อาหารต้านมะเร็ง ตอนที่ ๑


“There is no love more sincere than that of food”

อาหารต้านมะเร็ง ตอนที่ ๑

ผมได้รับต้นฉบับหนังสือ อาหารต้านมะเร็ง จาก ศ. ไพศาล เลาห์เรณู  ญาติของผมที่เป็นนักวิชาการด้านโภชนาการ    และเวลานี้พำนักอยู่ที่นครเวียนนา ประเทศออสเตรีย    จึงขออนุญาตนำมาลงเผยแพร่ทีละบท รวม ๙ ตอน      ประวัติของท่านผู้เขียนจะอยู่ตอนท้ายบทที่ ๙ ซึ่งเป็นบทสุดท้าย

 

หนังสือ

อาหารต้านมะเร็ง

โดย

ศ. ไพศาล เลาห์เรณู

 

       บทที่ ๑  อาหาร

            บทที่ ๒  อาหารสร้างประวัติศาสตร์

            บทที่ ๓  องค์ประกอบของอาหาร

            บทที่ ๔  มะเร็ง

            บทที่ ๕  กันดีกว่าแก้

            บทที่ ๖  มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร

            บทที่ ๗  สารก่อมะเร็ง

            บทที่ ๘  สารต่อต้านอนุมูลอิสระ

           บทที่ ๙  สรุป

        

บทที่ อาหาร

 

                  ตอนแรกตั้งใจจะเขียนเรื่องเฉพาะ อาหารต้านมะเร็ง แต่หลังจากเขียนไปสักพักก็เริ่มรู้ว่า มีอาหารหลายชนิดที่มีคุณสมบัติไม่เฉพาะจะต้านโรคมะเร็งเท่านั้น ยังสามารถต้านหรือป้องกันโรคอื่นๆได้อีกหลายโรค เช่น โรคความดันสูง โรคอ้วนลงพุง โรคตับอักเสบ โรคเบาหวาน แม้กระทั่งโรคตาบางชนิด จึงให้ความสนใจกับอาหารหลากหลายมากขึ้น เพื่อจะได้นำประโยชน์ของอาหารเหล่านั้นมาช่วยป้องกันหรือต้านทานโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง

         คนทั่วไปกินอาหารเพื่อการโภชนาการ บำบัดความหิว บางคนกินอาหารด้วยความอยากหรือเพื่อความสุขที่ได้ลิ้มรสอาหารที่ถูกปาก แต่คนไม่มากนักจะเข้าใจถึงคุณค่าของอาหารที่มีต่อสุขภาพหรือส่วนประกอบของอาหารบางชนิดที่เป็นโทษ และยิ่งน้อยลงไปกว่านั้น คนที่รู้และเข้าใจประโยชน์ของอาหารต่อสุขภาพ หรือต้านทานโรคต่างๆ หาได้ยากเต็มที จึงได้คิดเขียนหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานทางวิชาการ จะได้ได้ประโยชน์จากอาหารอย่างเต็มที่ สมกับคำพังเพยภาษาอังกฤษว่า “Have an apple a day will keep doctors away”

         อาหารเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อสิ่งมีชีวิต ตามหลักพุทธศาสนา อาหารเป็นปัจจัยแรกใน 4 ปัจจัยของสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ ตามประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์มักเกิดขึ้นจากอาหารเป็นหลัก

         George Bernard Shaw (GBS) นักประพันธ์ชาวไอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “There is no love more sincere than that of food” ที่อาจจะแปลได้ว่า ความรักอาหารนั้นเป็นความรักอย่างจริงใจ ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน คำกล่าวของ GBS แสดงให้เห็นว่า คนไหนชอบกินอาหารชนิดใด ก็จะดั้นด้นไปหาอาหารนั้นกินจนได้ ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใด ดังเช่น คนไทยไปประเทศไหนก็จะดั้นด้นไปหาอาหารไทยทานจนได้ ชาวอิตาเลี่ยนนิยมกินพิซซ่า และสปาเกตตี้ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด เป็นต้น

ผู้เขียนไม่ใช่แพทย์ หรือนักโภชนาการ แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์การอาหารที่มีประสบการเกี่ยวกับ อาหารปลอดภัย (food safety) อาหารอุดมสมบูรณ์ (food security) และการค้าขายอาหาร (food trade) โดยเฉพาะการใช้เทคนิคนิวเคลียร์ และได้พัฒนางานให้องค์การสหประชาชาติ 3 แห่ง คือ FAO, IAEA และ WHO เป็นเวลาเกือบ 30 ปี จึงตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องชาวไทย ให้หันมาใช้วิธีกันไม่ให้เกิดโรคหรือยืดเวลาที่จะเป็นโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะมะเร็ง ออกไปให้นานที่สุด โดยใช้อาหารเป็นอาวุธคู่มือ ช่วยต่อต้านมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ

จึงหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือของชาวบ้านในการรักษาสุขภาพของตน ด้วยการทานอาหารที่มีส่วนประกอบทางเคมีที่ช่วยต้านทานโรคโดยเฉพาะมะเร็ง ข้อมูลที่นำมาสมทบรวบรวมในหนังสือนี้ ได้จากเอกสารวิชาการโดยเฉพาะจาก National Institute of Health (NIH) ของสหรัฐอเมริกา และองค์กรของรัฐและเอกชนอีกหลายประเทศ และข้อคิดเห็นของผู้เขียนโดยตรง หนังสือนี้อาจมีข้อมูลทางวิชาการไม่ครบถ้วนนัก จึงขอให้ท่านผู้รู้เรื่องต่างๆเกี่ยวกับหนังสือนี้ช่วยกันเขียนเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ของสุขภาพพี่น้องชาวไทยต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 636525เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2017 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2017 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท