ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_30 : ร่วมด้วยช่วย ดร.นุชรัตน์ (๔) เรียนรู้ชุมชน


บันทึกที่ (๓) วิธีวิพากษ์ผลงานการคิดสร้างสรรค์



๕) ฝึกคิดด้วยประเด็นปัญหา

หลังจากเปิดใจ สร้างแรงบันดาลใจ ขั้นตอนต่อไปคือ "ฝึกคิด" ด้วยการเรียนรู้ในรูปแบบ (Pattern-based Learning) แบบต่าง ๆ วิธีที่ใช้ได้ผลดีสำหรับเด็กสมัยนี้คือ เปิดหนังสั้นให้ดู หรือคลิปที่น่าสนใจให้ดู แล้วให้ตอบคำถามและอภิปรายกัน เช่น หนังสั้นเรื่อง Fireflies: River of Light หรือ "Hotaru no Hoshi" หรือ หิ่งห้อย : แม่น้ำแห่งความฝัน (ผมตั้งชื่อเองครับอันนี้)


เมื่อดูเสร็จ ให้แต่ละคนเขียนตอบคำถาม ๗ คำถาม ตามสไลด์ของครูเพ็ญศรี ใจกล้าด้านล่าง จากนั้น ให้จับกลุ่มแลกเปลี่ยนอภิปราย ให้ได้คำตอบที่ดีที่สุดของกลุ่ม

หลังจากอภิรายกันแล้ว ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอโดยใช้เวลาสั้น ๆ โดยสลับคนไปตามสมควร โดยกำหนดว่าทุกต้องได้ฝึกพูด ไม่สัปดาห์นี้หรือครั้งนี้ก็ครั้งถัดไป ขั้นตอนนี้จะฝึกทักษะการคิดพูดและนำเสนอ ความกล้าแสดงออกของนักเรียนก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

๖) เรียนรู้ชุมชน

สิ่งที่เรากำลังทำคือ หนุนเสริมให้ครูนำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนของตนเอง นักเรียนที่แก้ปัญหาในชุมชน โดยใช้วิธีการสอนแบบ 3PBL และมั่นใจว่า หากทำอย่างต่อเนื่องแล้ว นักเรียนจะมีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ของคนไทย และรัก หวงแหน และภูมิใจในท้องถิ่นภูมิลำเนารากเหง้าของเราเอง

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กำลังทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยกำหนดไว้ในรายวิชาศึกษาทั่วไป ชื่อรายวิชา "๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" และกำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตรให้นิสิตทุกคนต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ นั่นหมายถึง นิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคามทุกคน จะได้เรียนรู้ชุมชนแน่นอน และคาดหวังจะให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นในทุกด้าน

การเรียนรู้แบบ 3PBL ในระดับประถมหรือมัธยม ควรเน้นไปที่ไปที่ "กระบวนการ" โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ ครูต้องค่อย ๆ ปลูกฝังวิธีคิดแบบนักพัฒนาหรือนักวิจัยให้กับผู้เรียน และจะดีที่สุดถ้าครูช่วยกันพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ขึ้นมาในโรงเรียนเอง โดยมีเป้าหมายมุ่งให้นักเรียนสามารถคิดเอง แก้ปัญหา และพัฒนาชุมชนได้


ให้เริ่มด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ ทำอย่างไรก็ได้ครับ ให้นักเรียนเห็นความสำคัญ และอยากจะทำ หยากเรียน ....ความจริงเด็กหลายคนอาจเหมือนถูกบังคับในตอนแรก แต่เมื่อได้ไปเรียนรู้ชุมชน กลับชอบและเปลี่ยนทัศคติทีหลัง

จากนั้นให้เครื่องมือการเรียนรู้ชุมชน ๑๐ อย่าง ได้แก่ เครื่องมือพื้นฐาน ๓ อย่าง ได้แก่ การสังเกต การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่มย่อย และเครื่องมือเรียนรู้วิถีชุมชน ๗ ชิ้น ของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัยพ์ ได้แก่ แผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ โครงสร้างชุมชน ปฏิทินชุมชน ระบบสุขภาพชุมชน ผังประวัติชุมชน และประวัติชีวิตบุคคลที่น่าสนใจ ผมเสนอตัวอย่างไว้ให้ลองไปทำดูดังภาพเหล่านี้ครับ











หลักสำคัญคือ กิจกรรมการเรียนรู้ชุมชนต้องเน้นเป็นแบบตื่นตัว (Active Learning) ผู้เรียนได้คิด ทดลองทำ ทำกิจกรรม และนำเสนอ ตัวอย่างกิจกรรมที่ควรพานักเรียนเวียนทำอย่างต่อเนื่อง หลาย ๆ รอบ

PLC ครูควรจะถกกันครับ ว่าจะทำหลักสูตรท้องถิ่นของตนเองอย่างไร จะวางกิจกรรมให้นักเรียนชั้นไหน ได้ฝึกเรียนรู้ชุมชนจากกิจกรรมใดบ้าง การร่วมกันออกแบบให้ออกมาเป็นหลักสูตรหรือรายวิชา อาจกลายมาเป็นต้นแบบ BP ให้โรงเรียนอื่น ๆ ได้เรียนรู้ครับ


๖) แผนที่เดินดิน

ในขั้นแรก ควรจัดให้นักเรียนได้เดินสำรวจชุมชน แบ่งเด็กนักเรียน ๕-๘ คน ต่อกลุ่ม และกำหนดพื้นที่ขอบเขตให้ชัดเจนว่าจะให้ไปศึกษาที่ใด ให้เวลาประมาณครึ่งวัน สมมติเป็นตอนเช้า ภาคบ่ายให้มารวมกัน แจกกระดาษปลู๊ฟ ๑ แผ่น และสีชอร์ค ๑ กล่อง ให้เริ่มทำ ก่อนจะจัดให้ทุกกลุ่มได้นำเสนอผลงานของตนเอง



ผมขอเสนอวิธีคิดหรือเทคนิคในการกำหนดปัญหาหรือหัวเรื่อง จากแผนที่เดินดินที่ได้ร่วมกันวาดลงกระดาษปลู๊ฟแล้ว โดยให้ผู้เรียนระดมสมองลองทำใบงานขนาดใหญ่ลงในกระดาษปลู๊ฟอีกแผ่น ดังนี้



สิ่งที่ได้จากใบงานนี้ คือ หัวเรื่องหรือปัญหา ที่นักเรียนจะนำไปหาวิธีแก้ไขหรือพัฒนาต่อไป โดยอาจจะดำเนินการในลักษณะโครงการหรือโครงงาน

๗) ต้นไม้เจ้าปัญหา

กิจกรรมถัดไปคือ "ต้นไม้เจ้าปัญหา" เป็นเครื่องมือช่วยคิดแบบอริยสัจ ๔ ผ่านการวิเคราะห์ โดยการเปรียบกับต้นไม้ที่ตายแล้วดังรูป ดังนี้






  • ทุกข์ อะไรคือปัญหา ซึ่งกำหนดไปแล้วตั้งแต่กิจกรรม "ระดมสมองมองปัญหาหรือปัญญาเพื่อพัฒนาชุมชน" โดยให้เปรียบไว้เป็นลำต้น
  • สมุทัย สาเหตุอะไรให้เกิดทุกข์นั้น อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง สาเหตุหลักเปรียบให้เป็นรากแก้ว หรือรากใหญ่ ๆ ส่วนอะไรที่เป็นสาเหตุรองหรือปัจจัยให้เกิดปัญหานั้น ให้วาดเป็นรากย่อยรากฝอยต่อไป
  • นิโรจ คือ ผลที่เกิดจากการดับทุกข์ ในกรณีต้นไม้ตายให้มองในมุมลบ คือผลกระทบอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หากไม่แก้ปัญหานั้น ๆ ส่วนต้นไม้เป็นให้เขียนสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหากแก้ปัญหานั้น
  • มรรค หนทางแห่งการดับทุกข์ เปรียบได้กับวิธีแก้ปัยหา ซึ่งจะต้องระดมสมองในกิจกรรม ๕ ภาพ ต่อไป

หรือหากมีเวลาจำกัด สามารถเร่งรัดให้เป็นต้นไม้ต้นเดียว ดังสไลด์ของครูเพ็ญศรี ดังรูป




๘) กิจกรรม ๕ ภาพ

ครูเพ็ญศรี ใจกล้า ประสบความสำเร็จมากกับการฝึกนักเรียนให้สามารถเขียนโครงการหรือโครงงานได้ด้วยตนเอง เทคนิคที่ท่านใช้ เรียกว่า ๕ ภาพ หรือ ๕ ฉาก แสดงในสไลด์ด้านล่าง



วิธีการคือให้สมาชิกในกลุ่มวาดคนละภาพก่อน ได้แก่ ภาพปัญหา ภาพสาเหตุของปัญหา ภาพผลกระทบจากปัญหา ภาพวิธีการแก้ปัญหา และภาพฝันถ้าปัญหาได้รับการแก้ไข แล้วให้แลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม ก่อนปรับปรุงเป็นหน้าที่ของกลุ่ม

ต่อไปนี้เป็นผลงานจากการอบรมครู แบบเวลาจำกัดมาก ๆ คือ ให้ลงชุมชนเพียงชั่วโมงเดียว และเขียนแผนที่เดินดินอีก ๓๐ นาที ... ผลงานออกมาสุดยอดไปเลยครับ


















ขอจบบันทึกนี้เท่านี้ก่อนครับ บันทึกหน้ามาว่ากันเรื่องเขียนเค้าร่างโครงการครับ



หมายเลขบันทึก: 628559เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 01:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2017 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท