กฎหมายอิสลาม


بـــــــــــــسم للَّه الرحمــــــــان الرحيـــــــم

กฎหมายอิสลาม

الشريعة الإسلامية

               ความหมายของกฎหมายอิสลาม : ( خطاب الشارع المتعلق بأفعال العباد اقتضاء أو تخييرا أو وضعا ) “ ศาสนบัญญัติที่กำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นเนื้อความบังคับหรือบังคับให้เลือก และด้วยการกำหนดเป็นรูปแบบและวิธีการ ”

กฎหมายอิสลามมี 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ

1.       เป็นศาสนบัญญัติ

2.       มีสภาพเป็นข้อกำหนดความประพฤติของบุคคล

3.       มีสภาพเป็นข้อบังคับ หรือบังคับให้เลือก

4.       มีสภาพที่เป็นกระบวนการที่แน่นอน

ประเภทของกฎหมายอิสลาม กฎหมายอิสลามมี 2 ประเภท

1.       กฎหมายที่มีเนื้อหาบังคับ (Charging legal law : التكليفى الحكم الشرعي )

2.       กฎหมายที่เป็นรูปแบบกำหนดวิธีการ (Correlative law : الحكم الشرعي الوضعى )

1.  กฎหมายที่มีเนื้อหาบังคับ (Charging legal law : التكليفى الحكم الشرعي [1] )

กฎหมายที่มีเนื้อหาบังคับ มี 5 ประเภท คือ

1.       อัลวาญิบ (Obligation : الواجب )

2.       อัลมันดูบ (Recommended : المندوب )

3.       อัลลมูบาห์ (Permissible : المباح )

4.       อัลมักรูฮฺ (Abominable : المكروه )

5.       อัลหะรอม (Prohibited : الحرام )

1. อัลวาญิบ (Obligation : الواجب )

 ความหมายของอัลวาญิบ

 ماطلب الشارع من العبد فعله طلبا جازماً

“ บทกฎหมายที่กำหนดบังคับให้บุคคลปฏิบัติโดยแน่วแน่ เด็ดขาด ” การละเว้นถือเป็นบาป และกิจกรรมนั้นไม่สมบูรณ์

1.2 สำนวนบทกฎหมายที่แสดงถึงการบังคับปฏิบัติโดยแน่วแน่ เด็ดขาด (Forms of obligation)

ด้วยกฎหมายอิสลามถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ ในภาษาอาหรับจะมีสำนวนที่แสดงถึงการบังคับให้ปฏิบัติตามแน่วแน่เด็ดขาด และถือว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษ หรือปรับในโลกนี้ หรือถูกลงโทษในโลกหน้า ซึ่งมี 8 สำนวน คือ

   1. สำนวนที่แสดงถึงกริยาบังคับ (Imperative mood :( صيغة فعل الأمر ) เช่น คำตรัสขององค์อัลลอฮฺที่ว่า :

النساء /27 ( وأقيموا الصلاة وآتوا الزكاة )

ความว่า “ สูเจ้าทำการละหมาดและจงให้ทานซากาต ”

ข้อสังเกตจากตัวอย่างข้อนี้ คือ

จะมีคำว่า ( أقيموا กับ وآتوا ) แปลว่า “ จงทำการ จงให้ ” ซึ่งเป็นสำนวนที่แสดงถึงกริยาบังคับให้ปฏิบัติตามและให้ทำ ส่วนคำว่า ( الزكاة ‘ الصلاة ) แปลว่า “ ละหมาด , ทานซากาต ” ซึ่งเป็นกรรม (Passive) ที่บุคคลต้องกระทำ นั้นก็คือต้องละหมาด ต้องให้ทานซากาต หากบุคคลใดที่เป็นผู้สมบูรณ์ตามเงื่อนไขและลักษณะตามกฎหมายกำหนด จักต้องกระทำละหมาด และจักต้องจ่ายซากาต หาไม่แล้วถือว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย จะต้องถูกลงโทษด้วยการถูกขังจนถึงยอมกลับใจทำการเตาบัต (Repentance) ปฏิบัติละหมาด และหากเป็นกรณีละทิ้งการจ่ายซากาต จะต้องถูกยึดทรัพย์ตามจำนวนที่ต้องจ่ายซากาต หรือถูกปราบปรามจนถึงยอมจ่าย

    2 . สำนวนที่เป็นไวยากรณ์เกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตที่กำกับด้วยลามมูลอัมรี ( ลามที่ให้ความหมายบังคับ Obligatory particle ) ตัวอย่างเช่น คำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

الحج /29 ( وليطّوفوابالبيت العتيق )

ความว่า “ และสูเจ้าจงทำการเวียนรอบกะบะฮฺ ”

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้คือ

• คำว่า “ ليطوفوا ” แปลว่า “ สูเจ้าจงทำการเวียน ” ประกอบด้วย 2 คำ คือ ลามมูลอัมรี : ลามที่ให้ความหมายบังคับให้กระทำ และคำว่า “ يطوّفوا ” ซึ่งเป็นคำไวยากรณ์ (Verb) ที่แสดงถึงการกระทำในปัจจุบันหรืออนาคต

• ไวยากรณ์เกี่ยวกับปัจจุบันกาลและอนาคตเมื่อกำกับด้วยลามมูลอัมรี จัดอยู่ในสำนวนบังคับจักต้องปฏิบัติตามอย่างเด็ดขาดแน่วแน่

ค . โองการนี้เป็นบทกฎหมายที่แสดงถึงการทำฮัจญ์ ( الحج ) หรือ อุมเราะฮฺ ( العمرة ) มีองค์ประกอบสำคัญคือ จักต้องทำการเวียนรอบกะบะฮฺ หากไม่กระทำถือว่าการทำฮัจญ์หรืออุมเราะฮฺใช้ไม่ได้ และไม่เป็นที่ยอมรับของกฎหมาย

    3. สำนวนที่แสดงถึงการเป็นนามของกริยาบังคับ (Imperative Participle : اسم فعل الأمر )

ตัวอย่างเช่น คำตรัสขององค์อัลลอฮฺที่ว่า : ( عليكم أنفسكم )

ความว่า “ สูเจ้าจำต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ”

ข้อสังเกตตัวอย่างนี้คือ

ก . คำว่า “ عليكم ” แปลว่า “ สู่เจ้าจำต้องรับผิดชอบ ” ซึ่งเป็นคำนามของกริยาบังคับ

( اسم فعل الأمر ) ให้ปฏิบัติตามด้วยการรับผิดชอบ

ข . คำว่า “ أنفسكم ” แปลว่า “ ต่อการกระทำของตนเอง ” เป็นกรรม (Passive) ที่บุคคลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองในกรอบข้อกำหนดของกฎหมายทุกอย่าง

ค . โองการนี้เป็นบทกฎหมายที่แสดงถึงหน้าที่ของการรับผิดชอบของบุคคลเมื่อได้กระทำการใดๆแล้ว เขาก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นๆ

    4. สำนวนที่แสดงถึงการเป็นที่มาของคำที่เป็นตัวแทนของสำนวนกริยาบังคับ ( لمصدر النائب عن فعل الأمر )

ตัวอย่างเช่น คำตรัสขององค์อัลลอฮฺที่ว่า : محمد /4 “ فإذا لقيتم الذين كفروا فضرب الرقاب ”

ความว่า “ เมื่อพวกเจ้าได้เผชิญกับปฏิเสธชน ( ในภาวะสงคราม ) ก็จงฟันคอพวกเขาเสีย ( ทำการสู้รบกับพวกเขา )” มูฮัมมัด อายะฮฺที่ 4

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้คือ

ก . คำว่า “ ضرب ” แปลว่า “ จงฟัน ” เป็นที่มาของคำว่า ، إضرب يضرب ، ضرب ซึ่งเป็นคำเดิมหรือเป็นคำที่เป็นที่มาของคำกริยาต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ทำหน้าที่แทนคำกริยาบังคับ ซึ่งมีความหมายเดี่ยวกันกับคำกริยาบังคับ นั้นก็คือ มีความหมายบังคับให้ทำ ซึ่งความหมายของ ضرب ในสำนวนนี้ก็คือ “ จงตัด จงทำการรบ ”

ข . คำว่า “ الرقاب ” แปลว่า “ คอ ” ในที่นี้หมายถึง “ คน ” ที่เป็นผู้ปฏิเสธชน ซึ่งเป็นมูฎอฟูอีไลฮ ( คำสัมพันธ์ Possessive case) ที่อยู่ในสถานะของกรรม (Passive) โดยให้ความหมายว่า เมื่อมุสลิมได้เผชิญกับปฏิเสธชนในภาวะสงครามก็จงฆ่าพวกนั้น หรือจงทำการรบกับพวกเขา

ค . โองการนี้เป็นตัวบทกฎหมายที่แสดงถึงการทำการรบกับปฏิเสธชนในภาวะสงครามเป็นสิ่งบังคับกับมุสลิมทุกคน ( ที่กฎหมายกำหนดลักษณะเฉพาะหรือกรณีเฉพาะ ) จักต้องปฏิบัติตาม หาไม่แล้วถือว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมาย จักต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

    5. คำเฉพาะที่ให้ความหมายบัญชาให้ทำ (Obligation Word: لفظ الأمر ) ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ชัดเจนที่ให้ความหมายบังคับให้ทำ

ตัวอย่างเช่น คำดำรัสขอองค์อัลลอฮฺที่กล่าวว่า

58/ النساء “ إن الله يأمركم أن تؤدوا الأمانات إلى أهلها ”

ความว่า “ แท้จริงอัลลอฮฺได้บัญชาสูเจ้าให้สู้เจ้าจงมอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของมัน ” อัน - นิซาฮ โองการที่ 58

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้คือ

ก . คำว่า “ يأمركم ” แปลว่า “ พระองค์ได้บัญชาสูเจ้า ” ซึ่งคำว่า “ يأمر ” เป็นคำเฉพาะที่ให้ความหมายบัญชาให้ทำ

ข . คำว่า “ كم ” แปลว่า “ สู่เจ้า ” ซึ่งเป็นกรรม ( บุคคลที่ต้องปฏิบัติตาม ) นั้นก็คือผู้รับฝากของ

ค . โองการนี้เป็นตัวบทกฎหมายที่กำหนดบังคับให้ผู้รับฝากของต้องส่งคืนของแก่เจ้าของ เมื่อมีการร้องขอ หรือกรณีที่ต้องส่งคืนตามกำหนดอย่างสมบูรณ์ หาไม่แล้วจะถือว่าละเมิดกฎหมายนี้ และจะต้องโทษตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

      6. คำเฉพาะที่ให้ความหมายบังคับ ถูกกำหนดเป็นบัญญัติเช่น คำอัลอีญาบ (Ordainment : الايجاب ) อัลฟารีดะฮ (Ordinance : الفريضة ) อัลกาตับ (To draw up : الكتب )

ตัวอย่างเช่น คำดำรัสขอองค์อัลลอฮฺที่กล่าวว่า

البقرة /183 ( كتب عليكم الصيام )

ความว่า “ การถือศิลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว ” อัล - บากอเราะ โองการที่ 183

และคำตรัสของพระองค์ที่ว่า

النساء /11 “ فريضة من الله ”

ความว่า “ ทั้งนี้เป็นบัญญัติที่มาจากอัลลอฮฺ ” อัน - นิซาอฺ โองการที่ 11

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้คือ

ก . คำว่า “ كتب ” แปลว่า “ ถูกกำหนด ” และคำว่า “ فريضة ” ถูกบัญญัติ ซึ่งเป็นคำที่ให้ความหมายวาญิบจักต้องปฏิบัติตาม

ข . โองการเหล่านี้เป็นตัวบทกฎหมายที่แสดงถึงข้อกำหนด หรือบทบัญญัติที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติตาม หาไม่แล้วถือว่าผิดกฎหมาย ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

   7. ทุกสำนวนที่ส่อความหมายบังคับในภาษาอาหรับ

ตัวอย่างเช่น พระดำรัสของอัลลอฮฺในกุรอานที่กล่าวว่า

97/ آلعمران “ ولله على الناس حج البيت ”

 ความว่า “ และเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเหนือมนุษย์นั้นคือ เขาจำต้องไปแสวงบุญ ณ บ้านหลังนั้น ( กะบะฮฺที่มักกะฮ ) อาละอิมรอน โองการที่ 97

 ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้คือ

ก . คำว่า “ لله ” แปลว่า “ และเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ” และคำว่า “ على الناس ” แปลว่า “ เหนือมนุษย์ ” เป็นสำนวนอัลหัศรีย์ (Limitation : الحصر ) ซึ่งให้ความหมายเชิงเกณฑ์กำหนดบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม

ข . คำว่า “ حج البيت ” เป็นมุบตาดามูอัคคอร (Subject of a sentence : المبتد ) ซึ่งเป็นเป้าหมายของสำนวนนี้ นั้นก็คือ ทุกคนที่เป็นมุสลิม หากมีความสามารถตามที่กฎหมายกำหนดแล้วเขาจำต้องไปแสวงบุญ ณ นครมักกะฮ หาไม่แล้วจะถือว่าเขามีความผิดฐานละเลยต่อหน้าที่

   8. สำนวนที่แสดงถึงการกำหนดบทลงโทษและประณามผู้ละเมิด

ตัวอย่างเช่น พระดำรัสของอัลลอฮฺในกรุอานกล่าวว่า “

" فليحذر الذين يخالفون عن أمره أن تصيبهم فتنة أويصيبهم عذاب أليم " النور /63

ความว่า “ ดังนั้นบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเขา (มูฮัมมัด) จงระวังตัวเถิดว่า เคราะห์กรรมจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา หรือว่าการลงโทษอันเจ็บปวดจะเกิดขึ้นแก่พวกเขาเช่นกัน ” อันนูร อายะฮฺที่ 63

ข้อสังเกตตัวอย่างนี้

ก . คำว่า “ قليحذر ” แปลว่า “ จงระวัง ” ซึ่งเป็นการเตือนเพื่อไม่ให้สิ่งที่ถูกเตือนนั้นเกิดขึ้น

ข . คำว่า “ الذين يخالفون عن أمره ” แปลว่า “ ผู้ที่ละเมิดคำสั่งของท่านศาสดา ” ซึ่งเป็นสำนวนที่ประกอบด้วย 2 สิ่ง คือ

     1. ผู้ที่ถูกเตือนนั้นก็คืออย่าเป็นผู้ละเมิด

     2. สิ่งที่ถูกเตือน นั้นคือ ละเมิดคำสั่งของท่านศาสดา

ค . คำว่า “ أن تصيبهم فتنة أويصيبهم عذاب أليم ” แปลว่า “ จะต้องได้รับโทษที่สาสม ” ซึ่งเป็นการประนามและกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมละเมินคำสั่งของศาสดา

ง . โองการนี้เป็นบทกฎหมายที่แสดงถึงการบังคับไม่ให้ละเมิดคำสั่งของท่านศาสดา หาไม่แล้วจะต้องรับโทษและต้องถูกประณาม

2. อัลมันดูบ ( Recommended : المندوب )

2.1 ความหมายของอัลมันดูบ คือ “ طلب لشارع من العبد فعله طلبا غيرجازم ما “

บทกฎหมายที่กำหนดบังคับให้บุคคลกระทำอย่างไม่เด็ดขาด หรือ ในอีกความหมายหนึ่งคือ บทกฎหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคคลกระทำโดยการกำหนดผลตอบแทนในการกระทำนั้นๆและจะไม่มีการลงโทษหากมิได้กระทำ

2.2 สำนวนกฎหมายที่แสดงถึงการบังคับปฏิบัติโดยไม่เด็ดขาด (Forms of recommendation: صيغ المندوب ) มีดังต่อไปนี้

1. สำนวนที่แสดงถึงกริยาบังคับให้กระทำ (Imperative mood) เมื่อมีหมายบ่งบอก (Indication: ( قرينة การเปลี่ยนสถานะจากวาญิบเป็นมันดูบ เช่น หลักฐานอื่นที่มาจากอัลกุรอานหรือซุนนะฮ

ตัวอย่างเช่น คำดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวว่า

البقرة / 282 “ اذا تداينتم بدين إلى أجل مسمى فاكتبوه ”

ความว่า “ เมื่อสูเจ้าทำการกู้ยืมหนี้สิน โดยมีการกำหนดเวลาที่แน่นอน พวกเจ้าจงทำบันทึกมันไว้ ” อัลบาดอเราะฮ โองการที่ 282

ในโองการอื่นอัลลอฮได้ตรัสว่า

البقرة /283 “ بعضكم بعضا فليؤدالذي او ئتمن أمانته وليتق الله ربه فإن أمن ”

ความว่า : “ หากต่างฝ่ายต่างไว้ใจซึ่งกันและกัน ลูกหนี้ผู้ได้รับความไว้วางใจก็ต้องชำระคืนหนี้สินที่เขาได้รับความไว้วางใจเสีย และเขาจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺผู่ทรงเป็นผู้อภิบาลของเขา ” อัลบาเกาะรอฮฺ โองการที่ 283

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

ก. คำว่า “ فاكتبوه ” แปลว่า “ พวกเจ้าจงทำบันทึกมันไว้ ” เป็นสำนวนบังคับให้กระทำ ซึ่งเป็นคำสั่งให้บันทึกสัญญากู้ยืมที่ตามหลักแล้ว ถือว่าเป็นวาญิบ

• โองการที่สอง แสดงถึงความไม่จำเป็นต้องทำการบันทึก หากต่างฝ่ายต่างไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะโดยหน้าที่แล้ว ต้องชำระหนี้สิน ของเขาตามมารยาทที่เข้าได้รับความไว้วางใจ

ค . คำสั่งในโองการแรกที่เป็นวาญิบได้ถูกเปลี่ยนสถานะจากวาญิบเป็นมันดูบ โดยโองการที่สองเป็นหมายบ่งบอก ( قرينة )ว่าคำสั่งในโองการแรกนั้นไม่ได้ให้ความหมายของวาญิบแต่ความหมายของมันคือมันดุบซึ่งหาไม่แล้วก็จะเกิดข้อขัดแย้งระหว่างความหมายคำสั่ง บังคับในโองการแรกกับความหมายเชิงอนุญาตในโองการที่สอง

2. สํานวนที่บ่งบอกถึงการเป็นสุนัต

ตัวอย่างเช่น คำกล่าวของท่านรอซูลที่มีความว่า “ ฉันได้ทำแบบอย่างแก่สูเจ้า การกิยามูลลัย การละหมาดกลางคืนในเดือนรอมาฏอน “

3. สำนวนที่บ่งบอกถึงการกระทำดีกว่าการละทิ้ง

ตัวอย่างเช่น คำกล่าวของท่านรอซูลที่กล่าวถึงการอาบน้ำในวันศุกร์โดยมีความว่า “ ใครอาบน้ำ (วันศุกร์) แน่แท้การอาบน้ำย่อมประเสริฐกว่า ”

4. ทุกสำนวนที่ให้ความหมายถึงการส่งเสริมให้กระทำ

ตัวอย่างเช่น คำกล่าวของท่านรอซูลที่เกี่ยวกับการแปลงฟันทุกครั้งที่ละหมาด ที่มีความว่า : หากไม่เป็นสิ่งที่ลำบากแก่ประชาชาติของฉันแล้ว แน่นอนฉันจะสั่งให้พวกเขาแปลงฟันทุกครั้งที่เขาละหมาด

3. อัลมูบาห์ ( Per missible , lawful ( المباح )

3.1 ความหมายาของอัลมูบาห์ " ماخير الشارع العبد بين فعله وتركه "

คือ “ บทกฎหมายที่กำหนให้บุคคลสามารถเลือกกระทำหรือละทิ้ง “ โดยที่ไม่ได้บังคับให้กระทำหรือห้ามไม่ให้ปฏิบัติ แต่เปิดโอกาสให้บ่าวสามารถเลือกว่าจะกระทำหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลโดยที่การกระทำหรือไม่นั้นมีสภาพเท่าเทียมกันหรือเป็นสิ่งที่อนุญาตให้บุคคลสามารถเลือกได้

3.2 สำนวนกฎหมายที่แสดงถึงการอนุญาตเลือกกระทำหรือละทิ้ง (Forms of legal permissibility)

( صيغ الإباحة )

คือสำนวน คำ หรือเครื่องหมายบ่งบอก ( Indication ) ต่างๆที่ส่อความหมายให้บุคคลสามารถเลือกกระทำหรือละทิ้งไม่กระทำซึ่งมีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือ

1.ตัวบทกฎหมายที่ส่อความหมายปฎิเสธความผิดหรือผลบาปของผู้กระทำ เช่น คำว่า " لاإثم " " لاجناح " " لاحرج "

ตัวอย่างเช่น คำตรัสของอัลลอฮ์ที่กล่าวในอัลกรุอ่านที่ว่า :

ความว่า : " ไม่เป็นการลำบากใจอันใด ไม่เป็นโทษแก่คนตาบอดและไม่เป็นการลำบากใจอันใดแก่คนพิการ และไม่เป็นการลำบากใจอันใดแก่คนป่วย และไม่เช่นกันแก่ตัวของพวกเจ้า ที่จะรับประทานที่บ้านของพวกเจ้า (รวมทั้งบ้านของบรรดาลูกๆของพวกเจ้า) หรือบ้านของพ่อๆของพวกเจ้า หรือบ้านของแม่ๆ ของ พวกเจ้า หรือบ้านของพี่ชายน้องชายของพวกเจ้าหรือบ้านของพี่สาวน้องสาวของพวกเจ้าหรือบ้านของลุง อา ของพวกเจ้าหรือบ้านของป้า อาสาวของพวกเจ้า หรือบ้านของลุง อาของพวกเจ้า หรือบ้านของป้า น้าสาวของพวกเจ้า (คือไม่เป็นโทษแก่พวกเจ้าที่จะรับประทานในบรรดาบ้านของญาติไกล้ชิดดังกล่าว) หรือบ้านที่พวกเจ้าครอบครองกุญแจของมัน (คือเมื่อเวลาเจ้าของบ้านไม่อยู่และเขามอบกุญแจไว้เพื่อช่วยดูแลรักษา) หรือบ้านของเพื่อนๆ ของพวกเจ้า ไม่เป็นการบาปอันใดแก่พวกเจ้า ที่จะร่วมกันรับประทานกันเป็นหมู่หรือแยกกัน เมื่อพวกเจ้าเข้าไปในบ้านก็จงกล่าวสลามให้แก่ตัวของพวกเจ้าเองเป็นการคำนับอันจำเริญยิ่งจากอัลลอฮฺ เช่นนั้นแหละอัลลอฮฺทรงชี้แจงโองการทั้งหลายให้เป็นที่ชัดแจ้งแก่พวกเจ้าจะได้ใช้สติปัญญาพิจารณา " อันนูร โองการที่ : 61

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

ก. คำว่า " ليس على الأعمى حرج " แปลว่า ไม่เป็นการลำบากใจอันใด (ไม่เป็นโทษ) แก่คนตาบอด และคำว่า " لس عليكم جناح " แปลว่า “ ไม่เป็นการบาปอันใดแก่พวกเจ้า ” ซึ่งเป็นการปฏิเสธโทษและบาปสำหรับผู้ใดที่กระทำสิ่งต่างๆที่ถูกระบุในโองการดังกล่าว

ข. การปฏิเสธโทษหรือบาปเป็นสำนวนที่แสดงถึงการอนุมัติสามารถกระทำได้และเป็นสิ่งที่อนุญาตละทิ้งโดยไม่กระทําก็ได้

ค. การรับประทานอาหารในบ้านของญาติใกล้ชิดหรืได้ถูกระบุในโองการนี้เป็นสิ่งอนุมัติพึ่งกระทําได้ และเป็นสิ่งที่อนุญาตให้งดกระทําก็ได้

2.ตัวบทกฎหมายที่ส่งความหมายอนุญาตหรืออนุมัติเช่น คำว่า " أحل "

ตัวอย่างเช่น พระดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกรุอ่านที่กล่าวว่า

" اليوم أحل لكم الطيبات وطعام الذين أوتوا الكتاب حل لكم وطعامكم حل لهم " المائدة /5

ความว่า “ วันนี้สิ่งดีทั้งหลายได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้น (พวกยิวและพวกคริสต์) เป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้า และอาหารของพวกเจ้าก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา ” อัลมาอีดะห์ โองการที่ : 5

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

ก. คำว่า " أحل " และคำว่า حل แปลว่า “ เป็นที่อนุมัติ ” ซึ่งเป็นสำนวนที่แสดงถึงการอนุญาตกระทำได้

ข. สิ่งดีๆทั้งหลายที่องค์อัลลอฮฺประทานเป็นเครื่องยังชีพแก่มนุษย์ มนุษย์สามารถเลือกรับประทานสิ่งใดหรือละสิ่งไหนก็ได้ เป็นสิทธฺของมนุษย์สามารถเลือกได้ตราบใดสิ่งนั้นอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่อนุมัติ

ค. อาหารของชาวคัมภีร์ (ยกเว้นสิ่งที่ต้องห้าม) และอาหารของชาวมุสลิมเป็นสิ่งที่อนุมัติซึ่งกันและกัน

3. สำนวนกฎหมายที่แสดงถึงกริยาบังคับให้กระทำ ( Imperative mood ) แต่มีหมายบ่งบอก ( Indication قرينة ) การเปลี่ยนสถานะจากวาญิบ และมันดูบ เป็นมูบาห์ เช่นหลักฐานอื่นที่มาจากอัลกรุอ่าน หรืออัสซุนนะฮฺ

ตัวอย่างเช่น พระดำรัสาขององค์อัลลอฮฺที่กล่าวในอัลกุรอ่านว่า :

" فاذا قضيت الصلاة فا نتشروا في الأرض وابتغوا من فضل الله " الجمعة /10

ความว่า : “ ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้วก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ” อัลญุมอะฮฺ โองการที่10

และพระดำรัสขององค์อัลลอฮฺที่กล่าวว่า :

" يأيها الذين آمنوا اذانودي للصلاة من يوم الجمعة فاسعوا إلى ذكر الله وذرو االبيع " الجمعة /9

ความว่า : “ บรรดาศรัทธาชนทั้งหลาย เมื่อได้มีเสียงเรียกร้อง (อะซาน) เพื่อทำการละหมาดเนื่องในวันศุกร์ ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย ” อัลญุมอะฮฺ โองการที่ 9

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

ก. คำว่า " فانتشروا في الأرض " แปลว่า “ จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน (คือหลังจากพวกเจ้าได้เสร็จสิ้นการละหมาดวันศุกร์แล้วก็จงแยกย้ายกันออกไปทำธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ของพวกเจ้า) ซึ่งเป็นคำสั่งให้ทำการแยกย้ายเพื่อการธุรกิจที่ตามหลักแล้วคำบัญชาหรือคำสั่งถือว่าเป็นวาญิบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเด็ดขาด

ข. โองการที่สอง แสดงถึงการไม่อนุญาตทำการค้าขายหรือธุรกิจก็เพราะเนื่องจากมีการอะซาน ซึ่งแสดงถึงการละหมาดวันศุกร์จะเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งการห้ามทำธุรกิจในช่วงเวลาละหมาดวันศุกร์นั้นเป็นการห้ามเฉพาะเวลา ที่แสดงถึงการทำธุรกิจก่อนจะมีเสียงอะซานนั้นเป็นสิ่งที่อนุมัติสามารถกระทำได้หรือสามารถละทิ้งได้

ค.คำบัญชาหรือคำสั่งในโองการแรกที่ให้แยกย้ายออกทำกิจกรรมหรือธุรกิจที่เป็นวาญิบ ได้ถูกเปลี่ยนสถานะจากวาญิบเป็นมูบาห์ โดยโองการที่สองที่เป็นตัวบ่งบอก ( قرينة ) ว่าคำบัญชาหรือคำสั่งในโองการแรกนั้นมิได้ให้ความหมายวาญิบ หากแต่ความหมายของมันคือมันดุบ เพื่อความสอดคล้องของความหมายของการอนุญาต การทำกิจกรรมหรือธุรกิจก่อนมีการอะซานละหมาดวันศุกร์กับความหมายของการอนุญาตให้แยกย้ายทำกิจกรรมหรือธุรกิจหลังจากที่การทำการละหมาดวันศุกร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว

4. กฎทั่วไปที่ถือว่าในกรณีไม่มีตัวบทว่าเป็นสิ่งต้องห้ามก็ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติ ( Original Permission : الإباحة الأصلية ) โดยการยึดถือตัวบทกฎหมายทีถูกดังกล่าวในอัลกรุอ่านที่ว่า

" هوالذي خلق لكم ما في الأرض جميعاً " البقرة /29

ความว่า : “ พระองค์คือผู้ที่ได้ทรงสร้างสิ่งทั้งมวลในโลกใว้สำหรับพวกเจ้า ” อัลบากอเราะฮฺ โองการที่29

ซึ่งด้วยโองการนี้นักกฎหมายอิสลามได้ทำการถอดความ ( Derivation : الاستنباط ) หลักการหนึ่งที่เป็นหลักการทั่วไปที่สำคัญ คือ

" الأصل في الأشياء الإباحة حتى دل دليل على التحريم "

ความว่า : โดยหลักแล้วทุกสิ่งนั้นถือว่าเป็นสิ่งอนุมัติ เว้นแต่มีหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นสิ่งต้องห้าม ”

4. อัลมักรูฮฺ ( Abominable: المكروه )

4.1 ความหมายของอัลมักรูฮฺ คือ

" ماطلب الشارع من العبد الكف عن فعله طلبا غير جازم "

“ บทกฎหมายที่กำหนดบังคับให้บุคคลงด ละเว้น ไม่กระทำอย่างไม่เด็ดขาด ” หรืออีกความหมายหนึ่งคือ “ บทกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมและไม่สนับสนุนให้บุคคลประพฤติ กระทำโดยการกำหนดผลตอบแทนให้กับบุคคลที่ละทิ้งการกระทำดังกล่าวแต่หากมีการละเมิดก็มิได้ถือว่าเป็นผู้กระทำผิด ”

4.2 สำนวนบทกฎหมายที่กำหนดบังคับให้งดละเว้นอย่างไม่เด็ดขาด ( Forms of abominable : صيغ المكروه )

สำนวนและคำที่ใช้ในบทกฎหมายและส่องแสดงถึงความไม่พึ่งประสงค์ ไม่ส่งเสริมและไม่สนับสนุนให้กระทำมีดังต่อไปนี้

1. คำว่า كره ( Dislike : ความรังเกียจ ) หรือคำที่มีรากศัพท์ดังเดิมคือ كره

ตัวอย่างเช่น : คำกล่าวาของท่านรอซูลที่กล่าวว่า

" إن الله كره لكم قيل وقال وكثرة السئوال "

ความว่า : “ แท้จริงอัลลอฮฺรังเกียจพฤติกรรมการอ้างคำพูดคนโน้นคนนี้ (โดยไม่แน่ชัด ) และการถามเกินความจำเป็นในหมู่สู่เจ้า ”

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

คำว่า “ كره ” แปลว่า “ รังเกียจ ” เป็นคำที่แสดงถึงความไม่ประสงค์ให้เกิดการกระทำที่ถูกระบุในหะดีษนี้ นั้นก็คือการถามเกินความจำเป็น การพูดพาดพิงถึงคนอื่นโดยที่ไม่มีความชัดเจนต่อต้านต่อของคำพูด แต่ถ้าหากว่าการกระทำที่เกี่ยวกับสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

2. คำว่า “ بغض ” ( Hatred : ความชัง)

ตัวอย่างเช่น : คำกล่าวของท่านรอซูลที่กล่าวว่า

" أبغض الحلال إلى الله الطلاق "

ความว่า :” สิ่งหะลาลที่อัลลอฮฺทรงชังมากที่สุด คือ การหย่าร้าง ”

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

คำว่า “ أبغض ” แปลว่า “ ทรงชังมากที่สุด ” เป็นคำที่แสดงถึงการไม่พึ่งประสงค์ให้เกิดขึ้น นั้นก็คือการหย่าร้าง แต่หากมีความจำเป็นและจำต้องเกิดการหย่าร้างกันขึ้น ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ละเมิด

3.สำนวนที่แสดงถึงการบังคับให้งด ไม่ให้กระทำ ( Fprms of prohibition ) แต่มีหลายบ่งบอก ( Indication) การเปลี่ยนสถานะจากการต้องห้ามเด็ดขาดเ ( التحريم ) เป็นมักรูฮฺ (การต้องห้ามที่ไม่เด็ดขาด)

ตัวอย่างเช่น : พระดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวในอัลกรุอ่านว่า :

" لاتسئلوا عن أشياء إن تبدلكم تسؤكم " المائدة / 101

ความว่า : “ ศรัทธาชนทั้งหลาย จงอย่าถามสิ่งต่างๆ (สิ่งที่อัลลอฮฺมิได้บัญญัติให้ปฏิบัติ) หากสิ่งเหล่านี้ถูกเปิดเผยขึ้น (ถูกบัญญัติให้ปฏบัติสิ่งเหล่านี้นั้น) มันก็จะก่อให้เกิดความเลวร้าย (เพิ่มภาระและความลำบาก) แก่พวกเจ้า ” อัลมาอีดะฮฺ โองการ : 101

และพระดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวว่า :

" وإن تسئلوا عنها حين ينزل القرآن تبدلكم عفا الله عنها والله غفور حليم " امائدة / 10

ความว่า : “ และถ้าพวกเจ้าถามถึงสิ่งเหล่านั้น ขณะที่อัลกรุอ่านถูกประทานลงมา มันก็จะถูกเปิดเผยขึ้น (ถูกบัญญัติให้ปฏิบัติ) แก่พวกเจ้าอัลลอฮฺได้ทรงอภัยสิ่งเหล่านั้นแล้ว (โดยที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติไว้นั้นเป็นการอภัยให้แก่สู่เจ้าแล้ว ) และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงหนักแน่น ” อัลมาอีดะฮฺ โองการที่ : 101

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

ก. คำว่า “ لاتسئلوا ” แปลว่า “ จงอย่าถาม ” เป็นคำสั่งห้าม ซึ่งโดยหลักการแล้วถือว่าเป็นสำนวนที่แสดงถึงการห้ามไม่ให้กระทำโดยเด็ดขาด ( لفظ النهى ) นั้นก็คือการห้ามมิให้ละเมิดด้วยกันซักถามถึงบทบัญญัติต่างๆ ที่อัลลอฮฺมิได้กล่าวถึง

ข. ในโองการเดียวกันในท่อนสุดท้ายได้กล่าวถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงห้ามมิให้ซักถามก็เพื่อมิให้เกิดความลำบากแก่บ่าวของพระองค์หากคำถามนั้นถูกเปิดเผยขึ้นมาและถูกบัญญัติขึ้นในขณะที่สิ่งที่มิได้ถูกกล่าวถึงนั้น เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์และเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ยกประโยชน์แก่บ่าวของพระองค์โดยที่มิได้บัญญัติเป็นภาระของพวกเขาซึ่งความหมายในท่อนนี้เป็นเสมือนการบอกถึงเหตุผลที่ห้ามไม่ให้ถามนั้นก็คือเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ฉะนั้นการห้ามในโองการนี้จึงถือว่าเป็นการห้ามที่ไม่เด็ดขาด หากเกิดการถามขึ้นมาในขณะนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ละเมิด

ค. คำสั่งห้ามในท่อนแรกถึงแม้ว่าโดยหลักถือว่าเป็นสำนวนที่แสดงถึงการห้ามไม่ให้กระทำโดยเด็ดขาด แต่เมื่อมีหมายที่บ่งบอก ( قرينة ) นั้นก็คือความในท่อนสุดท้ายของโองการที่เป็นตัวเปลี่ยนสถานะจากห้ามเด็ดขาดมาเป็นห้ามไม่เด็ดขาด ฉะนั้นความหมายของการห้ามในท่อนแรกจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกห้ามอย่างไม่เด็ดขาดหรือที่เรียกว่า “ มักรูฮฺ ”

5. อัลหะรอม ( Prohibited : الحرام )

5.1 ความหมายของอัลหะรอม คือ

" ماطلب الشارع من العبد الكف عن فعله طلبا جازما "

“ บทกฎหมายที่กำหนดบังคับให้บุคคลงด ละเว้น ไม่กระทำโดยแน่วแน่เด็ดขาด ”

• สำนวนกฎหมายที่กำหนดบังคับให้งด ละเว้น ไม่ให้กระทำโดยแน่วแน่เด็ดขาด ( Forms of prohibition )

คือสำนวนที่แสดงถึงการห้ามไม่ให้กระทำหรือประพฤติละเมิดต่อสิ่งต้องห้าม ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1.คำกริยาที่แสดงถึงการกระทำปัจจุบันหรืออนาคตที่ขึ้นหน้าด้วย “ ลาอันนาฮียะฮฺ ” ( Prohibitive particle : لا الناهية ) ซึ่งเป็นคำที่แสดงถึงการห้ามไม่ให้กระทำ

ตัวอย่างเช่น : พระดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกรุอ่านที่กล่าวว่า :

" فلاتقل لهما أف ولاتنهرهما " الإسراء /23

ความว่า : “ ดังนั้นสู่เจ้าอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่าอุฟ (แทนการแสดงถึงความไม่พอใจ) และจงอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง ” อัลอิสรอฮฺ โองการที่ : 23

และพระดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวว่า :

" ولاتقتلوا اولادكم خشية إملاق " الإسراء /31

ความว่า : “ และพวกเจ้าอย่าฆ่าลูกๆของพวกเจ้าเพราะกลัวความยากจน ” อัลอิสรอฮฺ โองการที่ : 31

และพระดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวว่า :

" ولاتقربواالزنا إنه كان فاحشة وسآء سبيلا " الإسراء /32

ความว่า : “ และพวกเจ้าอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณีแท้จริงมันเป็นการลามกและทางอันชั่วช้า ” อัลอิสรอฮฺ โองการที่ : 32

ข้อสังเกตจากตัวอย่างข้างต้นนี้คือ

ก. คำว่า لهما " " فلا تقل แปลว่า “ ดังนั้นสู่เจ้าจงอย่ากล่าวคำว่าอุฟ และคำว่า “ ولاتقتلوا ” แปลว่า “ และสู่เจ้าอย่าฆ่า ” และคำว่า “ ولاتقربوا ” แปลว่า “ สู่เจ้าอย่าเข้าใกล้ ” ล้วนแต่เป็นคำกริยาที่แสดงถึงการกระทำในปัจจุบันหรือการกระทำในอนาคตที่ขึ้นหน้าด้วย ً " لا الناهية " ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนวนที่แสดงถึงการห้ามไม่ให้กระทำหรือทำการละเมิดต่อสิ่งที่ต้องห้าม

ข. คำว่า “ لهما ” แปลว่า “ แก่ท่านทั้งสอง (บิดาและมารดา) และคำว่า “ الزنا ” “ การผิดประเวณี ” ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ให้บุคคลใดละเมิดหรือกระทำโดยเด็ดขาด ซึ่งโองการที่หนึ่งเป็นบทกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ทำร้ายจิตใจพ่อแม่อย่างเด็ดขาด โองการที่สองเป็นการห้ามการฆ่าลูกโดยเด็ดขาด และโองการที่สามเป็นบทกฎหมายที่ห้ามมิให้ทำการผิดประเวณีอย่างเด็ดขาด

2. กริยาคำสั่งที่ให้ความหมายให้งด ละเว้น และให้หลีกเลี่ยง

ตัวอย่างเช่น : พระดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกรุอ่านที่กล่าวว่า:

" ياأيها الذين آمنواإنما الخمروالميسروالأنصاب والأزلام رجس من عمل الشيطان فاجتنبوه لعلكم تفلحون " المائدة /90

ความว่า : “ ศรัทธาชนทั้งหลาย แท้จริงสุรา การพนัน แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงตั๋วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของซัยฎอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ ” อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ : 90

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

• คำว่า “ فاجتنبوه ” แปลว่า “ ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย ” เป็นคำกริยาที่แสดงถึงการสั่งให้หลีกเลี่ยง ซึ่งเป็นหนึ่งในสำนวนที่แสดงถึงการห้ามไม่ให้กระทำการละเมิดต่อสิ่งต้องห้ามในโองการนี้

• การดื่มสุราหรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสุราเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด การพนันและอะไรที่เกี่ยวข้องกับการพนันเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดด้วยบทกฎหมายนี้ สัตว์ที่เชือดในสถานที่บูชายัญการเสี่ยงตั๋ว เป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาดด้วยบทกฎหมายนี้

3. สำนวนที่แสดงถึงการปฏิเสธการอนุมัติหรือไม่อนุญาตให้กระทำ

ตัวอย่างเช่น : คำกล่าวของท่านรอซูลที่ว่า: " لايحل دم امرىء مسلم إلاباحدى ثلاث ....."

ความว่า : “ เลือดของมุสลิมคนใดคนหนึ่งจะไม่เป็นที่อนุมัติเว้นแต่หากอยู่ในกรณีหนึ่งในสามต่อไปนี้..... ”

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้ : คำว่า “ لايحل ” แปลว่า “ ไม่เป็นที่อนุมัติ ” แสดงถึงการห้ามและไม่อนุญาตให้เกิดการสังเวยเลือดของมุสลิม เว้นแต่ในกรณีเฉพาะที่กล่าวถึง ซึ่งสำนวนการปฎิเสธการอนุมัติเป็นสำนวนหนึ่งของการห้ามไม่ให้ละเมิดหรือกระทำการต่อสิ่งต้องห้ามดังกล่าว

4. สำนวนที่ใช้คำว่า ، حرام " " تحرم ที่ให้ความหมายต้องห้ามในตัวของมันเอง

ตัวอย่างเช่น : พระดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกรุอ่านที่กล่าวว่า:

حرمت علكم الميتة والدم ولحم الخنزير " المائدة /3

ความว่า : “ ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าซึ่งสัตว์ที่ตายเองและเลือดและเนื้อสุกร... ” อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 3

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้ :

• คำว่า : “ حرمت ” แปลว่า “ ได้ถูกห้าม ” ซึ่งคำนี้โดยตัวของมันเองแสดงถึงความหมายการห้ามไม่ให้ละเมิด

• สัตว์ที่ตายเอง เลือด และสุกร เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด มุสลิมไม่สามารถบริโภคได้ ด้วยบทกฎหมายนี้

5. สำนวนที่แสดงถึงผลตอบแทนของการกระทำนั้นจะต้องได้รับโทษ

ตัวอย่างเช่น : พระดำรัสของอัลลอฮฺที่กล่าวว่า:

" السارق والسارقة فاقطعواأيديهما جزآء بما كسبا نكالامن الله والله عزيزحكيم " المائدة /38

ความว่า : “ และขโมยชายและขโมยหญิงนั้นจงตัดมือของเขาทั้งสองคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างการลงโทษจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ ” อัลมาอิดะฮฺ โองการที่ : 34

ข้อสังเกตจากตัวอย่างนี้

• คำว่า “ السارق ” และคำ “ السارقة ” แปลว่า “ ผู้ขโมยชายและผู้ขโมยหญิง ” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนที่เอาสิ่งของผู้อื่นที่เก็บไว้ในสถานที่สมควร โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีกรณียกเว้น

• คำว่า “ فاقطعواأيديهما ” แปลว่า “ พวกเจ้าจงตัดมือเขาทั้งสอง ” เป็นคำสั่งให้ลงโทษกับผู้ที่ลักษณะเฉพาะข้างต้น นั้นก็คือเป็นผู้ขโมยจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม

• สำนวนบทกฎหมายนี้ได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่มีลักษณะเป็นผู้ขโมย ซึ่งด้วยบทลงโทษดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการขโมยนั้นเป็นการกระทำที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

2. อัล-หุกมอัลวัฎอีย์ ( Correlative law : الحكم الشرعى الوضعى )

บทกฎหมายที่กำหนดรูปแบบและวิธีการ

2.1 ความหมายของ อัล- หุกมอัลวัฎอีย์ คือ

" خطاب الشارع بجعل الشىء سببا لشىء آخر، أوشرطاله، أومانعاله، أوصحة أوبطلانا، أوعزيمة أورخصة "

“ บทกฎหมายที่กำหนดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อเป็นสัญญาณของหุกม ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุ " السبب " เงื่อนไข ( الشرط ) อุปสรรค ( المانع ) ข้อผ่อนผัน ( الرخصة ) ข้อกำหนดเดิม ( العزيمة ) การมีผลถูกต้อง ( الصحة ) หรือการโมฆะ ( البطلان )

การนิยามหุกมประเภทนี้ว่าเป็นหุกมวัฎอีย์ ก็เพราะสาเหตุของบทกำหนดมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เช่น สาเหตุเป็นที่มาของผล โดยที่ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดสาเหตุ ซึ่งการกำหนดหรือการชี้ขาดเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือการหนึ่งการใดข้อสังเกตสำคัญที่ผู้ชี้ขาดจะต้องให้ความสำคัญคือการสังเกตสาเหตุที่กำหนดโดยบทกฎหมาย หากเป็นไปตามสาเหตุ ( السبب ) ที่ได้ระบุในบทกฎหมาย ผลของมันก็จะถือว่าถูกต้อง เพราะสาเหตุคือสัญญาณของหุกมที่ถูกกำหนดเป็นกรอบในการชี้ว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

2. ประเภทของกฎหมายที่กำหนดรูปแบบและวิธีการ

จากนิยามข้างต้นนี้ สามารถแบ่งหุกมวัฎอีย์ ถึง 7 ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ

1. อัสสะบับ : สาเหตุ ( Cause : السبب )

2. อัศชัรฏ : เงื่อนไข (Condition : الشرط )

3. อัล-มาแนะฮฺ : อุปสรรค (Hindrance : المانع )

4. อัล-รุคเสาะฮฺ : ข้อผ่อนปรน (Concessionary : الرخصة )

5. อัล-อะซีมะฮฺ : ข้อกำหนดเดิม ข้อกำหนดที่เข้มงวด เคร่งครัด (Strict law : العزيمة )

6. อัศ-ศิหะฮฺ : การมีผลที่ถูกต้อง (Validity : الصحة )

7. อัล-บัฏลาน : การมีผลเป็นโมฆะ (Nullity : البطلان )

1. อัสสะบับ : สาเหตุ ( Cause : السبب )

1.1 ความหมายของ อัสสะบับ คือ

" الوصف الظاهر المنضبط الذي جعله الشارع علامة على حكم شرعى ، هومسببه بحيث يلزم من وجوده وجود المسبب ، ومن عدمه عدم المسبب "

“ ลักษณะที่ชัดเจนแน่นอนที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสัญญาณของหุกมโดยที่การมีของลักษณะที่เป็นมูลเหตุดังกล่าวแสดงถึงการที่จำต้องมีผลตามมาและหากขาดลักษณะที่เป็นมูลเหตุดังกล่าวแสดงถึงการขาดผลที่ถูกยอมรับ หรือมูลเหตุเป็นที่มาของผล มีเหตุก็ต้องมีผล ขาดเหตุก็ขาดผล ”

ตัวอย่าง เช่น พระดำรัสขององค์อัลลอฮฺที่กล่าวว่า

" من شهدمنكم الشهرفليصمه " البقرة /185

ความว่า : “ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น (รอมฎอน) ” อัลบากอเราะฮฺ โองการที่ : 185

ตัวบทกฎหมายในตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่มุสลิมต้องถือศีลอดก็คือ การเข้ามาของเดือนรอมฎอน ซึ่งเดือนรอมฎอนเป็นสัญญาณว่ามุสลิมต้องทำการถือศีลอดทุกคน (เว้นแต่คนที่กฎหมายยกเว้น) เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่เก้า เป็นมูลเหตุที่เป็นสัญญาณของหุกมนั้นก็คือการถือศีลอด

1.2 ประเภทสะบับของ

สะบับหรือสาเหตุที่เป็นสัญญาณของหุกม มี 6 ประเภทคือ

1. สะบับที่คำนึงถึงความสามารถของผู้บรรลุศาสนภาวะ ( السبب بإعتبارقدرة المكلف )

2. สะบับที่คำนึงถึงข้อบัญญัติ ( السبب بإعتبار المشروعية )

3. สะบับที่คำนึงถึงความเหมาะสม ( السبب بإعتبارالمناسبة )

4. สะบับที่คำนึงถึงที่มาของสะบับ ( السبب بإعتبارالمصدر )

5 . สะบับที่คำนึงถึงการควบกับของหุกม ( السبب بإعتبارالإقتران بالحكم )

6. สะบับทีคำนึงคำพูดและการกระทำ ( السبب بإعتبار اللفظ والفعل )

1. สะบับที่คำนึงถึงความสามารถของผู้บรรลุศาสนภาวะ มี 2 ประเภท

1.1 สะบับที่อยู่ใต้ความสามารถของมุกัลป์ลาฟ ( سبب مقدورعليه ) กล่าวคือ ผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ ( Responsible ) มีความสามารถที่จะกระทำหรือละทิ้ง เช่น การฆ่าที่ไม่ชอบธรรมโดยเจตนา ( القتل العمد العدوان ) ซึ่งเป็นสาเหตุของการลงโทษกีศอศ ( Punishment : การลงโทษโดยการฆ่ากลับหรือเช่น การทำสัญญาซื้อขาย ( عقد البيع ) เป็นสาเหตุของการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์

1.2 สะบับที่ไม่อยู่ภายใต้ความสามารถของผู้บรรลุศาสนภาวะ ) ( سبب غيرمقدورعليه) กล่าวคือ ผู้ที่บรรลุศาสนภาวะไม่มีความเกี่ยวเนื่องหรือไม่มีความสามารถที่จะทำให้มันเกิดขึ้น หรือบังคับมันไม่ให้เกิดขึ้น เช่น การคล้อยของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญญาณของเข้าเวลาละหมาด หรือการลับของดวงอาทิตย์ที่เป็นสัญญาณของการอนุญาตละศิลอด

2. สะบับที่คำนึงถึงข้อบัญญัติมี 2 ประเภท

2.1 สะบับที่ถูกบัญญัติ ( سبب مشروع ) คือสะบับที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อผลประโยชน์โดยสำคัญ ( Good judgment ) ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะเกิดผลเสียขึ้นโดยไม่เจตนาตามมาก็ตาม เช่น การต่อสู้ในหนทางขององค์อัลลอฮฺเพื่อการธำรงไว้ซึ่งศาสนา ถึงแม้ว่าบางครั้งจำต้องเกิดการสูญเสียตามมาก็ตาม

2.2 สะบับที่ไม่ได้ถูกบัญญัติ ( سبب غيرمشروع ) คือสะบับที่ไม่ได้กำหนดโดยกฎหมาย ซึ่งเป็นสะบับที่ทำให้เกิดผลเสียเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าอาจจะมีประโยชน์เกิดขึ้นในบางครั้ง เช่น การซินาโดยเจตนาเพื่อให้ได้บุตรมาเลี้ยง หรือ เช่นการฆ่าเพื่อให้ได้มาซึ่งมรดก

3. สะบับที่คำนึงถึงความเหมาะสมมี 2 ประเภท

  3.1 สะบับที่เหมาะสมกับหุกม ( سبب مناسب للحكم ) คือการได้มาซึ่งประโยชน์ของข้อกำหนด ( الحكم ) ด้วยเพราะสะบับที่มีเป็นสัญญาณของหุกมในบทกฎหมายที่ถูกกล่าวถึงหรือการเลี่ยงผลเสียด้วยเพราะสะบับดังกล่าว ซึ่งสามารถรับรู้ได้โดยปัญญาหรือเหตุผลที่ชัดเจน เช่น การขโมย เป็นสาเหตุที่เหมาะสมให้ต้องตัดมือ โดยที่ทำให้เกิดประโยชน์ที่ชัดเจนนั้นคือ การรักษาซึ่งกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของเจ้าของและเลี่ยงความเสียหายที่ทำให้ทรัพย์ต้องสูญเสียหรือหายไปโดยมิชอบธรรม

  3.2 สะบับที่ไม่เหมาะสมกับหุก่ม ( سبب غير مناسب للحكم ) คือการกำหนดสะบับในบทกดฎหมายไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์หรือเกิดการเลี่ยงผลเสีย เช่น การค้อยของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการละหมาดซุฮฺรีย์ เพราะการกำหนดสาเหตุการเข้าเวลาละหมาดไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์หรือผลเสียใดๆเลย

4 . สะบับที่คำนึงถึงที่มาของสะบับ มี 3 ประเภท

  4.1 สะบับที่มาจากศาสนบัญญัติ ( سبب شرعي ) คือสะบับที่ถูกกำหนดโดยศาสนาเท่านั้น เช่นการกำหนดเวลาต่างๆ เพื่อแสดงถึงความจำเป็นที่ต้องทำการละหมาด

  4.2 สะบับที่มาจากปัญญา ( سبب عقلي ) คือสะบับที่มีต้นกำเนิดจากเหตุผลทางปัญญา เช่น สิ่งตรงกันข้ามไม่สามารถอยู่ร่วมกันในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การตายเป็นสาเหตุของการไม่มีชีวิต

  4.3 สะบับที่มาจากวัฒนธรรมการปฏิบัติที่เคยชิน ( سبب عادي ) คือสะบับที่กำนิดเกิดขึ้นจากสิ่งปฏิบัติที่เคยชิน เช่น การเชือดเป็นสาเหตุของการปลิดชีพ

5. สะบับที่คำนึงการมีอยู่คู่กับหุก่ม มี 2 ประเภท

  5.1 สะบับที่มีอยู่ก่อนหุก่ม ( سبب متقدم على الحكم ) เช่น สาเหตุต่างๆ ที่แสดงถึงการเข้าของเวลาของการละหมาด, ซากาต, เป็นต้น

  5.2 สะบับที่มีพร้อมกับหุก่ม ( سبب مقارن للحكم ) เช่นการฟื้นแผ่นดินว่างเปล่าเป็นสาเหตุของการถือกรรมสิทธิ์

6. สะบับที่คำนึงถึงคำพูดและการกระทำมี 2 ประเภท

   6.1 สะบับที่เป็นคำพูด ( سبب قولي ولفظي ) คือสะบับที่ยึดถือวาจาเป็นหลัก เช่น คำตอลาก คำเสนอและการสนองในการทำพิธีการแต่งงาน การทำสัญญาการซื้อขายที่ใช้วาจา เป็นต้น

   6.2 สะบับที่เป็นการกระทำ ( سبب فعلي ) คือสะบับที่เกิดขึ้นจากการกระทำ การดื่มสิ่งมึนเมาเป็นสาเหตุของการถูกลงโทษ, การขโมยเป็นสาเหตุของการถูดตัดมือ

ข้อแตกต่างระหว่างสะบับที่เป็นคำพูดกับสะบับที่เป็นการกระทำ คือสะบับที่เกิดจากคำพูดจะไม่มีผล หากเกิดจาดคนที่อยู่ภายใต้การควบคุมไม่ให้ ( Under an interdict : المحجور عليه ) เช่นการทำนิติกรรมสัญญาซื้อขายจะไม่มีผลหากบุคคลที่ถูกตัดสินเป็นผู้ล้มละลายทำการซื้อขายด้วยวาจา แต่หากเกิดจากการกระทำ จะถือว่ามีผล เพราะทำข้อสัญญาที่มาจากวาจาสามารถทำการยกเลิกได้ แต่สาเหตุที่เกิดจากการกระทำหากเกิดขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำการยกเลิกได้

2. อัชชัรฏฺ : เงื่อนไข ( Condition : الشرط )

2.1 ความหมายของ อัชชัรฏฺ : เงื่อนไข คือ

" الوصف الظاهر المنضبط الذي جعل الشارع علامة على حكم شرعي بحيث لا يلزم من وجوده وجود ولا عدم لذاته ولكنه يلزم من عدمه عدم المشروط "

“ ลักษณะที่ชัดเจนแน่นอน ที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสัญญาของหุก่มโดยที่การมีของลักษณะดังกล่าว ไม่ได้แสดงถึงการมีหรือไม่ของหุก่ม แต่หากไม่มีแล้วจะแสดงถึงการไม่มีของสิ่งที่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขนั้นๆ ” ตัวอย่างเช่น การอาบน้ำละหมาดเป็นเงื่อนไขของการละหมาด เพราะอัลลอฮ ได้ทรงกำหนดของการคงอยู่ในสภาพมีน้ำละหมาดนั้นเป็นเงื่อนไขของการละหมาด ดังนั้นการละหมาดจะไม่มีผลหากขาดเงื่อนไขดังกล่าว แต่หากมีเงื่อนไข( มีน้ำละหมาด) มิได้หมายความว่าการละหมาดจะมีผลเสมอเพราะอาจจะละหมากก่อนเข้าเวลาหรือละหมาดโดยขาดรุก่นหนึ่ง รุก่นใดของการละหมาดก็ได้

2.2 ประเภทของอัชชัรฏฺ เงื่อนไข

อัชชัรฏฺหรือเงื่อนไขที่เป็นสัญญาณของหุก่ม มี 3 ประเภท

• อัชชัรฏฺที่คำนึงถึงลักษณะ باعتبار وصفه ) الشرط )

• อัชชัรฏฺที่คำนึงถึงเป้าหมาย الشرط باعتبار قصد المكلف له ) )

• อัชชัรฏฺที่คำนึงถึงที่มา ( الشرط باعتبار المصدر )

• อัชชัรฏฺที่คำนึงลักษณะมี 4 ประเภท

• อัชชัรฏฺที่มีลักษณะเป็นเหตุผลทางปัญญา ( شرط عقلي )คือสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเหตุผลหากไม่มีลักษณะเงื่อนไขดังกล่าว เช่นความรู้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากชีวิต

• อัชชัรฏฺที่มีลักษณะปกติธรรมดา( شرط عادي ) คือเงื่อนไขธรรมดาที่ต้องมีหากคำนึงถึงการเกิดสิ่งหนึ่งๆ เช่น การขึ้นที่สูงๆต้องมีเครื่องมือช่วย เช่นการขึ้นบนหลังคาต้องมีบันใดขึ้น

• อัชชัรฏฺที่มีลักษณะเป็นคำพูด ( شرط لغوي ) เช่นคำพูดที่กล่าวว่า “ หากเธอสอบผ่านฉันจะให้รางวัลแก่เธอ ” ซึ่งเป็นการตั้งเงื่อนไขที่มีลักษณะเป็นวาจา

• อัชชัรฏฺที่มีลักษณะเป็นศาสนบัญญัติ( شرط شرعي ) คือสิ่งที่ศาสนาได้กำหนดให้เป็นเงื่อนไขของการมีหรือการยอมรับต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นการมีน้ำละหมาดเป็นเงื่อนไขของการละหมาด

2. อัชชัรฏฺที่คำนึงถึงเป้าหมายมี 2 ประเภท

    2.1 อัชชัฏฺที่กำหนดโดยบทกฎหมายที่มีเจตนาโดยชัดเจน จะเป็นบทกำหนดที่บัญชาให้มีขึ้น เช่น น้ำละหมาดกับการเป็นเงื่อนไขของการละหมาด หรือบทกำหนดที่ห้ามมิให้เกิดขึ้น เช่นการตั้งเงื่อนไขของการนิกะห์เพื่อเปิดโอกาสให้สามีคนแรกกลับคืนดีกับภรรยาที่หย่าขาดสามครั้ง ( النكاح المحلل )

   2.2 อัชชัรฏฺที่ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อกำหนดให้กระทำหรืองด แต่เป็นสิ่งที่ศาสนาได้บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นเกณฑ์เท่านั้น เช่น เหาลฺหรือรอบปี ( Twelvemonths: الحول ) เป็นจุดกำหนดเงื่อนไขที่ต้องจ่ายซากาต ซึ่งการคงไว้ซึ่งทรัพย์สินจนถึงระยะเวลาหนึ่งปีเพื่อให้เกิดความจำเป็นในการจ่ายซากาตไม่ใช่เป้าหมายที่ถูกกำหนดให้กระทำหรือให้งด แต่มันเกิดขึ้นของมันเมื่อสภาพทรัพย์สินดังกล่าวถึงพิกัดและเงื่อนไขเวลาได้มาถึง

3. อัชชัฏฺที่คำนึงถึงที่มามี 2 ประเภท

   3.1 อัชชัรฏฺที่มาจากบทบัญญัติศาสนา ( Legal Condition: شرط شرعى ) ซึ่งเมื่อมีการกล่าวถึงในตำราวิชาการกฎหมายอิสลาม ก็จะหมายถึงชัรฏประเภทนี้

   3.2 อัชชัรฏฺที่เกิดจากการกำหนดของบุคคล( Positive condition among human beings: شرطجعلى )

คือเงื่อนไขที่บุคคลทั่วไปกำหนดขึ้น เช่น การกำหนดเงื่อนไขบางอย่างในการซื้อขาย หรือการวางเงื่อนไขบางอย่างในการข้อสัญญาการแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งการจะถือว่าเงื่อนไขนี้ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ต้องดูความสอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายอิสลามหรือไม่ ซึ่งหากสอดคล้องก็จะถือว่าชอบธรรมและถูกต้อง หากไม่สอดคล้องก็จะถือว่าไม่ชอบธรรมและไม่ถูกต้อง

4. อัลมาแนะอ : อุปสรรค ( Hindrance: الما نع )

4.1 ความหมายอัลมาแนะอ : อุปสรรค คือ

ً " (( الوصف الظاهرالمنضبط الذى جعله الشا رع علامة على حكم شرعى بحيث لا يلز م من عدمه عدم ولا وجود لذا ته ولكنه يلزم من وجوده عدم الحكمً ))

“ ลักษณะที่ถูกกำหนดให้เป็นสัญญาณของหุก่มโดยที่การปลอดจากลักษณะดังกล่าวไม่ได้บ่งบอกถึง

การมีหรือไม่มีของหูกม แต่หากมีลักษณะดังกล่าวควบคู่อยู่ด้วย บ่งบอกถึงการตกไปของหุก่ม ”

ตัวอย่าง เช่น การมีประจำเดือนกับการละหมาด ซึ่งการไม่มีประจำเดือนนั้นไม่ได้แสดงว่ามีการละหมาดอยู่ บุคคลที่ไม่ได้มีประจำเดือนบางคนอาจจะละหมาด และบางคนอาจจะละเลยไม่ได้ละหมาด แต่หากสตรีได้เกิดมีประจำเดือนขึ้นมา การละหมาดก็เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับนาง

4.2 ประเภทของอัล-มาแนะอ : อุปสรรค

อัล-มาแนะอหรืออุปสรรคที่เป็นสัญญาณของการขาดหูก่มมีหลายประเภท เช่น

1) อัลมาแนะอตั้งแต่ต้นเหตและต่อเนื่อง ( Full hindrance: الما نع ابتداء واشهاء )

คือลักษณะที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้หุก่มขาดหายไป จะเป็นการเริ่มต้นหรือได้เริ่มกระทำไปแล้วก็ต้องเป็นโมฆะ เช่น พี่น้องร่วมแม่นม (ที่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่บทกฎหมายได้กำหนดไว้ ) กับการแต่งงาน ได้ทำการสมรสกันโดยไม่ได้ตั้งใจ การที่ทั้งสองเคยร่วมดื่มนมจากแม่นมเดียวกันเป็นอุปสรรคทำให้การแต่งงานนั้นเป็นโมฆะไป ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะอยู่ร่วมกันจนได้ลูกแล้วก็ตามก็จำต้องแยกทั้งสองออกจากกันโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

2) อัลมาแนะอที่ต้นเหตุแต่ไม่มีผลในกรณีต่อเนื่อง ( Partial hindrance at the early: الما نع ابتد لا انتهاء )

คืออุปสรรคที่ต้นเหตุ แต่หากมีการละเมิดเกิดขึ้นก็จะไม่มีผลเป็นโมฆะ ตัวอย่างเช่น การครองตนในอิหรอมหัจย์หรืออุมเราะฮ กับการแต่งงานซึ่งการครองตนในอิหรอมเป็นอุปสรรคที่ต้องห้ามไม่ให้กระทำพิธีการแต่งงาน แต่ว่าหากมีการละเมิดโดยมีการจัดการแต่งงานให้สำหรับผู้ที่ครองตนในอิหรอมแล้ว การเข้าพิธีแต่งงานดังกล่าวเป็นบาปที่ต้องห้าม แต่ไม่มีผลเป็นโมฆะ สามีภรรยาทั้งสองสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้หลังจากที่ทำกิจหัจญ์หรืออุมเราะฮเสร็จสมบูรณแล้ว โดยที่ไม่ต้องทำพิธีแต่งงานใหม่

3) อัลมาแนะอที่ผลกับการต่อเนื่อง แต่ไม่มีผลกับต้นเหตุ ( Partial hindrance at late stage: الما نع انتهاء لا ابتداء )

คืออุปสรรคที่มีผลกับการต่อเนื่อง แต่ไม่มีผลต่อการเริ่มต้นใหม่ ตัวอย่างเช่น การตอลาก (การหย่าครั้งแรกกับครั้งที่สอง)เป็นอุปสรรคกับการอยู่ร่วมกันต่อไป แต่ไม่เป็นอุปสรรคที่จะทำการแต่งงานใหม่เพื่ออยู่ร่วมกันใหม่

4 . อัล – รุคเศาะฮ : ข้อดีผ่อนปรน , การยินยอม ( Concessionary : الرخصة )

4.1 ความหมายของ : อัลรุคเศาะฮ คือ

( الحكم الثابت علي خلاف الد ليل لعذر )

“ บทบัญญัติที่ถูกกำหนดขึ้นโดยที่มีความแตกต่างจากข้อกำหนด ที่ยึดหลักฐานเดิมเพราะมีเหตุจำเป็น ”

ตัวอย่างเช่น การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ตายเองโดยการไม่ได้เชือดเป็นสิ่งที่อนุมัติหากอยู่ในภาวะขัดสนไม่มีอะไรจะกิน และหากไม่กินแล้วจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ถือว่ายึดถือหลักการบัญญัติว่าด้วยการผ่อนปรนหรือ อัล – รุคเศาะฮ

4.2 ประเภทของ อัล -รุคเศาะฮ

อัล – รุคเศาะฮ หรือข้อผ่อนปรนที่เป็นบทบัญญัติที่แตกต่างจากบทบัญญัติทั่วไป ด้วยมีเหตุหรือกรณีจำเป็น นั้น มี 2 ประเภท

1. รุคเศาะฮ ที่คำนึงถึงข้อกำหนด الرخصة من حيث الحكم ) )

2. รุคเศาะฮ ที่คำนึงถึงสถานะของการกระทำ الرخصة من حيث الفعل ) )

1. รุคเศาะฮ ที่คำนึงถึง ข้อกำหนด มี 5 ประเภท

    1.1 รุคเศาะฮ ที่เป็นวาญิบ จำเป็นที่บุคคลที่อยู่ในภาวะเฉพาะต้องกระทำหาไม่แล้วถือว่าเป็นผู้ละเมิดบทบัญญัติ

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อยู่ในภาวะขับขันไม่มีอะไรจะกินนอกจากซากสัตว์ ที่ตายเองโดยไม่ได้เชือด ถ้าหากเขาไม่กินจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต บุคคลนั้นจำต้องกินซากสัตว์ดังกล่าว หากเขางดหรือไม่ยอมกินด้วยเหตุหลักที่ถือว่าการกินซากสัตว์ที่ตายเองนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเขลาของเขา เพราะกฎหมายอิสลามได้กำหนดกฎหมายเฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในกรณีดังกล่าวสามารถบริโภครับประทานซากสัตว์ได้ ตรงการข้ามหากบุคคลดังกล่าวไม่ยอมกินจนถึงเกิดอันตรายถึงชีวิต จะถือว่าเป็นผู้ละเมิดที่จะต้องรับการลงโทษจากอัลลอฮ ในวันตัดสิน

   1.2 รุคเศาะฮ ที่เป็นสุนัต หรือข้อผ่อนปรนที่เป็นการส่งเสริมให้บุคคลเลือกกระทำ

ตัวอย่างเช่น บุคคลที่อยู่ในภาวการณ์เดินทางไกลมีข้อกำหนดที่เป็นข้อผ่อนปรน สำหรับเขาด้วยการเลือกที่จะทำการย่อ ละหมาด จาก 4 รอกะอัต เป็น 2 รอกะอัตได้ แต่เป็นที่ส่งเสริมให้เลือกกระทำคือ การเลือกย่อละหมาด แค่ 2 รอกอัตเท่านั้น

   1.3 รุคเศาะฮ ที่เป็นมูบาห์ หรือ ข้อผ่อนปรนที่เปิดโอกาสให้บุคคลเลือกกระทำหรืองดไม่กระทำ ซึ่งมีค่าเท่าๆ กัน

ตัวอย่างเช่น การเช่าซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งของด้วยการจ่ายค่าสิทธิประโยชน์แต่ไม่มีสิทธิทางการครอบครอง ซึ่งโดยหลักแล้วการใช้ประโยชน์จะถือว่าสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นอยู่ภายใต้การครอบครองหรือการเป็นเจ้าของ แต่กฎหมายอิสลามก็อนุมัติเป็นกรณีเฉพาะ ให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ด้วยการเช่า ซึ่งการเช่านั้นเป็นข้อผ่อนปรนที่มูบาห์ ที่บุคคลจะเลือกกระทำหรือไม่ก็ได้

   1.4 รุคเศาะฮ ที่เป็นการคีลาฟฟูลเอาลา ( خلاف الاولي ) หรือข้อผ่อนปรนที่กำหนดให้กระทำได้แต่การงดหรือไม่กระทำเป็นการดีกว่า

ตัวอย่างเช่น การละศีลอดสำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเดินทาง โดยที่การคือศีลอดสำหรับเขานั้นไม่มีความยากลำบากหรือไม่มีอันตรายได้เกิดขึ้นหากาเขาถือศีลอด ซึ่งการละศีลอดของบุคคลในลักษณะดังกล่าวนี้ถือว่ากระทั่งได้ ตามหลักกฎหมายด้วยข้อผ่อนปรน แต่หากเขายึดที่จะถือศีลอดเสมือนบุคคลที่อยู่ในภาวะปกติก็ถือว่ากระทำได้และเป็นการดีกว่า

   1.5 รุคเศาะฮ์ มักรุฮะฮ ( رخصة مكروهة ) หรือข้อผ่อนปรนที่ไม่พึ่งประสงค์หรือไม่ ส่งเสริมให้กระทำ

ตัวอย่างเช่น การตั้งเจตนาเดินทางไกลเพื่อให้ได้กระทำในสิ่งที่เป็นข้อผ่อนปรน ซึ่งผู้ถือศีลอดภาวะไม่เป็นที่อนุญาตให้ร่วมหลับนอนกับภรรยา หากละเมิดก็ต้องทำการชดใช้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เป็นข้อผ่อนปรนสำหรับผู้เดินทางที่จะละศีลอดและทำการหลับนอนกับภรรยาในระหว่างการเดินทาง ซึ่งหากผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีกิจการงานใดๆ นอกจากเพื่อให้ได้มาข้อผ่อนปรนโดยเจตนา การได้มาซึ่งข้อผ่อนปรนดังกล่าวถือว่าเป็นข้อผ่อนที่ไม่ควรกระทำหรือไม่ส่งเสริมให้กระทำ

2. รุคเศาะฮ ที่คำนึงถึง สถานะของการกระทำมี 2 ประเภท

  2.1 รุคเศาะฮ อัตตัรกี ( Concessionary low which is to be not done : رخصة التر ك )

คือข้อผ่อนปรนให้บุคคลที่อยู่ในสภาพเฉพาะ มิต้องปฏิบัติ หรืองดกระทำในสิ่งที่เป็นภาระหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลต้องปฏิบัติอย่างแน่วแน่เด็ดขาดในภาวะปกติ เพราะจะทำให้เกิดอันตรายหรือกระทบกับปัจจัยห้าที่พึ่งปกป้องรักษา (ศาสนา , ชีวิต , ทรัพย์สิน , ปัญญา , เกียรติยศ)

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่บรรลุศาสนา ภาวะจำต้องทำการศีลอด เมื่อถึงเดือนรอมาดอน แต่หากเขาป่วยหนัก ไม่สามารถาคือศีลอด ตามที่กฏหมายได้กำหนดไว้ ก็เป็นข้อผ่อนปรนสำหรับเขาที่จะงดหรือไม่ปฏิบัติการถือศีลอด ซึ่งหากเขาเลือกที่จะกระทำหรือปฏิบัติและเกิดอันตรายกับร่างกายหรือชีวิต การกระทำของเขาก็เป็นการละเมิดหลักกฎหมายข้อข้อนี้และถือว่าเป็นผู้กระทำผิดด้วย

  2.2 รุดเศาะฮ อัลฟิอฺลี ( Concessionary law that is to be done رخصة الفعل : )

คือ ข้อผ่อนปรนให้บุคคลที่อยู่ในสภาพเฉพาะจำต้องกระทำหรือปฏิบัติในสิ่งที่เป็นต้องห้ามตามข้อกำหนดกฎหมายในภาวะปกติ หากไม่กระทำแล้วอาจจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ชีวิตหรือกระทบกับปัจจัยห้าที่พึ่งปกป้องรักษา (ศาสนา , ชีวิต , ทรัพย์สิน , ปัญญา , เกียรติยศ)

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อยู่ในภาวะอดอยาก ไม่มีอะไรจะกินนอกจากซากศพหรือซากสัตว์ เขาจำต้องกินซากสัตว์ที่ตายเอง ถึงแม้ว่าสัตว์ที่ตายเองโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการเชือดเป็นสิ่งต้องห้ามตามข้อกำหนดกฎหมาย แต่สภาพที่เขากำลังประสบอยู่นั้น กฎหมายได้กำหนดข้อผ่อนปรนให้กระทำได้เพื่อรักษาชีวิตอันเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าจริยธรรมการกิน ซึ่งหากาเขาไม่กระทำแล้วถือว่าเป็นผู้ละเมิดหลักกฎหมายาข้อนี้

5. อัล – อะซีมะฮ ( Strict low : العز يمة )

คือข้อกำหนดกฎหมายในภาวะปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

ตัวอย่างเช่น การคือศีลอดสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนาภาวะในยามปกติที่ไม่ได้เจ็บป่วยและไม่ได้อยู่ในระหว่างการเดินทาง รู้ถึงการมาของเดือนรอมาดอน และไม่มีลักษณะที่เป็นที่เงื่อนไข หรือเหตุผลของความจำเป็น เขาจึงต้องปฏิบัติการถือศีลอดตามที่ข้อกฎหมายที่ได้กำหนดอย่างเด็ดขาดและแน่วแน่ หาไม่แล้วถือว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมายข้อนี้ ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

6. อัศ – ศิหหะฮ ( Validity : الصحة )

คือ ผลของการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลที่กฎหมายถือว่าถูกต้องสมบูรณ์และมีผลตามกฎหมาย

ตัวอย่างเช่น 1. การละหมาดของบุคคลที่ทำตามเงื่อนไของค์ประกอบ และวิธีการตามที่กำหนดโดยกฎหมายทุกอย่างโดยสมบูรณ์ จะถือว่ามีผลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และถือว่าบุคคลนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ ของตัวเองแล้ว

2. การซื้อขายของบุคคลที่ทำตามเงื่อนไข องค์ประกอบและวิธีการตามที่กำหนดโดยกฎหมายทุกอย่างโดยสมบูรณ์ จะถือว่ามีผลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ซื้อมีสิทธิต่อสิ่งของที่ซื้อขายทุกอย่าง ผู้ขายก็มีสิทธิต่อผลตอบแทนที่เป็นราคาทุกอย่าง และถือว่ามีผลตามกฎหมาย

7. อัล – บุฏลาน ( Nullity : البطلا ن )

คือ ผลของการกระทำหรือพฤติกรรมของบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นโมฆะ และไม่ผลตามกฎหมาย

ตัวอย่างเช่น 1. การละหมาดของบุคคลที่ขาดองค์ประกอบหรือทำผิดเงื่อนไข จะถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลตามกฎหมาย จำต้องทำการละหมาดใหม่ และตราบไดที่บุคคลนั้นยังไม่ปฏิบัติอย่างถูกต้องก็ถือว่าเป็นภาระที่จำต้องรับผิดชอบตลอดไป

2. การซื้อขายที่ขาดองค์ประกอบหรือทำผิดเงื่อนไข จะถือว่าเป็นโมฆะ ไม่มีผลตามกฎหมาย ผู้ซื้อไม่ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ครอบครองสิ่งของที่ได้มาโดยกฎหมาย ผู้ขายก็ยังไม่สิทธิ ในการถือครองค่าตอบแทนที่ได้มา และถือว่าการซื้อขายดังกล่าวยังไม่มีผลตามกฎหมาย


 



[1] การตรวสอบระบบปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือการพิจารณาคดีอิสลาม ตามระบบ

คำสำคัญ (Tags): #กฎหมายอิสลาม
หมายเลขบันทึก: 630397เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2017 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2017 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท