ชีวิตที่พอเพียง : 3013. คิดเป็นระบบ



หนังสือ Thinking in Systems (2008)  โดย Donella H. Meadows บอกว่าสรรพสิ่งดำรงอยู่แบบเชื่อมโยง กันอย่างเป็นระบบทั้งสิ้น   เราจะมองเห็นระบบดังกล่าวหรือไม่ ขึ้นกับวิธีคิดของเรา ว่าคิดเชื่อมโยง  มองเห็นความสัมพันธ์ เป็นเครือข่ายกันหรือไม่      

 การเชื่อมโยงกันเป็นระบบก็เพื่อบรรลุเป้าหมายของระบบนั้น    หากชิ้นส่วนหรือสมาชิกของระบบ อยู่อย่างโดดๆ ไม่เชื่อมโยงกัน    การทำหน้าที่ของระบบ หรือคุณสมบัติของระบบก็จะไม่เกิด   

ระบบดำรงอยู่โดยมีกลไก feedback ทำให้เกิดระบบที่สมดุล  หรือเป็นระบบที่เปลี่ยนแปลง  

 negative feedback ทำให้ระบบมีความสมดุลคงที่ตลอดเวลา เช่นระบบ thermostat ควบคุมอุณหภูมิในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ     หากห้องเย็นเกินไป thermostat  ก็จะตัดการทำงาน ของระบบทำความเย็น   เมื่อห้องอุ่นเกินไป thermostat ก็จะเปิดสวิตช์ให้ระบบทำความเย็นทำงาน

positive feedback ทำให้ระบบเป็นระบบที่ขยายตัวหรือหดตัว    แล้วแต่ว่าสัญญาณ feedback จะเป็นสัญญาณเพิ่มหรือสัญญาณลด   เช่น constructive feedback ของครู จะทำให้นักเรียนมุมานะเรียนเพิ่มขึ้น   ส่วน destructive feedback ของครูทำให้นักเรียนถอดใจ

ระบบตามธรรมชาติไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นเส้นตรงหรือบัญญัติไตรยางค์     ผมเคยเล่าเรื่อง การเลี้ยงเป็ดไข่ของพ่อของผมเมื่อราวเกือบหกสิบปีที่แล้ว    เมื่อผมมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพแล้ว    เมื่อกลับบ้าน พ่อเล่าเรื่องเลี้ยงเป็ดให้ฟังอย่างตลกขบขันในความเขลาของตนเอง    ว่าเกิดความคิดที่จะเลี้ยงเป็ดไข่ จึงลองซื้อลูกเป็ดมา ๑๐ ตัว    เมื่อถึงคราวออกไข่จะได้ไข่เฉลี่ยวันละ ๘ ฟอง    เฉลี่ยแล้วจะได้กำไรตัวละ ๑๐ สตางค์ต่อวัน    สิบตัวได้กำไรวันละ ๑ บาท    ผมจำไม่ได้แล้วว่าจะต้องเลี้ยงอยู่นานกี่เดือนจึงผลัดเป็ดชุดใหม่    เมื่อทดลองได้ผลดีแล้ว พ่อก็เลี้ยง ๑,๐๐๐ ตัว    หวังว่าจะได้กำไรวันละ ๑๐๐ บาท (ตอนนั้นผมได้เงินใช้เดือนละ ๓๐๐ บาท)    ผลจริงๆ คือขาดทุนเป็นหมื่น เพราะเป็ดไม่ออกไข่    เพราะเลี้ยงมากๆ เป็ดเป็นโรคและติดโรคกัน  

   ระบบที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง เราต้องเอาใจใส่ทั้งผลลัพธ์ และพฤติกรรมเชิงระบบ    ระบบที่ดี คือระบบที่สมาชิกมุ่งมั่นทำเพื่อเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน    หากมีสมาชิกบางคนมีวาระซ่อนเร้น ทำเพื่อเป้าหมายที่ต่าง  อาจมีผลทำให้สมาชิกอื่นๆ ในระบบต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่กำหนด    หากสภาพนี้รุนแรง ระบบอาจล้มเหลวหรือล่มสลาย  

ในหลายกรณีระบบให้ผลลัพธ์ไม่ตรงตามที่คาดหมาย    เพราะเราคิดไม่ครบวงจรของระบบ    เขายกตัวอย่างการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจากอาชญากรรม    โดยการปราบยาเสพติด    เมื่อยาเสพติดมีน้อย แต่คนเสพต้องการ ราคาก็แพงขึ้น    ผู้เสพต้องก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น เพื่อหาเงินมาซื้อยา     การปราบยาเสพติดกลายเป็นก่อผลร้ายต่อความสงบสุขของบ้านเมือง     เราหลงเป้าปราบยาเสพติด ไม่ได้คิดให้ชัดที่เป้าความสงบสุขของบ้านเมือง 

 ความล้มเหลวของระบบที่ชัดเจนที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้คือระบบการศึกษา    เรายังขาดการคิดและดำเนินการเชิงระบบ

ระบบที่ซับซ้อนเช่นนี้ ต้องการการวิจัยเชิงระบบ (Systems Research) ช่วยการตัดสินใจเชิงนโยบาย    ระบบสุขภาพของไทยมีหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยเชิงระบบ (สวรส. - สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)   และหน่วยงานวิจัยระบบ เช่น IHPP – International Health Policy Program, HITAP – Health Intervention and Technology Assessment      เราจึงมีระบบสุขภาพที่ขับเคลื่อนนโยบายด้วยความรู้และหลักฐาน


วิจารณ์ พานิช

๒๓ ส.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 637883เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2017 23:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2017 23:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท