ครั้งหนึ่งในชีวิตกับภารกิจออกหน่วยฯในดินแดนพุทธภูมิ ตอน "ดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยา และท่าน้ำ สุปติฏฐิตะ "


กลับมาปั่นบันทึกต่อให้จบค่ะ แหะๆ ต่อจากบันทึก  ครั้งหนึ่งในชีวิตกับภารกิจออกหน่วยฯในดินแดนพุทธภูมิ ตอน "พุทธคยา (Bodhgaya) สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้"

การมาเป็นทีมแพทย์อาสาดูแลผู้แสวงบุญที่นี่ นอกจากจะได้มีโอกาสดูแลผู้แสวงบุญทั้งไทยและเทศแล้ว แต่ละทีมนั้นจะได้มีโอกาสไปเยือน 4 สังเวชนียสถานด้วยค่ะ แต่อาจจะสลับไปสลับมา และระยะเวลาอาจแตกต่างกันไป ส่วนสถานที่อื่นๆนั้นพระอาจารย์บอกว่าขึ้นอยู่กับบุญหนุนนำแต่ละทีมที่มาก็ต่างกันไปค่ะ กิจวัตรประจำวันของเราก็ทำเหมือนๆเดิมทุกๆวันค่ะ ตื่นเช้ามาเตรียมสถานที่หอฉัน ทำวัตรเช้า ประเคนอาหารเช้า เปิดคลินิค(โรงพยาบาลพระพุทธเจ้า) ประเคนอาหารเพล เปิดคลินิคถึง 17.00น. และทำวัตรเย็น วนไปแบบนี้ทุกๆวันค่ะ 

นับเป็นโชคดีที่ได้มีโอกาสรู้จักคุณหนุน (ผู้แสวงบุญใจดี) ต้องขอขอบคุณคณะคุณหนุนที่ชวนทีมแพทย์อาสาฯไปขึ้นเขา ดงคสิริ ด้วยในครั้งนี้ และยังขออนุญาตพระอาจารย์เพื่อจะพาทีมเราไปด้วย สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

คุณหนุน (คนที่2จากซ้ายค่ะ) และคณะผู้แสวงบุญที่ใจดีค่ะ 

ก่อนอื่นมารู้จัก ดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยา กันคร่าวๆก่อนนะคะ

หลังจากทรงผนวชแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงมุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ ได้พยายามเสาะแสวงทางพ้นทุกข์ ด้วยการศึกษาค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส รามบุตร เมื่อเรียนจบทั้งสองสำนัก (บรรลุฌาณชั้นที่ ๘) ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ตามที่มุ่งหวังไว้

จากนั้นจึงเสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เรียกว่า ดงคสิริ) เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยาโดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา ๖ ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า “เหมือนสายพิณควรจะขึงพอดี จึงจะได้เสียงที่ไพเราะ” ซึ่งพระอินทร์ได้เสด็จลงมาดีดพิณ ๓ สาย ถวาย พิณสายหนึ่งขึงไว้ตึงเกินไป พอถูกดีดก็ขาดผึงออกจากกัน พิณสายที่สองหย่อนเกินไป ดีดไม่ดัง พิณสายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก ดีดดัง ไพเราะ จึงพิจารณาเห็นทางสายกลางว่าเป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้ 

หลังจากที่พระอาจารย์ได้อนุญาตให้เราร่วมทางไปกับทีมคุณหนุนและคณะ ทีมเราก็เคลียร์เคสที่นัดทำแผลไว้โดยนัดให้มาในช่วงเย็น เมื่อเรียบร้อยแล้ว เราออกเดินทางกันหลังประเคนอาหารเช้า เดินทางโดยรถตู้ของคณะผู้แสวงบุญค่ะ

การเดินทางที่อินเดียนั้น เราต้องมีความพร้อมค่ะ อิอิ ร่างกายต้องสตรองจิตใจก็เช่นกัน ไม่งั้นเราจะเวียนหัวเมารถเมาเสียงได้ง่ายๆ การเดินทางจากวัดไทยพุทธคยาไปดงคสิริจะต้องข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปค่ะ

สะพานข้ามแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งช่วงที่เราไปนั้นเป็นฤดูหนาวปลายเดือนธันวาคม น้ำในแม่น้ำแห้งขอดจนมองไปอาจคิดว่าเป็นทะเลทราย 

ถนนทางขึ้นเขาไม่ค่อยดีนัก แต่คนขับรถเชี่ยวชาญและเก่งมาก พาเรามาถึงโดยปลอดภัย

ก่อนลงจากรถพระอาจารย์บอกว่าจะมี 3สิ่งที่เราต้องเจอ 1.เสรี่ยงที่จะมาจอดเทียบท่ารถเรา 2.มอไซค์รับจ้าง ที่จะมาแว้นๆเบิ้ลน้ำมันตามเรา (2สิ่งนี้เค้าจะรับจ้างพาเราขึ้นเขาถ้าเราเดินไม่ไหว แต่จริงๆคือเราเดินเองได้สบายๆค่ะ) 3.ขอทานที่มีอยู่ตลอดเส้นทา

3สิ่งที่พระอาจารย์บอก เราลงจากรถปุ๊บก็เจอปั๊บเลยค่ะ กติกาคือ เราไม่ควรสบตา พูดคุยกะทั้ง3สิ่งที่พระอาจารย์บอก ไม่งั้นจะเกิดเหตุชุลมุนได้ พระอาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า เคยมีผู้แสวงบุญใจดีที่มาทำบุญที่นี่บ่อยๆ มาแต่ละครั้งก็ตั้งใจจะมาให้ทานแก่ขอทานด้วย โดยแลกเงินรูปีมาเยอะมาก พอรถมาจอดปุ๊บ ผู้แสวงบุญก้าวลงจากรถ ก็จะมี 3สิ่งที่พระอาจารย์ได้เตือนเรารุมกันเข้ามาหา ผู้แสวงบุญท่านนี้มีความตั้งใจจะทำทานอยู่แล้ว จึงยื่นเงินให้ขอทานที่มาถึงก่อน เมื่อเห็นดังนั้น ก็มีขอทานจำนวนนับไม่ถ้วนพากันมาจากไหนไม่รู้กรูกันเข้ามาเพื่อจะเข้ามารับเงินจากผู้แสวงบุญ ปรากฏว่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ทางขึ้นเขาค่อนข้างชันการทรงตัวจึงไม่ค่อยดีเมื่อมีแรงผลักดันจากข้างหลังมากันเยอะๆทำให้ผู้แสวงบุญตกลงไปข้างทางได้รับบาดเจ็บกันเลยทีเดียวค่ะ ทางแก้ไขคือ เราห้ามสบตาลงจากรถแล้วเดินตามพระอาจารย์ไปให้ทันก็พอค่ะ อิอิ

ทางขึ้นชันมากและคนเยอะมากกก หายใจหอบปีกจมูกบานพอควรค่ะ อิอิ (แอบคิดในใจว่าถ้าเราขึ้นเสรี่ยงหรือซ้อนมอไซค์วิบากนั้นคงมีความหวาดเสียวประหนึ่งขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาชนิดที่ไร้เซฟตี้ใดๆเป็นแน่แท้) 

ถึงแล้วสเต็ปแรก ที่นี่มีเวลคัมดริ๊งเป็นน้ำมะตูมร้อนๆไว้รับรองผู้แสวงบุญด้วยค่ะ 

มีคลิปให้ชมบรรยากาศและเสียงหอบเหนื่อยเบาๆตลอดเวลา หายใจแบบนี้เพราะอากาศหนาวมา (เหรอ...) หรือเพราะขึ้นที่สูง หรือเพราะเหนื่อย กันนะ อิอิ

ในคลิปจะเห็นภาพภายในถ้ำดงคสิริ ซึ่งทางเข้าจะเป็นช่องเล็กและค่อนข้างแคบมาก ภายในถ้ำดงคสิริเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปพระโพธิสัตว์ ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย มองเห็นพระวรกายซูบผอมจนพระอัฐิ (กระดูก) และพระนหารุ (เส้นเอ็น) ปรากฏ ลักษณะพระวรกายผ่ายผอมเห็นหนังติดกระดูก พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตรงกลางถ้ำ ตั้งเด่นเป็นสง่าเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ เพราะมีผู้ศรัทธามาปิดทองด้วยความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล ป่วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บอยู่ที่ไหนของร่างกาย หากปิดทององค์พระตรงนั้นก็จะหายเป็นปกติ

ลงจากเขาดงคสิริแล้ว ขากลับมีโอกาสได้แวะสถานที่สำคัญอีก2แห่งซึ่งก็คือ บ้านนางสุชาดา และท่าน้ำ  สุปติฏฐิตะ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้ลอยถาดทองคำของนางสุชาดา ที่แม่น้ำเนรัญชรา 

มาทำความรู้จักกับนางสุชาดาในพุทธประวัติกันก่อนนะคะ

นางสุชาดาได้เคยอธิษฐานต่อเทวดา ณ ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราว่า  หากข้าพเจ้าได้ไปสู่สกุลที่มีชาตเสมอกัน ๑  ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ๑ จะถวายข้าวปายาส (ข้าวที่หุงด้วยนมสด) แก่ท่าน  เมื่อนางได้สมประสงค์ทั้งสองอย่างแล้ว  นางจึงคิดกระทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน๖

คืนก่อนการตรัสรู้  พระโพธิสัตว์ได้ฝัน ๕ ประการ  เมื่อทรงพิจารณาแล้วก็ทรงมั่นพระทัยว่า พระองค์จะต้องบรรลุได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน  พอใกล้รุ่งจึงได้เสด็จมาประทับ ณ โคนต้นไทรต้นหนึ่ง  เพื่อรอเวลาบิณฑบาต

เช้าวันนั้น  ขณะที่นางกำลังหุงข้าวปายาส  ได้สั่งให้ทาสี (คนรับใช้หญิง) ไปทำความสะอาดบริเวณต้นไทรเพื่อเตรียมทำพิธี  ทาสีออกไปเห็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ที่โคนต้นไทร  มีรัศมีสว่างไสว  จึงรีบกลับมาบอกนางสุชาดา

นางสุชาดาจึงเกิดความปิตโสมนัสเป็นอย่างมาก  คิดว่าเป็นเทวดามารับพลีกรรมจึงรีบนำข้าวออกมาถวาย  โดยรีบนำข้าวปายาสบรรจุจนเต็มถาดทอง  ครอบด้วยถาดทองอีกใบ  ใช้ผ้าขาวสะอาดคลุม  ยกถาดนั้นเทินไว้บนศรีษะ  มือถือคนโทน้ำรีบออกไปยังต้นไทรโดยเร็ว

นางเห็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่  ก็ยิ่งเกิดความปิติ  น้อมกายเข้าไปถวายถาดข้าวปายาส  พร้อมทั้งคนโทน้ำ  กล่าวว่า  " ขอท่านจงรับพลีกรรมที่นำมาถวายนี้เถิด  ความหวังขอดิฉันสำเร็จแล้ว  ฉันใด  แม้ความหวังของท่านก็จงสำเร็จแล้ว ฉันนั้น "

ทรงวางถาดลง  แล้วทรงเสวย  เมื่อทรงเสวยเสร็จแล้ว  จึงได้เสด็จไป ณ ริมฝั่งแม่น้ำ  ทรงอธิษฐานว่า  ” ถ้าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันนี้  ถาดทองนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป  หากมิได้ถาดนี้จงลอยไปตามกระแสน้ำ “ แล้วทรงวางถาดทองลงบนกระแสน้ำ  ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง  แล้วจมลงสู่ท้องน้ำ

บ้านนางสุชาดา

พระอาจารย์เล่าถึงประวัติความเป็นมาทำให้เข้าใจมากขึ้นจริงๆค่ะ

ออกจากบ้านนางสุชาดาก็มาแวะท่าน้ำ สุปติฏฐิตะ สถานที่ลอยถาดทองคำฯ 

สถานที่ลอยถาดทองคำจะอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชรา ฝั่งตรงข้ามกะพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ในภาพนี้จะมองเห็นพุทธคยาไกลๆค่ะ (แม่นำที่แห้งขอดในฤดูหนาวทำให้ไม่รู้สึกว่านี่คือแม่น้ำ อิอิ)

มีคลิปให้ชมบรรยากาศค่ะ

ไว้จะมาเล่าต่อบันทึกหน้านะคะ

ขอขอบคุณและอนุโมทนาบุญ คุณหนุนและคณะแสวงบุญ ที่ชวนทีมแพทย์อาสามาด้วยในครั้งนี้ สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลพุทธประวัติจากพระอาจารย์และเวบธรรมจักรด้วยค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 636435เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2017 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2017 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เสมือนเดินทางไปด้วย ;)...

ขอบคุณค่ะคุณWasawat Deemarn

ยังมีตอนต่อไปอีกนะคะ มีเวลาอัพรูปแล้วจะมาเล่าต่อค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท