ชีวิตที่พอเพียง : 2911. ควงสาวเที่ยวฮานอย 4. ประชุม 6th HTAsiaLink วันที่สอง


วันอังคารที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐


จัดชุดสิทธิประโยชน์อย่างไรในระดับประเทศ

นี่คือหัวข้อของ Plenary Session ในเช้าวันนี้ ที่เมื่อเริ่มประชุมประธานก็บอกว่ามีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย คือ ผู้พูดจากอินโดนีเซียมาไม่ได้ ประธานจึงขอให้ผู้พูดคนแรกคือ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ พูด ๔๐ นาที แทนที่จะพูด ๓๐ นาที ตามกำหนดการเดิม เราจึงได้ฟัง UHC ไทยฉบับคุณหมอสุวิทย์ ตามที่คุณหมอสมศักดิ์ (ชุณหรัศมิ์) แซว แต่สำหรับผมแล้ว นี่คือการสรุปภาพใหญ่ของระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุด


ผมได้ความรู้ว่า ระบบสุขภาพไทยใช้เงิน ๑๖ - ๑๗% ของงบประมาณแผ่นดิน เป็นตัวเลขที่อยู่ใน P95 ของโลก คืออยู่ในกลุ่มประเทศที่ใช้งบประมาณภาครัฐต่อการดูแลสุขภาพสูงที่สุด เราจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงิน หลีกเลี่ยงการเพิ่มเงิน ผมนำ ppt ของคุณหมอสุวิทย์มาลงไว้ทั้งหมด


ดังได้กล่าวในตอนที่แล้ว ระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี ขึ้นกับหลากหลายปัจจัย รวมทั้งระดับความเหลื่อมล้ำในสังคม ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำ จะใช้ระบบร่วมจ่าย (co-payment) ได้อย่างราบรื่น แต่ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงอย่างไทย ใช้ระบบนี้ยาก แต่ผมกลับคิดว่าในระบบสุขภาพไทย คนจนโดนจ่ายด้วยความจำยอมไม่น้อย


ส่วนที่คุณหมอสุวิทย์ไม่ได้ย้ำคือโครงสร้างพื้นฐานของระบบสุขภาพ ที่จะต้องดี ซึ่งประเด็นนี้เห็นจากระบบของประเทศอัฟริกาใต้ ที่เสนอเป็นคนต่อมา ที่แสดงระบบที่ไม่ดีของประเทศ โดยครึ่งหนึ่งเป็นระบบธุรกิจเอกชน (แข็งแรง บริการคนขาว/คนรวย) ครึ่งหนึ่งเป็นของภาครัฐ (อ่อนแอ บริการคนดำ/คนจน) รวมแล้วใช้เงินถึงร้อยละ ๘.๖ ของจีดีพี (คุณหมอสมศักดิ์คิดตัวเลขให้ผมเห็นว่าคนจน ของเขาใช้เงินดูแลสุขภาพสูงกว่าคนไทยในภาพรวม แต่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพของเขาต่ำกว่ามาก เพราะราคาค่าบริการโดนดันให้สูงโดยระบบเอกชน) ความยากลำบากในการดูแลค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระเกินไปคือการใช้ HTA เสนอหลักฐานสำหรับเลือกใช้ยา ซึ่งหมอไม่ชอบ


ลงท้ายก็มีคนมาพูดระบบของอินโดนีเซียสั้นๆ แทน ฟังแล้วยังเป็นระบบตั้งรับเฉพาะเรื่องมากไป ต่างกับของไทยที่เป็นระบบรุกเพื่อใช้เงินให้คุ้มค่าทั้งระบบ



ใช้วิชาการทำให้ระบบสุขภาพสมเหตุสมผลมากขึ้น

นั่นคือหัวข้อที่ผมตั้งเองระหว่างนั่งฟัง oral presentation ห้อง Health Systems Research ซึ่งเรื่องแรกเป็นการศึกษาระบบ Free Drug List (FDL) ของเนปาล โดยทีมของ HITAP ศึกษาเทียบกับระบบ EML (Essential Medicines List) ของไทย โดยที่ FDL เกิดขึ้นจากความจำเป็นทางการเมืองที่จะช่วยคนจน ๖ กลุ่ม นิยามคือเป็นยาที่จ่ายฟรีแก่ผู้ป่วยที่ไปรับบริการที่สถานีอนามัยในชนบท ส่วน EML ของไทยเป็นรายการยาที่จ่ายได้ในระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า ฟังแล้วเห็นได้ชัดเจนว่า HSR (การวิจัยระบบสุขภาพ) ช่วยให้มีการตรวจสอบระบบ และพัฒนาระบบให้ได้ผลตามเป้าหมายยิ่งขึ้น อย่างกรณี FDL ของเนปาล


เรื่องที่สองนำเสนอโดย ดร. น้ำฝน ศรีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องทบทวนประสบการณ์ นานาชาติในการจัดการการใช้ยาที่หมดอายุสิทธิบัตร


ผมจำกัดความสนใจต่อการประชุมไว้ที่ภาพใหญ่ จึงไม่ได้เข้าประชุม oral presentation ต่ออีก หลบไปนั่งทำการบ้านเรื่องที่จะต้องบรรยายในสัปดาห์หน้า ๒ เรื่อง ในภาพใหญ่ของการประชุม ผมคิดว่า การประชุม HTAsiaLink จับเรื่องเชิงระบบมากขึ้น มองปัจจัยด้านเทคนิคหรือวิชาการเชื่อมโยงกับ ระบบสุขภาพได้ดีขึ้น



งานเลี้ยงรับรอง

เจ้าภาพของการประชุมคือ HSPI (Health Strategy and Policy Institute) จัดเลี้ยงที่ภัตตาคาร Sen ซึ่งอยู่ริมทะเลสาบ West Lake ห่างจากโรงแรมประมาณ ๕ ก.ม. เป็นภัตตาคารแบบบุฟเฟ่ต์ที่ใหญ่มาก อาหารคงจะกว่าร้อยชนิด และรสชาติดี



วิจารณ์ พานิช

๑๘ เม.ย. ๖๐

ห้อง ๗๐๑ โรงแรม La Thanh ฮานอย



1




2



3


4


5


6


7


8


9


10


11


12


13


14


15


16


17


18


19


20 สภาพห้องประชุม


21 ในร้านอาหารบุฟเฟ่ต์


หมายเลขบันทึก: 628335เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2017 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2017 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท