนรู้ของนักเรียนให้เกิด effect size สูงยิ่งขึ้น    เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

เขาบอกว่าครูต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้แบบปรับตัว (adaptive learning)    ซึ่งผมตีความว่า หมายถึงการเรียนรู้ที่ไม่ยึดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตายตัว     สามารถปรับตัวได้ตามเหตุปัจจัยหรือบริบท และตัวนักเรียน ที่แตกต่างหลากหลาย

ครูต้องรู้วิธีการเรียนการสอนหลากหลายแบบ    สามารถสร้างโมเดลการเรียนรู้ที่หลากหลาย  และสามารถโค้ชในรูปแบบที่แตกต่างกันนั้น     รวมทั้งสามารถตรวจจับข้อผิดพลาดในการทำหน้าที่ดังกล่าว

ศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ มีความก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง    มีรายละเอียดในหนังสือ Visible Learning and the Science of How We Learn   และหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร  (https://www.scbfoundation.com/publishing.php?project_id=292#publishing/292/5462)

ครูพึงตระหนักว่า ความตั้งใจสอนเท่านั้นไม่เพียงพอ    เพราะอาจใช้วิธีสอนที่ผิดและก่อผลร้ายต่อตัวเด็ก     ครูต้องหมั่นเรียนรู้วิธีสอนที่ให้ผลต่อการเรียนรู้ของศิษย์ ที่ effect size สูงกว่า d = 0.40          


วิจารณ์ พานิช

๒ ส.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 638058เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2017 23:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2017 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท