โดรน (Drone) นวัตกรรมที่นำไปประกอบอาชญากรรมแล้วน่ากลัวสุดๆ



ปรเมศวร์ กุมารบุญ วฟส.88

 

          โดรน (Drone) คงเป็นศัพท์ที่ไม่ต้องอธิบายแล้วใครๆก็ทราบกันดีว่ามันคือ อากาศยานไร้คนขับประเภทหนึ่ง เป็นชื่อเล่นของ Unmanned Aerial Vehicle (UAV) ซึ่งใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย (Wireless Communication technology) เพื่อควบคุมการทำงานและบังคับทิศทาง ทั้งแบบ Manual และ Automatic

          แต่เดิมอากาศยานไร้คนขับถูกออกแบบมาเพื่อกิจการกองทัพงานเสี่ยงภัยเพื่อความมั่นคง เช่น การสำรวจ สอดแนม และการโจมตี

          โดรน แตกต่างจากอากาศยานไร้คนขับอย่างขีปนาวุธ ตรงที่ไม่ได้ใช้ไอพ่นหรือเชื้อเพลิงที่ต้องจุดระเบิดในการขับเคลื่อน แต่ใช้หลักฟิสิกส์ Rotation ที่ว่าหากมีแรงเหวี่ยงหมุนรอบแกนจะทำให้แกนนั้นทรงตัวได้มั่นคง เช่น จักรยาน หรือในการทรงตัวของเรือหรือเฮลิคอปเตอร์ ใช่แล้ว โดรน ใช้หลักการเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ แต่โดนมี 4 ใบพัดเป็นอย่างน้อย และมอเตอร์นั้นเป็น stepping motor หรือเป็นมอเตอร์ที่ควบคุมด้วย พัลส์ ระบบดิจิทัลที่มีเสถียรภาพมั่นคง ขึ้นลงแนวดิ่ง และเลี้ยวซ้ายขวาได้ราบรื่น ทำให้บินทรงตัวนิ่งได้ บังคับทิศทางให้เคลื่อนที่ช้าได้แม่นยำกว่าอากาศยานแบบใช้ปีกไต่ระดับลม และมีลำเล็ก น้ำหนักเบา เรดาร์แบบเดิมๆ ไม่สามารถตรวจจับได้

           

ขอบคุณภาพจาก :

 

        โดรน ไม่ใช่แค่งานเพื่อความมั่นคงหรือเพื่องานตำรวจอีกแล้ว แต่ โดรน เริ่มจะกลายเป็นความต้องการของประชาชนในสังคมมากขึ้น แม้แต่ความต้องการมี โดรน เพื่อถ่ายภาพส่วนตัว โดรนจะเป็น mass product ที่คาดว่าในอนาคตเราทุกคนจะต้องมี โดรน เป็นของตัวเองไม่ต่างไปจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อทั้ง Technology push และ Market pull ขนาดนี้

      การจะมี โดรน ใช้งานเราคงนึกถึงว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการขออนุญาตใครบ้างนะ แน่นอนล่ะเมื่อหลับตานึก เราจะนึกถึงว่าเรื่องอากาศยานคงต้องขอกระทรวงคมนาคมสินะ ส่วนเรื่องการใช้คลื่นวิทยุก็คงเป็น กสทช.แต่ปัจจุบันมีเพียงประกาศกระทรวงคมนาคมตามอ้างอิงท้ายบทความ แต่เรื่องคลื่นวิทยุนั้นเข้าใจว่า กสทช. อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์อยู่ ส่วนหลักการในการประชุม WRC ครั้งที่ 12 พี่เข้าใจว่า โดรน จะถูกกำหนดในข้อบังคับวิทยุสากล (Radio Regulation) ให้ใช้ความถี่ในย่าน 5.8 GHz (ไม่ได้ตามข่าวเหมือนกัน)

        นักนวัตกรรมอาชญากรอย่างพี่คงไม่เสียเวลาพูดถึงประโยชน์ของ โดรน ในแง่ดีกับสังคม เรามาคุยกันเรื่อง โดรน กับภัยสังคมกันดีกว่า เผื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ตระหนักว่าจะป้องกันภัยในอนาคตกันอย่างไร

 

โดรนสอดแนม

          คดีอาชญากรรมเกี่ยวกับโดรนที่มีปริมาณเยอะในอังกฤษก็คือถ้ำมองซึ่งจะไม่พูดถึง แน่นอนโดรนทั้งหลายล้วนมีกล้องคุณภาพสูงติดมา บางบทความก็เตือนเรื่องตู้ ATM อาชญากรจะถ่ายภาพหรือวิดีโอระยะไกลจากโดรนตอนเรากดเงินเพื่อทราบรหัสหรือเลขบัญชีเพื่อนำไปใช้กับการทำบัตรปลอมต่อไป

          แต่โดรนสอดแนมนั้นนอกจากกล้องยังมีเครื่องดักฟังเป็นที่กังวลว่าอาชญากรจะใช้ survey หน่วยราชการ สนามบิน สถานที่สำคัญ ที่อาจจะก่ออาชญากรรมหรือก่อการร้ายก็เป็นได้

 

โดรน เพื่อการขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย

          เมื่อวันที่ 22 กค. 2559 BBC news รายงานข่าวว่า เมื่อเช้ามืดวันที่ 25 พค. 2559 เจ้าหน้าที่ได้พบโดรนทาสีดำและมีห่อยาเสพติดตกอยู่สนามหญ้าในเรือนจำ ตำรวจได้ทำการจับกุมนาย Daniel Lee Kelly วัย 37 ปี มีท่าทีต้องสงสัยอยู่ในลานจอดรถใกล้กันนั้น เขาเป็นคนแรกของวงการโจรอังกฤษที่ถูกจับในคดีที่ใช้ โดรน ส่งยาเสพติดบินข้ามกำแพงเรือนจำ Swaleside ที่อยู่บนเกาะ Isle of Sheppey ที่ Kent ประเทศอังกฤษ

          โดยก่อนหน้านี้ พอมีข่าวว่ามีการใช้โดรนส่งของผิดกฎหมายเข้าไปในเรือนจำอังกฤษมากกว่าสามสิบครั้ง แต่ไม่สามารถจับตัวผู้ใช้เจ้าของเครื่องหรือ Drone pilot ได้


      รัฐบาลอังกฤษ ราชทัณฑ์ และตำรวจ ได้ตั้งทีมงานสืบสวนคดี โดรน (Drone forensics teams) ขึ้นมาใหม่หลายทีม มีนักวิชาการ วิศวกร ด้วยงบประมาณราวสามล้านปอนด์ เกิดเป็นหน่วยงานสืบสวนอาชญากรรมยุคดิจิทัลใหม่ที่เรียกได้ว่า new forensic intelligence forces ด้วยตระหนักว่า อนาคตโดรนไม่ใช่แค่ส่งยาเสพติดเข้าเรือนจำแล้ว ถ้าส่ง โทรศัพท์เคลื่อนที่ เลื่อย มีด ปืน หรือระเบิดเข้าไปจะเกิดอะไรขึ้น

      การสืบสวนโดรนจะเป็นไปได้ยาก หากเราพบโดรนตกอยู่หรือยิงมันร่วงลงมาได้ และจะสืบสวนจากอะไรหาตัวอาชญากร? แน่นอนสมัยนี้โดรนจีนราคาถูก อาชญากรใช้แล้วทิ้งมันได้เลย  จะสืบจากสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้นหรือ? ซิมการ์ด? คอนโทรลเลอร์ ข้อมูลอะไรบ้างที่มีอยู่ในโดรน? แต่นั่นเป็นแค่โดรนราคาถูกๆ ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บังคับในระยะใกล้ แต่ถ้าเป็น โดรน ที่บังคับระยะไกลมากๆ อาชญากรจะไร้ตัวตนทันที ความไร้ตัวตนอย่าง Anonymous คือสิ่งที่ทำให้นวัตกรรมเพื่ออาชญากรเกิดขึ้น ยากต่อการสืบสวนจับกุม ยากต่อการหาหลักฐานให้หนักแน่นพอ ถ้าจับไม่ได้ซึ่งหน้าจะหาหลักฐานอะไรได้? ระบบนิเวศน์ดิจิทัลแวดล้อม โดรน เป็นอย่างไรจะสืบสวนสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานอย่างไรได้บ้าง งานเข้า Digital forensic แห่งยุคสมัย ถึงเวลาปรับเปลี่ยนกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ต้องล้ำหน้ากว่าอาชญากรให้ได้


ขอบคุณภาพจาก : https://en.dailypakistan.com.p...

 

          แน่นอนการขนส่งยาเสพติดหรือสินค้าผิดกฎหมายต้องใช้ โดรน ยิ่งถ้า โดรน มี sim card ในตัว มีระบบพิกัดนำร่อง ตัวเล็กๆ ลอยไปลอยมาบนฟ้าจะจับอย่างไร

 

โดรน มือปืนสังหาร

          ผมเคยนอนคิดเล่นๆว่า เด็กอาชีวะบ้านเรา จะผลัดกันรุ่งเรือง ช่างอุต ช่างกล ช่างก่อสร้าง อนาคตอาจจะเป็นช่างอิเล็กฯ บ้างล่ะ ถ้ามีโดรนที่มีปืนปากกาติด!!!! บินไปยิงอริหรือหิ้วระเบิดปิงปองไปทิ้งในวันสถาปนา แถมจับตัวไม่ได้ (ไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอก แต่ให้มีมาตรการระวังครับ)

  ฝรั่งเขามันคิดไปไกลกว่าผมครับ เด็กอายุ 18 ทำโดรนมือปืนเลย บินได้แถมยิงปืนพกได้อีก ตามคลิปนี้เลยครับ https://youtu.be/xqHrTtvFFIs


ขอบคุณภาพจาก https://static.independent.co.uk/s3fs-public/thumbnails/image/2013/06/18/13/dronehandgun.jpg

 

 

           ที่ตกใจสุดๆ ก็ โดรนต้นแบบ ติดปืนกล (Drone Machine Gun Prototype) ยิงหูดับตับไหม้ชุดใหญ่เลย ตามคลิปนี้ครับ https://www.youtube.com/watch?v=MjG1n9FEDb0         เมื่อโดรนมือปืนติด GPS คงเป็นยอดมือสังหารที่ยากต่อการจับกุมอาชญากรตัวการแน่ๆ

 

 

 

          นับตั้งแต่ กันยายน 2557 กลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIS ได้ใช้โดรนทำการสู้รบทิ้งระเบิดทำลายฝ่ายตรงข้าม ถล่มรถถังอิรักมาแล้ว จนต้องขอ Jammer จากสหรัฐ อเมริกา มาช่วยเหลือ โดรนไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเขาเลย



ขอบคุณภาพจาก : https://fabiusmaximus.com/2017...

 

 

การต่อต้านโดรน

          การต่อต้านโดรนที่นิยมใช้กันก็คือวิธีการ Jamming to frequency ก็คือการปล่อยคลื่นวิทยุในย่านเดียวกับที่ใช้ควบคุมโดรนแพร่กระจายออกมาทำให้ช่องสัญญาณเต็มจะไม่มีใครใช้คลื่นวิทยุย่านนั้นในบริเวณนั้นได้ โดรนก็จะตกลงมา ซึ่งอุปกรณ์ที่นิยมในตลาดเป็นรูปปืนมีกล้องส่งเล็กไปที่โดรนเพื่อบีบความแรงสัญญาณไปที่โดรนโดยตรง

          ส่วนอาคารสถานที่ก็จะติดตั้งตาข่ายหรือ Jammer แบบ Fixed station แพร่กระจายคลื่นในย่านนั้นตลอดเวลา แต่โดยปกติต้องขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลคลื่น และที่สำคัญย่านความถี่ที่ใช้โดรนก็คือ 5.8 GHz และ 2.4 GHz ก็จะใช้ไม่ได้ไปด้วย

       แม้โดรนจะไม่ใช่โลหะใช้เรดาร์ทั่วไปจับไม่ได้ แต่ก็สามารถใช้เทคนิค Direction finding หาทิศทางการแพร่กระจายคลื่นวิทยุได้ แต่ส่วนใหญ่เฉพาะหน่วยงานกำกับดูแลความถี่วิทยุใช้

          แต่ที่เจ๋งที่สุดคือการ Hack Drone ไปเลย เหมือน Hi Jack ยึดเครื่องบินไปเลย คือถ้าเข้า Radio access เชื่อมต่อโดรนได้ก็ไม่น่าจะควบคุมอย่างอื่นไม่ได้ผมก็ไม่ทราบว่าทำอย่างไรอ่านผ่านๆ เหมือนกัน


:

ขอบคุณภาพจาก http://thehackernews.com/2015/...

 

โดรนสังหารแห่งศตวรรษที่ 21

          โดรนจิ๋วเล็กที่สุดเรียกว่า Nano spy drone เมื่อบวกกับสิ่งที่ผมจินตนาการเอาไว้ยังไม่ได้เห็นที่ไหนคิดมาก่อนก็คือ โดรนจิ๋วที่มองแทบไม่เห็นหรือตัวเท่าแมลงเล็กๆ บินมาจากมืออาชญากรที่ไหนก็ไม่รู้ที่ไกลออกไปมาก มันถูกโปรแกรมเส้นทางระบุพิกัดผ่านระบบ GPS หรือ A-GPS เพราะในตัวมีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่สำคัญมันพอจะรู้ว่าเหยื่ออยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่บ้าน อาจจะที่ทำงาน หรือในห้างสรรพสินค้าหรือในโรงภาพยนตร์ เมื่อถึงสถานที่แล้วมันค้นหาใบหน้าเหยื่อด้วยระบบ Face recognition พร้อมถ่ายทอดสดผ่านโครงข่าย 5G ให้อาชญากรรับชม แล้วยิงกระสุนใส่เหยื่อหรือฉีดยาหรือปล่อยสารเคมีให้สูดดมเข้าไปในระยะใกล้แล้วบินหายไปอย่างไร้ร่องรอย



 ขอบคุณภาพจาก

http://img1.gtimg.com/tech/pics/hv1/11/82/853/55487246.jpg

    คลิปข้างล่างนี้เป็นต้นแบบ โดรนสังหาร (Autonomous) ที่มี AI มันเคลื่อนที่ไวกว่ามนุษย์ 100 เท่า มันคิดหาเส้นทางเพื่อตามล่าเป้าหมายได้เอง ค้นหา หลบหลีก เจาะผนัง ทำลายสิ่งที่ขวากั้นได้เอง และเมื่อค้นหาใบหน้าเป้าหมายเจอด้วย Face recognition มันจะยิงทันที เป้าหมายไม่มีทางหลบหนีได้

https://www.youtube.com/watch?v=TBKmzL1WkSs


อ้างอิง

  • ประกาศกระทรวงคมนาคม  เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไมมีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. ๒๕๕๘ http://www.ratchakitcha.soc.go...
  • Chapter 2 Drone Technology: Types, Payloads, Applications, Frequency Spectrum Issues and Future Developments, Bas Vergouw, Huub Nagel, Geert Bondt and Bart Custers
  • https://en.dailypakistan.com.p...
  • http://www.dailymail.co.uk/new...










คำสำคัญ (Tags): #โดรน#อาชญากร
หมายเลขบันทึก: 637593เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2017 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2018 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท