การมีส่วนร่วมในมุมมองปรัชญาหลังนวยุคที่มีต่อหลักธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจเอกชน


การมีส่วนร่วมในมุมมองปรัชญาหลังนวยุคที่มีต่อหลักธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจเอกชน

เขียนโดย ดร.เมธา หริมเทพาธิป

ในปัจจุบันเป็นยุคแห่งกระบวนทรรศน์หลังนวยุค (postmodern paradigm) การที่บริษัทหนึ่งจะมีความยั่งยืนกว่าอีกบริษัทหนึ่ง ไม่ใช่การแข่งขันแบบกินเรียบเหมือนในกระบวนทรรศน์นวยุค (modern paradigm) แต่เปลี่ยนจากการแข่งขันทางธุรกิจมาเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และสำหรับความยั่งยืนคำตอบอยู่ที่ การบริหารจัดการธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจหรือบรรษัทภิบาล เพราะบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี คิดถึงการมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์อย่างชอบธรรม มักจะเป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนทางธุรกิจ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ ภาคธุรกิจเอกชนได้มีการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการอิสระเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการบริษัทให้ดำเนินไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบริหาร การสรรหาบุคคลที่มีความรู้คู่คุณธรรมมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท

คณะกรรมการบริษัทจะมีหน้าที่สำคัญ 2 ด้าน ด้านแรกคือการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายสำคัญๆ ของบริษัท รวมถึงแผนธุรกิจ งบประมาณ การระดมเงิน และการว่าจ้างผู้จัดการหรือซีอีโอ (CEO) เพื่อบริหารจัดการให้งานของบริษัทสำเร็จลุล่วงตามแผนที่ได้วางไว้ ด้านที่สองก็คือ การกำกับดูแลกิจการบริษัทเพื่อให้การทำงานของบริษัทดำเนินไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีที่เน้นการทำงานที่เป็นระบบ โปร่งใสถูกต้องตามกฎระเบียบและกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ แต่ละคนที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจ โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร เป็นต้น สมารถมีส่วนร่วมในการเข้ามาตรวจสอบได้อย่างมั่นใจ ถ้าคณะกรรมการบริษัททำได้ดีในทั้ง 2 หน้าที่ ก็มั่นใจได้ว่ากิจการบริษัทคงไปได้ดีและมีความยั่งยืน แต่ถึงแม้กิจกรรมจะมีความตั้งใจดีการทำหน้าที่ ต้องยอมรับว่าความท้าทายต่อการทำหน้าที่กรรมการมีมาก โดยเฉพาะการตัดสินใจในด้านนโยบาย เพราะธุรกิจของบริษัทจะขึ้นอยู่อย่างสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจ กฎระเบียบของทางราชการ และความสามารถในกรริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งหลายอย่างเป็นปัจจัยเหนือการควบคุมของบริษัท ยิ่งปัจจุบันที่เศรษฐกิจและภาวการณ์ตลาดมีความผันผวน

ความผันผวนนี้จะกระทบกระทั่งต่อต้นทุนการผลิต ต่อการตีมูลค่าสินค้าคงคลัง การเติบโตของตลาด และต้นทุนในการระดมเงินทุน

นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อธุรกิจก็มีมากขึ้น ทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ กฎระเบียบ และนโยบายของทางการที่อาจเปลี่ยนแปลง และในกรณีของไทยเหตุการณ์ทางบ้านเมืองที่อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงัก สิ่งเหล่านี้กระทบการทำธุรกิจและจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ ซึ่งนำไปสู่ความท้ายทายในการตัดสินใจ

อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ ก็คือ การแข่งขันที่นับวันจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เหตุผลก็เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจโลกเอง เศรษฐกิจโลกต่อไปคงจะขยายตัวต่ำกว่าเฉลี่ยที่เคยมีมาจากปัญหาหนี้สาธารณะที่มีอยู่ในสหรัฐและยุโรป ทำให้บริษัทในสหรัฐและยุโรปจะมุ่งมาที่เอเชียมากขึ้นเพื่อขยายตลาด ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจในแถบบ้านเราจะมีมากขึ้น

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันเกิดขึ้นเร็วมากและสามารถกระทบความอยู่รอดของบริษัทได้ แบบที่เรียกวา เปลี่ยนเกมการแข่งขัน หรือเป็น game changer ทำให้บริษัทที่เติบโตได้ดีอาจพบทางตันได้อย่างคาดไม่ถึง เมื่อบริษัทคู่แข่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า จนทำให้สิ่งที่เราเคยขายได้ดีอาจกลับหมดความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีของโทรศัพท์มือถือ blackberry เทียบกับโทรศัพท์หลายมิติอย่าง iphone หรือ Android

อีกประการหนึ่งที่กรรมการบริษัทควรต้องตระหนักก็คือ ความสำคัญของธรรมาภิบาลที่ดี ที่จะเป็นปัจจัยกำหนดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจในแง่ของการเป็นปัจจัยแข่งขัน ประเด็นนี้มาจากมุมมองของนักลงทุนว่าโลกธุรกิจปัจจุบันมีการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจและตลาดระหว่างประเทศกันสูงทำให้สินค้าบริการและแรงงานสมารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี

การเชื่อมต่อนี้ ทำให้บริษัทธุรกิจจะมีเทคโนโลยีและต้นทนการผลิตที่คล้ายๆ กัน ไมแตกต่างกันมาก แต่ความแตกต่างสำคัญที่ทำให้บริษัทหนึ่งจะมีความยั่งยืนทางธุรกิจมากกว่าอีกบริษัทหนึ่งก็คือการบริหารจัดการโดยเฉพาะการมีธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจเพราะบริษัทที่มีการกำกับกิจการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี มักจะเป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนทางธุรกิจ

เมื่อวิเคราะห์ตามหลักคิดของกระบวนทรรศน์หลังนวยุคที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายจะเห็นว่า ธรรมาภิบาลกลายเป็นปัจจัยหรือเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมความยั่งยืนทางธุรกิจ จากมุมมองนี้ทำให้บริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดีมักจะได้เปรียบในการแข่งขันเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากนักลงทุน คือ ใครๆ ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของส่วนรวมเมื่อมีการบริหารจัดการที่ดีแบบธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ลูกค้า ผู้บริโภค และสถาบันการเงิน เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้มองว่าการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ก็หมายถึงการทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมและช่วยความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศในทางอ้อมด้วย

เมื่อบริบทสำคัญกำกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ตามหลักปรัชญาหลังนวยุคจึงต้องใช้หลัก differance (ดิฟเฟอฮอง) คือ รู้จักปรับเปลี่ยน เคลื่อนไหว หมุนพัฒนาไปอย่างไท่หยุดยั้งให้ก้าวทันโลก กล่าวคือ กรรมการบริษัทจะต้องตระหนักและเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง และผลที่จะมีต่อการทำหน้าที่

ที่สำคัญการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากโลกาภิวัตน์นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจ โดยกลุ่มประเทศตะวันตกที่เคยเป็นกลุ่มนำและมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุด ปัจจุบันอำนาจได้ถูกลดทอนลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ขณะที่อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกได้เพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวดีต่อเนื่อง ผลที่ตามมาก็คือ ความเป็นผู้นำในเศรษฐกิจโลกขณะนี้เริ่มไม่ชัดเจน ประเทศที่เคยเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจดูเหมือนมีความชอบธรรมน้อยลงที่จะนำขณะที่ประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เช่น จีนหรืออินเดียก็ยังไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่ผู้นำ ทำให้เศรษฐกิจโลกในขณะนี้กล่าวได้ว่า ขาดภาวะผู้นำ คือ ขาดประเทศที่พร้อมจะแสดงบทบาทผู้นำในการแก้ปัญหาต่างๆ

ดังนั้น จากนี้ไปการแบ่งปันอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมมีแนวโน้มเป็นไปได้มากเพราะจะเป็นวิธีหลักที่ประเทศต่างๆ ในเศรษฐกิจโลกจะอยู่ร่วมกันและตัดสินใจร่วมกันในขณะแก้ปัญหา และการแบ่งปันอำนาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องอาศัยระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งสนับสนุน เพื่อกำกับการดูแลการตัดสินใจด้านนโยบาย หรือกฎระเบียบในระดับสากลให้ความสำคัญต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกๆ ประเทศอย่างเป็นธรรม คือทั้งประเทศเล็ก ประเทศใหญ่ ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา

แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้ก็คือ

1. ธรรมาภิบาลในระดับสากล ปัจจุบันค่อนข้างมีจำกัด สะท้อนได้จากการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญที่ดูจะมีปัญหามากในเรื่องธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการสรรหาผู้นำองค์กร เช่น กรณีของกองทุนการเงินระดับประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ความรับผิดชอบในหน้าที่ เช่น ในกรณีภาความมั่นคงของสหประชาชาติ รวมถึงความโปร่งใส

ดังนั้น เมื่อธรรมาภิบาลในภาครัฐในระดับสากลมีปัญหา ความหวังที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตและมีเสถียรภาพต่อเนื่อง ก็ต้องอยู่ที่ภาคเอกชนผลักดันโดยธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจเอกชน กล่าวสรุปก็คือ ธรรมาภิบาลในภาคเอกชนสามารถช่วยเศรษฐกิจโลกได้

2. ธรรมาภิบาลภาคเอกชน การผลักดันธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในธุรกิจภาคเอกชนเป็นหน้าที่โดยตรงของกรรมการบริษัทในประเด็นนี้ เมื่อวิเคราะห์จะเห็นว่าจากปัญหาและวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น การกำกับดูแลกิจการบริษัทให้ธุรกิจมีความยั่งยืนในระยะยาวได้กลายมาเป็นเป้าหมายสำคัญของการบริหารธุรกิจ เพราะปัจจุบันความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ การเงินโลก มีมากและบางครั้งก็มีผลกระทบให้บริษัทสามารถล้มหรือปิดกิจการได้ และประเด็นสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีความมั่นคงและยั่งยืนก็คือ การสร้าง Trust หรือความไว้วางใจซึ่งเป็นจุดขายของกระบวนทรรศน์ยุคกลาง แต่นำมาปัดฝุ่นแล้วเสริมด้วยหลักธรรมาภิบาลในกระบวนทรรศน์หลังนวยุคให้เกิดขึ้นระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขงบริษัทซึ่งรวมถึงลูกค้า พนักงาน ผู้บริหาร คณะกรรมการภายใน คณะกรรมการอิสระฝ่ายต่างๆ เจ้าหนี้ และนักลงทุน

อีกประเด็นที่สำคัญก็คือการแบ่งปัน หรือ Sharing คือแบ่งปันความสำเร็จของบริษัทร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นคือ Trust และ Sharing โอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตและยั่งยืนก็มีสูง เพราะสร้างความไว้วางใจบนความมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในการสร้างความไว้วางใจ กรรมการบริษัทต้องกำกับดูแลกิจการบริษัทตามหลักธรรมาภิบาล และที่จะสำคัญมากขึ้นกว่านี้ก็คือ กรรมการบริษัทต้องทำให้ธรรมาภิบาลเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ คือ เน้นการกระทำ หรือ Substance มากกว่าจะเน้นพิธีกรรม หรือรูปแบบ หรือ Form นอกจากนี้ก็ต้องพร้อมสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท หรือเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ เพื่อใช้ความรู้ความสามารถเหล่านั้นผลักดันธุรกิจบริษัทให้รุดหน้าต่อไปอย่างมีส่วนร่วม

3. ธรรมาภิบาลเป็นปัจจัยแห่งการแข่งขัน เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการบริหารธุรกิจธรรมาภิบาล จึงกลายเป็นปัจจัยแข่งขันที่สำคัญโดยปริยาย การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีผลโดยตรงต่อความยั่งยืนของบริษัท ประเด็นนี้ทำให้บริษัทเอกชนขณะนี้จึงให้ความสำคัญและแข่งขันกันมากที่จะสร้างระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในบริษัทของตน

ตัวอย่างที่ชัดเจน ก็คือ การเกิดขึ้นของ AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซยีนในปี 2015 ที่บริษัทในอาเซียนจะแข่งขันกันดึงดูดเงินทุนทั้งจากสหรัฐและยุโรปที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนให้เข้ามาสนับสนุนกิจการบริษัทของตนและประเด็นแข่งขันสำคัญก็คือ การมีการกำกับกิจการที่ดี เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นที่นักลงทุนมองหา เพื่อให้ความมั่นใจว่าการลงทุนของเขามีความยั่งยืน

ความสำคัญของเรื่องนี้ ต่อมาได้มีการต่อยอดไปถึงการจัดทำ ASEAN CG Scorecard หรือแบบประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการปฏิบัติตามหลักการกำกับกิจการที่ดีในรูปคะแนน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเข้าใจถึงนโยบาย และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในอาเซียนได้

ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่ยอมรับว่า ปัจจัยด้านธรรมาภิบาลได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนสถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยากในมุมมองของปรัชญาหลังนวยุค เหตุผลก็เพราะ

หนึ่ง การไม่มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการบริษัทหรือในการกำกับดูแลกิจการ เช่น บริษัทถูกครอบงำโดยผู้ถือหุ้นในลักษณะครอบครัวหรือมีผู้ถือหุ้นไม่กี่รายที่ครอบงำการบริหารบริษัท ลักษณะดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนของนักลงทุน เพราะไม่สามารถมีความมั่นใจได้ว่าการบริหารจัดการบริษัทจะทำเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน หรือเฉพาะแต่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นต้น สำหรับปรัชญาหลังนวยุคย่อมให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดอย่างพอเพียง เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนร่วมในการบริหารหรือช่วยกำกับการบริหารจัดการที่ดีให้เกิดแก่คนส่วนรวม

สอง ธุรกิจในกระบวนทรรศน์หลังนวยุค ปัจจัยต้นทุนธุรกิจระหว่างบริษัทต่างๆ จะไม่ค่อยแตกต่างกัน เพราะต้นทุนที่บริษัทต้องบริหาร ไม่ว่าจะเป็นต้นทนด้านวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน หรือเทคโนโลยี ต้นทุนเหล่านี้จะคล้ายๆ กัน เพราะต้องซื้อจากตลาดโลกเดียวกัน ขณะที่อัตราภาษีก็มีความแตกต่างระหว่างประเทศน้อยลง เพราะประเทศแข่งขันกันสร้างแรงจูงใจ

ดังนั้น ส่วนที่เหลืออยู่ที่จะทำให้บริษัทมีความแตกต่างในแง่ความสามารถในการทำธุรกิจ ก็คือ (1) ความสามารถในเรื่องนวัตตกรรม หรือ innovation ที่เกิดจากพลังสร้างสรรค์ของสัญชาตญาณปัญญา และ (2) วิธีการกำกับดูแลกิจการบริษัทอย่างมีส่วนร่วมและมีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในประเด็นว่า บริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือไม่ และความแตกต่างในการกำกับดูแลนี้ก็เป็นปัจจัยที่อธิบายว่าทำไมบริษัทมีความสำเร็จทางธุรกิจที่แตกต่างกันในระยะยาว

นักลงทุนสถาบันจึงให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลที่เน้นการมีส่วนร่วมในการพิจารณาลงทุน ลิส่งที่นักลงทุนได้ทำมากขึ้นในการเลือกบริษัทเพื่อลงทุน ก็คือ ทำการทดสอบด้านธรรมาภิบาลในระดับบริษัท เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากน้อยแค่ไหนก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งในกระบวนการต่างๆ ที่บริษัทควรมีตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในการนำหลักการเหล่านี้มาปฏิบัติจริง

ในการทดสอบนี้ นักลงทุนสถาบันจะเข้าพบผู้บริหารบริษัทโดยตรงเพื่อซักถามเรื่องธรรมาภิบาล เช่น ใครเป็นเจ้าของบริษัท บริษัทมีธุรกรรมประเภทธุรกรรมเกี่ยวข้องหรือไม่ ใครเป็นกรรมการอิสระ และกรรมการมีความรู้ความสามารถตรงต่อความต้องการของธุรกิจบริษัทหรือไม่ บริษัทเปิดเผยข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่เกี่ยวแลไมเกี่ยวข้องกับการเงิน

บริษัทที่ไม่ผ่านการทดสอบนี้ ก็คือ บริษัทที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ ทำให้บริษัทเสียโอกาสที่จะได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุน

ดังนั้น การกำกับกิจการที่ดีได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนสถาบันใช้พิจารณาเลือกบริษัทที่จะลงทุน บริษัทธุรกิจไทยจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญกับแนวโน้มนี้ เพราะมีผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและต่อเงินลงทุนที่บริษัทจะได้จากนักลงทุน บริษัทไทยจึงควรเตรียมตัวในเรื่องนี้เพราะปัจจุบันนักลงทุนมีการคาดหวังสูงขึ้นในสิ่งที่บริษัทควรทำเพื่อสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะมุมมองของปรัชญาหลังนวยุคเห็นว่า ความสามารถจะต้องมาควบคู่กับจริยธรรมดูแล มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในทุกๆ ส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตร่วมกันอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ความคาดหวังของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ หวังให้กรรมการเป็นที่พึ่ง ที่จะกำกับดูแลกิจการบริษัทให้ประสบผลสำเร็จ ในวิธีการและขั้นตอนที่สะท้อนการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างความั่นใจและสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ

สิ่งเหล่านี้ทำให้คณะกรรมการบริษัทอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ในมุมมองของปรัชญาหลังนวยุคก็คือ คณะกรรมการบริษัทต้องใช้พลังปรับตัวและเตรียมตัวอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของการหาความรู้ด้วยวิจารณญาณ และการใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ช่วยงานบริษัท ประเด็นนี้ทำให้การสรรหากรรมการที่มีคุณสมบัติตรงต่อธุรกิจและตรงต่อยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัทมีความจำเป็นและมีความสำคัญเพราะทุกฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมบริษัทมีความคาดหวังให้คณะกรรมการบริษัททำงานเต็มที่ ใช้ความรู้ความสามารถกำกับดูแลกิจการบริษัทให้เดินไปอย่างถูกต้อง เติบโต และปลอดภัย

ในส่วนธุรกิจ SME ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในกระบวนทรรศน์ปัจจุบันหรือกระบวนทรรศน์หลังนวยุคก็คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดีในการทำธุรกิจ จึงไม่ต่างจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทแบบมหาชนมากนัก เพราะการกำกับดูแลกิจการที่ดี คือ ฐานของความสำเร็จและความยั่งยืนของธุรกิจ และมีเหตุผลที่ดีอยู่ 2 ข้อ ได้แก่

ข้อแรก การกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือที่เรามักเรียกกันว่า ธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาลนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ SME เป็นที่ทราบกันดีในโลกธุรกิจว่า ธุรกิจ SME เมื่อโตถึงจุดหนึ่งก็เหมือนโตไปติดกำแพง ไม่สามารถทะลุออกไปได้ เพราะมีปัญหามากทั้งจากลูกน้อง คนงานที่ออกบ่อย เปลี่ยนบ่ยอหายาก จากลูกค้าที่ยังไม่ให้ความไว้วางใจในตัวสินค้าทั้งๆ ที่เป็นลูกค้ากันมานานจากเจ้าหนี้หรือธนาคารที่ปล่อยกู้ ที่ลึกๆ ยังไม่ไว้วางใจ ยังเข้มงวดไม่ผ่อนปรน แม้จะจ่ายหนี้ ชำระเงินครบตรงตามกำหนด

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ SME ทุกรายเมื่อถึงจุดหนึ่งจะประสบ และแรงเสียดทานทั้งหมดก็มาจากฐานปัญหาเดียวกันคือทั้งลูกจ้าง ลูกค้า เจ้าหนี้ และธุรกิจคู่ค้า ยังไม่วางใจหรือเชื่อถือเราเต็มที่ในการทำธุรกิจ และสาเหตุสำคัญก็มาจากตัวเราเองที่ธุรกิจของเรายังไม่เป็นระบบ ไม่มีแนวปฏิบัติ หรือการกำกับดูแลธุรกิจที่ดีรับรองที่สร้างความอุ่นใจ หรือความวางใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจ

แต่ถ้าบริษัทมีหลักปฏิบัติหรือมีการกำหนดดูแลกิจการที่ดีรองรับในการทำธุรกิจ ความไม่ไว้วางใจเหล่านี้ก็จะลดลง เพราะผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะให้ความเชื่อถือในระบบ ในหลักปฏิบัติ ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เรามีทำให้ข้อกังวลหรือข้อสงสัยต่างๆ ลดลง คือธุรกิจจะเริ่มได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน เจ้าหนี้ ลูกค้า และบริษัทที่เราค้าขายด้วย เมื่อความไว้วางใจเกิด ปัญหาก็จะลดลง ดังนั้น ปัจจัยหนึ่งจะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ SME ระหว่างกลุ่มที่ประสบความสำเร็จกับกลุ่มที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือ การมีแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ข้อสอง ก็คือปัจจุบัน แนวการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยแข่งขันทางธุรกิจที่สำคัญรวมถึงธุรกิจ SME กล่าวสรุปก็คือ ธุรกิจที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะได้เปรียบคู่แข่ง มีโอกาสประสบผลสำเร็จง่ายกว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะโลกธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์อย่างปัจจุบันติดต่อถึงกันหมดอยู่ในตลาดโลกใบเดียวกัน ทำให้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เทคโนโลยี หรือแม้แต่พนักงานสามารถซื้อหรือจัดจ้างได้เหมือนกันในราคาที่ไม่ต่างกัน ปัจจัยนี้ทำให้ความแตกต่างด้านต้นทุนระหว่างบริษัทต่างๆ มีน้อย ต้นทุนจะคล้ายๆ กัน การแข่งขันธุรกิจจึงมุ่งไปที่ปัจจัยอื่น ซึ่งที่สำคัญมี 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือความสามารถด้านนวัตกรรม หรือ Innovation ปัจจัยที่สองคือ ธรรมาภิบาล หรือการมีหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการทำธุรกิจ บริษัทที่มีพร้อมทั้งสองปัจจัยนี้ จะเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าบริษัทอื่น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมในมุมมองปรัชญาหลังนวยุคที่มีต่อหลักธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจเอกชน เป็นการมองตามความเป็นจริงในด้านการแข่งขันทางธุรกิจที่ถูกดำเนินการต่อเนื่องมาจากกระบวนทรรศน์ยุคก่อนๆ แม้ว่าปรัชญาหลังนวยุคจะไม่สนับสนุนในเรื่องการแบ่งแยกแข่งขัน แต่สำหรับในโลกธุรกิจแล้ว ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ธุรกิจเป็นงานของการทำกำไร ปรัชญาหลังนวุยคช่วยกำหนดทิศทางของการทำกำไรไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีส่วนร่วม ส่งเสริมพลังสร้างสรรค์เพื่อผลิตนวัตกรรมใหม่ หรือ Innovation รวมัท้งส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในด้านธุรกิจให้มีธรรมาภิบาลหรือแนวทางการบริหารจัดการที่ดี ส่งเสริมพลังปรับตัวเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกโลกาภิวัตน์ พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีวิจารณญาณ ประสานการมีส่วนร่วมกับผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างสมดุล พอเพียง และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมๆ กัน

หมายเลขบันทึก: 629881เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2017 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2017 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท