โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ท้องถิ่นท่ามะนาว


โสภณ เปียสนิท

...............................................

            ผมเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อบ้านท่ามะนาว วังด้ง ชายขอบเมืองกาญจนบุรี ฟังผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่าถึงความเป็นมาของหมู่บ้านว่า ชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่มาพักอาศัยแถวนี้ เป็นชาวบ้านจากบางจะเกร็ง ราชบุรี สมัยนั้นกาญจนบุรียังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน มีแต่ป่าเขาลำเนาไพร ป่าไผ่ป่ารวกคือแรงบันดาลใจให้ชาวราชบุรีเดินทางมาหา เพราะสามารถตัดไผ่ตัดรวกเอาไปขายในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าเมืองกาญจน์เองตรงปากแพรก หรือจุดที่แม่น้ำแควใหญ่แควน้อยไหลมาบรรจบกัน ตอนนั้นมีโรงงานกระดาษ หน้าโรงงานมีช้างตัวใหญ่ยืนแกว่งงวงส่ายก้นไปมาจนเป็นภาพประจำของหน้าเมืองกาญจน์

            คนตัดไม้ไม่วาจะเป็นไม้ชนิดใดต่างพากันเดินทางเหนือลำนำแควใหญ่แควน้อยขึ้นไปในป่าในเขาเพื่อตัดไม้ วิธีการตัดไม้ให้ดีและตัดแล้วได้ผลประโยชน์มากสุดคือการตัดไม้ใหญ่ไม่ยืนต้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ตะเคียน ไม้สัก ไม้ยางนา ไม้มะค่า เป็นต้น แล้วตัดไม่ไผ่ไม้รวกไปด้วย เพื่อนำมามัดไม้ไผ่หรือรวกเป็นมัดๆ แล้วใช้เชือกมัดไม้เนื้อแข็งหรือที่เรียกว่า ท่อนซุงไว้ใต้แพไผ่ หรือรวก เพื่อล่องตามลำน้ำไปด้วยกัน ในหนึ่งแพจึงมีไม้ไว้ขายทั้งไผ่ รวก และไม้เนื้อแข็งในคราวเดียวกัน บางคราวหรือทุกคราวจะมีเนื้อปลา เนื้อสัตว์ป่าต่างๆ รมควัน ผสมกลับลงมาด้วยเสมอ บางแพใช้คนอยู่ในวัยหนุ่มรุ่น หรือหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่มากประสบการณ์ซึ่งยังมีความแข็งแรงมากหน่อยคอยช่วยกันคัดหัวคัดท้ายให้แพล่องไปตามลำน้ำแควได้อย่างปลอดภัย มีบ้างเหมือนกันที่บางแพจะประสบอุบัติเหตุชนเข้ากับเกาะแก่งหินชายน้ำ หรือกลางน้ำแตกทำให้ต้องเสียเวลาโกลาหลช่วยกันนำไม้ชนิดต่างๆ รวมกันเป็นรูปเป็นร่างอีกครา บางเที่ยวก็ขายที่หน้าเมืองกาญจน์ บางเที่ยวก็ล่องเลยเข้าสู่ลำน้ำแม่กลองไปขายเมืองราชบุรี แต่ละเที่ยวทำรายได้ให้ไม่น้อย บางแพมีเรือยนตร์เป็นเรือลากนำ ช่วยประคับประคองให้การเดินทางปลอดภัยมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น

            ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงไปในกาลเวลา ป่าไม้น้อยลงผู้คนมากขึ้น การจับจองที่ดินลงหลักปักฐานมากขึ้น กลายเป็นชุมชนเล็กท่ามกลางป่าไม้ไพรบัง มีเรื่องเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเสือลงมากินน้ำที่ท่าน้ำประจำหมู่บ้าน คนลงไปอาบน้ำเจอหน้ากันระยะใกล้ ฝ่ายชายใช้ไฟจากการปั่นแบตเตอรี่รถจักรยานยนตร์ส่องเสือไว้ ฝ่ายหญิงท่องคาถาป้องกันเสือ แต่นึกอะไรไม่ออก ท่องได้แค่ “นะโม นะโม ว้ายๆๆ” กลายเป็นเรื่องเล่าประจำหมู่บ้านมาแต่นั้น

แม่เล่าให้ฟังว่า การเดินทางสมัยนั้นใช้ทางเรือเป็นหลัก นานๆ วันหนึ่งมีเรือล่องจากหมู่บ้านท่ามะนาวไปตลาดลาดหญ้าแค่เที่ยวสองเที่ยวเท่านั้น พี่ชายของผมคนหนึ่ง ขณะนั้นอายุราว 8 ขวบ เกิดอาหารเป็นพิษถ่ายท้องอย่างหนัก แม่อุ้มพี่ไปรอเรือหางยาว ขึ้นเรือแล้วยังต้องรอการเดินทางอีกไม่น้อย เมื่อไปถึงตลาดลาดหญ้าจึงได้รู้ว่า พี่ชายเสียชีวิตไปนานแล้ว

พ่อแม่ทำไร่บนที่ดินของบรรพบุรุษสืบทอดกันมา ผืนหนึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ อีกผืนหนึ่งอยู่ฝั่งเดียวกันแต่ไกลออกไปด้านใต้แม่น้ำ ผมจำภาพของพื้นที่ทั้งสองแห่งได้บ้าง ไร่ฝั่งนี้ ฝั่งเดียวกับบ้านพ่อปลูกอ้อยเป็นหลัก มีมะม่วงแซมอยู่บ้าง แต่ถือว่าน้อย กิจกรรมส่วนมากเท่าที่จำความได้จึงเกี่ยวข้องกับการปลูกอ้อย รดน้ำอ้อย ดายหญ้าอ้อย ใส่ปุ๋ยอ้อย จ้างคนตัดอ้อย ขนอ้อยเข้าโรงงาน บางคราวพ่อปลูกข้าวโพดม้า จำได้ว่า คราวหนึ่งพ่อเก็บฝักข้าวโพดแก่มาไว้ที่บ้านกองพะเนินเทินทึก พ่อภูมิใจมากจึงนอนบนกองข้าวโพดให้คนถ่ายภาพเก็บไว้

ส่วนไร่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำแควใหญ่ ปลูกกล้วย ผลไม้ชนิดอื่นๆ ต้นนุ่น กิจกรรมสำคัญของเราคือ การเดินทางข้ามน้ำไปนำผลผลิตกลับมากินกลับมาขาย สมัยนั้นเราใช้เรือพายข้ามฟากแล้วไปจอดไว้ที่ท่าน้ำ ขึ้นไปเก็บผักหักฟืน ผลไม้ใบหญ้าบรรทุกเรือข้ามกลับมาเพื่อนำไปขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินเก็บงำไว้ใช้สอยต่อไป วันหนึ่งเป็นช่วงหน้าฝนน้ำบ่าแรงมากจนเรือที่บรรทุกผลผลิตจากไร่เต็มลำพลิกคว่ำข้าวของลอยหายกระจายไปกับสายน้ำบางส่วน ว่ายน้ำตามเก็บมาได้บางส่วน เอาละดีกว่าเสียหายทั้งหมด ชีวิตริมฝั่งแควใหญ่ก็เป็นเช่นนี้

ช่วงผมเกิดนั้นเลยผ่านยุคแรกมาถึงยุคกลางยุคแห่งการหันหลังกลับ การเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านท่ามะนาวเปลี่ยนจากทางน้ำเป็นทางบก มีถนนสองเลนส์ของทางราชการตัดผ่านหลังหมู่บ้านปลายทางถึงน้ำตกเอราวัณ ทั้งหมู่บ้านจึงหันหน้ามาสู่ถนนแทนสายน้ำแควใหญ่ แต่ยังทันได้เห็นเรือต่อลำใหญ่ที่พ่อใช้เป็นเรือนนอนแทนบ้าน เป็นร้านค้าแทนอาคารพาณิชย์ เห็นเรือยนตร์ลากจูงเรือต่ออีกลำพ่อเรียกมันว่า “อีเขียว” เพราะทาสีเขียว ยังทันได้เห็นการเดินทางไปซื้อของมาขายที่หมู่บ้านด้วยการเดินทางโดยเรือหางยาว จำได้เลาๆ ว่า ผมเดินผ่านผืนทรายหนาวเย็นไปเรียนหนังสือยามเช้า ขณะที่ไอน้ำขาวโพลนลอยขึ้นจากผิวน้ำ ลองอ้าปากพ่นลมออกมากกลายเป็นไออย่างน่าแปลกใจ

สมัยนั้นยาเสพติดที่นิยมกันมากในกลุ่มนักเสพไม่ว่าในเมืองกรุงและตามชนบททั่วไปคือฝิ่น หมายถึงว่า ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยติดยาฝิ่น ดูดฝิ่นกันตามเถียงน้อยแถวหัวไร่ปลายนา ตำรวจยังมีน้อย ไม่รู้จะจับใครก่อน การไล่ล่าติดตามเป็นไปได้ยาก นอกจากรายที่มีผู้ให้ข้อมูลกับตำรวจจึงจะถือว่าโชคไม่ดีอาจโดนไล่ล่าอย่างหนัก ในหมู่บ้านท่ามะนาวมีการซื้อขายฝิ่นกันอยู่บ้างเหมือนกับที่อื่น ขณะนั้นแม้ผมยังเป็นเด็ก แต่ก็ยังได้ข่าวว่า เจ้าหน้าที่ไล่ล่าตรวจค้นบ้านนั้นบ้านนี้ เพื่อหายาเสพติด

แม้ว่าหมู่บ้านท่ามะนาวจะค่อยๆ เติบโตมาจากจอดแพพักผ่อน มีการลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนกันมาทีละกลุ่มสองกลุ่ม จนขยายกลายเป็นหมู่บ้าน ถึงปัจจุบันเหมือนว่าจะขยายแต่ก็ยังคงสภาพบ้านดั้งเดิมไว้มากมาย อาชีพของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เคยตัดไม้ในป่าขายดำรงชีพ ปัจจุบันไม้ไม่ค่อยมีให้ตัด ไม่สามารถทำเป็นอาชีพได้เหมือนสมัยก่อน เดิมไม่เคยมีช้างป่า ปัจจุบันมีช้างมาอยู่อาศัย การเข้าป่าจึงต้องระมัดระวัง หลายครั้งที่ช้างป่าออกจากป่าเข้าสู่เรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน บุกกัดกินทำลายพืชตามแต่ใจต้องการ คนปลูกอ้อยต้องจ้างคนเฝ้าไร่ ไม่อย่างนั้น ตื่นเช้าขึ้นมาอาจสูญเสียอ้อยหมดสวนภายในคืนเดียว

เกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่บ้านท่ามะนาวระหว่างคนกับช้าง ช้างต้องการอาหารที่อร่อยและหากินง่าย คนต้องการปลูกพืชพันธุ์ไม้ไว้ขายเลี้ยงชีพ ช้างก็หิว คนก็ไล่ สุดท้ายเกิดการปะทะกันประปรายที่นั่นที่นี่ นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินทีละเล็กทีละน้อย หลายปีรวมกันเข้าความสูญเสียจึงเพิ่มพูนปริมาณขึ้นเรื่อย การทำเกษตรจึงดำรงอยู่ด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านหลายรายทยอยขายที่ดินตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบันที่ดินแถวริมฝั่งน้ำแควใหญ่อยู่ในกำมือของคนต่างถิ่น บางคนถือครองไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไร บางคนปลูกที่พักอาศัยทิ้งไว้ บางคนจ้างคนงานมาเฝ้าบ้านเฝ้าที่ ส่วนคนพื้นที่ที่เป็นเจ้าของที่ดินเหลืออยู่จำนวนน้อยมาก

อาชีพตัดไม้ และ อาชีพรับจ้างจึงเป็นงานหลักของคนที่พื้นที่ปัจจุบัน ทำเกษตรเป็นอาชีพเสริมเล็กน้อย และการทำเกษตรแบบเชิงเดียว “เสาเดียวค้ำฟ้า” เพื่อแลกเงินแบบตัณหานิยมแบบอยู่ไปวันต่อวัน บางคนขายที่ของตนหมดแล้วจึงไปรับงานลูกจ้างอยู่ในที่ดินที่เป็นของตน บางรายเจ้าของที่ซื้อที่แล้วพัฒนาเป็นรีสอร์ทแล้วจ้างเจ้าของที่เดิมไปทำงานเป็นลูกจ้าง ความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างนี้เอง

40 กว่าปีที่ผมเดินทางออกจากบ้านท่ามะนาว แสวงหาความก้าวหน้าของชีวิต ตอนอายุสิบกว่าปี ชีวิตลอยล่องไปตามการศึกษาเล่าเรียน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนถึงถิ่นพุทธภูมิประเทศอินเดีย กลับมาแล้วจึงดูว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น เพราะอาภรณ์ที่สวมใส่ คือความรู้ในระดับปริญญาโทต่างแดน ความรู้ทำให้คนมีค่าขึ้นอย่างนี้เอง

มิใช่เพียงความรู้ที่โลกเขายอมรับแต่เพียงอย่างเดียว ผมโชคดีกว่านั้น เพราะผม “บวชเรียน” จึงได้ศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตนี้จึงรู้สึกคุ้มค่าว่า ได้เรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทำให้รู้จักหน้าตาความเป็นไปของโลก และหลักการดำรงชีพอยู่ในโลกอย่างสุขสบาย

ความเจริญของหมู่บ้านท่ามะนาวค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ เอื่อยรินเหมือนน้ำในลำน้ำแควใหญ่ในหน้าแล้ง บางครั้งถึงชะงักงันเพราะขาดแนวทางวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ และขาดความร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ขาดผู้นำที่เสียสละเพื่อชาวบ้านอย่างแท้จริง ขาดการส่งเสริมการศึกษาของคนในชุมชน

ปัจจุบันชุมชนท่ามะนาวอยู่ในสภาพสงบนิ่ง เจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งอยู่ในเมืองอื่นๆ นานๆจึงจะกลับมาเยือนที่ดินของตน บางคนเริ่มส่งคนเข้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ เพื่อปลูกต้นไม้ลงในพื้นที่ เจ้าของที่ดินบางรายเริ่มมองแนวทางแห่งการพัฒนาสร้างที่พัก สร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตรของตนเอง ปลูกต้นไม้พันธุ์ไม้ที่คิดว่ามีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างชัดเจน วางแนวทางให้สวนของตนมีรายได้หลายทาง เช่น การเกษตรผสมการท่องเที่ยว มีการขายพันธุ์ไม้ ขายที่พัก ขายผลไม้ ขายผลไม้แปรรูป

ผมเองเหลือเวลาอีกสี่ปีคงต้องกลับบ้าน เพราะเกษียณอายุราชการ แม่เหลือที่ไว้ให้อยู่อาศัยหลายไร่ ผมเริ่มปลูกบ้านเล็กในป่าใหญ่ไว้หลังหนึ่ง เพื่อใช้วันหยุดทางราชการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าเดิม ให้เป็นที่พักอาศัยอันร่มเย็นมีพร้อมทั้งที่พัก และพันธุ์ไม้ใช้สอย พันธุ์ไม้กินได้ พันธุ์ไม้ให้ร่ม ตั้งใจไว้ว่า อยากให้พื้นที่ตรงนี้ “เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน” มีพร้อมทุกอย่างอยู่บนที่ดินแห่งนี้ ทั้งศูนย์ภาษาอังกฤษของหมู่บ้าน (English Centre) ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน (Tourist Centre) มีที่พักห้องเล็กๆ สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยแล้วชาวต่างชาติ วิสาหกิจชุมชนคือมีชาวบ้านมาขายสินค้าของตนร่วมกัน มีศูนย์การขายสินค้าทางการเกษตรของชุมชน มีศูนย์พันธุ์ไม้ภาคตะวันตก

ที่สำคัญผมอยากมีสถานที่สำหรับทุกคนมาสวดมนต์ภาวนาทำวัตรฟังธรรมร่วมกันไว้ในสถานที่แห่งนี้ด้วย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทยแล้วชาวต่างชาติที่สนใจการพัฒนาจิตใจตามแนวทางพระศาสนา และอยากให้ผู้มีบุญที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้ได้พัฒนาความรู้ พัฒนาอาชีพ พัฒนาจิตใจไปด้วยกัน แต่ค่อยๆ เป็นไปทีละน้อย ตามแนว เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง

 https://www.gotoknow.org/posts...

 




หมายเลขบันทึก: 638014เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2017 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2017 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท