การมองปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยนิยาม 5 และวิธีคิดเชิงระบบ


                ผู้สนใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทยได้ศึกษาและพยายามทำความเข้าใจประการสำคัญคือการนิยามเพื่อนำไปปฏิบัติ ซึ่งพระพุทธศาสนาได้แบ่งนิยาม 5 ได้แก่ อุตุนิยาม พีชนิยามจิตนิยาม กรรมนิยมและธรรมนิยามเพื่อให้ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆซึ่งแต่ละคนก็จะถนัดนิยามต่างกัน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีการตีความผ่านนิยามเหล่านี้เช่น ผู้ถนัดอุตุนิยามก็จะตีความออกเป็นรูปธรรม เป็นกิจกรรมทางกายภาพ เช่นเกษตรทฤษฎีใหม่ต้องเริ่มจากที่ 10 ไร่ แบ่งเป็นนา 3 ไร่ สวนต้นไม้ 3 ไร่ บ่อน้ำ 3 ไร่บ้าน 1 ไร่ เมื่อนิยามเช่นนี้ก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่ยืดหยุ่นผู้ถนัดพีชนิยามก็สนใจระดับของการพัฒนาความพอเพียงจากตนเอง ไปสู่ชุมชน สังคมประเทศ โดยพยายามชี้ว่าจะต้องทำอย่างไร อะไรบ้าง ผู้ที่ถนัดจิตนิยามก็จะมองความพอเพียงผ่านจิตนั่นคือเน้นสันโดษ การรู้จักพอเพียง การเน้นความสุขทางใจมากกว่าทางกายผู้ถนัดกรรมนิยามก็จะชี้ว่าต้องปฏิบัติให้เกิดผลจริงต้องมีการลงมือทำให้เห็นว่าใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ต้องปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้มีเวลาก็ต้องปฏิบัติธรรม และผู้นิยามผ่านธรรมนิยามซึ่งก็จะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดนิยาม 3 ห่วง 2 เงื่อนไขโดยพยายามตีความให้ขยายกว้างขวางไปเรื่อยๆ และพยายามที่จะสร้างตัวชี้วัดเพื่อแสดงการปฏิบัติได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

            ผู้เขียนมีทรรศนะว่าธรรมนิยามที่ได้รับการรับรองแล้วย่อมเป็นนิยามที่สำคัญหากแต่การทำความเข้าใจเชิงปรัชญาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง จะต้องพิจารณาผ่านวิธีคิดเชิงระบบในการมองภาพรวมดังเช่นที่เสนอไว้ในหนังสือ Holism and Evolution (Smuts, 1926) อันได้แก่การคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มองภาพรวมอย่างเป็นระบบ มีส่วนประกอบย่อยๆโดยอาศัยการคิดในรูปแบบโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ซึ่ง Bellinger (2004) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความรู้ได้เสนอ disciplined approach เพื่อการพัฒนาความเข้าใจต่อกิจกรรม (event) รูปแบบของพฤติกรรมที่เกิดจากกิจกรรม (pattern) และโครงสร้างที่ตอบสนองจากรูปแบบของพฤติกรรม (structure)ดังนั้นผู้เขียนจึงขอตีความหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขยายความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติได้ดังนี้

            ในส่วนแรก(โครงสร้าง/structure) ได้แก่คำว่า “พอเพียง”เป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่ประพฤติตนและจิตใจให้รู้จักพึงพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงชีพของตนโดยไม่เดือดร้อนซึ่งเรียกว่า “พอเพียง” จึงอธิบายได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่จิตใจมนุษย์ถึงซึ่งความพอเพียงก็จะเกิด“ความสุข” ขึ้น ปรัชญาพอเพียงจึงได้ชื่อว่าเป็น “ปรัชญาจริยะ”เพราะเป็นปรัชญาที่ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ให้มีความสุข ซึ่งอาจเรียกได้ว่าปรัชญาแห่งความสุขความสุขจะเกิดขึ้นในรูปแบบใดก็ตาม กุญแจสำคัญที่ทำให้มันเกิดขึ้นก็คือ“ความพอเพียง” เพราะความพอเพียงทำให้เกิด “ความพอใจ” หรือ “ถ้าใจพอ ก็พอใจ”เมื่อพอใจความสุขก็เกิดขึ้น

            ในส่วนแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นรากฐานแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญานี้เปรียบเสมือนรากฐานของชีวิตและสังคมรวมถึงความมั่นคงของประเทศชาติดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม 2542 ตอนหนึ่งว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิตรากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”

            ในส่วนที่สอง (รูปแบบ/pattern)เป็นที่รู้จักกันดีในรูปแบบของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยถูกอธิบายว่า 3 ห่วง ประกอบด้วย (1) ความพอประมาณ (2) ความมีเหตุผล และ (3) มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ส่วน 2 เงื่อนไขประกอบด้วย (1) เงื่อนไขความรู้ และ (2) เงื่อนไขคุณธรรม ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลเชิงความรู้คู่กับคุณธรรมที่เรียกว่า จรรยาบรรณหรือจริยธรรมในแต่ละระดับตามเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

            ในส่วนที่สาม (กิจกรรม/event) เป็นปรากฏการณ์ (phenomena) ที่ถูกถ่ายทอดผ่านกิจกรรมต่างๆ ในสังคม เป็นแนวปรัชญาที่ทุกๆ คนสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ในทุกอาชีพ ทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเข้าถึง และพัฒนา อันจะนำไปสู่ความสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นมักจะมุ่งเน้นในเรื่องการพึ่งตนเองการรวมกลุ่มกันคิดค้นและร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมีการแบ่งปัน ช่วยเหลือกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการบริหารจัดการปัจจัยต่างๆ เช่นทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สามารถนำไปใช้ดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและสมดุลและเมื่อหลายๆ ชุมชนพอเพียงมารวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนความรู้สืบทอดภูมิปัญญาและร่วมกันพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็จะกลายเป็นสังคมแห่งความพอเพียงได้ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 632447เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2017 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2022 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท