ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในมุมมองหลังนวยุค


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในมุมมองหลังนวยุค

เขียนโดย ผศ.ดร.เมธา หริมเทพาธิป


การมีส่วนร่วมในมุมมองหลังนวยุค มาจากหลักปรัชญาพื้นฐานของกระบวนทรรศน์หลังนวยุค (postmodern paradigm) ซึ่งถือว่าเป็นปรัชญากระบวนทรรศน์ล่าสุดของมนุษยชาติในเวลานี้ สำหรับในประเทศไทยนำโดย ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิตสาขาปรัชญา ได้พัฒนาแนวคิดกระบวนทรรศน์ 5 จนเป็นที่ยอมรับในวงการปรัชญาไทยยุคปัจจุบัน ได้ทดลองสร้างปรัชญาหลังนวยุคนิยมสายกลางโดยเน้นปรัชญาจริยะ ซึ่งมีหลักการ วิธีการ และเป้าหมายไว้ดังนี้

ก. หลักการของปรัชญาหลังนวยุคนิยมสายกลาง สามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็น คือ

1) ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเชื่ออยู่ หมายถึง การวางท่าทีด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่ยึดมั่นถือมั่น (detachment) ว่าสิ่งที่ตนเชื่อเท่านั้นถูกต้องทั้งหมด คนอื่นที่มีเชื่อต่างไปจากตนถือว่าผิดหมด ควรเปิดโอกาสให้กับตนเองและผู้อื่นได้ตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ เพื่อจะได้พิสูจน์ความจริง ในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ว่าสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริงหรือไม่ เพียงใด และในขณะเดียวกัน ก็พิจารณาในส่วนดีของทุก ๆ ทาง หากเห็นว่าสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริง ก็ควรน้อมรับนำมาเป็น ข้อปฏิบัติเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้สูงขึ้นต่อไป

2) ย้อนอ่านใหม่หมด ไม่ลดอะไรเลย หมายถึง การเปิดใจกว้างเพื่อย้อนอ่านความคิดของมนุษย์ทั้งโลกทุกวัฒนธรรมและทุกลัทธิความเชื่อ โดยถือนโยบายว่า ย้อนอ่านใหม่หมด ไม่ลดอะไรเลย (reread all, reject non) ดังนั้น เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว ก็จะย้อนอ่าน (re-read) ทุกอย่างที่ขวางหน้า เพื่อเลือกประเด็นที่สนใจมาคิดใหม่ (re-think) และเสนอเพื่อการนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม

3) แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง หมายถึง ความร่วมมือกันของทุก ๆ ฝ่ายที่จะหันหน้าเข้าหากัน โดยใช้วิธีเสวนา (Dialogue) โดยเปิดโอกาสให้พิจารณารับส่วนดีได้จากทุกทาง บนฐานแนวคิดที่ว่า “แสวงหาจุดร่วม” ในสิ่งที่เห็นร่วมกัน เพื่อนำมาปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งส่วนตัวและส่วนรวม และ “สงวนจุดต่าง” ในสิ่งที่เห็นต่างกัน โดยให้ถือว่าเป็นพรสวรรค์ของแต่ละฝ่าย เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิต

ข. วิธีการของปรัชญาหลังนวยุคนิยมสายกลาง ก็คือ การตีความภาษาด้วยหลักอรรถปริวรรต บนพื้นฐานของกระบวนทรรศน์ 5 ด้วยวิธีการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ วิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน

ค. จุดมุ่งหมายของปรัชญาหลังนวยุคนิยมสายกลาง ก็คือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้แก่ การพัฒนา “สัญชาตญาณปัญญา” ให้สูงขึ้น สัญชาตญาณปัญญาได้แก่ พลังสร้างสรรค์ (creativity) พลังปรับตัว (adaptivity) พลังร่วมมือ (collaborativity) และพลังแสวงหา (requistivity) สัญชาตญาณทั้ง 4 นำมาซึ่งจริยธรรมดูแลเพื่อนมนุษย์ให้ได้รับความสุขแท้ตามความเป็นจริง คือ มีความสุขบนความสุขของตนเองและผู้อื่น สามารถ “ทำดี มีสุข” ได้จริงทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม

กระบวนทรรศน์ที่ 5 ไม่ใช่ลัทธิปรัชญาลัทธิหนึ่ง เช่นเดียวกับกระบวนทรรศน์ทั้งหลายล้วนแต่ไม่ใช่ลัทธิปรัชญา แต่เป็นกรอบกำหนดขอบเขตของกลุ่มลัทธิปรัชญาที่มีความเชื่อพื้นฐานแบบเดียวกัน ลัทธิหลังนวยุคเป็นเพียงลัทธิหนึ่ง แม้แต่ลัทธิหลังนวยุคเองก็แตกสาขาออกไปมากมาย ความคิดและเนื้อหาที่น่าสนใจก็มีหลากหลาย แต่ก็ถือว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ แบ่งส่วนกันค้นคว้าวิจัย โดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ สันติภาพของโลก และการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรต่อกันระหว่างมวลมนุษย์ บนพื้นฐานแห่งการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ นี่คือความแปลกใหม่ของกระบวนทรรศน์ที่ 5

พื้นฐานปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง เมื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายสำหรับเป็นหลักปฏิบัติ จะยึดถือหลักการที่ว่า “ยึดเหนี่ยว แต่ไม่ยึดติด” คือหลักการต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมเพื่อให้ทันยุคทันสมัยโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน การปรับเปลี่ยนหลักการแต่ละครั้งจะต้องเกิดจากความรักความเข้าใจ การมีส่วนร่วม ความสามัคคี และความเสียสละของทุกฝ่าย เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นเพื่อส่วนร่วมอย่างแท้จริง สำหรับการเสนอแนะเชิงนโยบายครั้งนี้ มุ่งเน้นนโยบายการมีส่วนร่วมในมุมมองปรัชญาหลังนวยุคไว้ดังนี้

1) นโยบายด้านการเสวนาในเวทีสาธารณะและในที่ประชุมทั้งภาครัฐและเอกชน

ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานของส่วนรวมย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการเสวนากันเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ มีการให้และรับข้อมูลซึ่งกันและกัน สังคมปัจจุบันได้นำเอาวิธีการเสวนาของปรัชญาหลังนวยุคไปใช้อย่างกว้างขวาง ในแวดวงวิชาการใช้คำว่า “สุนทรียสนทนา” (Dialogue) บทสนทนาในรูปแบบ “สุนทรียสนทนา” นี้ ต่างจากการ “อภิปราย” (Discussion) ซึ่งเป็นการโต้ให้เหลือเพียงข้อสรุปหรือความคิดที่ดีที่สุดเพียงอันเดียว ใช้ทักษะการพูดหรือการฟัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวทีสาธารณะและในองค์กรภาครัฐและเอกชน การตีโจทย์ให้แตกก็มักจะตีคนไปด้วย คือกล่าวโจมตีผู้อื่นเพื่อปกป้องตัวเอง การสนทนากลายเป็นสมรภูมิรบทางความคิด ตัวตนก็เต็มไปด้วยเกราะปิดกั้นความคิดเห็นของผู้ที่เห็นต่างจากตน แต่สำหรับ Dialogue นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ โอกาสของการอยู่ร่วมกัน ร่วมมือกันและสามัคคีกัน เรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นกลุ่ม อาศัยกัลยาณมิตรและพื้นที่ที่ปลอดภัย

ความหมายก็มาจาก Dia (ทะลุทะลวง) และ Logos (ความหมาย) เมื่อผนวกเข้ากันจึงมีความหมายว่า ความเข้าใจที่ทะลุทะลวง ยิ่งไปกว่าคำพูด ไปพ้นจากคำพูด ไม่ติดเพียงแค่ความคิด เหตุผลหรือคำพูดเท่านั้น แต่เข้าใจความหมายลึกๆ ของมัน โดยหลักการในแนวนี้เน้นความสำคัญ 4 อย่างคือ (1) การเข้าใจคุณค่าแต่ละคน (2) การไม่แทรกแซง ยอมรับความคิดที่เขาพูดแม้ว่าเราไม่เห็นด้วย ยอมรับเข้ามาในที่ว่างของเรา (3) การห้อยแขวนสมมติฐาน ไม่ด่วนสรุป ไม่เน้นหาคำตอบ และ (4) การพูดถึงวาระปัจจุบัน มี 2 วาระ คือ วาระของเราในปัจจุบันอะไรคือสิ่งที่มีชีวิตในตัวเรา ณ ขณะที่เรานั่งคุยแต่ละคนก็มีวาระไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่วาระปัจจุบันคือ เราสนใจหรือใส่ใจอะไร เปิดพื้นที่รับฟังอยู่เรื่อยๆ และรับฟังกันโดยไม่ประหัตประหารความคิดกัน สิ่งเหล่านั้นก็จะมีคุณค่า ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และตามตนเองอยู่เรื่อยๆ สิ่งที่เรากำลังพูดเป็นประโยชน์ต่ออะไร และวาระนั้นรับใช้อะไร เช่น ให้กับตัวเราเอง ให้กับความดูดีของตัวเรา ให้กับวงเสวนา ฉะนั้นเมื่อเราดูแลวง ดูแลความเงียบ วงเสวนาที่ได้ฝึกฝนกันอยู่เรื่อยๆ จะรับรู้ รับฟังความเงียบ ยอมรับจังหวะของความคิด มองเห็นพื้นที่

วงจรเสวนาควรดำเนินไปตามนโยบายที่เหมาะสม ได้แก่ การสนทนาจะเริ่มจากความสุภาพ ให้เกียรติผู้ร่วมเสวนา รักษาตัวตนก่อน เป็นการสงวนท่าทีของกันและกัน เมื่อวงเสวนาไหลลื่นก็เริ่มมีการเผยตัวตนแสดงออก ถ้าการแสดงออกนั้นได้รับการยอมรับ (ถ้าไม่ได้รับการยอมรับก็กลับไปที่เดิม) เมื่อได้ฝึกร่วมกันก็จะมีการสืบค้น มีการใคร่ครวญด้วยวิจารณญาณ (critical mind) คือ วิเคราะห์ (analysis) วิจักษ์ (appliciat) วิธาน (application) หาข้อดีข้อเสีย เห็นข้อจำกัด และมีการยอมรับตนเองตามที่เป็นจริงว่าทุกคนต่างทำหน้าที่บนข้อจำกัด ซึ่งจะช่วยลดตัวตนและอาการตรึงเครียดในการทำงานที่มุ่งความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป หากทำกันอย่างมีคุณภาพจะก่อให้เกิดปัญญา เห็นใจเขาใจเราด้วยความรักในเพื่อนมนุษย์ เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทั้งในระดับความเข้าใจ (understanding) และเข้าถึงในเชิงปัญญาปฏิบัติ (prudence or phronesis) ที่เกิดจากการลงมือทำเพื่อพิสูจน์ความเข้าใจที่เกิดขึ้น การเกิดใหม่ของความคิดร่วมกันทั้งในระดับเข้าใจและเข้าถึงจะก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมซึ่งนำไปสู่ความสามัคคี ซึ่งเป็นคุณลักษณะของการเป็นสมบัติร่วม ประกอบกันขึ้นมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ มีการแบ่งปันความสำเร็จให้กันและกัน มีความเข้าใจกันมากขึ้น ให้เกียรติกันมากขึ้น แต่ข้อสรุปก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอันเดียวกันก็ได้ คือเป็นลักษณะ “แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่างอย่างสร้างสรรค์” สิ่งใดที่เห็นร่วมกันก็นำมาปฏิบัติร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วนใดที่เห็นต่างกันให้ถือเป็นพรสวรรค์ของแต่ละฝ่าย นำมาซึ่งการกำหนดแนวร่วมให้ไปในทิศทางเดียวกัน เกิดการแบ่งกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในแต่ละหน้าที่ เกิดเอกภาพบนความหลากหลายร่วมกัน จากความรักความเข้าใจ ความจริงใจ การมีส่วนร่วม รู้จักแบ่งปัน มีความสามัคคี มีความกล้าหาญและเสียสละร่วมกัน

ในด้านการออกแบบการประชุมสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ควรดำเนินตามนโยบายดังนี้

(1) ควรมีการกำหนดรูปแบบการประชุมที่เหมาะสมกับเป้าหมาย โดยคำนึงถึงผู้ที่เข้ามาประชุมในฐานะที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่

(1.1) ทบทวนวัตถุประสงค์ของการมีส่วนร่วมของผู้เข้าประชุมและการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร สำหรับช่วงที่ต้องมีการตัดสินใจเพื่อเป้าหมายของการประชุม

(1.2) หาข้อตกลงในเรื่องที่คาดหวังจะประสบผลสำเร็จร่วมกับสาธารณชนระหว่างการประชุมนี้

(1.3) อภิปรายว่า เราจะใช้ข้อมูลที่เราได้รับระหว่างการประชุมนี้อย่างไร เช่น เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละระดับ เป็นต้น

(1.4) พิจารณาถึงผู้ฟัง (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ที่คาดว่าจะเข้ามามีส่วนร่วม

(1.5) ทำรายการของประเด็นต่างๆ ที่จำเป็นต้องพูดให้ครอบคลุม

(1.6) ระบุถึงระดับการปฏิสัมพันธ์ที่จำเป็นต้องใช้หรือต้องการสำหรับแต่ละประเด็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สำหรับการประชุม

(1.7) เลือกกิจกรรมการประชุมสำหรับแต่ละหัวข้อเพื่อบรรลุระดับของการมีปฏิสัมพันธ์ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

(1.8) จัดสรรเวลาให้กับแต่ละหัวข้อ หลังจากที่ทราบถึงหัวข้อและชนิดของกิจกรรมที่ต้องการจัด ถ้าจำเป็นต้องใช้ระดับการปฏิสัมพันธ์สูงก็จำต้องให้เวลากับกิจกรรมนั้นให้มากขึ้น ตามหลักการที่ว่า “กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมมากเท่าไร จะใช้เวลามากขึ้นเท่านั้น”

(1.9) การเตรียมวาระการประชุมต้องแสดงถึงหัวข้อ ชนิดของกิจกรรม และเวลาที่แบ่งให้ตามสัดส่วนของกิจกรรม

(1.10) กำหนดรู้แบบการจัดที่นั่งและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ให้เหมาะสมตามปฏิสัมพันธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ประชุม ซึ่งมีอยู่มากมายหลายวิธี เช่น การจัดที่นั่งแบบห้องบรรยาย การจัดที่นั่งแบบครึ่งวงกลม การจัดเก้าอี้แบบรูปวงกลม การสานเสวนาโต๊ะกลม การจัดที่นั่งแบบงานเลี้ยง การจัดที่นั่งเพื่อประชุมกลุ่มใหญ่สลับกลุ่มเล็ก เป็นต้น

(2) การอำนวยการประชุมสาธารณะ (Facilitation Public Meeting) ผู้อำนวยการประชุมจำเป็นต้องมีภาวะผู้นำ มีหลักการพื้นฐานหลายประการที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำการประชุมที่ควรถือเป็นนโยบายสำหรับการนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ได้แก่

(2.1) ควรจำกัดหัวข้อการพูดคุยพอควรเพื่อเปิดโอกาสให้กับคำถามของผู้เข้าร่วมประชุม เพราะผู้คนจะยอมรับผู้นำการประชุมที่อยู่ในความสนใจของเขา หมายความว่า ผู้เข้าร่วมประชุมมีความพร้อมที่จะร่วมมือหากเขารู้สึกว่าผู้นำประชุมมีความยุติธรรมและมีเหตุผล ตลอดถึงโครงสร้างการประชุมส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม

(2.2) ผู้นำประชุมต้องนำเชิงกระบวนการไม่ใช่เนื้อหา เพื่อสร้างความมั่นใจในความยุติธรรมและสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ

(2.3) หลีกเลี่ยงสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่อาจก่อให้เกิดความไม่พอใจและอาจเกิดการคัดค้านที่แสดงขึ้นเพื่อท้าทายผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายประดับยศ คำพูดคำจาที่แฝงด้วยการกดข่ม ผู้นำที่ดำเนินการอย่างได้ผลจะต้องรู้จักยืดหยุ่น สร้างความกลมกลืน พร้อมที่จะเปลี่ยนกฎกติกาอย่างเป็นทางการของการประชุมเมื่อเห็นเหมาะสม ทั้งยอมรับคำแนะนำจากผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อสารอย่างกระตือรือร้นจริงใจและยอมรับกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้เข้าประชุม

(2.4) ผู้นำประชุมต้องอำนวยการประชุมให้ดำเนินไปตามแนวทางและเป้าหมาย ใช้การสื่อสารที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ ให้การยอมรับและรับรู้ความรู้สึกของกันและกัน พูดถึงปัญหาในทางสร้างสรรค์ ให้คำแนะนำกระบวนการหรือวิธีการแก้ปัญหา มีการสรุปและกำหนดทิศทางให้ชัดเจน

2) นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในฐานะผู้ถือหุ้นที่ผลักดันธรรมาภิบาลให้เกิดแก่ภาคธุรกิจ

พฤติกรรมลงทุนของนักลงทุนสถาบันในกระบวนทรรศน์นวยุคอาจไม่เหมาะสมต่อการมีส่วนร่วมเพราะเน้นการแข่งขันทางธุรกิจแบบเอาชนะกินเรียบทั้งกระดาน จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นักลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ถือหุ้นมีส่วนในการรับผิดชอบที่จะรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่พัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน และขับเคลื่อนธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาลให้เกิดขึ้นในบริษัทตามนโยบายที่เสนอแนะไว้ดังนี้

หนึ่ง จัดตั้งคณะกรรมการที่จะกำกับดูแลการลงทุนของกองทุนที่บริหารโดยนักลงทุนสถาบัน เพื่อให้กองทุนทำหน้าที่สองด้าน คือ ทำกำไรและมีธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงผ่านการวางนโยบายของคณะกรรมการกองทุนที่ชัดเจน

สอง มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นโดยเฉพาะข้อมูลปฏิบัติการ เช่น กระบวนการลงทุน บทบาทของซีจี (CG) หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีในกระบวนการตัดสินใจลงทุน ผลตอบแทน และระบบแรงจูงใจที่ให้พนักงาน และข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการที่กำกับดูแล ซึ่งสำคัญคือ นโยบายของคณะกรรมการ กระบวนการธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ

การผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้น สามารถทำได้โดยใช้กลไกตลาด หรือมาตรการของทางการ หรือโดยความสมัครใจของนักลงทุนสถาบันเอง ในกรณีประเทศไทย น่ายินดีว่า กรผลักดันได้ทำผ่านทั้งภาครัฐ เอกชน และกลไกตลาด ที่ได้ร่วมกันผลักดันนักลงทุนให้มีบาบาทด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีในฐานะผู้ถือหุ้น เช่น สมาคมบริษัทจัดการกองทุน ที่ได้ผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน ให้ความสำคัญกับการมีนโยบาย ไม่สนับสนุนการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงหน้าที่การเข้าประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อลงคะแนนผลักดันให้บริษัทปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีสมาคมนักลงทุนไทยที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน ผ่านการตั้งคำถามในที่ประชุมใหญ่ประจำของบริษัท

เหล่านี้คือตัวอย่างนโยบายเพื่อการมีส่วนร่วมของนักลงทุนและนักลงทุนรายย่อยในฐานะผู้ถือหุ้นที่ผลักดันธรรมาภิบาลให้เกิดแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นผลดีต่อบริษัทลงทุนและต่อภาคธุรกิจของประเทศโดยรวม

3) นโยบายด้านการมีส่วนร่วมในการประชุมสามัญประจำปีของภาคธุรกิจเอกชน

คณะกรรมการบริษัทที่จัดการประชุมสามัญประจำปีได้ดี ผู้ถือหุ้นจะได้ประโยชน์มาก ทั้งจากความรู้และความเข้าใจที่มาจากการชี้แจงและตอบคำถามของคณะกรรมการ สร้างความมั่นใจที่ผู้ถือหุ้นมีต่ออนาคตของบริษัทและต่อความสามารถในการกำกับดูแลของคณะกรรมการ ทำให้ธุรกิจของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ดังนั้น สิ่งที่ผู้เข้าร่วมประชุมอยากเห็นในแง่การกำกับดูแลที่ดีก็คือ อยากให้ทั้งคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นใช้ประโยชน์จากวันประชุมดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเข้าใจในธุรกิจของบริษัท แสดงภาวะผู้นำของคณะกรรมการบริษัท และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของและนักลงทุน โดยนโยบายที่ควรขับเคลื่อนให้เกิดประจักษ์แก่ผู้ที่เข้าร่วมประชุมจึงได้แก่

หนึ่ง กรรมการบริษัทมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อย่าให้ขาด อย่าให้สาย และให้ความสำคัญที่จะตอบคำถาม และชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ผู้ถือหุ้นซักถามอย่างจริงใจเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ

สอง กรรมการอิสระที่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการครั้งแรกต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อลงมติอนุมัตินั้น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้โอกาสนี้แนะนำตัวเองต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรู้จัก และควรพูดให้ผู้ถือหุ้นทราบสั้นๆ ว่าจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร และคณะกรรมการบริษัทจะได้ประโยชน์อย่างไรจากบทบาทของตนในฐานะกรรมการอิสระของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจว่าได้กรรมการอิสระที่มีความสามารถเข้ามาช่วยงานของบริษัท

สาม ประธานกรรมการจะต้องถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องเข้าร่วมประชุม เป็นคนเดียวที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นคนเดียวที่ผู้ถือหุ้นอยากเจอและอยากฟัง อยากเห็นประธานบริษัทให้ความสำคัญและเข้าร่วมประชุม เพราะบทบาทของประธานกรรมการมีความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศของการประชุม (set the tone) และประธานกรรมการควรเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถามและมีเวลาตอบคำถามอย่างเพียงพอ ที่สำคัญประธานกรรมการต้องใจเย็นมากๆ ที่จะรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก ให้เกียรติสมาชิกในฐานะเจ้าของและผู้ถือหุ้นในการแสดงความเห็น ไม่พูดตัดบท ควบคุมดูแลการประชุมให้เป็นไปตามวาระที่กำหนดไว้ และอยู่ภายในเวลาที่เหมาะสม ควรทำให้การประชุมผู้ถือหุ้นเป็นเรื่องจริงจัง ที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับอนาคตของบริษัท

ท้ายที่สุด สำหรับผู้ถือหุ้นควรเข้าประชุมซักถาม และลงคะแนนตามสิทธิผู้ถือหุ้นอย่างพร้อมเพรียง อย่าทำให้การประชุมเสียเวลา เพราะการทำหน้าที่ผู้ถือหุ้นอย่างเข้มแข็งคือการสนับสนุนให้บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อประโยชน์ของบริษัทและเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลในที่ประชุม การทำหน้าที่ของผู้เข้าประชุมตามแนวปฏิบัติที่ดี สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นที่ประจักษ์และสร้างความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เกิดขึ้นตามมา ไม่ต้องโฆษณา ไม่ต้องสร้างภาพ เพราะการปฏิบัติจริงได้นำไปสู่การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นตามนโยบายที่ได้เสนอแนะไว้ข้างต้น

 

หมายเลขบันทึก: 629882เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2017 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2022 12:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท