พุทธศาสนามหายาน ตอนที่ 6 : หลักคำสอนนิกายย่อยของมหายาน 3


พุทธศาสนามหายาน ตอนที่ 6 : หลักคำสอนนิกายย่อยของมหายาน 3

11 เมษายน 2560

(ต่อหลักคำสอนนิกายย่อย มี 4 ตอนย่อย)

4. นิกายสุขาวดี (เจ่งโท้วจง) หรือจิ้งถู่ (Jingtuzong)

คณาจารย์ที่สำคัญของนิกายนิกายสุขาวดีมีจำนวน 4 ท่าน ผู้เป็นปฐมาจารย์ผู้ก่อตั้งนิกายนี้คือ “คณาจารย์ฮุ่ยเอี้ยง” (ท่านฮุย-หยวน หรือฮุ่ยเอี้ยง : Hui-yuan) มีชีวิตอยู่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 8 สมัยราชวงศ์จิ้น (ตะวันออก) สำนักวัดตังนิ่มยี่บนภูเขาลู้ซัว มณฑลกังไส ท่านได้ก่อตั้งสมาคมสุขาวดี (เรียกอีกอย่างว่าสมาคมดอกบัวขาว) ขึ้นในปี พ.ศ.945 (ค.ศ.402)

คณาจารย์คนสำคัญคือ ท่านถัน-หลวน (T’an-Luan พ.ศ. 1019-1185) ท่านเตาโจ (TaoCh’o ประมาณ พ.ศ. 1105-1188) และท่านชานเต้า (ชั่นเต่า, ส้านเต้า, ซานเตา : Shan-Tao พ.ศ. 1156-1224)

หลักคำสอนสำคัญ

(1) แนวคิดเรื่องดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตร (Buddha Land, Buddha Country)

- พุทธเกษตรเป็นดินแดนวิเศษที่ปกครองโดยพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ

- พุทธเกษตรนั้นไม่สามารถกำหนดตายตัวได้ว่าอยู่ที่ไหนไม่สามารถวัดหรือประมาณได้

- พุทธเกษตรมีจำนวนมากมายมหาศาลจนนับไม่ถ้วน

(2) แนวคิดเรื่องพระอมิตาภพุทธเจ้า (Amitabha)[1] (สันสกฤต:อมิตาภ)

Amitabha Buddha, Namo Amitabha, Amitābha, Amitāyus, AmidaButsu หรือ ออนี้ทอฮุก หรือ อามีท้อฮุดโจ๊ว

สรุป [2] เป็นนิกายที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีน เปลือกนอกดูเหมือนมีคำสอนไม่เน้นให้พึ่งปัญญาของตนเองในการแสวงหาความหลุดพ้น แต่สอนให้พึ่งอำนาจภายนอก ซึ่งผิดแผกไปจากคำสอนพุทธแบบเดิม เป้าหมายหลักคือการได้ไปอยู่ในพุทธเกษตรสุขาวดีของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งที่มีนามว่า อมิตาภะ เป็นปัญญาไม่ใช่จุดเริ่มต้นในการช่วยให้คนพ้นทุกข์ สำนักนี้จึงสอนให้คนมีศรัทธาหรือมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะส่งจิตไปขอให้พระอมิตาภพุทธเจ้าทรงช่วยให้หลุดพ้น ดังนั้น ศรัทธาจึงเป็นเงื่อนไขที่พุทธศาสนิกชนสำนักนี้จำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรก

5.นิกายตรีศาสตร์ (ซาหลุ่งจง) หรือซานหลุ่นจงนิกายสังปริคระศาสตร์ หรือเซ่อหลุ่นจงซันลุ่นจง

(ซาหลุงจง) ประวัติของนิกาย [3]

นิกายนี้อาศัยศาสตร์ 3 ปกรณ์คือ (1) มาธยมิกศาสตร์ (2) ศตศาสตร์ และ (3) ทวาทศนิยายศาสตร์ รวมกัน เป็นชื่อของนิกาย อาจารย์นาคารชุน (Nagarjuna : พ.ศ. 700 - 800) เป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายนี้ (บ้างว่า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์) ท่านเป็นผู้ตั้งทฤษฎีศูนยตวาทิน อรรถาธิบายหลักปัจจยาการและอนัตตาของพระพุทธองค์โตยวิถีใหม่ คัมภีร์ที่ท่านรจนามีจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ มาธยมีกศาสตร์ และ มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ มาธยมิกศาสตร์ นอกจากประกาศแนวทฤษฎีศูนยตาแล้ว ยังได้วิพากษ์นานามติของประดานิกายในพระพุทธศาสนา และมติของปรัชญาฮินดู- เชน ไว้ด้วย อรรถกถาของศาสตร์นี้มีผู้แต่งกันไว้มาก ฉบับที่แปลสู่พากย์จีนมี 2 ฉบับ เป็นของนีลเนตร และของภาววิเวก ส่วนคัมภีร์ศตศาสตร์นั้นเป็นของอาจารย์เทวะ เป็นหนังสือวิพากษ์ ปรัชญาสินดูทั้ง เวทานตะ สางขยะไวเศษิกนะ นยายะ โยคะและเชน ไว้อย่างถึงพริกถึงขิง เผยให้เห็นความเลิศเด่นของพระพุทธธรรม คัมภีร์ที่ 3 นั้นเป็นของอาจารย์นาคารชุน จัดเป็นหนังสือเบื้องต้นสำหรับศึกษาปรัชญาศูนยตวาทิน เนื่องด้วยอาจารย์นาคารชุนได้ยกและกอบกู้ฐานะของพระพุทธศาสนาให้รุ่งโรจน์ ประกอบทั้งความเป็นบรมปราชญ์ปราดเปรื่องของท่าน พุทธศาสนิกชนมหายานทุก ๆ นิกายย่อมยกย่องท่านในฐานะคุรุผู้ยิ่งใหญ่เสมอ ปรัชญาศูนยตวาทินได้แผ่เข้าไปในประเทศจีนโยกุมารชีพ กล่าวกันว่า กุมารชีพเป็นศิษย์ร่ำเรียนปรัชญานี้ กับเจ้าชายสูรยโสมะแห่งยารกานต์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาถ่ายทอดจากนีลเนตร ศิษย์ของราหุละ และราหุละได้ศึกษาโดยตรงจากอาจารย์เทวะทีเดียว กุมารชีพแปลปกรณ์ทั้ง 3 ที่นครเชียงอานและบรรดาสานุศิษย์รูปเอก ๆ ของกุมารชีพหลายรูปได้เทศนาสั่งสอนปรัชญานี้ให้แพร่หลาย ตกถึงแผ่นดินซุ้ยมีคันถรจนาจารย์ผู้หนึ่งชื่อกิกจั่ง ได้แต่งอรรถกถาศาสตร์ทั้ง 3 เป็นภาษาจีน ทำให้นิกายนี้เจริญถึงขีดสูงสุด ครั้นเข้ายุคราชวงศ์ถังเมื่อท่านติปิฎกธราจารย์เฮี่ยงจังประกาศปรัชญาวิชญาณวาทินอยู่ เลยทำให้รัศมีฝ่ายศูนยตาวาทินอับลงตราบเท่าทุกวันนี้

6.นิกายธรรมลักษณะ (ฮวบเซี่ยงจง) หรือ นิกายฝ่าเซียง [4]

(ฮวบเชี่ยงจง) เป็นฝ่ายโยคาจาร ญี่ปุ่นว่า ฮอสโสชยู (ฮอสโส) ประวัติของนิกาย

นิกายธรรมลักษณะ เป็นชื่อที่เรียกกันในภาษาจีน หมายถึงปรัชญาโยคาจาร หรือวิชญาณวาทิน นั่นเอง ดังนั้นอาจจะเรียกชื่อทั้ง 2 นี้คือโยคาจารและวิชญาณวาทินแทนคำว่า “ธรรมลักษณะ” เพราะสะดวกในการใช้และเข้าใจกัน

ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 9 โยคาจารได้ถูกประกาศให้แพร่หลาย โดยท่านอสังคะ ซึ่งกล่าวกันว่า ท่านได้รับการอรรถาธิบายจากพระศรีอารยเมตไตย ณ กรุงอโยธยาในอินเดียภาคกลาง

ปรมาจารย์มีชื่อคือ พระเสวียนจั้ง หรือ พระถังซำจั๋ง (Xuánzàng, XuanZang or Hieun Tsang ค.ศ. 602 – 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 664) ผู้ดั้นด้นไปถึงอินเดียและนำพระไตรปิฎกกลับมาแปลเป็นภาษาจีน

ปรัชญาโยคาจารกล่าวได้ว่า มีคุณลักษณะทั้งทางหลักคำสอนกับการปฏิบัติใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานที่สุด จัดได้ว่าเป็นปรัชญาฝ่ายอภิธรรมของมหายานเลยทีเดียว การสำเร็จแห่งปรัชญาโยคาจารได้รับอิทธิพลจากหลักธรรมในนิกายเถรวาท มหาสังฆิกะ สรวาสติวาทิน และเสาตรันติกะ รวมกันปรุงขึ้นเป็นปรัชญาโยคาจาร โยคาจารได้ถูกประกาศให้แพร่หลายขึ้นโดยอาจารย์อสังคะ (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 9) ซึ่งกล่าวกันว่า ท่านได้รับการ อรรถาธิบายจากพระศรีอารยเมตไตรย ณ กรุงอโยธยาในอินเดียภาคกลาง พระศรีอารยเมตไตรยนี้ มีผู้เชื่อกันว่า คือพระโพธิสัตว์อารยเมตไตรยที่จักมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตนั่นเอง แต่ก็มีปราชญ์เป็นอันมากถือว่าเป็นเพียงพระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเผอิญมีนามตรงกันกับพระเมตไตรยโพธิสัตว์เท่านั้น พระอารยเมตไตรยได้แสดงศาสตร์ ทั้ง 5 เป็นหลักของปรัชญาโยคาจาร ต่อมาอสังคะได้นิพนธ์คัมภีร์อารยวาจาปกรณ์ศาสตร์ และมหายานสัมปริครหศาสตร์เผยแผ่ปรัชญาสายนี้ต่อมา อย่างไรก็ดี ปรัชญาโยคาจารได้เจริญรุ่งโรจน์ขึ้นก็ด้วยอาศัยอาจารย์วสุพันธุ ผู้ซึ่งเป็นน้องชายของอสังคะ วสุพันธุเติมเลื่อมใสในนิกายสรวาสติวาทินและเสาตรันติกะ ได้เขียนปกรณ์วิเศษทางอภิธรรมฝ่ายสาวกยานไว้มาก กล่าวกันว่ามีจำนวนถึง 500 ปกรณ์ ต่อมาได้รับการตักเตือนสั่งสอนจากพี่ชายจนเกิดความเลื่อมใสในมหายานขึ้น

วสุพันธุจึงได้แต่งคัมภีร์ประกาศปรัชญาโยคาจารเป็นอันมาก ว่ากันว่ามีจำนวนถึง 500 ปกรณ์เหมือนกัน เล่มที่สำคัญที่สุดก็คือ วิชญาณปติมาตราตรีทศศาสตร์ ต่อมามีคณาจารย์อีกเป็นอันมากที่ส่งเสริมเทศนาสั่งสอนปรัชญาโยคาจารมีมหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นสนามประกาศลัทธิ คณาจารย์องค์สำคัญ ๆ มีอาทิเซ่น ทินนาคะ สานุศิษย์ของ วสุพันธุผู้แต่งคัมภีร์ประมาณสมุจจัย คุณมติ สถิรมติ ธรรมปาละ นันทะ ศุทธิจันทร พันธุศิริ (องค์นี้ร่วมยุคกับวสุพันธุ) ชินตราต วิชัยมิตร ชินบุตร ญาณจันทระ ศีลภัทระ ชัยเสน ธรรมกีรติ ศานติเทวะ คณาจารย์เหล่านี้ มีทั้งภิกษุและฆราวาส คณาจารย์ภิกษุองค์ที่มีบทบาทสำคัญคือ ธรรมปาละ อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยนาลันทา และ ศีลภัทระ ผู้สาวก ปรัชญาโยคาจารได้เริ่มแพร่หลายในประเทศจีน โดยโพธิรุจิและปรมัตถะ ต่อมาในยุคหลัง (ราวพุทธศตวรรษที่ 11) เมื่อท่านติปิฎกธราจารย์เฮี่ยงจังจาริกไปอินเดีย ท่านได้ไปพักศึกษาปรัชญาโยคาจารกับอาจารย์ศีลภัทร ะ ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา ขากลับได้มาแปลปกรณ์วิเศษต่าง ๆ ของนิกายนี้ออกสู่พากย์จีน และได้คัดเลือกรวบรวมแปลบรรดาอรรถกถาแห่งวิชญาณปติมาตราตรีทศศาสตร์ของคณาจารย์ทั้ง 10 สรุปเข้าไว้ในหนังสือเล่มเดียวให้ชื่อว่าวิชญาณปติมาตราสิทธิตรีทศศาสตร์ เรียกย่อ ๆ เป็นภาษาจีนว่า “เซ้งยุ่ยเซกหลุง” อัครสาวกของท่านชื่อกุยกี ได้เขียนฎีกาแก้คัมภีร์เล่มนี้ เป็นฎีกาที่มีชึ่อเสียงที่สุด ชื่งทำใหันิกายโยคาจารรุ่งโรจน์ขึ้นในยุคนั้น ฎีกาของปกรณ์เล่มนี้มีคณาจารย์จีนอีกหลายองค์แต่งกันหลายฉบับ ที่มีชื่อเสียง เช่น ฉบับของคณาจารย์อี้เชก ฉบับของคณาจารย์โพวกวง และฉบับของคณาจารย์ลิบหวม เป็นอาทิ เมื่อพ้นราชวงศ์ถังไปแล้ว ปรัชญาโยคาจารก็เสื่อม คัมภีร์อรรถกถาฎีกาต่าง ๆ สาบสูญหมด มาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 25 นี้ องค์การพระพุทธศาสนาของจีนต้องกลับไปคัดลอกปกรณ์วิเศษต่าง ๆ ของโยคาจารจากประเทศญี่ปุ่น แล้วตีพิมพ์แพร่หลาย

คัมภีร์ สำคัญ

ฝ่ายโยคาจารถือว่ามีพระสูตรอยู่ 6 สูตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเทศนาถึงหลักธรรมโยคาจารไว้ และมีศาสตร์อีก 11 ปกรณ์ เป็นหลักของลัทธิ คือ

สูตร ทั้ง 6

(1) อวตํสกสูตร (ฮั่วเงี่ยมเก็ง) มีฉบับแปลอยู่ถึง 3 ฉบับ ของพุทธภัทระ ศิกษานันทะ และปรัชญา

(2) สนธินิรโมจนวยูหสูตร (เกยชิมมิกเก็ง) ภิกษุเฮี่ยงจัง แปลเป็นฉบับที่ถูกต้อง นอกนั้นมีของโพธิรุจิ และ ปรมัตถะ และคุณภัทระ

(3) ตถาคตวิสภวคุณสูตร (ยู่ไล้ชุกฮิ่งกงเต๊กเก็ง) ยังไม่มีในฉบับจีน

(4) อภิธรรมสูตร (อาพีตับม๊อเก็ง) ยังไม่มีในฉบับ จีน

(5) ลังกาวตารสูตร (เลงแคเก็ง) มีฉบับแปล 3 ฉบับ ของคุณภัทระโพธิรุจิ ศิกษานันทะ

(6) ฆนวยูหสูตร (เก่าเงียมเก็ง) ทิวากร แปล

ปรัชญา

ปรัชญาโยคาจารได้สอนหนักไปทางลัทธิมโนภาพนิยม (Idealism) ด้วยการสอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าสังขตะ อสังขตะ ล้วนแต่ออกจากจิตทั้งสิ้น จิตนี้เรียกว่า “อาลยวิชญาณ” หรืออาลยวิญญาณ วิญญาณนี้ แท้ก็คือ ตัวภวังคจิตในอภิธรรมปิฏกของฝ่ายเถรวาทนั่นเอง เป็นจิตที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ สืบภพสืบชาติแลรับอารมณ์ เสวยวิบากอยู่เรื่อยจนกว่าจะเข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ จิตนี้ก็จักดับสุดรอบ มูลการณะของสรรพสิ่งอยู่ที่อาลยวิญญาณ ๆ นี้เป็นปทัฏฐาน

ปรัชญาโยคาจารได้สอนถึงวิญญาณทั้ง 8 คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ กสิศตมโนวิญญาณ และอาลยวิญญาณ

หลักธรรมของนิกายโยคาจารมีพิสดารมากมายนัก อภิธรรมปิฎกฝ่ายบาลีเต็มไปด้วยตรรกวิธี และหลักทฤษฎีซับซ้อนละเอียดยากแก่การศึกษาฉันใด หลักธรรมของฝ่ายโยคาจารก็ละเอียดซับซ้อนเต็มไปด้วยตรรกวิธีและศัพท์เทคนิคยากแก่การเข้าถึงเพียงนั้น ทั้งนี้เพราะนิกายโยคาจาร คือนิกายอภิธรรมของมหายานนั่นเอง

7. นิกายวินัย (หลุกจง) หรือลวื้อจง

(ลุกจง) ประวัติของนิกาย [5]

ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง โดยพระภิกษุต้าวซ่วน (เต้าชวง : มีชีวิตราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12) นิกายนี้ถือพระวินัยเป็นสิ่งสำคัญสุด โดยถือตามพุทธดำรัสที่ว่า “ธรรมวินัยนี้จักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว” คัมภีร์สำคัญของนิกายนี้คือ จตุรงควินัย (ซื่อเฟินลฺวื่อ) พระวินัยของนิกายนี้ใกล้เคียงกับฝ่ายเถรวาท ภิกษุรักษาวินัย 250 ข้อ ภิกษุณีรักษาวินัย 350 ข้อ

ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว สังฆมณฑลได้เกิดแตกแยกนิกายออกจากกัน ต่างมีปิฎกของตนเอง เท่าที่ปรากฏอยู่มี 5 นิกาย ที่มีวินัยปิฎกของตน คือ นิกายธรรมคุปต์ นิกายสรวาสติวาทิน นิกายมหิศาสกะ นิกายกาศยปียะ และ นิกายมหาสังฆิกะ (เติมนิกายเถรวาทอีกหนึ่งเป็น 6) ครั้งพระพุทธศาสนาแพร่หลายเข้าสู่ประเทศจีน สมัยแรกยังไม่มีอุปสัมปทาเปกขะที่ถูกต้องตามวินัยกรรม ต่อมาพระธรรมกาละจาริกมาจากอินเดียสู่ประเทศจีนได้ประกอบวินัยกรรมให้อุปสัมปทาเปกชะแก่กุลบุตรจีนเป็นปฐม แลได้แปลพระวินัยอย่างย่อของนิกายมหาสังฆิกะไว้ ต่อมาจึงมีผู้แปลวินัยปิฎกของนิกายต่าง ๆ ออกสู่พากย์จีน 4 นิกาย คือ วินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ นิกายสรวาสติวาทิน นิกายมหิศาลกะ และนิกายมหาสังฆิกะ วินัยปิฎกทั้ง 4 นิกายนั้น วินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ ปรากฏว่าเจริญมาก ทั้งนี้ เพราะได้วินยาจารย์เต้าชวงเป็นผู้ประกาศให้แพร่หลาย เต้าซวง เป็นผู้มีความรู้แตกฉาน ได้เข้าสนามแปลพระคัมภีร์ของเฮี่ยงจังด้วย จึงเป็นผู้รอบรู้ในปรัชญาโยคาจาร เต้าชวงมีสำนักอยู่ที่ภูเขาจงน่ำซัว ท่านได้แต่งอรรถกถาธรรมคุปตวินัย โดยอธิบายตามคติของมหายาน อนุโลมคล้อยตามปรัชญาโยคาจาร จึงทำให้ธรรมคุปตวินัยรุ่งเรืองสำเร็จเป็นนิกายลุกจง หรือนิกายวินัยขึ้น บางทีก็เรียกชื่อตามสำนักว่า “น่ำซัวจง” ส่วนสำนักวินัยอื่น ๆ ในครั้งนั้น เจริญสู้นิกายน่ำชัวจงไม่ได้ จึงเสื่อมโดยลำดับ คัมภีร์สำคัญ

(1) จตุรอัธยายธรรมคุปตวินัย (สี่ฮุงลุก) พุทธยศ กับ เต็กฮุดเหนียม แปล

(2) ทศภาณวาร สรวาสติวาทวินัย (จับส่งลุก) ปุณยาตระ กับ กุมารชีพ แปล

(3) ปัญจอัธยาย มหิศาสกวินัย (โหงวฮุงลุก) พุทธชีวะ กับ เต๊กเต้าเชง แปล

(4) มหาสังฆิกวินัย (มอฮอเจงตีลุก) พุทธภัทร กับ ฮวบเฮี้ยน แปล

(5) มูลสรวาสติวาทวินัย งี่เจ่ง แปล

(6) สรวาสติวาทวินัยมาติกา สังฆวรมัน แปล

(7) มูลสรวาสติวาทภิกษุณีวินัย งี่เจ่ง แปล

(8) สมันตปาสาทิกา สังฆภัทร แปล (เป็นวินัยอรรถกถาปกรณ์เดียวกับสมันตปาสาฑิกาฉบับบาสี แต่แปลสู่พากย์จีนอย่างรวบรัดย่นย่อ ความคล้ายคลึงกับฉบับบาลี มีผู้กล่าวว่า เป็นอรรถกถาของจตุรอัธยาย ข้าพเจ้ายังแคลงใจ) นอกจากนี้ยังมีอรรถกถา ฎีกาของวินัยปิฎกอีกมากที่แต่งในภาษาจีน และมีวินัยปกรณ์ปลีกย่อยที่แปลกันอีกหลายปกรณ์มีกำหนดไว้เป็นวินัยปิฎกของฝ่ายสาวกยานทั้งนั้น มหายานหามีไม่



[1] Buddhism, From Wikipedia, the free encyclopedia, https://en.wikipedia.org/wiki/Buddhism&พระอมิตาภพุทธะ, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/พระอมิตาภพุทธะ

[2] phramaha ariyadhammo, สรุปความรู้เรื่องนิกายสุขาวดี, พุทธศาสนาสำนักสุขาวดี ตอน 1, 17 กันยายน 2554, https://www.l3nr.org/posts/498552

[3] Full text of “ปรัชญามหายาน”, อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ,https://archive.org/stream/PoWQE63754/ปรัชญามหายาน...

& ปรัชญามหายาน - ธรรมบรรยาย โดย อาจารย์เสถียร โพธินันทะ, https://archive.org/details/PoWQE63754

& ปรัชญามหายาน - อาจารย์เสถียร โพธินันทะ, หน้า 50, https://www.scribd.com/document/245836587/ปรัชญามหายาน-อาจารย-เสถียร-โพธินันทะ

[4] ปรัชญามหายาน - อาจารย์เสถียร โพธินันทะ, หน้า 72, https://www.scribd.com/document/245836587/ปรัชญามหายาน-อาจารย-เสถียร-โพธินันทะ

[5] ปรัชญามหายาน - อาจารย์เสถียร โพธินันทะ, หน้า 142, https://www.scribd.com/document/245836587/ปรัชญามหายาน-อาจารย-เสถียร-โพธินันทะ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท