เต๋าแห่งฟิสิกส์ ตอนที่ 2 : สาระสังเขป


เต๋าแห่งฟิสิกส์ ตอนที่ 2 : สาระสังเขป

15 เมษายน 2560

“The Tao of Physics” (เต๋าแห่งฟิสิกส์) [1] เป็นวรรณกรรมแนวพระพุทธศาสนาในประเทศตะวันตก [2] ที่ถือว่าโด่งดังมาตลอด 40 ปีเศษ (ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1975) และเป็นหนังสือขายดีในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา (Best Seller) คือ งานวรรณกรรมของฟริตจ๊อฟ คาปร้า (Fritjof Capra ฟริตจอฟ คาปร้า : 1939-ปัจจุบัน) คาปร้าเป็นนักฟิสิกส์ระดับแนวหน้าคนหนึ่งของตะวันตกที่สนใจศึกษาแนวคิดของศาสนาตะวันออก

คาปร้าได้เริ่มต้นงานของเขาด้วยการวิพากษ์ถึงจุดติดตันและความผิดพลาดของกระบวนทางวิทยาศาสตร์แบบเก่า คือ ฟิสิกส์เก่า ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดของบุคคลสำคัญ 3 ท่าน คือ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon : 1909 – 1992) เรอเน เดคาร์ต (René Descartes : 1596- ‎1650) และไอแซค นิวตัน (Sir. Isaac Newton : 1642-1727) ฐานคิดสำคัญของบุคคล 3 ท่านนี้ที่คาปร้านำมาวิพากษ์วิจารณ์ [3]

ในทางฟิสิกส์ หากเป็นสิ่งเล็ก ๆ ก็คือ อะตอม หากเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าก็คือ สัมพันธภาพ วัตถุขนาดใหญ่ ภายใต้แรงโน้มถ่วงเป็นหลัก ต่างจากควอนตัมที่อธิบายแต่สิ่งเล็กๆ คาปร้าเป็นนักฟิสิกส์ที่เข้าใจในวิถีของธรรมชาติ เขาเข้าใจในสภาวะของธรรมชาติที่มีสองสภาวะ คือ จิตกับวัตถุ การแบ่งแยกระหว่างจิตและวัตถุ และนำไปสู่ลัทธิทวิภาวะ (Dualism) ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะสำคัญของปรัชญาตะวันตก ซึ่งมีการแบ่งแยกออกเป็นสองฝักฝ่ายระหว่างจิตและวัตถุ กายและวิญญาณ

ในทัศนะของพุทธศาสนา สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” มีองค์ประกอบใหญ่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นรูปธรรม กับส่วนที่เป็นนามธรรม อย่างที่เราเข้าใจกันทั่วไปว่า เป็นเรื่องของกายกับเรื่องของจิต องค์ประกอบใหญ่ทั้งสองส่วนนี้ รวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ 5 (The Five Aggregates) ซึ่งประกอบด้วย รูป Corporeality) เวทนา(Feeling) สัญญา (Perception) สังขาร (Mental Formation) และ วิญญาณ (Consciousness) [4]

สารบัญเรื่อง [5]

ภาคที่ 1 วิถีแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่ หนทางที่กอปรด้วยหัวใจ บทที่ 2 การรู้การเห็น [6] บทที่ 3 พ้นภาษา บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่

ภาคที่ 2 มรรคาแห่งศาสนาตะวันออก : บทที่ 5 ศาสนาฮินดู บทที่ 6 พุทธศาสนา บทที่ 7 ปรัชญาจีน บทที่ 8 ลัทธิเต๋า บทที่ 9 นิกายเซน

ภาคที่ 3 ความสอดคล้อง : บทที่ 10 เอกภพแห่งสรรพสิ่ง บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์ บทที่ 14 แบบแผนแห่งการเปลี่ยนแปลง บทที่ 15 ความสอดประสานสัมพันธ์ บทที่ 16 บทสรุป

ภาคผนวก บทสัมภาษณ์ ฟริตจอฟ คาปร้า โดยมาร์ก คีเดล เชิงอรรถ

ปรัชญาตะวันออกสามอย่าง

“ศาสนาตะวันออก” คาปร้าหมายถึง ปรัชญาศาสนาฮินดู พุทธ และเต๋า ในรากฐานวิชาฟิสิกส์ในศตวรรษที่ 20 คือ “ทฤษฎีควอนตัม และทฤษฎีสัมพันธภาพ” (Quantum & Relativity Theory) โลกทัศน์คล้ายคลึงกับโลกทัศน์ของชาวฮินดู พุทธ และเต๋า ในคัมภีร์พระเวท (Vedas) พระสูตร (Sutra หมายถึง คัมภีร์ต่างๆ ของพระพุทธศาสนา) คัมภีร์อี้จิง (I Ching = Tao Te Ching) เอาสองทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์ในโลกของอนุภาค “อะตอม” (Atom) ที่เล็กมาจนมองไม่เห็น โดยมีปราชญ์ชาวตะวันออกสองท่านช่วยคือ ฟิรอซ เมห์ทา (Phiroz Mehta) แนะนำแง่มุมศาสนาในอินเดีย และ หวิวซิ่วฉี (Liu Hsiu Chi) อาจารย์สอนไท้จี แนะนำเกี่ยวกับเต๋า

จุดหมายสำคัญอันเป็นแกนกลางของศาสนาตะวันออกก็คือ การหยั่งรู้การที่ปรากฏทั้งมวลในโลกพิภพนี้เป็นสิ่งปรากฏแสดงของสัจธรรมสูงสุดประการเดียว สัจธรรมนี้ถือเป็นแก่นแท้ของจักรวาล รองรับและเอาสรรพสิ่งและเหตุการณ์อันหลากหลาย ซึ่งเราสังเกตเห็นได้นั้น อยู่ในเอกภาพอันหนึ่งอันเดียวกันฮินดูเรียกสิ่งนั้นว่า พรหมัน (Bhroman : ปรมาตมันกับพรหมเป็นสิ่งเดียวกัน) ชาวพุทธเรียกว่า ธรรมกาย (กายแห่งสัตตะ) หรือตถตา (ความเป็นเช่นนั้นเอง) และเต๋า สำหรับผู้นับถือลัทธิเต๋า แต่ละฝ่ายล้วนยืนยันว่าสัจธรรมดังกล่าวอยู่เหนือความคิดนึก และท้าทายต่อคำอธิบายต่าง ๆ [7]

ปรัชญาตะวันออกกับความรู้ในวิชาฟิสิกส์ใหม่ศตวรรษที่ 20

เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลุ่มลึกในเชิงเปรียบเทียบเพื่อประสานให้เห็นความสอดคล้องของปรัชญาในศาสนาตะวันออกกับความรู้ในวิชาฟิสิกส์ใหม่จากทฤษฎีสัมพัทธ์ (Relativity Theory) ของไอน์สไตน์ (Albert Einstein : 2422 – 2498) และทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) อันเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ถือกันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติยุคใหม่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกี่ยวกับสสาร พลังงาน ลักษณะการดำรงอยู่ของอะตอมและองค์ประกอบ ซึ่งช่วยให้มนุษย์เข้าใจความเป็นไปและลักษณะการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งเกิดทัศนะใหม่ในการมอง “ความจริง” (Reality) ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจของวิชาฟิสิกส์แบบเดิมตามทฤษฎีกลศาสตร์ของนิวตันซึ่งวิทยาศาสตร์สาขาอื่น และสังคมศาสตร์ด้านต่างๆ ได้ยึดถือเป็นกระบวนทัศน์ในการพัฒนาทฤษฎีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งปัจจุบัน

คาปร้าได้ศึกษาค้นคว้ามาเปรียบเทียบให้เห็นอย่างละเอียดในเต๋าแห่งฟิสิกส์ว่า การค้นพบความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติในศตวรรษที่ 20 นี้ เป็นความรู้ที่มีอยู่แล้วในวัฒนธรรมตะวันออกมานานนับพัน ๆ ปี และอยู่ในรูปของศาสนาซึ่งเป็นแกนหลักของระบบวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต ระบบคิด วิธีคิดแบบเดิมของโลกตะวันออก(และชุมชนดั้งเดิมในโลกตะวันตก เช่น อินเดียแดง อินคา ฯลฯ)

แต่สังคมตะวันตกในช่วง 200 ปีมานี้ได้หันหลังให้ หลังจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งมีฟิสิกส์แบบเดิมหรือกลศาสตร์ (Mechanics) ของนิวตัน เป็นแกนหรือฐานหลักของกระบวนทัศน์ ทำให้วิทยาศาสตร์สาขาอื่น รวมทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ตั้งอยู่บนฟิสิกส์แบบกลศาสตร์นิวตันนี้ ขาดสิ่งที่คาปร้าเรียกว่าหัวใจ หรือจิตวิญญาณ อันขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่ค้นพบใหม่โดยทฤษฎีสัมพัทธ์และทฤษฎีควอนตัม

มองความจริงของโลกแบบองค์รวม (Organic)

กระบวนทัศน์ในการมองความจริงของเอกภพ โลก ธรรมชาติ มนุษย์แบบฟิสิกส์กลศาสตร์นี่เอง ทำให้มนุษย์จัดการกับชีวิต สังคม และธรรมชาติอย่างบกพร่อง จนกระทั่งนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่เป็นทางตัน คาปร้าเห็นว่าความบรรสานสอดคล้องกันระหว่างฟิสิกส์ใหม่และศาสนาจะนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการมองความจริงของโลกแบบองค์รวม (Holistic view = Organic) เป็นการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ไปจากกระแสหลักซึ่งมีลักษณะแบบกลศาสตร์ คือ กลไก (Mechanistic) ลดส่วน แยกส่วน (Reductionist)

โลกทัศน์ของตะวันออกเป็นแบบ “องค์รวม” ในสายตาของปราชญ์ชาวตะวันออก สรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวลซึ่งรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และเป็นเพียงการแสดงออกในหลายแง่มุมของสัจธรรมอันเดียวกัน

คาปร้ามองวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ แบบองค์รวมเหมือน ชาวตะวันออก จึงมีทั้งหลักฟิสิกส์ที่มองแบบปรัชญาตะวันออก ในหนังสือเล่มนี้ เราทราบว่า เราไม่สามารถเขียน สี่เหลี่ยมบนลูกบอลทรงกลมให้มีมุม 90 องศาได้ ดังนั้น กฎของยูคลิค ใช้กับอวกาศไม่ได้ เพราะ อวกาศโค้งนั่นเอง มองอีกมุม คาปร้า พยายามเอาวิทยาศาสตร์มาปนกับศาสนา เอาวิทยาศาสตร์มาปนกับพวกนามธรรมพวก จิต วิญญาณทั้งหมาย

ผลงานคิดในเชิงปรัชญาข้ามสาขา (Transdisciplinary)

จากผลงานคิดในเชิงปรัชญาของงานเขียนเล่มแรก คาปร้าได้นำเสนอในเชิงการวิเคราะห์รูปธรรม และเสนอทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นกระบวนทัศน์ในการมองความจริงของโลก มนุษย์ ฯลฯในหนังสือเล่มสำคัญต่อมาคือ The Turning Point (1985) หรือจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ เขาแสดงทัศนะและข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary) โดยอาศัยปรัชญา โลกทัศน์ตะวันออกและฟิสิกส์ยุคใหม่ มาชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ทั้งหลายในโลกปัจจุบัน มิได้เป็นปัญหาเฉพาะด้านหรืออยู่ที่สาระทางความคิดของเรื่องนั้น ๆ เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ จิตวิทยา สิ่งแวดล้อมฯลฯ หากปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นตัวสะท้อนวิกฤตการณ์ด้านวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นปัญหาระดับกระบวนทัศน์ คือทัศนะที่มนุษย์มีต่อ “ความจริง” (Reality) ของธรรมชาติแล้วไปกำหนดระบบคิด วิธีคิด การจัดการที่มนุษย์มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย และดำรงชีวิตไปตามกระบวนทัศน์ดังกล่าว จนกระทั่งนำมาสู่ทางตันของการพัฒนา ที่เป็นวิกฤตการณ์ของมนุษยชาติและโลกทั้งหมด อันแก้ไขได้ยากหากไม่มีการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ในการมองความจริงแบบใหม่ ซึ่งค้นพบโดยฟิสิกส์แบบใหม่และปรัชญาตะวันออก

ข้อสรุปของคาปร้า

โดยสรุปคือคาปร้าเห็นว่ารากเหง้าของปัญหามาจากการที่ศาสตร์ และความรู้ทั้งหลายที่มนุษย์ใช้ในการพัฒนาชีวิต สังคม ในด้านจิตวิทยา สุขภาพ เศรษฐกิจ การจัดระเบียบสังคม ฯลฯ ตั้งอยู่บนทัศนะ ความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ที่ยังคงตั้งอยู่บนฟิสิกส์แบบเดิมที่มีข้อบกพร่องและได้ถูกหักล้างไปแล้วด้วยฟิสิกส์ใหม่ในช่วง 3 ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20

แนวคิดของคาปร้าในงานเขียนทั้ง 2 เล่ม มาจากการย้อนไปศึกษาปรัชญา โลกทัศน์ตั้งแต่สมัยกรีก ซึ่งปรากฏว่า วิชาฟิสิกส์หรือศัพท์เดิมว่า Physis คือวิชาซึ่งว่าด้วยการค้นหาธรรมชาติแท้จริงของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง (Physics แปลว่า ธรรมชาติ) มิได้แยกออกเป็นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา หากเป็นศาสตร์ของการศึกษากฎเกณฑ์ องค์ประกอบของธรรมชาติทั้งในเชิงรูปธรรม-กายภาพ (ดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ) และในเชิงนามธรรม ไม่มีการแยกสิ่งมีชีวิต-ไม่มีชีวิต จิตวิญญาณและวัตถุ ถือว่าสรรพสิ่งเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ไม่มีแม้คำเรียก”วัตถุ”เพราะถือว่าทุกสิ่งเป็นการปรากฏแสดงของ “Physis” หรือธรรมชาติซึ่งเต็มไปด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวตลอดเวลา จากการขับเคี่ยวกันของสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกัน หากแต่คู่แห่งการขับเคี่ยวกันนั้น แท้จริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือเป็นเอกภาพ (องค์รวม : Organic, Holistic view) ปรัชญาธรรมชาตินี้ตรงกับปรัชญาโบราณของอินเดียและจีน (โดยเฉพาะลัทธิเต๋า )

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานความเชื่อนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง และออกมาเป็นสำนักความเชื่อต่าง ๆ เช่น เชื่อว่ากฎธรรมชาติเป็นตัวบุคคล (เทพเจ้า พระเจ้า ฯลฯ) และกลายเป็นลัทธิทวิภาวะ (Dualism) การแบ่งแยกขั้ว ที่เป็นกระบวนทัศน์ของตะวันตกในเวลาต่อมา ในการแยกวัตถุ-จิต ปัจจัยภายใน-ภายนอก ฯลฯ ให้แยกกันเป็นคนละสิ่ง มิใช่เอกภาพของสิ่งเดียวกัน (องค์รวม) อีก

อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์อย่างสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง (การปฏิวัติฝรั่งเศส) เศรษฐกิจ (การปฏิวัติอุตสาหกรรม) โดยเฉพาะการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งพัฒนาการมาเป็นกระบวนทัศน์กระแสหลักของโลกปัจจุบัน โดยแกนหลักหรือรากฐานมาจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในด้านฟิสิกส์ของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลสำคัญ 2 คน คือกาลิเลโอ (Galileo Galilei : 1564- 1642) และไอแซค นิวตัน โดยคนแรกเชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึง “ความจริง”และหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ จักรวาลทั้งหมดได้ด้วยการทดลองและสังเกตโดยประจักษ์ (Empirical) โดยอาศัยคณิตศาสตร์คำนวณได้อย่างแม่นยำไม่ผิดพลาด


[1] Fritjof Capra, The Tao of Physics (เต๋าแห่งฟิสิกส์), WILDWOOD HOUSE , LONDON, 1975, http://v1.midnightuniv.org/midschool2000/newpage20... & เต๋าแห่งฟิสิกส์, ฟริตจอฟ คาปร้า เขียน วเนช แปล, http://www.electron.rmutphysics.com/news/index.php...

& The Tao of Physics: An Exploration of the Parallels Between Modern Physics and Eastern Mysticism Paperback – September 14, 2010, https://www.amazon.com/dp/1590308352/ref=cm_sw_su_...

& เต๋าแห่งฟิสิกส์ (บทที่ 1-13) โดย ฟริตจอฟ คาปรา, คัดลอกจาก http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics , ใน dharma-gateway : ประตูสู่ธรรม : เครือข่ายเว็บธรรมะ - ธรรมะไทย : แหล่งข้อมูลและความรู้เรื่องพระพุทธศาสนา, http://www.dharma-gateway.com/misc/misc_tao_of_physics_01.htm 

[2] วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่ วรรณกรรมของฟริตจอฟ คาปร้า, ทฤษฎี เครือข่ายใยชีวิต ของ คาปร้า Mckaforce: โดย อ.มดเอ็กซ์ จากบอร์ดเก่า, http://www.sookjai.com/index.php?topic=2969.0;wap2 & ในที่สุด ท.วิวัฒนาการ ที่คุณ Practical x 2 ศรัทธาอย่างงมงาย ก็ถึงกาลอวสานอย่างแท้จริง ด้วย ท.เครือข่ายใยชีวิต ของ คาปร้า, โลกันต์ (นามแฝง), 26 เมษายน 2548, http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/X3437561/X3437561.html

[3] วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่, วรรณกรรมของฟริตจ๊อฟ คาปร้า, http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/buddhist_literature_modern_society/20.html

[4] ชาย โพธิสิตา, ชีวิตและความตายในทัศนะของพุทธศาสนา, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article05.htm

[5] เต๋าแห่งฟิสิกส์, ฟริตจอฟ คาปร้า เขียน วเนช แปล, http://www.electron.rmutphysics.com/news/index.php...http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article05.htm

[6] มดเอ๊ก, ภาคที่ 1 วิถีแห่งฟิสิกส์, บทที่ 1 บทที่ 2, http://www.sookjai.com/index.php?topic=3018.0;wap2

[7] เต๋าแห่งฟิสิกส์ : จักรวาลอันเคลื่อนไหว, ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย เจ้าโง่, 1 พฤศจิกายน 2550, http://palungjit.org/threads/เต๋าแห่งฟิสิกส์.98259/

หมายเลขบันทึก: 627559เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2017 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2020 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท