ชีวิตที่พอเพียง : 3011. คิดในกรอบใหม่



หนังสือ Thinking in New Boxes : A New Paradigm for Business Strategy (2013)  โดย Luc de Brabandere and Alan Iny บอกว่าคิดนอกกรอบ เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้    เพราะโดยธรรมชาติใจคนเรามีหลายกรอบ   เป็นกลไกทางสมองที่ช่วยให้เราคิดเร็ว และคิดเก่ง  

 แต่ถ้าใครยึดมั่นถือมั่นอยู่กับกรอบเดียว เรียกว่า “ม้าลำปาง” (tunnel vision)

สมองคนเรารับรู้เรื่องราวต่างๆ แล้วเอามาจัดระบบข้อมูลภายในสมอง เป็นชุดๆ หรือกล่องๆ    เวลาจะใช้งานจึงสามารถหยิบชุดความรู้เอามาใช้ได้อย่างรวดเร็ว    เราใช้ความรู้เป็นชุดๆ นะครับ  ไม่ใช่เป็นชิ้นๆ    สมองใครใช้ความรู้เป็นชิ้นๆ จะเป็นคนงุ่มง่าม หัวช้า    คนหัวไวจะมีชุดความรู้กล่องใหญ่

ชุดความรู้มีหลายระดับ   โดยเราจัดกลุ่มสิ่งของและเหตุการณ์/เรื่องราว ออกเป็น ประเภท (category),  แบบแผน (pattern),  กฎเกณฑ์ (rule),  กระบวนทัศน์ (paradigm)   นี่คือกรอบความคิด ทั้งที่เป็นกรอบเล็ก และกรอบใหญ่   สมองของเราจัดชุดดังกล่าวทั้งโดยไม่รู้ตัว และรู้ตัว    และยิ่งก่อรูปเป็นกรอบคิดที่กว้างขึ้น เพียงไร เราก็ยิ่งตกอยู่ใต้บังคับของกรอบนั้นยิ่งขึ้น   

กรอบคิดเหล่านี้มีคุณ ช่วยให้เราคิดได้ว่องไว  และไม่ต้องออกแรงคิดมาก    แต่มีจุดอ่อนคือ เราอาจคิดผิดได้ง่าย  

ในสมองของคนเราแต่ละคน มีกล่องความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งหลายกล่อง ให้เลือกใช้   ทำให้เราคิด ในต่างกล่องได้   และเมื่อกล่องความคิดเท่าที่มียังไม่เหมาะต่อสถานการณ์ที่เผชิญ    เราต้องสร้างกล่องใหม่ ไว้ใช้   นี่คือการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑  ทีโลก VUCA มาก   การสร้างกล่องความคิดใหม่นี่แหละที่เรียกว่า Transformative Learning   เกิดการเปลี่ยนตัวตน เปลี่ยนชุดความเชื่อ 

ที่จริงกล่องความคิดหรือกรอบความคิดเป็นสมมติทั้งสิ้น    เป็นสิ่งที่มนุษย์แต่ละคนสร้างขึ้น ที่เรียกว่าเป็น construct    ไม่ได้มีอยู่จริง    แต่อาจได้รับการยอมรับร่วมกันโดยคนจำนวนมาก จนทำให้ทึกทัก ว่าเป็นความจริงแท้

หนังสือเล่มนี้แนะนำวิธีหลุดออกจากวิธีคิดเดิมๆ และมีความสามารถสร้าง “กล่องความคิดใหม่” ได้ 

ขั้นตอนที่ ๑  อย่าเชื่อ ความรู้สึก (gut feeling) ของตนเอง    เพราะนั่นคืออาการติด “กล่องเดิม” หรือที่เรียกว่า cognitive bias  

    ให้ตั้งข้อสงสัยต่อโลกทัศน์ของตนเองบ่อยๆ    ซึ่งผมตีความว่าให้ไตร่ตรองสะท้อนคิดต่อเหตุการณ์ หรือประสบการณ์ของตนเอง ในลักษณะ เถียงมุมมองของตัวเอง

ขั้นตอนที่ ๒  เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่  ความคิดใหม่  กระบวนทัศน์ใหม่    เคล็ดลับคือ ให้เน้นการตั้งคำถาม  มากกว่าการบรรลุคำตอบ 

ขั้นตอนที่ ๓  สร้างสมมติฐาน

ขั้นตอนที่ ๔  ทดสอบสมมติฐาน

ทำให้ผมสรุปว่าคำแนะนำในหนังสือเล่มนี้ คือคำแนะนำให้เราประพฤติตนเป็น “บุคคลเรียนรู้” (learning person) นั่นเอง     และวงจร adult learning ข้างล่าง ก็คือวิธีฝึกสร้างกรอบคิดใหม่ในชีวิตประจำวัน หรือชีวิตการทำงาน






การกล้าคิดนอกกรอบ ถือเป็นโอกาส    ยิ่งกล้าคิดกรอบใหม่ที่กว้าง โอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่จะยิ่งสูง    เคล็ดลับคือ ให้คิด “กล่อง” ที่ใหญ่  ภายในบรรจุ “กล่องเล็ก” จำนวนมาก  โอกาสสร้างสรรค์จะยิ่งมาก  

การกล้าคิดกรอบใหม่  และมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จภายใต้กรอบคิดใหม่นั้น  เป็นการแสดงความเชื่อ ในอนาคตที่ไม่แน่นอน (VUCA, V = Volatile, U = Uncertain, C = Complex, A = Ambiguous)   และเปิดใจต่อความเป็นไปได้หลายรูปแบบ   เป็นการใช้ predictive thinking, prospective thinking    ตั้งคำถามที่เปิดกว้างให้มีได้หลายคำตอบ   เอาไว้เลือกคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทดลองใช้    หากไม่ได้ผลที่พอใจ เราก็ยังมีคำตอบรองๆ ลงไปให้ทดลองได้อีก 

นี่คือเส้นทางสู่ความริเริ่มสร้างสรรค์ และนวัตกรรม  ที่เราต้องช่วยกันพัฒนาขึ้นแก่ประเทศไทย เพื่อบรรลุ ประเทศไทย ๔.๐ 




วิจารณ์ พานิช

๑๙ ส.ค. ๖๐



หมายเลขบันทึก: 637747เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2017 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ธันวาคม 2017 05:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for summarising the book for us.

"การกล้าคิดนอกกรอบ ถือเป็นโอกาส    ยิ่งกล้าคิดกรอบใหม่ที่กว้าง โอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่จะยิ่งสูง    เคล็ดลับคือ ให้คิด “กล่อง” ที่ใหญ่  ภายในบรรจุ “กล่องเล็ก” จำนวนมาก  โอกาสสร้างสรรค์จะยิ่งมาก" is thinking in the 'generalization' (synthesis/bottom-up) direction. We can make use of thinking in another direction is 'specialization' (analysis/top-down) to reflect and verify (lumps of) 'facts', and perhaps use both directions and comparisons with other 'domains' (fields) of learning. We may have to look at using 'community thinking' with multitudes of thinking directions and facts to reach 'useful' new ideas for Thailand 4.0.

Thank you for summarising the book for us.

"การกล้าคิดนอกกรอบ ถือเป็นโอกาส    ยิ่งกล้าคิดกรอบใหม่ที่กว้าง โอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่จะยิ่งสูง    เคล็ดลับคือ ให้คิด “กล่อง” ที่ใหญ่  ภายในบรรจุ “กล่องเล็ก” จำนวนมาก  โอกาสสร้างสรรค์จะยิ่งมาก" is thinking in the 'generalization' (synthesis/bottom-up) direction. We can make use of thinking in another direction is 'specialization' (analysis/top-down) to reflect and verify (lumps of) 'facts', and perhaps use both directions and comparisons with other 'domains' (fields) of learning. We may have to look at using 'community thinking' with multitudes of thinking directions and facts to reach 'useful' new ideas for Thailand 4.0.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท