การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 1 : สำรวจเบื้องต้น


การจัดการศึกษาท้องถิ่น ตอนที่ 1 : สำรวจเบื้องต้น

1 มิถุนายน2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

จุดเด่นประการหนึ่งในการจัดการศึกษาของ อปท. ก็คือ “การจัดการศึกษาปฐมวัย” คือ แก่เด็กอายุแรกเกิด-ไม่เกิน 5 ปี หรือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี [2] แม้การศึกษาไม่เป็น “สิทธิ” โดยให้รัฐมี “หน้าที่” จัดการศึกษาให้ประชาชน [3] แต่รัฐโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศกำหนดให้ต้องจัดเรียนฟรี 15 ปี จากอนุบาล 1 ถึง ม.6 [4] ลองมาสำรวจคร่าวในสภาพปัญหาจากมุมมองแบบบ้าน ๆ

ภารกิจการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญและตามยุทธศาสตร์ 20 ปี

เรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้หน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 54 วรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”อันถือเป็น “จุดเด่น” [5] ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยรัฐต้องจัดการศึกษาให้เด็กเล็ก (ตั้งแต่ 2 ขวบจนถึงเข้าอนุบาล) ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้าชั้นอนุบาลเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมวัย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นการวางกรอบการศึกษาแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550

หนึ่งในกฎหมายด่วนสามฉบับที่จำเป็นตามรัฐธรรมนูญที่ต้องเร่งรัดออกโดยเร็ว ตามมาตรา 278 [6] ก็คือ ตามมาตรา 58 [7] ที่บัญญัติว่า “ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สินทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชนเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษา...”

นอกจากนี้ใน “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ตามวิสัยทัศน์ (vision) “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” กำหนดกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ชาติไว้ 6 ด้าน [8] โดยเฉพาะด้านที่ 3 คือ “ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน”

อปท.จัดการศึกษาได้เพียงใด

การพิจารณาอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูจาก พรบ. จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ตาม พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 และ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 [9] บัญญัติให้ อปท. สามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับ ตั้งแต่ ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษาได้ ทั้งนี้ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการในท้องถิ่น ตลอดทั้งสามารถระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาดังกล่าวได้ โดยจะจัดเองทั้งหมดหรือมีส่วนร่วมก็ได้ ดังนั้น อปท. จึงมีอำนาจการจัดการศึกษาของประเทศตามหลักการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ โดยมีสถานศึกษาในสังกัด อปท. ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.)

ฉะนั้น ในภารกิจอันสำคัญในการจัดการศึกษา “ปฐมวัย” นี้ จึงไม่พ้นภาระของ อปท. เพราะ เรื่องการศึกษาก่อนวัยเรียน เป็นจุดเด่นที่สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวข้างต้น และนับเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญเขียนลงลึกถึงรายละเอียดของการพัฒนาเด็กเล็กก่อนเข้าเรียน ในการจัดการศึกษาให้เด็กเล็ก (ตั้งแต่ 2 ขวบจนถึงเข้าอนุบาล) ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้าชั้นอนุบาลเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมวัย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

สภาพปัญหาการจัดตั้ง รร.ใหม่

โรงเรียน อปท. มักเป็น รร. ก่อตั้งใหม่โดย อปท. จัดตั้งเองในระดับ “ประถมศึกษา” ในช่วงชั้นที่ 1 – 2 [10] ปัญหาส่วนใหญ่จึงเป็นปัญหาด้านบุคลากร อาทิ

(1) บุคลากรขาดความพร้อม หาข้าราชการครูถ่ายโอนมาไม่ได้ จึงเปิดช่องให้นักวิชาการศึกษาหรือเจ้าหน้าที่พนักงานส่วนท้องถิ่นที่ไปเรียนประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูหรือ ป.บัณฑิต และรวมถึงผู้ดูแลเด็ก (ผดด.) ได้หาโอกาสสับเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นครูในโรงเรียนนั้น

(2) บุคลากรโอนย้ายมาด้วยระบบอุปถัมภ์เส้นสาย นอกจากนี้ กระแสข่าวการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการโอนย้ายมีมาตลอด ไม่ขาดสาย ที่อาจต้องจ่ายเงินเพื่อแลกการได้รับโอนย้าย 100,000- 150,000บาท เป็นต้น โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนนักเรียนเยอะ มีนายก อปท. เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ และสิทธิขาดในการรับโอนย้ายเป็นอำนาจของ นายก อปท.

(3) นักวิชาการศึกษา ที่ไม่ได้จบปริญญาตรีด้านการศึกษา ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนักบริหารงานศึกษาไม่ได้ ต่างพากันโอนย้ายมาเป็นครู สร้างปัญหาเรื่องระบบเส้นสายการปกครองทำให้งานมีปัญหา

(4) ครูจ้าง(เหมา) และข้าราชการครูที่เป็นญาติผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น (นายก อปท. และสมาชิกสภาฯ)ประสบปัญหาการยอมรับการปกครองบังคับบัญชาโดยผู้อำนวยการโรงเรียน (ผอ.) ที่เป็นข้าราชการตามสายบังคับบัญชา ก่อให้เกิดปัญหาด้านการปกครอง งานโรงเรียนอาจล้มเหลว

(5) การเข้าสู่ตำแหน่งข้าราชการครูส่วนท้องถิ่นด้วยระบบอุปถัมภ์ พวกพ้อง วิ่งเต้น เส้นสาย อาศัยเงินทอง ชู้สาว ญาติ ฯลฯ ทำให้สูญเสียระบบราชการ แม้แต่ตำแหน่งผอ. รองผอ. ก็เช่นกัน จึงทำให้ได้บุคลากรที่ไม่พึงประสงค์

(6) สวัสดิการครูท้องถิ่นถูกจำกัดสิทธิ์ทุกรูปแบบด้วยการไม่ให้เบิกค่าเช่าบ้าน ไม่ให้สิทธิ์ลา ไม่ให้สิทธิ์ลาไปอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาตนเอง มีการจำกัดจำนวนไม่ให้ครูเพิ่มขึ้น ด้วยจะทำให้พนักงานในสำนักงานได้รับเงินโบนัสน้อยลง ครูจึงทั้งเหนื่อยและหมดกำลังใจมากเมื่อเทียบ สพฐ.

(7) นายก อปท. ปลัดฯ สมาชิกสภาฯ แทรกแซงการทำงานบริหารงานของโรงเรียนตามความต้องการของตนเองเพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง ทำให้เสียระบบราชการควบคุมบังคับบัญชาการทำงานยาก

(8) ขั้นเงินเดือนครูท้องถิ่นได้น้อยมากเพราะเม็ดเงินงบประมาณที่น้อยกว่าครู สพฐ. เช่น ครูท้องถิ่นปกติหนึ่งขั้น แต่ครู สพฐ.ปกติขั้นครึ่งถึงสองขั้นแม้โรงเรียนจะมีสภาพลักษณะที่ใกล้เคียงกัน

(9) ความก้าวหน้าวิทยฐานะต่างกันมาก ครูท้องถิ่นส่งขอวิทยฐานะได้ปีละสองครั้งคือเมษายนและตุลาคม แต่ครู สพฐ.ส่งได้ทุกเดือน และครูท้องถิ่นส่งวิทยฐานะไปที่ส่วนกลางซึ่งยากกว่า

(10) ระบบการบริหารครูของท้องถิ่นไม่มีมาตรฐานเน้นงานตามนโยบายนายกฯ ปลัดฯและ สภาท้องถิ่น ทำให้ครูท้องถิ่นหมดขวัญกำลังใจอยากโอนย้ายไป สพฐ.เช่น การจัดครูไปสอนที่ไม่ตรงสายวุฒิ เอาบุตรหลานมาสมัคร และแต่งตั้งเป็นครูแต่ขาดประสบการณ์ ขาดระบบการบังคับบัญชากับ ผอ.รร. มีอภิสิทธิ์ใช้อิทธิพลในโรงเรียน ระบบการเลื่อนขั้นเงินเดือนขาดความก้าวหน้าเพราะจะตกแก่พวกพ้อง

(11) โรงเรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบางแห่งที่ตั้งใหม่หาตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ได้ เพราะการสรรหาของท้องถิ่นยังไม่เปิดกว้าง มีบุคคลากรที่จบบริหารการศึกษาแต่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาจึงต้องไปเอาคนนอก อาทิเช่นปลัดฯหรือ นักบริหารงานอื่นๆมารักษาราชการแทนผู้บริหารการศึกษา ที่อาจทำให้เกิดปัญหาเชิงบริหารที่ไม่ตรงจุด

ปัญหาด้านการเงิน พัสดุ งบประมาณ

ปัญหาด้านการเงิน พัสดุ งบประมาณ แผนงานต่างๆ การตรวจรับงานจ้าง การทำเอกสาร ซ่อมแซมอาคารทำความสะอาด การควบคุมงานปกติหน้าที่ของครูคือสอนหนังสือเท่านั้น แต่ อปท. บางแห่งใช้ครูทำงานเพราะไม่มีธุรการ จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดการเรียนการสอน ถึงขนาดที่ว่านักเรียนหาครูไม่เจอ เพราะครูต้องไปควบคุมงานก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร ทำความสะอาด จึงทำให้ครูท้อแท้ไม่อยากสอนหนังสือ

หากเป็นครูอัตราจ้างที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้บรรจุแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษแบบผู้ดูแลเด็กเล็ก ยิ่งมีอาการไม่อยากทำงานเพราะถือว่าตนเองผิดหวังจากบรรจุ ลามไปถึงภารโรง แม่บ้าน กองช่าง กองคลัง กองศึกษาล้วนแต่ไม่อยากให้ความร่วมมือกับโรงเรียนโดยเฉพาะผู้ดูแลเด็กเล็กที่ขึ้นมาเป็นครูอนุบาลโดยการสอบแบบกรณีพิเศษ ทำให้คนในท้องถิ่นด้วยกันเองเขม่น ข้าราชการครูและครูอัตราจ้างไม่พอใจต่อพฤติกรรมของคนบางคน

ปัญหาอื่น ๆ

(1)ด้านจำนวนนักเรียน บางโรงเรียนนักเรียนเยอะจนครูไม่พอต่อการดูแลนักเรียน แต่ต้องสนองนโยบายของฝ่ายการเมืองจึงรับเพิ่มเรื่อยๆจนจัดการศึกษาไม่มีคุณภาพ แบบแห่งครูมากแต่ไม่มีนักเรียนท้องถิ่นจังหวัดก็ไม่ดูแลจำนวนนักเรียนกับจำนวนครูให้เหมาะสมกัน

(2) ความสามารถหรือเอกการศึกษาของครูในโรงเรียน ไม่ได้จัดการสอนให้เป็นไปตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ตนจบมาเพราะครูเดิมสอนอยู่ บางโรงเรียนไม่มีเอกศิลปะ สังคม ดนตรี เกษตร แนะแนว แต่จัดแบบให้ผ่านไปจนเด็กด้อยคุณภาพ

ในกระบวนการคัดเลือกบุคคลกรเข้าสู่ตำแหน่งครู ตามอัตราที่ได้รับการจัดสรรจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีกระบวนการล็อกตำแหน่ง เลือกปฏิบัติ อาทิ การแกล้งสัมภาษณ์ให้สอบตก ทำให้การเข้าสู่ตำแหน่งตอกย้ำกระบวนการอุปถัมภ์มาก หากผู้ที่เข้ารับการคัดเลือกหรือการสอบมิใช่คนของตนเอง

หมดหน้ากระดาษ ขอต่อคราวหน้า



[1]Phachern Thammasarangkoon & Manop Ngamta, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23418 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 38 วันศุกร์ที่ 1 – วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2560, หน้า 66

[2]นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย (0-5ปี)ระยะยาว พ.ศ.2550-2559, เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550, http://www.onec.go.th/index.php/book/BookView/421

& ดูใน วารสารการศึกษาปฐมวัย ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 เมษายน 2542 หน้าที่ 17-24 โดย ผศ.ดร. กุลยา ตันติผลาชีวะ, สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การศึกษาปฐมวัยเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมการดูแล และการศึกษาที่จัดให้กับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี การศึกษาอนุบาลเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปฐมวัย

& ลำดวน คัฒมารศรี, ความหมายและความสำคัญของเด็กปฐมวัย กลับหน้าเครือข่าย, ศูนย์การเรียนรู้ทางการศึกษาปฐมวัย วิทยาลัยฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, 21 เมษายน 2559, http://www.e-child-edu.com/youthcenter/forum/post_...

[3]ดู รัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย

รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย

การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาตามวรรคสอง หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามวรรคสาม รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน

ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้การบริหารจัดการกองทุนเป็นอิสระและกำหนดให้มีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

[4]สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: การศึกษาไม่เป็น “สิทธิ” รัฐต้องจัดเรียนฟรี 12 ปี จากอนุบาล 1 ถึง ม.3, โดย iLaw, 22 กรกฎาคม 2559, https://ilaw.or.th/node/4209

& คำสั่ง คสช.ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายและแต่งตั้งข้าราชการการเมือง, ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 248/2559, 15 มิถุนายน 2559, http://www.moe.go.th/websm/2016/jun/248.html

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

“ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา”หมายความว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้แก่หรือผ่านทางสถานศึกษาหรือผู้จัดการศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี

“การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี” หมายความว่า การศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) (ถ้ามี) ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 3) หรือเทียบเท่า และให้หมายความรวมถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ด้วย

& นโยบายด้านการศึกษาของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา), 30 พฤษภาคม 2559, http://www.xn--12cg5gc1e7b.com/5468

[5]สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: การศึกษาไม่เป็น “สิทธิ” รัฐต้องจัดเรียนฟรี 12 ปี จากอนุบาล 1 ถึง ม.3, โดย iLaw, 22 กรกฎาคม 2559,อ้างแล้ว

[6]มาตรา 278 ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐที่คณะรัฐมนตรีกำหนดดำเนินการให้จัดทำร่างกฎหมายที่จำเป็นตามมาตรา 58 มาตรา 62 และมาตรา 63 ให้แล้วเสร็จและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้น

ในกรณีที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ให้คณะรัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาที่แต่ละหน่วยงานต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามความจำเป็นของแต่ละหน่วยงาน แต่ทั้งนี้เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินสองร้อยสี่สิบวันตามวรรคหนึ่ง

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐตามวรรคหนึ่งไม่อาจดำเนินการได้ภายในกำหนดเวลาตามวรรคสองให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้นพ้นจากตำแหน่ง

[7]มาตรา 58 การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

[8]นักวิชาการ ชำแหละ ยุทธศาสตร์20ปี ‘คือแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่มียุทธศาสตร์’, ที่มา : HarirakSutabutr, 28 เมษายน 2560, http://www.matichon.co.th/news/543772

[9]พระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553, https://www.mwit.ac.th/~person/01-Statutes/Nationa...

มาตรา 41 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิจัดการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่งหรือทุกระดับตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่น

มาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากรและการลงทุนด้านงบประมาณ การเงิน และทรัพย์สินทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชนเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศมาใช้จัดการศึกษาดังนี้

(1) ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยอาจจัดเก็บภาษี เพื่อการศึกษาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

(2) ให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา โดยเป็นผู้จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา บริจาคทรัพย์สินและทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา และมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็น

ทั้งนี้ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมทรัพยากรดังกล่าว โดยการสนับสนุน การอุดหนุนและใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

[10]การศึกษาในประเทศไทย, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/การศึกษาในประเทศไทย

สำหรับระบบการศึกษาในโรงเรียนของประเทศไทยนั้นจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4-6) ในช่วงชั้นที่ 3 (ม.1-3) และ ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4-6)

& หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544/แนวการจัดการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น, https://th.wikisource.org/wiki/หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน_พุทธศักราช_2544/แนวการจัดการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น

& หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551, www.mengrai.ac.th/ebooktrain/sara.doc

หมายเลขบันทึก: 629080เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2017 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท