ชีวิตที่พอเพียง 3008 คำนิยม หนังสือ อาหารต้านมะเร็ง


คำนิยม

หนังสือ อาหารต้านมะเร็ง

วิจารณ์ พานิช

…………..

 

 

ศาสตราจารย์ ไพศาล เลาห์เรณู ผู้มีพำนักในนครเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้เขียนหนังสือเล่มสั้นๆ กระชับ กระทัดรัด และมีคุณค่ายิ่งเล่มนี้ และส่งให้ผมช่วยให้ความเห็น     เพราะความมีคุณค่า จึงทำให้ผมเสนอตัว รับใช้ เขียนคำนิยมให้

ที่จริง ศ. ไพศาลกับผมเป็นญาติกัน    คือปู่ของท่าน (นายเพี้ยน เลาห์เรณู) กับทวดของผม (นายกีหยง บุษราทิจ) เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน    ทั้งสองท่านเป็นคนที่เกิดที่ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร (ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม) ด้วยกันทั้งคู่    แต่ทวดเพี้ยนแต่งงานและย้ายไปตั้งรกรากที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์    ศ. ไพศาลกับผมรู้จักกันผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ผมเขียนบันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่า ชาวชุมพร ลงใน บล็อก Gotoknow    แล้วจึงพบว่าเราเป็นคนเรียนหนังสือรุ่นเดียวกัน     เพื่อนของ ศ. ไพศาลที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน  เป็นเพื่อนของผมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา,  ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   และที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช หลายคน    แต่ ศ. ไพศาลอายุน้อยกว่าผมหนึ่งปี และสุขภาพดีมาก     หนังสือเล่มนี้จึงเขียนจากคนที่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติด้วย    ไม่ใช่เพียงจากการค้นคว้าภาคทฤษฎี 

ศ. ไพศาล ได้เขียนประวัติย่อๆ ของท่านไว้ท้ายเล่มแล้ว    จึงเห็นได้ว่า หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ  

สาระหลายส่วนในหนังสือเล่มนี้ เป็นความรู้ความเข้าใจที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ  หรือไม่ตระหนัก สำหรับนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน    ผมขอยกมาบ้างส่วนดังต่อไปนี้ 

"ความจริงน้ำตาลเป็นสารเสพติดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับสุรา และบุหรี่"   ผมขอเพิ่มเติมว่า เวลานี้วงการสาธารณสุขไทย พยายามสร้างระบบและกติกาป้องกันไม่ให้ทารกไทยถูกมอมเมาด้วยความหวาน    ไม่ให้กลายเป็นเด็ก "ติดความหวาน" ด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย

"โดยปกติร่างกายมนุษย์มีความต้องการน้ำตาลเพียงวันละ 2-3 ช้อนชา ซึ่งจะได้จาก อาหารทั่วไปโดยไม่ต้องเติมน้ำตาลเข้าไปในอาหาร"   นี่ก็ตรงกับวัตรปฏิบัติของผม ที่ผมไม่ใช้น้ำจิ้ม ซ้อส และเครื่องปรุงต่างๆ เลยมาเป็นเวลาหลายปี    เข้าใจว่ามีส่วนช่วยให้ผมมีสุขภาพดีอย่างที่เป็นอยู่ 

"ทุกคนมีเซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกาย ผู้ใดมีร่างกายแข็งแรง อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ที่สะอาด สมบูรณ์ กินอาหารที่มีคุณค่า เซลล์ปกติในร่างกายก็จะควบคุมเซลล์มะเร็งไม่ให้ แพร่กระจายออกไป"   เป็นประโยคที่มีค่ามาก    และผมถือปฏิบัติมาหลายสิบปี    ให้คุณต่อชีวิตของผม และผู้คนรอบข้างมากมาย    

"ผู้เขียนอยากจะเห็นวงการแพทย์ของไทยเน้นวิธี กันดีกว่าแก้ ในการดูแลสุขภาพ ประชากร อยากจะชวนเชิญวงการแพทย์ไทยให้ศึกษาวิธีปฏิบัติของคิวบาที่ดูแลสุขภาพ ประชากรดี โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูง ผลที่ได้ก็คือสุขภาพของประชากร ที่วัดได้จากอายุเฉลี่ย ของประชากรทั้งประเทศที่อายุยืนร่วม ๘๐ ปี" เท่ากับของสหรัฐอเมริกา ที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ต่อหัวประชากรสูงถึง ๕ เท่าของคิวบา     โดยผมขอเสริมว่า เป็นนโยบายของระบบสุขภาพไทยที่จะใช้แนว ของคิวบา  พยายามหนีจากอิทธิพลของสหรัฐฯ     โดยที่บุคลากรสุขภาพของเราที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมด้วย) ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ    เราจึงถูกแนวคิดแบบสหรัฐฯ ครอบงำไม่มากก็น้อย    แต่เราก็มีการวิจัยเชิงระบบมาเป็นข้อมูลหลักฐานเพื่อดำเนินนโยบายเชิงระบบแบบที่ ศ. ไพศาลเสนอ 

ผมขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านเอาใจใส่เรื่อง fructose spike   และเรื่องน้ำมะพร้าวอ่อน    ที่จะช่วยให้เรา บริโภคอย่างพอดี พอเหมาะพอควร ไม่มากไม่น้อยไป     และเลือกบริโภคผลไม้ไทยที่มีคุณค่าทางสุขภาพสูง      ที่จริงสาระทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายดังกล่าว     โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้ออาหารแพงๆ หรืออาหารเสริมราคาสูงมาบริโภคแต่อย่างใดทั้งสิ้น  

ที่จริงอาหารไทยเป็นอาหารสุขภาพ    มีวิวัฒนาการมายาวนานว่าเหมาะต่อวิถีชีวิตคนในภูมิอากาศร้อน   และเมื่อมีการวิจัยทางวิชาการเรื่องอาหารไทย    ก็พบคุณค่าด้านสุขภาพของอาหารไทยมากมาย     รวมทั้งมีการ ผลิตอาหารที่มีสารอาหารที่ก่อผลดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น    เช่นข้าวพันธุ์ที่มีแป้งทนย่อย (resistant starch) สูง แบบที่เรียกในภาษาวิชาการว่า เป็นข้าวพันธุ์ที่มี hyperglycemic index ต่ำ  เหมาะต่อคนเป็นโรคเบาหวาน

ขอย้ำว่า สาระในหนังสือเล่มนี้นอกจากจะช่วยให้ท่านรู้วิธีบริโภคอาหารที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ทาง สุขภาพแล้ว     ยังจะมีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจส่วนตัวและครอบครัวด้วย     เพราะจะช่วยให้ท่านได้บริโภค อาหารดีในราคาไม่แพง    รวมทั้งไม่ตกเป็นเหยื่อของการบริโภคอาหารราคาแพงที่แถมผลร้ายต่อสุขภาพ 

ผมขอขอบคุณ ศ. ไพศาล เลาห์เรณู แทนคนไทยทั้งมวล     ที่ท่านมีจิตกุศล เขียนหนังสือ “อาหารต้านมะเร็ง”  เล่มนี้ ออกเผยแพร่เพื่อประโยชน์อันไพศาล สมชื่อของท่าน

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 637363เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2017 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2017 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท