หน้าที่พลเมือง : คอรัปชั่นฉันไม่ขอรับ


โลกนี้สวยงาม แม้ยามมืดมิดจากแสงสุริยาและจันทรา หากใจสว่างและศรัทธา จะเห็นแสงสว่างของดวงดาราจรัสฟ้านภากาศ


หน้าที่พลเมือง : คอรัปชั่นฉันไม่ขอรับ


ในห้วงของการจัดค่ายเรียนรู้และเผยแพร่โครงการพระราชดำริ ที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพแล้วเชิญชวนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา 39 สถาบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วม ระหว่างวันที่ 23-29 มิถุนายน 2560 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มีนิสิตนักศึกษา เข้าร่วม 65 คน จากเป้าหมายที่ผู้จัดอยากให้มีชาวค่ายสัก 100 คน

ช่วงวางแผนเตรียมการ ฝ่ายจัดงานได้ร่าง/วางแผนกำหนดการว่าจะมีภาคทฤษฎี/บรรยายเรื่องอะไรบ้าง จากใคร ภาคปฏิบัติส่วนหนึ่งเป็นหลักสูตรของศูนย์ฯภูพานที่มีอยู่แล้วหลายเรื่อง ส่วนวิทยากรกระบวนการ ผมอาสาพี่ๆในทีมว่าจะช่วยสรรหาและวางแผนการทำงานเอง โดยขอให้กัลยาณมิตรที่เคยทำงานร่วมกันเป็นวิทยากรตลอดโครงการ

เรื่องหนึ่งที่ผมเสนอแล้วบรรจุลงในกำหนดการคือเรื่อง หน้าที่พลเมือง : คอรัปชั่นฉันไม่ขอรับ ผมตั้งใจจะถือโอกาสนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับน้องๆชาวค่ายที่เป็นผู้นำนิสิตนักศึกษาจากทั่วภาคอีสาน ถึงทัศนะ มุมมอง และเรียนรู้ความเป็นไปร่วมกันเหนืออคติทางการเมือง

ผมกำหนดหัวข้อชวนชาวค่ายคุยไว้อยู่ 5-6 เรื่อง ในเวลา 3 ชั่วโมง เอาเข้าจริง เรื่องที่เตรียมมา แผนที่วางไว้ว่าจะชวนคุย กลับดู้ดคุยกันเพียง 2 ประเด็น คือ หน้าที่พลเมืองและคอรัปชั่น

การกำหนดตารางการพูดคุยเรื่องนี้ในวันเกือบสุดท้ายของค่าย จึงเห็นชาวค่ายเริ่มกร่อยๆกับภาควิชาการ ที่จะต้องฟัง คิด เขียน พูด ถาม เพราะอ่วมกับกิจกรรมค่ายที่ยาวนานมาหลายวันคืน เพราะค่ายนี้ ผมเองตั้งใจจะให้ชาวค่าย “เขียน” ให้มากๆ จนทุกคนในค่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ค่ายนักเขียน” ไม่รู้ว่าคำพูดนั้นเป็นคำพูดติดตลกหรือคำพูดที่ออกมาจากจิตใจใฝ่สำนัก ผมเองก็รับรู้ได้ว่า เราอาจจะให้ชาวค่าย “เขียน” มากไป แต่ในใจ ก็ยังคิดว่า การเขียนนั้นสำคัญต่อการเรียนรู้เสมอ เพราะโดยส่วนตัวชอบเขียนบันทึกเล่าเรื่องราว ทัศนะของตนเองในเรื่องต่างๆที่ไปพบเจอหรือประสบด้วยตนเอง (แต่อาจน้อยนักเมื่อเทียบกับนักเขียน/กวี) เพราะเชื่อว่า การเขียน เป็นการใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์ และกลั่นกรองออกมาเป็นตัวหนังสือ ได้พอๆกับการพูด แต่การเขียนจะช่วยบันทึกเรื่องราวได้ดีกว่าการพูด แล้วเมื่อเวลาผ่านไป การได้มาอ่านเรื่องราวที่ได้เขียนไว้ มันจะทรงคุณค่า


เริ่มต้นด้วยการพูดคุยถึงเรื่องราวของคำว่า “พลเมือง” ในทัศนะของผู้ที่เคยเรียนวิชา “หน้าที่พลเมือง” มาแล้วในชั้นมัธยมศึกษา ส่วนตัววิทยากรอย่างผม ไม่เคยได้เรียน ... มอบหมายให้ทุกคน คิดแล้วเขียนอะไรก็ได้เกี่ยวกับคำว่า “พลเมือง” ลงในกระดาษโพสต์อิทแผ่นเล็กๆ หลายคนใช้เทคโนโลยีอย่างมือถือช่วยสืบค้นข้อมูล หลายรายใช้คลังข้อมูลในหัว บรรจงเขียนลงไปใส่กระดาษแผ่นเล็ก จากนั้นไมโครโฟนก็ถูกส่งต่อให้ทุกๆคนพูดเรื่องราวของ “พลเมือง” ที่ตนเขียนให้เพื่อนๆฟัง ส่วนกระดาษที่เขียนก็นำมาติดใส่กระดาษแผ่นใหญ่กลางห้องหลังการเล่าให้กันฟังเสร็จสิ้น ชาวค่ายเล่าว่า พลเมือง คือ คนที่อยู่ในสังคม เป็นกำลังของสังคมหรือของรัฐที่จะช่วยกันพัฒนาสังคม อยู่ภายใต้กรอบหรือกติกาของรัฐ เคารพสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ฯ


บนความเห็นต่างและเห็นตาม ในมิติที่หลากหลาย จึงช่วยให้การเรียนรู้ร่วมกันเริ่มขึ้นอีกครั้งในห้องกว้าง ผมเองเริ่มเล่าเรื่องราวของพลเมืองเพื่อเชื่อมโยงไปยังเรื่องคอรัปชั่น ตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัว เล่าถึงเรื่อง ความมักง่ายและความดูดาย อันเป็นพฤติกรรมร่วมของชนในชาติ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการคอรัปชั่น เช่น การยอมจ่ายค่าผ่านด่านตำรวจเพื่อให้ตนเองไม่เสียเวลาในการเดินทาง การใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องที่ไม่เฉพาะเองเงิน แต่อาจเป็นการอำนวยความสะดวกโดยไปกระทบสิทธิของผู้อื่น ฯ เมื่อได้เล่าทัศนะของตนเองให้ชาวค่ายฟังแล้ว ก็ขอให้ชาวค่าย “เขียน” อะไรก็ใด้เกี่ยวกับคำว่า “คอรัปชั่น”

คอรัปชั่นของชาวค่ายจึงมุ่งเน้นไปเรื่องของ “ผลประโยชน์ส่วนรวม” ที่ถูดริดรอนไป หรือการที่ผู้มีอำนาจ “ฉกฉวย” ผลประโยชน์ของส่วนรวมไปเป็นของตนหรือพรรคพวกของตน การพูดถึงเรื่องเงินใต้โต๊ะ หรือการเอื้อประโยชน์แก่กันจนกระทบส่วนรวม ฯ

วิทยากรจึงเล่าเรื่องราวชวนคิดตามในประเด็น “คอรัปชั่น ฉัน ไม่ขอรับ” ว่าตัววิทยากรเอง เคยสัมผัสถึงการคอรัปชั่นในเรื่องอะไรบ้างที่ใกล้ตัว... โดยเน้นประเด็นเดิมคือ การมักง่ายและการดูดายของคนในสังคม อันเป็นบ่อเกิดของคอรัปชั่นในสังคม ผ่านวาทะกรรมที่ว่า “ใครๆเขาก็ทำกัน”...

ชวนให้ชาวค่ายฟังไปสักระยะ จึงสรุปเพียงสั้นๆว่า ปัญหาคอรัปชั่นในสังคม ไม่จำเป็นต้องไปตีฆ้อร้องเป่าให้โด่งดัง หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ทำงานกันอยู่มากมาย หากเราเห็นหรือรับรู้ มีช่องทางการส่งสารไปได้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ... แต่สิ่งสำคัญกว่าเหนือสิ่งอื่นใด คือการเริ่มต้นที่ตัวเราเองต่างหาก

สุดท้าย ให้ชาวค่ายสรุปผลของการเรียนรู้ ผ่านการเล่าเรื่องของวิทยากร ผ่านกระดาษแผ่นเล็กเช่นเคย ว่าได้อะไรบ้างจากการฟังเรื่องเล่าในครั้งนี้...        

บทสรุปเล็กๆของการเรียนรู้ร่วมกันในเวลา 3 ชั่วโมงครั้งนี้ ชาวค่ายสรุปว่า การไม่ละเลยต่อหน้าที่และบทบาทของตนในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ การไม่เอาอำนาจหน้าที่ไปใช้เพื่อตนเองและพรรคพวกจะช่วยสังคมได้อยู่บ้าง การเคารพสิทธิและเสรีภาพซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ การไม่มองข้ามปัญหาเล็กๆที่เห็นอยู่ในสังคม และที่โดนใจผมที่สุดคือ การได้เรียนรู้ตนเอง เกี่ยวกับเรื่องคอรัปชั่นในสังคม...

ความเห็นส่วนตัวมีอยู่ว่า การเรียนรู้ที่สำคัญคือ การไม่มีข้อสรุปใดๆ เพราะสังคมมีพลวัตน์ไปเรื่อยๆ ทัศนะของทุกๆคนจึงสำคัญ หลายครั้งในสังคมประชาธิปไตย มักเอาเรื่องของคนส่วนใหญ่เข้าว่า เอาเสียงข้างมากแล้วากไปให้เห็นว่าความเห็นของคนหมู่มาก “ถูก” กว่าเสียงส่วนน้อย แต่ในพื้นฐาน คนส่วนน้อยก็อาจจะไม่ได้ผิด เพราะคนตาบอดสี ก็ไม่ใช่คนน่ารังเกียจ หากเลือกเกิดได้เขาคงไม่อยากบอดสี คนถนัดขวามากมายสร้างสิ่งประดิษฐ์ให้สากลใช้เพื่ออำนวยความสะดวกจนลืมคนถนัดซ้าย ... โลกนี้สวยงาม แม้ยามมืดมิดจากแสงอาทิตย์แลจันทรา หากใจสว่างและศรัทธา จะเห็นแสงสว่างของดวงดาวหรือหิ่งห้อย


    















หมายเลขบันทึก: 630605เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2017 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2017 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท