ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : หลักการและวิธีการพัฒนาชุมชน ตามหลักพุทธธรรมอย่างยั่งยืน


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : หลักการและวิธีการพัฒนาชุมชนตามหลักพุทธธรรมอย่างยั่งยืน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุวัต กระสังข์
ณิชชาภัทร เกิดฤทธิ์


บทคัดย่อ

หลักการและวิธีการพัฒนาชุมชนตามหลักพุทธธรรมอย่างยั่งยืนนั้นนับเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับชาวบ้านทั่วไป แต่สำหรับพระสงฆ์นั้น ถือปฏิบัติกันมานาน เพียงแต่ไม่เป็นรูปธรรมเท่านั้น เป็นที่ตระหนักกันว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนในชาตินับตั้งแต่หน่วยเล็กๆ จนถึงหน่วยใหญ่ คือตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว สังคม ไปจนถึงระดับองค์กร และระดับชาติ ต้องเข้ามามีส่วนร่วม จุดนี้เองทำให้พระสงฆ์คือผู้ที่มีบทบาทโดยวิธีผสมผสานหรือที่เรียกว่าบูรณาการหลักพุทธธรรมเข้าไปด้วยทำให้เป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ

คำสำคัญ: ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, หลักการและวิธีการ, หลักพุทธธรรม

ABSTRACT

The principles and methods of sustainable community development are new to ordinary people. But for the monks it has been practiced for a long time. But not only concrete, it is well known that these problems are a national problem. Everybody in the nation, from small units to large ones, is from individual, family, society to corporate and national level. to engage in this point of view, the monk is a person who plays a harmonious role, also known as integrating Buddhist principles, into a new interesting concept.

Keywords: Communit, Principles and Methods, Buddhadhamma

1. บทนำ

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาแห่งการกำหนดแนวทางของการดำรงชีวิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้เป็นหลักในการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ในแผ่นดินให้ พออยู่พอกิน ตลอดมานานนับหลายทศวรรษและในคราวที่ประเทศไทยประสบกับปัญหา วิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อเกือบห้าปีที่ผ่านมา เนื่องจากตกอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และลัทธิบริโภคนิยมที่เกินพอดี พระองค์ก็ได้ทรงชี้แนะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่พสกนิกร เพื่อเตือนสติให้มีความพอดี ในการดำรงอยู่ของชีวิต และสังคมที่ยั่งยืนของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการเตือนให้ตั้งสติโดยมีสัมมาทิฐิให้ประชาชนได้รู้เท่าทันความเป็นจริงและสภาพลวงตาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศชาติ ทรงชี้แนะแนวทาง ทางสายกลางในการดำรงชีวิตโดยใช้หลักพุทธธรรมหลายประการรวมทั้ง ลดกิเลส คือ ความโลภทั้งปวงเพื่อให้ชีวิตสงบสุข ร่มเย็นและเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนและถาวรขึ้นในแผ่นดิน โดยเสนอให้เป็น ทางเลือก (Alternative) แก่การดำรงชีวิต ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง นั้น แม้จะมีคำว่า เศรษฐกิจ แต่ก็เป็น แนวทางการดำเนินชีวิต ที่ทรงมีพระประสงค์ให้พสกนิกรชาวไทย ทั้งปวง ยึดถือเอาเป็นหลักในการดำรงชีพ ทั้งในภาวะวิกฤติและต่อไปในอนาคต

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัส ซึ่งได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยตามที่ร้องขอและทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานลงมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2543: 205) ปรัชญาดังกล่าวจะเห็นได้ชัด ถึงหลักสำคัญของการดำรงชีวิตและการตั้งตนอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยที่จะต้องคำนึงถึงความพอเพียง ความพอประมาณ และความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีและยังต้องมีปัญญาความรอบรู้ รอบคอบ และความมีคุณธรรม ประกอบการตัดสินใจและการกระทำด้วย หลักสำคัญข้างต้นอาจจำแนกได้โดยสังเขป ดังนี้

1) ความพอประมาณ (ความพอเพียง) คือ ความสมดุลและความพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ตามแต่อัตภาพของบุคคลเป็นไปตามหลักพุทธธรรม มัชฌิมาปฏิปทา

2) ความมีเหตุผล เป็นเหตุผลที่สมควรในการกระทำและการตัดสินใจ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นอย่างรอบคอบ

3) ภูมิคุ้มกันที่ดี คือ มีความมั่นคงในการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อ เป็นการลดความเปราะบางต่อความเสี่ยงในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพหากมีสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

ส่วนเงื่อนไขคุณธรรม เป็นหลักสำคัญที่ต้องมีทั้งความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โลภ ไม่เบียดเบียน มีความอดทน ความเพียร และมีปัญญาในการดำรงชีวิตอย่างถูกต้องตามหลักพุทธธรรม

แนวความคิดหลักของปรัชญานี้ คือ การชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในมิติต่าง ๆ เป็นการดำเนินตามทางสายกลางก้าวทันต่อโลก โดยปรัชญาใช้ได้ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ประเทศ เป็นการมองโลกในลักษณะที่เป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลง มีความไม่แน่นอนและมีความเชื่อมโยงกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการปฏิบัติที่มุ่งผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ผู้เขียนสรุปโครงสร้างของปรัชญาชี้ว่า ความพอเพียงเป็นทั้งผลและวิธีการ (End and mean) จากการกระทำโดยผลที่คาดว่าจะได้รับคือ การพัฒนาที่สมดุล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยมีความสมดุลในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันวิธีการตามความพอเพียงเป็นความสมดุลของการกระทำ ทั้งเหตุและผลจะนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา ภายใต้พลวัตทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งในด้านการปฏิบัติ ความพอเพียงตามหลักปรัชญานี้ ประกอบด้วยสามองค์ประกอบ (สามห่วง) คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง หากขาดองค์ประกอบใดก็ไม่เป็นความพอเพียงที่สมบูรณ์

ความพอประมาณ คือ มีสองนัยยะ ในด้านหนึ่งคือ ความพอดีไม่สุดโต่ง โดยมีการกระทำไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไปในมิติต่าง ๆ เช่น การบริโภค การผลิตอยู่ในระดับสมดุล การใช้จ่าย การออมอยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง อีกด้านหนึ่งหมายถึงการที่สามารถพึ่งตัวเองได้ยืนได้บนขาของตนเอง

ความมีเหตุมีผล หมายความว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอประมาณในมิติต่างๆ นั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล มีการพิจารณาจากเหตุ ปัจจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต้องเป็นการมองระยะยาว คำนึงถึงความเสี่ยง ตลอดจนคำนึงถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดจากการตัดสินใจนี้

การมีภูมิคุ้มกันในตัวดีพอสมควร หมายความถึง การกระทำที่ไม่คำนึงถึงเฉพาะเหตุการณ์และผลในปัจจุบัน แต่ภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูลที่มีอยู่ ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เพราะพลวัตในมิติต่าง ๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในสภาวะต่าง ๆ อย่างรวดเร็วขึ้น จึงต้องมีการเตรียมตัวพร้อมรับผลกระทบเหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้ การจะกระทำให้มีความพอเพียงตามหลักปรัชญาได้นั้น จะต้องมีเงื่อนไขพื้นฐาน คือ การมีความรอบรู้ และคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต ในส่วนของคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีสองด้านคือ ด้านจิตใจ ปัญญา และด้านการกระทำ ในด้านแรกเป็นการตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรอบรู้ ที่เหมาะสม ส่วนด้านการกระทำหรือแนวทางการดำเนินชีวิต เน้นความอดทน ความเพียร สติ ปัญญา และความรอบคอบ เงื่อนไขทั้งสองนี้จะทำให้การปฏิบัติตามเนื้อหาของความพอเพียงเป็นไปได้

2. หลักการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงหลักการว่าด้วยความพอเพียง ความพอประมาณ และความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งมีประเด็นรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

(1) ความพอประมาณ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมตลอดถึงการพัฒนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกือบทุกโครงการ ล้วนมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความ พออยู่พอกิน ความเหมาะสม ความพอเพียง และความพอดี ทั้งสิ้นและในความเป็นจริงแล้วได้ทรงดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสะท้อนออกมาในเรื่องการสร้าง ความพอเพียงให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มาตั้งแต่เริ่มทรงงานช่วยเหลือพสกนิกรผู้ยากไร้ มานานนับหลายทศวรรษก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ และก่อนที่คำว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นคำที่พูดอ้างอิงกันหนาหูในบรรดานักคิด นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายเสียอีก เกือบทุกครั้งและทุกแห่งหน ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานเพื่อช่วยเหลือ สงเคราะห์และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้อยู่ห่างไกลและทุรกันดารในภูมิภาคและในชนบท พระองค์ทรงสั่งสอนและแนะนำให้ประชาชน รู้จักเพียงพอในการบริโภค การดำรงชีวิตและการใช้ชีวิต โดยทรงแนะนำให้สันโดษ ลด ละเลิกอบายมุขและความโลภอย่างไร้เหตุผล ทรงแนะให้ละเว้นวัฒนธรรมการบริโภคตามกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมที่ไร้สาระ ฟุ่มเฟือย มอมเมา และไม่รู้จักพอ ทรงเน้นเรื่องการสันโดษ ให้พึงพอใจในชีวิตที่เพียงพอกับอัตภาพและสภาพแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงและเกื้อกูลกันในชุมชนพร้อม ๆ กัน (อภิชัย พันธุเสน, 2539: 207-208) กับการสร้างความเข้มแข็งและการมีธรรมะและคุณธรรมในจิตใจ ไม่คดโกง เอารัดเอาเปรียบ รู้จักเสียสละและการให้ การแบ่งปันและให้ประสานประโยชน์ระหว่างตนกับผู้อื่น (คูณ โทขันธ์, 2525: 109) ตลอดจนสังคมและสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าขณะนี้ก็มีผู้ที่มีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกันมากยิ่งขึ้น โดยมีทั้งนักวิจารณ์และนักพัฒนาหลายสาขาได้ทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนความเห็นและทัศนะกันดังปรากฏในการสัมมนาต่างๆ และแม้กระทั่งได้ขอพระราชทานความหมายลงมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อน้อมเกล้าฯ รับไปปฏิบัติดังกล่าวมาแล้ว

จากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็พอจะเห็นนัยสำคัญที่ว่า ทรงให้นำหลักของการพออยู่ – พอกิน กับความพอเพียงและพอดีเป็นฐานเบื้องต้นก่อนที่จะขยายไปสู่การพัฒนาที่เป็นสัมมาพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป ความพออยู่-พอกินของประชากรผู้ยากไร้ส่วนใหญ่ของประเทศ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืนตามลำดับขั้นตอนโดยไม่เร่งรัดสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยปราศจากรากฐานที่มั่นคงชัดเจน ผลจากเศรษฐกิจฟองสบู่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนักว่า ความจำเริญ รุ่งเรืองจากภาพลวงตา โดยคำนึงถึงตัวเลขแสดงความเจริญเติบโตที่มิใช่ความจริงแท้ และมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนส่วนรวมเนื่องจากมีความโลภและกิเลสเป็นตัวชี้นำนั้นได้สร้างความหายนะแก่ประเทศชาติมาแล้วเพียงใด (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2537: 118-119)

ดังนั้น จึงอาจสรุปความหมายและบริบทของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ว่า ความพออยู่ – พอกิน และความ พอเพียง ในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ได้พระราชทานไว้นั้น มีความหมายและมีบริบทกว้างขวางกินความมากกว่าเพียงแค่มีข้าวอยู่ในยุ้งฉาง ผักและปลาอยู่ในไร่เพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือนไปได้ตลอดปีเท่านั้น หากแต่เศรษฐกิจพอเพียงนี้ยังกินความหมายกว้างขวางลุ่มลึกและผูกพันสอดประสานกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ในเรื่องการเดินทางสายกลางและข้อธรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ ปรัชญา และแนวคิด ในการดำรงชีวิตของผู้คน ชุมชน และสังคมไทยในอุดมการณ์ คือ พุทธวิถีแห่งความมีชีวิตอันประเสริฐอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ความหมายและบริบทของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเป็นที่เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับกันด้วยว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั้นคือหลักในการดำรงชีวิต ที่พึงปรารถนาของคนไทย ซึ่งสัมพันธ์อย่างยิ่งยวดกับเรื่องของจิตใจ จริยธรรมและหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

นอกเหนือไปจากการทำทุกอย่าง ให้ง่ายและไม่สลับซับซ้อนจนชาวบ้านทำตามไม่ได้อันเป็นหลักและหัวใจสำคัญของการดำเนินงานแล้ว การนำความรู้จริงในความเป็นไปแห่งธรรมชาติและกฏเกณฑ์ของธรรมชาติมาใช้ในการแก้ไขปัญหา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติให้เข้าสู่ระบบที่ปกตินั้น ก็นับว่าเป็นหลักการและแนวปฏิบัติที่สำคัญยิ่งอีกส่วนหนึ่งในการทรงงานของพระองค์ เช่น แนวความคิด ใช้อธรรมปราบอธรรม และ ธรรมปราบอธรรม หรือ น้ำดีไล่น้ำเสีย ในงานการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แนวคิดและปรัชญาการทำงานในลักษณะนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการใช้ สติ และ ปัญญา ผสมผสานกับความรู้เข้าดำเนินการกับเหตุและปัจจัยไม่ว่าจะเป็น บวก หรือ ลบ ที่อยู่แวดล้อมมนุษย์ตามธรรมชาติให้ก่อประโยชน์สูงสุดนั้นเป็นการใช้ ปัญญา แก้ปัญหาตามหลักพระพุทธธรรมนั้นเอง (สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, 2529: 240)

ในพระพุทธศาสนานั้น สรรเสริญ ยกย่อง คนที่พัฒนาตนแล้วว่าควรแก่การยกย่อง ดังพระบาลีที่ว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุส.เสสุ แปลความได้ว่า ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกตนแล้วประเสริฐที่สุด ผู้ที่พัฒนาตนแล้วคือ ผู้ที่ได้รับการสรรเสริญในพระพุทธศาสนา (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), หลักแม่บทของการพัฒนาตน, 2547: 18) ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาตน คือ ธรรมอันประเสริฐและมีความสำคัญยิ่ง ส่วนปรัชญา แนวคิดและทฤษฎีของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีความมุ่งหมายหลักประการสำคัญที่สุด คือ การให้โอกาสแก่เกษตรกรผู้ยากไร้ได้มีโอกาสฝึกตนทั้งทางด้านจิตและทางกายควบคู่กันไป โดยผสมผสาน อยู่ในเรื่องการทำมาหากิน คือ การมีสัมมาอาชีวะที่ไม่เพียงแต่จะเน้นเรื่องความพออยู่ พอกิน และความพอเพียงแก่ชีวิต เท่านั้น แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปแล้วยังเห็นลักษณะของการทำให้เจริญ คือ ภาวนา ในทุกด้านของชีวิตของตนและชุมชนที่ตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันหลักของทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศไทย (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, 2546: 7)

(2) ความมีเหตุผล

ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวเป็นการปรับพื้นฐานมาในส่วนก่อนหน้านี้แล้วว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นชัดแจ้งในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่าง ๆ หลากหลาย ที่มีขึ้นเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นนั้น ประการแรก คือ ความพออยู่ – พอกิน และพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักของชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักพุทธธรรมในข้อต่าง ๆ อันมีหลักแห่งการเดินทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นปฐม (สนธยา พลศรี, 2545: 9) นอกไปจากนั้นก็ยังมีเรื่องของการพอเพียงเป็นการประมาณในการบริโภคซึ่งอยู่ในหลักธรรมเรื่อง มัตตัญญุตา ยังเรื่องการสันโดษ ประมาณตน มีวิริยะอุตสาหะในการประกอบอาชีพและการไม่โลภ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เบียดเบียน ฯลฯ อันเป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มาเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างยิ่ง หลักของการ พออยู่ พอกิน พอดีและพอเพียงตลอดจนไม่โลภไม่เบียดเบียนทั้งผู้อื่น (ประสาท หลักศิลา, 2545: 2) และทรัพยากร ธรรมชาตินั้น คือ แนวความคิดหลัก และเป็นพื้นฐานหลัก ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศวางแนวชีวิตตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาไว้ให้มั่น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน มิให้เกิดความทุกข์ และสามารถดำรงชีวิต อยู่อย่างเป็นสุขตามอัตภาพ มีความงดงาม และมีสันติสุข ไปพร้อม ๆ กันด้วย

รากฐานสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยแท้ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ใด ความพออยู่ – พอกิน พอเพียงและพอดี นั้นเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่มีความหมายลึกซึ้ง เป็นพระ ปัญญา อันเฉียบคมที่ได้พระราชทานไว้เพื่อเป็นแนวทางแก้ไข และบรรเทา ปัญหา อันเนื่องมาจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ก็คือหลักธรรมสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาและเป็นหลักแห่งการดำรงอยู่ของชีวิตทั้งของฆราวาสและคฤหัสถ์ใน พรหมจรรย์ แห่งพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งประเทศถูกบ่มเพาะมานานพร้อมกับการเป็นชาติไทยนั่นเอง

3.) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว

การมีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตโดยที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับหลักธรรม มัชฌิมาปฏิปทาเป็นลำดับแรกและเป็นรากฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ในบทย่อยนี้จึงเห็นควรพูดถึงในรายละเอียดเป็นการเฉพาะก่อนดังต่อไปนี้

พระพุทธศาสนา (พุทธธรรม) คือ ศาสนาแห่งปัญญาและการปฏิบัติอีกทั้งพุทธธรรมนั้นก็มิใช่เป็นเพียงปรัชญาของนักปรัชญาหรือเรื่องของนักคิดที่กำลังคิดค้นหาความจริง โดยใช้เหตุผลเชิงตรรกวิทยาหักล้างพิสูจน์ความจริงกันอยู่ หากแต่พุทธธรรมเป็นเรื่องของ การปฏิบัติ หรือเป็นการปฏิบัติของผู้ทรงปัญญา ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาให้กับชีวิตและความเป็นอยู่จริงของมนุษย์ พระพุทธศาสนามุ่งเน้นการสอนความจริงที่เป็นประโยชน์ และสั่งสอนเฉพาะสิ่งที่จะนำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงได้ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงไม่ทรงสนับสนุน การพยามเข้าถึง สัจจธรรม ด้วยวิธีครุ่นคิด และถกเถียงหาเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญา ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ และด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนา เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตจริงของมนุษย์นี้เอง ความเป็นพุทธธรรมจึงต้องอาศัยการพิจารณาคุณค่าทางจริยธรรมประกอบด้วย

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า มัชฌิมาปฏิปทา เป็นประมวลคำสอนภาคปฏิบัติ คือ ระบบ จริยธรรม ทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีรายละเอียด ขอบเขต กว้างขวาง มากเกินกว่าที่จะพูดถึงให้ครบถ้วนกระบวนความได้ แต่สามารถที่จะอธิบาย ทางสายเดียวแต่มีองค์ประกอบ 8 อย่าง อันเป็นหัวข้อสำคัญของ อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ อารยอัษฎางคิกมรรค (มรรคาอันประเสริฐ มีองค์ประกอบ 8 อย่าง) ดังนี้ คือ

1) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ (Right View)

2) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ (Right Thought)

3) สัมมาวาจา วาจาชอบ (Right Speceh)

4) สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ (Right Action)

5) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ (Right Livelihood)

6) สัมมาวายามะ ความพยายามชอบ (Right Efford)

7) สัมมาสติ ระลึกชอบ (Right Mindfulness)

8) สัมมาสมาธิ จิตมั่นชอบ(Right Concentration)

องค์ประกอบทั้ง 8 นี้ มิใช่ทางแปดทาง หรือต้องกระทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปทีละข้อ หากแต่เป็นส่วนประกอบของทางสายเดียวกัน ที่ต้องอาศัยพึ่งพิงกัน เหมือนเกลียวเชือก 8 เกลียว ที่รวมกันเข้าเป็นเส้นเชือกเดียว ที่ต้องปฏิบัติร่วมกันไปโดยตลอด

พระธรรมปิฎก (ปัจจุบัน พระพรหมคุณาภรณ์) ให้อรรถาธิบายในเรื่องนี้ว่าการศึกษาพัฒนาองค์ธรรมภายใน มัชฌิมาปฏิปทานี้ ก็คือ การพัฒนาของชีวิต หรือพัฒนาการของชีวิตภายใต้กรอบกระบวนการของธรรมชาติ ที่ดำเนินไปตามวิถีแห่งมรรค และเมื่อพูดโดยผลรวมแล้ว สามารถแบ่งแยกออกเป็นหลักสามส่วน คือ

1) อธิศีลสิกขา คือ การฝึกศึกษาอบรมในด้านความประพฤติ ทางกาย วาจา และอาชีพ ให้มีชีวิตสุจริตและเกื้อกูล (Training in Higher Morality)

2) อธิจิตตสิกขา การฝึกศึกษาอบรม ด้านสมาธิ คือการพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งไม่หวั่นไหวง่าย (Training in Higher Mentality หรือ Concentration)

3) อธิปัญญาสิกขา การฝึกฝนศึกษาพัฒนาในด้านปัญญาให้สูงขึ้นไปและให้รู้คิด เข้าใจมองเห็นสรรพสิ่งตามความเป็นจริง (Training in Higher Wisdom)

3. วิธีการพัฒนา

สำหรับขั้นตอนและวิธีการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงนี้ มีดังนี้ คือ 1. การพึ่งตนเอง 2. พออยู่พอกิน 3. พอเพียง 4. การไม่เบียดเบียน

1) การพึ่งตนเอง

การพึ่งตนเอง ดังกล่าวแล้วว่าพระพุทธศาสนาคือ ศาสนาแห่งปัญญาและการปฏิบัติ ดังนั้นจึงให้ความสำคัญและเพ่งเล็งการปฏิบัติทั้งทางกาย และใจเพื่อการพึ่งตนเองทุกระดับเป็นอย่างมาก (พระอาจารย์ ชา สุภทฺโท, 2541: 29) เช่นเดียวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้และยืนอยู่บนขาของตนเองได้ เพื่อให้มีความแข็งแรงมั่นคงเพียงพอที่จะ พัฒนาตน ไปสู่ระดับที่สูงขึ้นต่อไป การพัฒนาตนนี้ย่อมหมายถึงการพัฒนาตนทั้งภายนอกและภายใน คือ พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจและมีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ ที่จะสามารถฝึกตนให้พ้นจากห่วงโซ่ของกระแสบริโภคนิยมโดยยึดถือและปฏิบัติตามาหลักศีลธรรมและจริยธรรมตามพื้นฐานของหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติไทยอยู่แล้ว (ยุวัฒน์ วุฒิเมธี, 2525: 8)

หลักธรรมว่าด้วยการพึ่งพาตนเอง หรือ พึ่งตนเองในพระพุทธศาสนานั้น มีอยู่หลายประการ เป็นการเฉพาะ เช่น นาถกรณธรรม ซึ่งประกอบด้วยองค์ธรรมสำคัญ 10 ข้อ ว่าด้วยธรรมอันเป็นการสร้างที่พึ่งคุณธรรมอันทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนเองได้ประกอบด้วย (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), 2545: 324)

หลักธรรมว่าด้วยการพึ่งพาตนเอง หรือ พึ่งตนเองในพระพุทธศาสนานั้น มีอยู่หลายประการ เป็นการเฉพาะเช่น นาถกรณธรรม ซึ่งประกอบด้วยองค์ธรรมสำคัญ 10 ข้อ ว่าด้วยธรรมอันเป็นการสร้างที่พึ่งคุณธรรมอันทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนเองได้ประกอบด้วย

1) ศีล (ความประพฤติดีงาม, ระเบียบวินัย, อาชีวบริสุทธิ)

2) พาหุสัจจะ (การศึกษา – การใฝ่หาความรู้)

3) กัลยาณมิตตตา (คบคนดี มีกัลยาณมิตร, ปรึกษา)

4) โสวจัสตา (เป็นคนง่าย รับฟังเหตุผล)

5) กิงกรณีเยสุ ทุกขตา (ขวนขวายกิจการ, ทำได้สำเร็จ ฯลฯ)

6) ธัมมกามตา (รู้รัก, ใคร่ธรรม, รับรู้ – รับฟัง)

7) วิริยารัมภะ (ขยันหมั่นเพียร, ละชั่ว ทำดี, เข้มแข็ง)

8) สันตุฏฐิ (สันโดษ, พอใจกับสิ่งที่หามาได้โดยชอบ)

9) สติ (ความมีสติ, ไม่ประมาท)

10) ปัญญา (รู้คิด, พิจารณา, เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง)

องค์ธรรมอันเป็นการ สร้างที่พึ่ง นี้ เป็นธรรมมีอุปการะมาก เป็นคุณธรรมอันทำให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จและเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายด้วย (อรสา เตติวัฒน์, และคณะ, 2552: 1-3)

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวิเคราะห์เทียบเคียงกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ข้อนี้แล้ว จะเห็นความประสานสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงไม่เพียงแต่มุ่งประสงค์ให้เกษตรกรและในวงที่กว้างขวางออกไป คือ ประชาชนทั้งชาติได้พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังหมายความคลุมถึงการมีความมั่นคงในการที่จะเป็น อิสรภาพ จากการครอบงำของกระแสโลกในเชิงวัตถุนิยมและบริโภคนิยมต่าง ๆ ทั้งประชาชนยังสามารถกำหนดความเป็นอยู่ของตนเองด้วย สติปัญญา ความพากเพียร ความสันโดษ โดยมีองค์ธรรมทางพระพุทธศาสนาเกื้อหนุนอยู่ด้วย (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2541: 21-22) ดังจะเห็นได้จากความในพระราชดำรัส ตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า... คนเราถ้าพอในความต้องการมันก็มีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อยถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้มีความคิดว่า ถ้าทำอะไรต้อง พอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมากเราก็อยู่เป็นสุข

การพึ่งตนเองได้ในกระบวนทัศน์ของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นกินความหมาย ถึงการพัฒนาทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมเข้าไว้ด้วย (อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์, และคณะ, 2552: 18) การพึ่งตนเองได้จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะ การพึ่งตนเองได้ทางด้านวัตถุเท่านั้น แต่หมายความกว้างขวางถึงการควบคุมตนเองให้เป็นอิสระปลอดโปร่งจากอำนาจของกิเลส และสามารถข่มตน ข่มใจ ให้เกิดปัญญาในการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่ารู้จักทุกข์ รู้เท่าทันทุกข์และมีความสุขตามอัตภาพได้ด้วย (พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), 2539: 78)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันมีเรื่องการพึ่งตนเองเป็นหลัก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้นั้น คือ หลักของการกระทำหรือปฏิบัติ เพื่อสร้างเหตุและผล ตามหลักของพุทธธรรมนั่นเอง

ในหลักการพึ่งตนเองและการทำความดี เพื่อให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้นั้น พระไพศาล วิสาโล ได้อรรถาธิบายไว้ในพุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมว่า การพึ่งตนเองในระดับของบุคคลนั้นมิใช่เป็นสภาวะที่ต่างคนต่างอยู่หรือตัวใครตัวมันแบบที่เรียกว่าปัจเจกนิยม (Individualism) โดยสร้างความแปลกแยกจากสังคมแม้จะอยู่ในสังคม ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามองว่า (พระไพศาล วิสาโล, พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคม, 2533: 23)

ปัจจุบันเป็นที่ตระหนักและทราบกันอยู่ดีแล้วว่า แนวทางและทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย นับแต่ได้เริ่มพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบเป็นต้นมา เกือบ 5 ทศวรรษแล้วนั้น ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งมุ่งเน้นการผลิต การบริโภค การลงทุน และการใช้ทรัพยากรขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มผลผลิตและกระตุ้นการบริโภคอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ผลจากการพัฒนาตามแนวคิดตะวันตกที่ผ่านมานั้น ก่อให้เกิดความเสียหายในหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในแง่ของผลดีจากการพัฒนาตามแนวความคิดนี้ ปรากฏว่า คนจำนวนน้อย(มาก) คือ กลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งมีอำนาจและอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และการเมือง ได้รับส่วนแบ่งจากผลประโยชน์มากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล คนส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะเกษตรที่ยากจนที่สุดของประเทศ 20 % ได้รับผลจากการพัฒนาไปไม่ถึง 10 % (ดูตารางแสดงความไม่เท่าเทียมกันของรายได้หน้า 32 ) ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งได้พระราชทานให้ไว้เป็นแนวทางเลือกจึงให้ความสำคัญแก่การพึ่งตนเองและพอเพียงเป็นอย่างมาก

เกี่ยวกับแนวความคิด เรื่องที่เห็นควรมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด และปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกตะวันตก ที่ถือว่าเป็นแนวคิดสมัยใหม่นับแต่ศตวรรษที่แล้วมาว่าแท้จริงมิใช่สิ่งที่ทันสมัยและก่อประโยชน์ อันแท้จริงให้กับโลกมนุษย์เลย หากแต่เป็นการทำลายทั้งมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียมากกว่าต่างหาก (เฉลียว บุรีภักดีและคณะ, 2545: 44-45) ส่วนแนวคิดและปรัชญาตะวันออกที่วางไว้สำหรับชีวิตและโลกนั้น กลับเป็นปรัชญาที่ทันสมัยและทรงคุณค่ามากกว่า เช่น ความคิดในเรื่อง พุทธเศรษฐศาสตร์ (Small is beautiful) ของ อี.เอฟ.ชูมารคเกอร์ ซึ่งมีนัยที่สัมพันธ์อย่างยิ่งกับปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง (ประเวศ วะสี, 2541: 35-36)

2) พออยู่พอกิน

คำว่า พออยู่พอกิน จะตรงกับคำว่าสันโดษ ตามหลักพุทธธรมในเรื่องสันโดษ ดูจะเป็นหัวข้อธรรมที่ถูกนำไปตีความและอธิบายความหมายให้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่ถูกต้องสมบูรณ์ ส่วนใหญ่แล้วมักจะนำไปเทียบกับความหมายของการเฉื่อยชา มักน้อย ขาดความกระตือรือล้นและขาดวิริยะในการประกอบการทั้งปวง ประเทศไทยเราเองแม้ว่ารากฐานสำคัญทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต คือ พระพุทธศาสนา แต่มีบางครั้งที่รัฐบาลและผู้นำประเทศซึ่งศรัทธาเชื่อมั่นในแนวคิดและปรัชญาตามแนวตะวันตก จะตามกระแสไปโดยมองข้ามสิ่งดีมีคุณค่าของพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของคนไทยไป และเข้าใจความหมายของคำว่าสันโดษคลาดเคลื่อนจนถึงกับมีมิจฉาทิฐิ ว่าสันโดษเป็นการทำลายความเจริญก้าวหน้าของประเทศไปเสียอีก ตามที่ครั้งหนึ่งเคยมีสาส์นเป็นทางการ จากหัวหน้ารัฐบาล ขอให้ที่ประชุมสงฆ์(ที่ประชุมสัมมันตนา (สัมมนา) พระคณาธิการทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2503 ) เลิกสอนหลักธรรมเรื่อง สันโดษ เนื่องจากคำสอนเรื่อง สันโดษ ทำให้คนมักน้อย ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากได้อะไร ไม่จำเป็นต้องขวนขวาย เนื่องจากตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ คำสอนเหล่านี้ ไม่เหมาะสมกับกาลของสมัยปฏิวัติ ซึ่งต้องการการพัฒนาและความขวนขวายหาทางก้าวหน้า (ดังคำมุ่งหมายที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาว่า การปฏิวัติครั้งนี้จะได้ผลสำเร็จหรือล้มเหลวก็อยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจนี้เอง) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หลักธรรมเรื่องสันโดษจึงไม่เกื้อหนุนต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็น่าเห็นใจและต้องยอมรับกันว่า ปัญหาอยู่ที่ฐานความคิด ความรู้ ความเข้าใจ โดยเฉพาะ ทิฏฐิ ที่เป็นฐานความคิดทั้งปวง แนวคิดนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้กับพุทธศาสนิกชนไทยได้มากกว่าผลดีอยู่ตลอดมาโดยผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังยากจน และทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ต้องถูกผลกระทบและต้องตกเป็นทุนทางสังคมที่สูญเปล่ามาโดยตลอด (อุทัย ดุลยเกษม และอรศรี งามวิทยาพงศ์, 2540: 11)

เรื่องความสันโดษหรือความพอเพียง ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็เป็นเช่นเดียวกับหลักพระพุทธธรรมนั่นเอง ความพอเพียง เป็นเรื่องสำคัญของทั้งตัวบุคคลและของประเทศ ได้ทรงย้ำไว้ตามที่ยกมากล่าวอยู่เนือง ๆ ว่า คนเราต้องพอเพียงนั้นย่อมหมายความถึงคนเราต้องมีความสันโดษ ความพอเพียงเช่นใด ขนาดไหน จึงจะเป็นความเหมาะสมและสมควรแก่แต่ละบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับอัตภาพ และฐานานุรูปของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ

สำหรับองค์ธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความสันโดษ และการดำรงชีวิตที่งดงามอีกข้อหนึ่งนั้น คือ ธรรมอันอำนวยประโยชน์สุขขั้นต้น หรือธรรมเพื่อเป็นไปในประโยชน์ปัจจุบันคือ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม หรือ ที่รู้จักกันดีว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ซึ่งมีหัวข้อสำคัญดังนี้

1) อุฏฐานสัมปทา การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการงาน

2) อารักขสัมปทา การถึงพร้อมด้วยการเก็บรักษาโภคทรัพย์ อันตน ขวนขวายหามาได้ ด้วยความชอบธรรม

3) กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตรและรู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย

4) สมชีวิตา ประมาณความเป็นอยู่ รู้จักกำหนดรายได้ รายจ่าย เลี้ยงชีวิตแต่พอดีมิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย

ซึ่งหลักธรรมในหัวข้อ ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรมนี้ ก็ได้มีอยู่ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกือบทั้งหมด และถือได้ว่า เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของบุคคล ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้ (ที.ปา. (ไทย) 11/197/202) อย่างไรก็ดีสำหรับความเข้าใจเรื่อง สันโดษ และความหมายที่แท้จริงในทางพุทธธรรมและในทางโลกนั้น ยังมีความเข้าใจไขว้เขวอยู่มากดังกล่าวไว้บ้างแล้วในเบื้องต้น และแม้กระทั่งในกระบวนวิธีการพัฒนาสมัยใหม่ ซึ่งยังเชื่อกันอยู่ถึง ณ บัดนี้ว่า การเร่งเร้าให้คนบริโภคมากเพื่อให้เกิดการผลิตมากจะช่วยให้การพัฒนาได้

สำหรับองค์ธรรมที่เรียกว่าสันโดษ ตามศัพท์ในพระบาลีซึ่งขอยกมากล่าวไว้ในที่นี้ มีดังนี้

สันโดษ 3 และ 12

สันโดษคือความยินดี ความพอใจ ความยินดีด้วยของของตนซึ่งได้มาด้วยเรี่ยวแรงและความเพียรโดยชอบธรรม ความยินดีด้วยปัจจัย 4 ตามมีตามได้ความรู้จักอิ่ม รู้จักพอ 1) ยถาลาภสันโดษ (ยินดีตามที่ได้, ตามที่พึงได้ ตามที่ตนเองเพียรหามาได้ ไม่กระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ฯลฯ) 2) ยถาพลสันโดษ (ยินดีตามกำลัง, เพียงพอแก่ร่างกาย สุขภาพ และวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ฯลฯ) 3) ยถาสารุปปสันโดษ (ยินดีตามสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งตน ฯลฯ) (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2545: 106) สันโดษ 3 นี้ เป็นไปในปัจจัย 4 แต่ละอย่างจึงรวมเรียกว่า สันโดษ 12 ซึ่งแม้จะมุ่งเน้นเฉพาะบรรพชิตแต่คฤหัสถ์ก็พึงพิจารณาได้ตามสมควร (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2537: 77)

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยามวิเคราะห์ว่า สันโดษ อาจมีความหมายถึง ความเป็นปัจเจกนิยม (Individualism) ซึ่งความสันโดษในความหมายหนึ่งอาจหมายถึงการแยกตัวโดดเดี่ยว เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน และไม่นำพาต่อประโยชน์ส่วนรวมชุมชนและสังคมแต่ในความหมายที่แท้จริงทางพุทธธรรมแล้ว สันโดษ ห่างไกลจากความเป็น ปัจเจกนิยม ในระบบทุนนิยมโดยสิ้นเชิง เนื่องด้วยโดยที่ลัทธิปัจเจกนิยมในระบบทุนนิยมเสรีนั้น ความสำเร็จในการผลิตและการบริโภคที่ได้มาเฉพาะตน อาจเสริมให้เกิด อหังการ และ มมังการ ซึ่งจะต่อยอดเชื้อแห่งความโลภ และการเบียดเบียนไม่มีที่สิ้นสุด และจะเกิดการแข่งขันเพื่อเอาชนะ คู่แข่งและจะเร่งเร้าเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติให้หมดสิ้นเปลืองไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตามทฤษฎีการแข่งขัน (Competitiveness) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในสังคมผู้บริหารประเทศ และปัญญาชนบางส่วนอยู่ในขณะนี้ (ลีลาภรณ์ นาครทรรพ และคณะ, 2548: 16)

3) ความพอเพียง

คำว่า พอเพียง หมายถึงคำว่า มัตตัญญุตาเป็นอีกองค์ธรรมหนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต ของมนุษย์อย่างมีศานติสุขและยั่งยืน มัตตัญญุตา โดยสรุปมีความหมายถึงความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความพอเหมาะพอดี เช่น รู้จักประมาณในการแสวงหา รู้จักประมาณในการใช้จ่ายให้พอเหมาะพอควรเป็นต้น (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546: 193)

นอกจากนั้น หลักแห่งพระพุทธธรรม ยังสอนให้บุคคลจัดแบ่งทรัพย์ที่หามาได้ไว้เป็นสัดส่วน เพื่อความเหมาะสมในการจับจ่ายและดำรงชีวิตโดยหลักในการรู้จักการใช้จ่ายและการบริโภคทรัพย์ที่หามาได้นั้น (กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 53-59) เป็นหลักการที่สำคัญ เช่นกันในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยว่าทรงแนะนำและสั่งสอนเกษตรกรให้รู้จักประมาณในการจับจ่ายและการบริโภค ด้วยการที่ทรงห่วงใยในเรื่องการใช้จ่ายเกินตัวของเกษตรกร จึงได้แนะให้เกษตรกรทำบัญชีรับ – จ่าย ส่วนครัวเรือนไว้อย่างง่าย ๆ ทำเพียงเพื่อให้ทราบว่า หามาได้เท่าใดและจ่ายเกินไปเท่าใด มีเหลือเท่าใด เพื่อจะได้มีแผนการใช้จ่ายเงินล่วงหน้า บัญชีนี้ใช้ขีดเอาข้างฝาก็ได้ หากเขียนหนังสือไม่ได้

ในเรื่องพฤติกรรมทางเศรษฐกิจนี้เมื่อวิเคราะห์เข้ากับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่าทุกเรื่องมีจุดอยู่ที่ตัวของมนุษย์เองก่อน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภคหรือการวิภาคแบ่งปันกระจายรายได้ก็ตาม จะเริ่มที่ตัวบุคคลว่าจะต้องรู้จักประมาณตนก่อน การรู้จักประมาณ หรือการรู้จักพอดี (หรือในเศรษฐกิจพอเพียง เรียกว่า ความพอเพียง ความพอประมาณ) นั้น ทางพุทธศาสนาเรียกว่า มัตตัญญุตา หรือ หากเป็นการพอเพียงในการบริโภคอาหาร ก็เป็นโภชเนมัตตัญญุตา เป็นต้น

ในองค์ธรรมที่กล่าวถึงธรรมอันทำให้เป็นสัตบุรุษ หรือคุณสมบัติของคนดี คือ สัปปุริสธรรม 7 ได้กล่าวไว้มีดังนี้

1) ธัมมัญญุตา ความรู้หลัก รู้จักเหตุ รู้กฎเกณฑ์เหตุผล

2) อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ,รู้ความหมาย, รู้จักผลรู้ประโยชน์อันพึงประสงค์, รู้เหตุรู้ผลฯลฯ

3) อัตตัญญุตา รู้จักตน, รู้จักฐานะ, ความรู้ – ความสามารถความถนัด เป็นต้น ฯลฯ

4) มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ, ความพอดี, รู้จักบริโภคปัจจัย4, รู้จักเหตุผลการบริโภคทรัพย์ฯลฯ

5) กาลัญญุตา การรู้จักกาล รู้จักเวลา อันเหมาะสม,รู้จักเวลาที่จะ ต้องใช้ในกาล ทำงานตรงเวลา,เป็นเวลา ฯลฯ

6) ปริสัญญุตา รู้จักบริษัท, รู้จักชุมชน, รู้กิริยาที่จะประพฤติ รู้จักที่ประชุมที่ตนร่วมอยู่ฯลฯ

7) บุคคลัญญุตา ความรู้จักบุคคล, ความแตกต่างระหว่างบุคคล อัธยาศัย, ความสามารถของบุคคล ฯลฯ (ที.ม. (บาลี) 10/165/96)

สัปปุริสธรรม ทั้ง 7 ดังกล่าวข้างต้นนี้ถือเป็นองค์ธรรมสำคัญ สำหรับทั้งบรรพชิตและฆราวาส ในการดำรงชีวิตอยู่ในความดี หรือเป็นคุณเครื่องเกื้อหนุนความดีที่เดียว กล่าวเฉพาะในข้อ มัตตัญญุตา ความพอดีและความพอประมาณในการบริโภคนั้น มิได้หมายความถึงแต่เฉพาะในเรื่องของวัตถุหรือปริมาณเท่านั้น หากยังจะต้องมองลึกลงไปให้ถึงคุณค่าของสิ่งบริโภคนั้นด้วยว่าเป็น คุณค่าแท้ หรือ คุณค่าเทียม ว่าบริโภคไปเพื่ออะไร เพื่อความอยู่รอดของชีวิต หรือเพราะเหตุแห่ง ความฟุ่มเฟือย หรือแม้แต่กับของใช้สอยก็ดีจะต้องคำนึงถึงว่า ใช้เพื่อความจำเป็นอะไร ตามที่พระภิกษุสงฆ์จะได้รับการสอนในเบื้องแรกให้ปฏิสังขา-โยนิโส ฯเปฯ (ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วจึงเสพปัจจัย) โดยพิจารณาให้เห็นคุณค่าแท้ในการบริโภค เช่น เสพอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต เพื่อสุขภาพ ดังนี้เป็นต้นการพิจารณาอย่างนี้จะเป็นเหตุให้เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ น้อยลง เป็นการมองเห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรักและไม่ทำลายธรรมชาติอีกด้วย

มัตตัญญุตา ความรู้จักพอดีและพอประมาณในการบริโภคปัญหามีว่า ความพอดี จะมีอยู่แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละคน แต่ในกรณีของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวว่า ความพอดี หมายถึงความพอดีที่ให้คุณภาพของชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจ ดังข้อปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะพระสงฆ์จะมีสูตรที่ว่า ปฏิสง.ขา โยนิโส ปิณ.ฑปาตํ เนว ทวาย น มทาย น มณฺฑนาย (มิใช่เพื่อสนุกสนาน ลุ่มหลง ฟุ่มเฟือย) ยาเทว อิมสฺส กายสส แต่บริโภคเพื่อความสถิตย์ดำรงอยู่ ความพอดีที่หมายถึง คุณภาพของชีวิตมาบรรจบกับความพึงพอใจนั้นเป็นสัมพันธภาพของบุคคลต่อสถานภาพที่ตนเป็นอยู่ เป็นการใช้ปัญญาให้ทราบถึงจุดดุลยภาพว่าอยู่ตรงไหน มีปัญญาทราบว่าการบริโภคปัจจัย 4 นั้น เป็นไปเพื่อดำรงชีวิตและดำรงธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียนกันหรือเพราะคุณค่าเทียม คือ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เป็นต้น (ขุ.ธ. (บาลี) 25/270/63) อันได้แก่การไม่เบียดเบียนชีวิตทั้งปวง ซึ่งรวมอยู่ในระบบนิเวศด้วย

4) ความไม่เบียดเบียน

อหึงสาการไม่ทำลายและไม่เบียดเบียน บางแห่งใช้คำว่า อพฺยาปชฺฌา การพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลให้มุ่งสู่วิถีชีวิตที่ดีงาม ทั้งทางกายและทางจิต มีความพอดี – พอเพียง ตลอดจนการให้ความสำคัญและเคารพต่อคุณภาพของระบบนิเวศ ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์อันเป็นหลักในพระพุทธธรรมนั้นสอดคล้องกับแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างเห็นได้ชัด คุณค่าทางจริยธรรมและคุณค่าทางนามธรรมนี้ จะไม่เคยเห็นปรากฏในหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก นับแต่ Adam Smith เป็นต้นมา สิ่งที่น่าจะเป็นข้อพิจารณาวิเคราะห์ สำหรับหลักพระพุทธธรรมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่อยู่ในแนวเดียวกันก็คือ การมุ่งเน้นที่คุณภาพชีวิตและคุณค่าของมนุษย์เป็นเบื้องต้น และการนั้นต้องเป็นไปเพื่อการทั้งตนเองและผู้อื่น เพื่อปูทางไปสู่เป้าหมายระดับสูงขึ้นไป คือ สัมปรายิกัตถะ อันเป็นประโยชน์และคุณค่าทางจิตใจ จนถึงปรมัตถ์ คือ จุดหมายสูงสุด แต่การไม่เบียดเบียนเป็นสิ่งที่สำคัญทุกวงโคจรของชีวิต (อง. ปญฺจก. (ไทย), 225/43/68–69)

นอกไปจากนี้ การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทุนนิยมเสรีด้วยการเร่งรัดการผลิตและการส่งออกนั้น มีผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานและสภาพแวดล้อมดังได้กล่าวแล้วเป็นจำนวนมาก ในชนบท ซึ่งเสี่ยงต่อการเบียดเบียน การปลูกพืชเชิงเดียวทำให้มีการเร่งผลผลิตด้วยการใช้ปุ๋ยและสารเคมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงสร้างของทรัพยากรดินและน้ำเสื่อมโทรม และเมื่อดินเสื่อมคุณภาพใช้ทำการเพาะปลูกไม่ได้อีกต่อไป ก็ถูกทิ้งร้างและมีการเปิดพื้นที่ใหม่ด้วยการบุกรุกป่าที่อุดมสมบูรณ์เพื่อทำกินต่อไป อันเป็นการเบียดเบียน และทำลายสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของธรรมชาติอย่างรุนแรง ซึ่งตรงกันข้ามกับเกษตรกรรมในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่เกษตรกรทำกินเพื่อตนเองและเพื่อขายในชุมชนนั้น กลับมีการอนุรักษ์มากและเบียดเบียนธรรมชาติน้อย เพราะผลิต พอเพียง ไม่โลภมาก ไม่ทำลายมาก และกิจกรรมที่ทำในระดับที่ไม่กว้างขวางใหญ่โตมากนัก กลับเป็นการหมุนเวียนให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นโดยธรรมชาติ และมีการปรับฟื้นฟูปรับตัวเองได้โดยธรรมชาติอีกด้วย การผลิตด้วยวิธีธรรมชาติ และไม่ใช้เทคโนโลยีสูงมากนักในระบบเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อลงทุนมากทางด้านกิจกรรมการเกษตร การผลิตและการบริโภคก็จะมีแนวทางที่ไม่เป็นการทำลายทรัพยากร และก่อให้เกิดของเสียมากเกินไป เป็นการสร้างดุลยภาพระหว่างชีวิตกับธรรมชาติ ที่จะเกื้อกูลต่อกันและอยู่ร่วมกันด้วยความศานติ

ตามที่ได้วิเคราะห์ เทียบเคียงปรัชญาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาโดยลำดับโดยได้กล่าวถึงทั้งองค์รวม ในหลักพุทธธรรม และแยกอธิบายในแต่ละส่วนของข้อธรรมหลักในแต่ละหัวข้อสำคัญตลอดจนหลักธรรมโดยทั่วไปว่า มีความสัมพันธ์และสอดคล้องต้องกันอย่างไร โดยผู้วิเคราะห์ได้พยามชี้ให้เห็นว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นได้ น้อมนำเอาหลักพุทธธรรมในเรื่อง มัชฌิมาปฎิปทา หรือ การเดินสายกลาง มาเป็นหลักพื้นฐานโดยมุ่งเน้นให้ประชาชนในชาติ (ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545: 36) ดำรงอยู่ในความพอเพียงทั้งในการบริโภค และการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังมีความซื่อสัตย์มีความอดทน ขยันหมั่นเพียร มีความเป็นอิสระ และมีความมั่นคงในจิตใจ ไม่ตกไปสู่กระแสวัตถุนิยม และบริโภคนิยมได้โดยง่าย ให้ลด ละ เลิก ความโลภและการเบียดเบียน ให้รู้จักมัธยัสถ์ อดออม ไม่เอารัด เอาเปรียบรู้จักเมตตาและการให้ ตลอดจนให้ประสานประโยชน์ระหว่างตนกับผู้อื่นและสังคม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดยไม่เป็นการทำลายอีกด้วย หลักการเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในพุทธธรรมในพระพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและสังคมไทยมานานนับเป็นพันปีทั้งสิ้น

3.2.3 เป้าหมายการพัฒนา

สำหรับเป้าหมายของการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง สรุปได้ดังนี้ 1. มีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน 2. มีความพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน 3. ระดับตน ครอบครัว ชุมชน รัฐ ดำรงอยู่ อย่างผาสุก และปฏิบัติตนเหมาะสม 4.สำนึกในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต
อดทน มีความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ

การช่วยตนเองและการร่วมมือช่วยเหลือกันเป็นการทาให้บรรลุประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม มีการขยายความการช่วยตนเองว่าหมายถึงการเป็นคนขยัน ประหยัด พัฒนาตน หลีกพ้นอบายมุข การช่วยเหลือกันคือการร่วมแรงกาย แรงใจ กาลังความคิด กาลังทรัพย์การช่วยเหลือกันนี้ต้องมีคุณธรรม 4 ประการ เป็นที่ตั้งคือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความสามัคคี การมีระเบียบวินัยการบรรลุเป้าหมายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาตามแนวพระราชดาริระบุเงื่อนไขการปฏิบัติคือ การมีความรอบรู้ ความรอบคอบระมัดระวัง มีคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต (พิสิฎฐ์ บุญไชย และทรงคุณ จันทจร, 2540: 139-140) ทั้งนี้ ตามพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 ความตอนหนึ่งว่า …เศรษฐกิจพอเพียงนี้ที่จะมาบอกาให้พอเพียงเฉพาะตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งที่ทาไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกันแลกเปลี่ยนไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว แต่ว่าพอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้คือสามารถที่จะดาเนินงานได้ ... ดังนั้น วิธีการบรรลุเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีแนวคิดที่สอดคล้องกัน โดยมองที่คนและสิ่งแวดล้อม และกำหนดบุคลิกภาพของคนที่เหมาะสม มองการพัฒนาที่มั่นคง ยั่งยืน

คนแต่ละคนมีชีวิตแตกต่างกันไปตามแบบแผนของสังคมที่สลับซับซ้อน เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา แต่ทุกคนก็ยังมีความต้องการที่ประสบความสำเร็จในชีวิตโดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยนั้น ยังมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงชี้แนะและมอบแนวทางในการดารงชีวิตในทางสายกลางที่สมดุล คือ มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันภายใต้เงื่อนไขของความรู้และคุณธรรม ที่เรียกว่า เศรษฐกิจพอเพียงชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกี่ยวข้องทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง และอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความจาเป็นพื้นฐานที่แต่ละคนมีระดับความต้องการไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนย่อมมีโอกาสของการพัฒนาการที่แตกต่างออกไป เช่น ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ การสร้างรายได้ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เป็นต้น ในขณะเดียวกันด้านสังคมเริ่มต้นจากการดารงชีวิตจะมองถึงความสามารถในการพึ่งตนเอง ความร่วมมือของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง สมาชิกในสังคมยอมรับ มีความมั่นคงในการดารงชีวิต เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาชีวิตควรดำเนินการ ดังนี้

1. ค้นหาความต้องการของตนเองให้พบว่า มีความต้องการอะไร มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างไร เช่น ต้องการมีชีวิตที่มีอนาคตก้าวหน้า มีความเป็นอิสระ มีเวลาเพื่อครอบครัวและสังคม มีทรัพย์สินเพียงพอ มีความสุข หลุดพ้นจากความยากลาบาก

2. วิเคราะห์ข้อมูลของตนเองและครอบครัว ซึ่งจะทาให้รู้สถานภาพ รู้สาเหตุของปัญหา รู้ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รู้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

2.1 ศักยภาพของตนเอง เช่น ความรู้ ความสามารถ ความชานาญ (ทักษะ) ชื่อเสียง ประสบการณ์ ความมั่นคง ความก้าวหน้า สภาพทางการเงิน การสร้างรายได้การใช้จ่าย การออม คุณธรรมและศีลธรรม

2.2 ศักยภาพของครอบครัว เช่น วิถีการดารงชีวิต ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี คุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว ฐานะทางสังคม ฐานะทางการเงิน ที่เป็นทรัพย์สินและหนี้สินของครัวเรือน รายได้ รายจ่าย ของครัวเรือน

3. วางแผนการดาเนินชีวิต

3.1 พัฒนาตนเอง ให้มีการเรียนรู้ต่อเนื่อง (ใฝ่เรียนรู้) สร้างวินัยกับตนเอง โดยเฉพาะวินัยทางการเงิน

3.2 สร้างนิสัยที่มีความคิดก้าวหน้ามุ่งมั่นในเป้าหมายชีวิต หมั่นพิจารณาความคิด ตัดสินใจแก้ปัญหา เป็นระบบโดยใช้ความรู้ (ที่รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม และครอบครัว

3.3 หมั่นบริหารจิตใจให้มีความซื่อสัตย์ สุจริต รักชาติ เสียสละ สามัคคี เที่ยงธรรม ศีลธรรม

3.4 ควบคุมจิตใจให้ตนเอง ประพฤติในสิ่งที่ดีงาม สร้างสรรค์ ความเจริญรุ่งเรือง

3.5 พัฒนาจิตใจ ให้ลด ละ เลิก อบายมุข กิเลส ตัณหา ความโกรธ ความหลง

3.6 เสริมสร้างและฟื้นฟูความรู้และคุณธรรมของตนเองและครอบครัว เช่น เข้ารับการฝึกอบรม ฝึกทักษะ ในวิชาการต่าง ๆ หรือวิชาชีพ หมั่นตรวจสอบและแก้ไขข้อบกพร่องอย่างสม่ำเสมอ

3.7 ปรับทัศนคติในเชิงบวก และมีความเป็นไปได้

4. จดบันทึกและทาบัญชีรับ – จ่าย

5. สรุปผลการพัฒนาตนเองและครอบครัว โดยพิจารณาจาก

5.1 ร่างกายมีสุขภาพ สมบูรณ์ แข็งแรง

5.2 อารมณ์ต้องไม่เครียด มีเหตุมีผล มีความเชื่อมั่น มีระบบคิดเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน มีแรงจูงใจ กล้าคิดกล้าทา ไม่ท้อถอย หรือหมดกาลังใจ เมื่อประสบปัญหาในชีวิต

5.3 สิ่งเหล่านี้ได้ลด ละ เลิก ได้แก่ รถป้ายแดง เงินพลาสติก โทรศัพท์มือถือ สถานเริงรมย์ เหล้า บุหรี่ การพนัน (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง, 2549: 32-33)

เป้าหมายหรือผลลัพธ์ของเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นสิ่งที่สังคมไทยยังต้องการให้เกิดขึ้นหรือสามารถนำไปปรับใช้ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในอาเซียนที่ปีนี้ 2559 เป็นปีที่มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านี้ด้วย จึงเป็นการดีที่จะได้นำต้นแบบของการพัฒนาเหล่านี้ขยายสื่อและสืบทอดไปสู่ประชาคมได้อย่างภาคภูมิใจต่อไป

สรุป

ปรัชญาและหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมุ่งเน้นไปที่ พออยู่พอกิน พอเพียงและพอประมาณ ทั้งร่างกายและจิตใจ อันเป็นดุลยภาพและคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม สำหรับวิถีชีวิตคนไทย พร้อมกับการสร้างสรรค์คุณธรรมที่ดีของชีวิตและสิ่งอันเกี่ยวเนื่องแก่ชีวิตรอบตัวคือการให้และการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ชุมชน สังคม ประเทศชาติสิ่งแวดล้อมและต่อโลกนี้โดยรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำของชาวพุทธไทยมาช้านานนั่นเอง

หลักการและวิธีการพัฒนาชุมชนตามหลักพุทธธรรมอย่างยั่งยืนนั้นนับเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับชาวบ้านทั่วไป แต่สำหรับพระสงฆ์นั้น ถือปฏิบัติกันมานาน เพียงแต่ไม่เป็นรูปธรรมเท่านั้น เป็นที่ตระหนักกันว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนในชาตินับตั้งแต่หน่วยเล็กๆ จนถึงหน่วยใหญ่ คือตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว สังคม ไปจนถึงระดับองค์กร และระดับชาติ ต้องเข้ามามีส่วนร่วม จุดนี้เองทำให้พระสงฆ์คือผู้ที่มีบทบาทโดยวิธีผสมผสานหรือที่เรียกว่าบูรณาการหลักพุทธธรรมเข้าไปด้วยทำให้เป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ. (2543). เครื่องมือการทำงานแนววัฒนธรรมชุมชน. กรุงเทพมหานคร: สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา.

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง. (2549). เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.

คูณ โทขันธ์. (2525). บทบาทของพระสงฆ์ต่อการพัฒนา. ขอนแก่น : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

เฉลียว บุรีภักดีและคณะ. (2545). ชุดวิชาวิจัยชุมชน. กรุงเทพมหานคร : เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2537). มองอนาคต. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิภูมิปัญญา.

ประเวศ วะสี. (2541). ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสังคม และศีลธรรม. กรุงเทพมหานคร : หมอชาวบ้าน.

ประสาท หลักศิลา. (2545). ชุมชนชนบท. กรุงเทพมหานคร : แพร่วิทยาการพิมพ์.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2537). คนไทยกับป่า. กรุงเทพมหานคร : บริษัทสหธรรมิก.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2545). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร : บ.สื่อตะวันจำกัด.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2546). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร : บ.เอส อาร์พรินติ้ง แมส โปรดักจำกัด.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2539). ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิพุทธธรรม.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2545). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร : บ.สื่อตะวัน.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2547). หลักแม่บทของการพัฒนาตน. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระไพศาล วิสาโล. (2533). พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคม. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโกมล คีมทอง.

พระอาจารย์ ชา สุภทฺโท. (2541). นอกเหตุเหนือผล. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว.

พิสิฎฐ์ บุญไชย และทรงคุณ จันทจร. (2540). ศาสนาพุทธ : สถานภาพบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมอีสาน. มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ยุวัฒน์ วุฒิเมธี. (2525). เอกสารประกอบการบรรยายวิชาการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพมหานคร : ห.ส.น. ไทยอนุเคราะห์ไทย.

ลีลาภรณ์ นาครทรรพ และคณะ. (2548). ตัวชี้วัดสำหรับงานพัฒนาชนบทประสบการณ์จากนักพัฒนา.กรุงเทพมหานคร : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา.

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. (2546). “เศรษฐกิจชุมชนกับวิถีชุมชน” (เอกสารประกอบการบรรยาย เนื่องในการเทิดพระเกียรติ 48 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, วันที่ 22 กรกฏาคม 2546. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2545). พระกับป่า : บทบาทของพระสงฆ์ในการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สนธยา พลศรี. (2545). ทฤษฎีและหลักการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์.

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข. (2529). สังคมวิทยา : วีธีวิจัย ทฤษฎี และการเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบทไทย. ขอนแก่น : ม.ป.พ.

สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2541). การพัฒนาชุมชนแบบจัดการ. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2543). 5 ทศวรรษสภาพัฒน์. กรุงเทพมหานคร : เพชรรุ่ง การพิมพ์.

อนุวัต กระสังข์. “การจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดตามหลักนิเวศวิทยาเชิงพุทธบูรณาการของคณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี”. วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์. ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2558) : 241-259

อภิชัย พันธุเสน. (2539). พัฒนาชนบทไทย : สมุทัยและมรรคตอนที่ 3 ความหวังทางออกและทางเลือกใหม่. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิภูมิปัญญา.

อรสา เตติวัฒน์, และคณะ. (2552). “การพัฒนาระบบสารสนเทศชุมชนทางภูมิศาสตร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง”. รายงานการวิจัย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

อุทัย ดุลยเกษม และอรศรี งามวิทยาพงศ์. (2540). ภาพการศึกษากับชุมชน : กรอบแนวคิดและข้อเสนอในการศึกษาวิจัย. กรุงเทพมหานคร : สานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.



*ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

หมายเลขบันทึก: 629283เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2017 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2019 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท