ค่ากลาง (๒)



ภาพที่ ๑. หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง

ภาพที่ ๒. พระธาตุกลางน้ำ ที่จมลิบ ๆ เห็นเพียงผ้าจีวรเหลืองและธงที่ปักเป็นจุดสังเกตนะคะ บนซ้ายของภาพ

ภาพที่ ๓. สร้างพระธาตุหล้าหนองขึ้นจำลองแทนพระธาตุกลางน้ำ

ภาพที่ ๔. Click ที่ในภาพ จะอ่านประวัติได้สะดวกขึ้นนะคะ


กลางวันเข้าประชุมเรื่อง ค่ากลาง แล้ว เย็น ๆ เราก็ออกสำรวจหาค่ากลางความสวยงาม ประวัติน่าสนใจของวัดในเขตตัวเมืองหนองคาย ไปได้ ๒ แห่งก็ค่ำสนิทแล้วค่ะ

ทบทวนวันที่ ๒ พค. ๒๕๖๐ ได้ Spider web ความสัมพันธ์การพัฒนาสุขภาพช่องปากแล้ว ต่อด้วยแบ่งกลุ่ม Supporter ออกให้ชัด เพราะบทบาทต่างจากผู้ปฏิบัติการ กลุ่มใหญ่สุด ไม่ยอมเลิกคุยสักที เกือบห้าโมงเย็นทุกวัน

กลุ่มผู้ปฏิบัติกระจายกลุ่มที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ภาคประชาชน ให้เฉลี่ยออกไปทุกกลุ่มใกล้เคียงกัน

เพื่อคุยในกลุ่มที่มี Facilitator แบ่งให้ประจำกลุ่ม เพิ่มด้วยคุณหมอเถ่า จากโรงพยาบาลบ้านฝาง ขอนแก่น และคุณหมอหรั่น โรงพยาบาลจะนะ สงขลา ที่น่ารักมาก ... ทำบทบาทผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดแล้ว บางช่วงเป็นผู้นำเสนอผลประชุมกลุ่มด้วย พอให้ช่วยเป็น Fa ก็ทำหน้าที่เยี่ยมอีกเช่นกัน

พี่สุรัตน์ให้โจทย์กลุ่ม ในมิติภาคประชาชน หัวข้อแรกที่เป็นปัจจัยความสำเร็จ (CSF : Critical Success Factor) ของการนำไปสู่ประชาชนสุขภาพดี คือ การเฝ้าระวังสุขภาพโดยชุมชน/ประชาชน

แต่ละกลุ่มเล่าเรื่องที่สมาชิกแต่ละคนทำ ทีมเราทำ หรือภาคีในพื้นที่เราทำอยู่แล้ว จนหมดเวลาประชุม หลายกลุ่มห้าโมงเย็นจึงแยกย้ายนั่นละค่ะ ... คุยกันมันมาก

เราพาเพื่อนต่างถิ่นไปไหว้หลวงพ่อพระใส และพระธาตุกลางน้ำ ตามด้วยมื้อเย็นเบา ๆ ร้านช้อนทอง แกงเส้น โจ๊ก ข้าวเหนียว หมูยอ ขาหมูสอดไส้ แจ่ว ผักลวก หม่ำ แหนมทอด พันหอม บลา ๆ ๆ ๆ เบา ๆ ค่ะ เบา ๆ อย่างละคำสองคำ ข้าวเหนียวกระติบเดียวเองจ้ะ

^_,^

เช้าวันที่ ๓ พค. ๒๕๖๐ กระตุ้นร่างกาย สดชื่นแจ่มใส ให้พร้อมเรียนรู้

เดิน ค่ะ เดิน เพียงแค่เดิน มีเพลงเดินของหมอเขียวประกอบ เดินวนทางเดียวกัน พลังกลุ่มจะทำให้เราฮึกเหิมอยากเดินเร็วขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้นโดยอัตโนมัติ ... ใครไม่ค่อยได้เดิน ใครไม่ได้ออกกำลังกายประจำ มีหอบค่ะมีหอบ

ไปเดินกันต่อเองนะคะ วันละหมื่นก้าวก็ได้ วันละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อยก็ได้ เริ่มวันนี้ก็ยังไม่สาย

พร้อมแล้วก็มาฟังว่า แต่ละกลุ่มมีกิจกรรมเฝ้าระวังสุขภาพช่องปากในชุมชน ศพด. (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก) โรงเรียน ที่ภาคีต่าง ๆ ทำบทบาทอะไรกันบ้าง

และกลุ่มวิเคราะห์ว่า กิจกรรมใดเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำแล้วทำให้เกิดชุดกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ เกิดพลังให้เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องต่อไปอีก

หรือกิจกรรมใดที่พื้นที่ต่าง ๆ ทำซ้ำ ๆ กัน คล้าย ๆ กัน รวมไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน โดยไม่ทิ้งรายละเอียดของการทำ ยิ่งมีเทคนิคมี Trick น่าสนใจ เพื่อน ๆ ในกลุ่มช่วยกันฟัง ซักถาม Facilitator ประจำกลุ่มช่วยกันขุด สืบค้น จนเห็นภาพชัด

เล่าสู่กันฟังทั้งห้องประชุมใหญ่

หมดรอบกลุ่มผู้ปฏิบัติ ตามด้วยกลุ่ม Supporter คือ ผู้เข้าประชุมที่มาจาก สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ยังอยู่ในหัวข้อ การเฝ้าระวังสุขภาพช่องปาก

^_,^

มีผู้เข้าประชุมที่คุ้นเคยการนอนผ่อนพักตระหนักรู้เรียกร้องมา ทีมวิทยากรจัดให้ตามคำขอ .... จริง ๆ ผู้เขียนก็โปรดเป็นที่สุด อิ อิ ปกติถ้าไม่มีคนช่วยก็นำเอง แต่ถ้าพี่ฝนอยู่พี่ฝนนำ เราก็ได้พักจริงนอนจริง

บ่ายมา ร่างกายพร้อม สมองพร้อม ใจพร้อม สดชื่นมาก

หัวข้อที่สองที่กลุ่มพูดคุยกัน คือ การสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


หมดรอบแต่ละหัวข้อ เพื่อน ๆ ฟังแล้วยังเสนอเพิ่มเติมได้อีก

หัวข้อที่สาม มาตรการทางสังคม

แล้ว อ.พี่แต๋ว ค่อย ๆ ชวนหา ชวนคิดซ้ำว่า CSF ที่เราหามาใช่จริงไหม คนส่วนใหญ่ใคร ๆ ก็ทำ มีสิ่งอื่นอีกไหมที่ทำแล้ว บันดาลพลังระเบิดต่อเนื่องไปถึงกิจกรรมอื่นที่สำคัญด้วย

หากิจกรรมที่ทำ ๒๐ ได้ผลกระเทือนต่อเป็น ๘๐ จะดีมาก ๆ (กฎ Pareto)

ไม่ใช่ขี้เกียจนะ แต่ใช้พลัง ใช้สมอง สองมือ เวลา บุคลากร งบประมาณอย่างชาญฉลาด น่าจะมีความสุขกว่า

^_,^

เหมือนใช้เวลาเยอะ ให้เวลาคุยกลุ่ม ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง ไม่พอสักที มีแต่ขอเวลาเพิ่ม

บอกถึงเวลาพักเบรคแล้ว ก็ไม่ยอมพัก ถึงเวลานำเสนอก็มีแต่เรื่องดี ๆ น่าสนใจเต็มไปหมด

ช่วงอาจารย์เสนอแนะอย่างใจเย็น อาจารย์ตั้งคำถามยิ่งให้ชวนคิดต่อยอดกิจกรรมไปอีก

เป็นวันที่สองของการเรียนรู้ ที่ประสบการณ์พวกเราที่นำมาแลกกันเอง เป็น "ครู" ซึ่งกันและกันจริง ๆ

ใครฟังเก่ง ฟังเป็น ตั้งคำถามชวนตอบเก่ง เจอคนทำเองกับมือ อยากตอบอยากเล่า ทั้งสิ่งดี และการเอาชนะก้าวพ้นความยากลำบากผ่านอุปสรรคมาได้ มีบทเรียนเจ๋ง ๆ เพื่อนก็ยิ่งอยากฟัง

ตามติดไปคุยต่อนอกเวลา นอกวงก็มี

ความรู้สึกดี ความงดงามระหว่างทางของการเรียนรู้นี่แหละ เป็นเสน่ห์ของวงจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ KM (Knowledge Management) แบบที่เอาใจใส่การเตรียมใจของผู้ร่วมวงให้พร้อม ๆ กับเตรียมร่างกาย ใจว่าง ๆ เหมือนเด็ก ๆ ที่พร้อมเรียนรู้

ไม่ต้องเก๊กไม่ต้องขึงตึงว่าฉันหมอนะ เธอประชาชน .... ประสบการณ์ที่ลงมือทำมาเองต่างหาก คือ ครูสำคัญ สมองทีหลังก็ได้ ใช้มาเยอะแล้วค่ะ (ความเห็นส่วนตัว อิ อิ)

ครูจริง ๆ อสม. ทันตาภิบาล นักวิชาการ อปท. พยาบาล ทันตแพทย์ ฯลฯ ที่ลงมือทำ นำสิ่งที่ทำมา Share อย่างจริงใจ ... ตัวจริงใช่เลย

^_,^

พรุ่งนี้มาฟังสรุปนะคะ Note-taker หลัก พี่สุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา คุณหมอต้นอ้อ ปิยะนุช เอกก้านตรง นำ Tacit knowledge จากพวกเราทั้งห้อง เสนอเป็น Explicit knowledge อะไรบ้าง

ส่วนที่พวกเราได้ไปแล้ว มากน้อยบ้าง แง่มุมต่างกันอยู่แล้ว ที่มา ความรู้ ประสบการณ์เดิม บริบทก็แตกต่างกัน คือ ความรู้ที่ได้ระหว่างพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยใจที่สบาย ๆ นิ่ง ๆ ความรู้ที่เราเข้าใจตามประสบการณ์ที่เรามี

บางอย่างเรายังไม่เข้าใจ ไม่เป็นไร ? ไว้ วันหน้าเราอาจเข้าใจก็ได้ เมื่อเราโตขึ้น พบประสบแบบนั้น ๆ

ที่น่าสนใจ คือ จากสามวันนี้จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ต่อในบันทึกที่สามนะคะ

สวัสดีค่ะ

^_,^

(สำหรับผู้สนใจเพิ่มเติม ติดตามที่ Slide นะคะ)

20170506224528.pptx



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท