ชีวิตที่พอเพียง 2994. มาสายดีกว่าไม่มา



ผู้มาสายในที่นี้คือ เซลล์ประสาทครับ     ในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐  คอลัมน์ Editor’s Choice  ลงเรื่อง Late to the party   นำผมไปสู่รายงานผลการวิจัยเรื่อง Functional Interaction between Newborn and Mature Neurons Leading to Integration into Established Neuronal Circuit ในวารสาร Current Biology 

ประเด็นที่ผมสนใจคือ การก่อเกิดเซลล์ประสาทใหม่ ในผู้สูงอายุ ที่เป็นกลไกของ neuroplasticity     แต่รายงานผลการวิจัยนี้ไม่ถึงกับ ศึกษาในผู้สูงอายุ แต่ศึกษาในสมองของปลาที่เรียกว่า  zebra fish   ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอยู่ในไข่ จนโตเต็มวัย    เขาพบว่าในช่วงดังกล่าว    มีเซลล์ประสาทเกิดใหม่เข้าไปเชื่อมกับ เครือข่ายใยประสาทที่มีอยู่แล้ว   

ในบทนำ ผู้รายงานบอกว่า ใน zebra fish มีเซลล์ประสาทเกิดใหม่จากส่วนหนึ่งของสมองตลอดชีวิต    ในรายงานนี้ เป็นการศึกษาว่าเซลล์สมองเกิดใหม่เมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกของเครือข่ายประสาทตา กระบวนการ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ประสาทเต็มวัยเป็นอย่างไร    คำตอบคือ ใช้เวลา ๔ วัน โดยต้องมีการกระตุ้นจากภาพ ที่เข้าสู่ตา    ช่วยให้เกิดปฏิกิริยาเคมีภายในเซลล์ประสาท เกิดการงอกใยประสาท และใยประสาทเข้าไปเชื่อม สัมพันธ์กับเครือข่ายที่มีอยู่เดิม    หากขาดการกระตุ้นการเจริญเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะไม่เกิด    

ที่น่าพิศวงก็คือวิธีการวิจัยนี้ซับซ้อนมาก    เริ่มจากปลา zebra fish ที่ใช้ทดลองต้องเป็นปลาพิเศษ ที่มีการตัดต่อยีนที่จำเพาะเพื่อติดฉลากสีให้สามารถตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ประสาทเซลล์เดียวได้    และมีกล้องจุลทรรศน์ชนิด Two-photon  ใช้ส่องตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์สมองเป็นรายเซลล์ได้  

ผมอ่านรายงานนี้เข้าใจแบบงูๆ ปลาๆ    โดยมีการทดลองและผลลัพธ์ที่ซับซ้อนมาก กว่าจะสรุปได้ว่า เมื่อเซลล์ประสาทเซลล์ใหม่มาถึง ก็จะมีปลายใยประสาทแตกแขนงไม่กี่เส้น    เข้าไปเชื่อมกับเครือข่ายใยประสาท ที่มีอยู่แล้ว    อาศัยการกระตุ้นด้วยสัญญาณภาพ (เพราะศึกษาในบริเวณสมองที่ควบคุมสายตา) เซลล์ใหม่ จะงอกปลายใยประสาทแตกแขนงจำนวนมากออกไปเชื่อมกับเครือข่ายใยประสาท    และค่อยๆ เพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่เซลล์สมองส่วนกำกับสายตา 

ผมเกิดคำถามว่า ทำไมต้องมีเซลล์ที่มาสายด้วย    เซลล์ที่มาสายจะต้องมีบทบาทสำคัญต่อช่วงชีวิต ของปลา zebra fish แน่ๆ    บทบาทนั้นคืออะไร


วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ค. ๖๐

 


 

หมายเลขบันทึก: 633991เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2017 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2017 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท