​ชีวิตที่พอเพียง : 3010a. คิดเชิงบวกสู่สุขภาพดี


ทักษะการสร้างอารมณ์เชิงบวกให้แก่ตนเอง ถือเป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง

ชีวิตที่พอเพียง  : 3010a. คิดเชิงบวกสู่สุขภาพดี

บทความเรื่อง Turning Negative Thinkers into Positive Ones () โดย Jane E. Brody  The New York Times ซึ่งขึ้นเว็บไว้ตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ อ่านแล้วสบายใจ  

ผู้เขียนมีประสบการณ์อยู่กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า (depression) อารมณ์หดหู่เป็นนิตย์ อยู่ถึง ๕๐ ปี    จึงมีประสบการณ์ฝึกตนเองให้คิดบวก แม้ในสถานการณ์ยากลำบาก    เธอเล่าผลงานวิจัยสร้างอารมณ์บวก โดยวิธี “สร้างปัจจุบันขณะเชิงบวกเล็กๆ” (micro moments of positivities) เช่นทักทายเด็ก ขอเล่นไฮไฟ้ฟ์ กับเด็กที่เดินผ่าน    ผลงานวิจัยบอกว่า การสร้างอารมณ์บวกเล็กๆ บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน มีผลดีต่อสุขภาวะ อย่างยิ่ง 

 มีหลักฐานว่าการทำเช่นนั้น ช่วยลดความเครียด และความหดหู่    ช่วยพัฒนาสุขภาพทั้งด้าน สุขภาพกาย และสุขภาพจิต  

ชีวิตคนเราย่อมต้องเผชิญสิ่งที่สร้างอารมณ์เชิงลบ ได้แก่ความกลัว ความเกลียด ความโกรธ ความกังวล ความเศร้า ฯลฯ เป็นธรรมดา    สมองส่วนจัดการอารมณ์ลบคือสมองส่วน amygdala    ในคนที่ amygdala กลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว    จะมีสุขภาพดีกว่าคนที่ amygdala  คืนตัวช้า    การฝึกให้ตนเอง สร้างปัจจุบันขณะเชิงบวกเล็กๆ บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน  เป็นการช่วยให้ amygdala คืนตัวได้เร็ว  

อารมณ์บวกเล็กๆ เหล่านี้ช่วยความยืดหยุ่น (plasticity) ของสมอง    ช่วยการสร้างเซลล์สมองตัวใหม่  

ผลการวิจัยพบว่า การฝึกอารมณ์บวกด้วยการฝึกสมาธิ เพ่งความเมตตากรุณา เป็นเวลา ๖ สัปดาห์    ส่งผลให้อารมณ์บวกเพิ่มขึ้น  มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมากขึ้น    เพิ่มประสิทธิภาพของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงหัวใจ    ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจยืดหยุ่นมากขึ้น    ซึ่งเป็นฐานของสุขภาพดี เช่นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดีขึ้น   การอักเสบน้อยลง   การฟื้นตัวจากหัวใจวายดีขึ้น

การทำสมาธิเพ่งความเมตตากรุณาเพียง ๒ สัปดาห์ ก็มีผลเปลี่ยนแปลงเครือข่ายใยประสาทในสมอง ส่วนที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทางสังคมเชิงบวก เช่นมีความเอื้อเฟื้อเพิ่มขึ้น    

จะเห็นว่า การสร้างอารมณ์เชิงบวกทำได้ทั้งโดยปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น   และโดยสร้างอารมณ์ เชิงบวกจากภายในตนเอง (เมตตาภาวนา)    

ทักษะการสร้างอารมณ์เชิงบวกให้แก่ตนเอง  ถือเป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่ง

เขาอ้างถึงหนังสือ Love 2.0 : Finding Happiness and Health in Moments of Connection  เขียนโดย Babara L. Fredrickson  ที่บอกว่า การที่คนสองคนหรือหลายคนมีอารมณ์บวกร่วมกัน   ส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าการมีอารมณ์บวกคนเดียว    การปฏิบัติเมตตาภาวนา พุ่งความปราถนาดีต่อ คนที่เรารู้จัก จึงก่อผลดีมากยิ่งขึ้น    การทำกิจกรรมร่วมกันกับคนคอเดียวกันจึงให้ความสดชื่นสำราญใจ อย่างที่เรารู้ๆ กัน  

กิจกรรมที่ก่ออารมณ์บวกได้แก่

  • ทำดีต่อผู้อื่น
  • ชื่นชมสิ่งแวดล้อมรอบตัว
  • สร้างมิตรภาพที่แน่นแฟ้น
  • กำหนดเป้าหมายที่บรรลุได้
  • เรียนรู้สิ่งใหม่
  • ยอมรับความเป็นจริงของตนเอง ทั้งจุดอ่อน และทุกๆ อย่าง
  • ฝึกทักษะยืดหยุ่นปรับตัว จากสถานการณ์จริง
  • ฝึกสมาธิภาวนา

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๖๐

ห้อง 201, M-One Residence, หาดใหญ่

 

หมายเลขบันทึก: 637647เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2017 05:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2017 05:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท