ปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมความดันโลหิต ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง


ปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมความดันโลหิต ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง
ตำบลสันมหาพน   อำเภอแม่แตง  จังหวัดเชียงใหม่


 
  นางสมพร ตังควนิช  และคณะ 

ศูนย์สุขภาพชุมชนสันมหาพน

     จากภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อายุมากกว่า  40  ปี ของตำบลสันมหาพน  ที่ได้รับการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ยังมีความดันโลหิตอยู่ในระดับรุนแรงเพิ่มขึ้น นับเป็นการเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และเป็นภาระแก่ครอบครัว  เช่น   โรคหลอดเลือดสมอง  อัมพฤกต์  อัมพาต  เป็นต้น  การค้นหาปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีความดันโลหิตอยู่ในระดับรุนแรงเป็นการหารูปแบบที่เหมาะสมในการดูแลและให้บริการ  เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
 การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก(In-depth Interview) ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง (> 180 / 110 มม.ปรอท) จำนวน 10 ราย ได้แก่  ผู้ป่วย ชาย – หญิง   ที่เป็นความดันโลหิตสูงอย่างเดียว  และผู้ป่วย ชาย – หญิง ที่เป็นทั้งความดันโลหิตสูงและเบาหวาน  โดยมีระยะเวลาการเป็นโรคมาแล้วมากกว่าหรือน้อยกว่า  5  ปี  การสนทนากลุ่ม (Focus Group) จำนวน  2  กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มญาติผู้ป่วย  กลุ่ม อสม. และ ผู้นำชุมชน  จัดกลุ่มข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์  โดยใช้โปรแกรม Excel   ในการจัดเรียงข้อมูล    วิเคราะห์ข้อมูล  โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงลึก (Content Analysis) และตรวจสอบข้อมูลโดยใช้เทคนิคแบบสามเส้า (Triangulation) 
              สรุปผลการศึกษา  :  ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีความดันโลหิตอยู่ในระดับรุนแรง  ได้แก่  1) ด้านผู้ป่วย  ส่วนใหญ่ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ  ไม่ควบคุมอาหาร  ไม่ออกกำลังกาย และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ  ในช่วงที่ไม่มีอาการแสดง เช่น  ปวดเวียนศีรษะ  จะไม่ใส่ใจในการรักษาอย่างต่อเนื่อง  รายที่ต้องดำรงชีวิตอย่างโดดเดี่ยวหรือรายที่ประสบปัญหาขาดทุนในธุรกิจการเกษตร จะมีความวิตกกังวลบ่อย ๆ จนกลายเป็นความเครียด  2)  ด้านครอบครัว   สมาชิกในครอบครัวรับทราบว่าผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีส่วนร่วมในการช่วยดูแลและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค   3)  ด้านเศรษฐกิจ    ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ให้ความสำคัญต่อการออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพ มากกว่าการมารับยาตามนัด  ผู้ป่วยที่ไม่มีรายได้ต้องอาศัยเงินที่ลูกหลานแบ่งปันให้  ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งผลต่อความดันโลหิตสูงได้  4) ด้านสภาพแวดล้อมและวิถีชุมชน  มีการใช้แรงงานทางการเกษตรและรับจ้าง ทำให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งรวมถึงผู้ป่วยความดันโลหิตสูงนิยมดื่มสุรา(เหล้าตอง) แก้ปวดเมื่อย หลังเลิกงานก่อนกลับเข้าบ้านทุกวันจนกลายเป็นบริโภคนิสัย    ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไป  ตามร้านขายของชำในหมู่บ้าน 5) ด้านชุมชน มีมุมมองโรคความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องของบุคคล และบุคลากรสาธารณสุข  การมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้มีการส่งเสริมสุขภาพ  เพื่อป้องกันและควบคุมความรุนแรงของโรคจึงถูกละเลยไป  6)  ด้านระบบบริการสุขภาพ  การสร้างความเข้าใจเรื่องโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย  ต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูง  ยังไม่เพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สำหรับแนวทางการส่งเสริมสุขภาพ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงให้สามารถดูแลสุขภาพตนเอง ในการควบคุมความดันโลหิตไม่ให้อยู่ในระดับรุนแรง เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักและให้ความสำคัญ ต่อการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง การใส่ใจในการรักษาอย่างต่อเนื่องอันจะนำมาซึ่งการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่มีภาวะแทรก ซ้อนอันตรายจนเป็นภาระของครอบครัวและชุมชนในโอกาสต่อไป

สนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัย โดย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาพในบริบทพยาบาลชุมชน

ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย

 

หมายเลขบันทึก: 63801เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นงานวิจัยที่ได้ข้อมูลเชิงลึก สามารถปรับนำมาใช้ในการปรับวิธีการจัดการปัญหาโรคความดันโลหิตสูงในชุมชนได้

อยากเรียนถามว่าถ้าอยากได้อ่านงานวิจัยฉบับเต็มสามารถสืบค้นได้ที่แหล่งใดบ้างคะ ขอบคุณค่

สามารถติดต่อได้ที่เจ้าตัว ตามที่อยู่ที่ระบุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท