เพอร์เซโฟนี (Persephone) ราชินีผู้เลอโฉมแห่งปรโลก


ก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึง เทพฮาเดส ผู้เป็นพญามัจจุราชแห่งโลกหลังความตายไปแล้ว คราวนี้ก็ขอพูดถึง ราชินีผู้มีรูปโฉมงดงามแห่งปรโลกด้วยแล้วกัน ราชินีมีชื่อว่า “เทพีเพอร์เซโฟนี” ผู้นี้ยู่เคียงข้างบัลลังก์ของเทพฮาเดส ผู้เป็นพญามัจจุราชแห่งปรภพและมีอำนาจเหนือวิญญาณทั้งปวงในอาณาจักรใต้พิภพ

เทพีเพอร์เซโฟนี เป็นหลานสาวแท้ๆของเทพฮาเดส ซึ่งโดดเด่นเรื่องความงดงามเหนือใคร พระองค์ทรงเป็นพระธิดาของเทพซีอุสและเทพีดิมิเตอร์ ผู้เป็นโพสพเทพีแห่งกรีก หากเมื่อใดที่เทพีดิมิเตอร์และเทพีเพอร์เซโฟนีอยู่ด้วยกัน ที่แห่งนั้นก็จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญหาร ในทางตรงกันข้าม หากเมื่อใดที่ทั้งสองจำต้องพรากจากกันไป ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีก็จะหมดไป และถูกแทนที่ด้วยความแห้งแล้งอดอยากแทน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเทพีเพอร์เซโฟนี ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการเจริญงอกงามนั่นเอง

แต่หลายคนอาจจะสางสัยว่า เหตุใดเทพีเพอร์เซโฟนีผู้สดใสน่ารักสดใส จึงผันตัวเองกลายเป็นราชินีแห่งปรโลกผู้แสนเย็นชาไปได้อย่างไร มีตำนานเล่าถึงเรื่องราวเหล่านี้ว่า ครั้งหนึ่งที่เทพฮาเดสได้พบกับเทพีเพอร์เซโฟนี เทพฮาเดสรู้สึกถูกชะตากับเทพีเพอร์เซโฟนีเป็นอย่างมาก และพระองค์ก็ตัดสินใจลักพาตัวเทพีเพอร์เซโฟนีลงไปยังอาณาจักรใต้พิภพ และมอบมงกุฎอัญมณีอันแสนงดงามให้แก่เทพีเพอร์เซโฟนี โดยที่พระเทพีก็ยังคงร้องไห้เสียใจที่ถูกลักพาตัวมาเช่นนี้ แต่เทพฮาเดสกลับรู้สึกยินดีที่พระองค์ได้ครอบครองัวพระมเหสีที่มีรูปร่างหน้าตางดงามเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เทพีเพอร์เซโฟนีทรงรู้สึกเกลียดพระสวามีเป็นอย่างมาก และแสดงความเย็นชาไร้เยื่อใยต่อพระสวามีตลอดระยัเวลาที่อภิเษกกันมา แต่เมื่อใดที่เทพีเพอร์เซโฟนีได้ปรากฎตัวขึ้นสู่พื้นพิภพ ใบหน้าที่เคยไร้ความรู้สึกก็กลับกลายเป็นใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม และเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาในทุกครั้งที่พระองค์ได้พบเจอแสงอาทิตย์ อีกทั้งยังช่วยให้ความแห้งแล้งที่มีอยู่บนโลกได้มลายหายไปสิ้น ซึ่งเปรียบเสมือนวันที่พระเทพีได้กลับมาสู่อ้อมอกพระมารดาอีกครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็กลายมาเป็นตำนานแห่งการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลนั่นเอง

แม้ว่าเทพีเพอร์เซโฟนีจะมิทรงชอบในตัวของพระสวามี แต่ก็ยังทรงมีความรู้สึกรักในตัวพระสวามีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แสดงออกให้เทพฮาเดสรับรู้ ซึ่งเคยมีตำนานที่กล่าวว่าเทพีเพอร์เซโฟนีมีอาการหึงหวงในพระสวามีอยู่ด้วย ดังเนในตอนที่ พระองค์ได้ลงมือฆ่านางไม้ที่มีชื่อว่า “มินธี” จนเสียชีวิตคาที่ โดยมีพระมารดาที่ชื่อว่าเทพีดิมิเตอร์ร่วมลงมือด้วย

มีตำนานเล่าถึง “ออร์ฟีอุส” ผู้เป็นพระโอรสแห่งเทพอะพอลโล และเป็นวีรบุรุษที่เก่งกาจในการเล่นพิณ ไว้ว่า เมื่อครั้งที่เขาเป็นมนุษย์ เขาได้เดินทางไปยังปรโลกซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งเทพฮาเดส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไปตามหาดวงวิญญาณของนางอันเป็นที่รักที่มีชื่อว่า นางไม้ยูลิดิซี ให้กลับมาสู่โลกมนุษย์อีกครั้ง และด้วยฝีมือการเล่นพิณอันแสนไพเราะและเต็มไปด้วยความเศร้า จึงทำให้พระราชินีแห่งปรโลกที่เต็มไปด้วยความเย็นชา กลับร้องไห้ออกมาได้ และพระราชินีก็ทูลข้อร้องต่อเทพฮาเดสเพื่อยอมให้ออร์ฟีอุสได้นำวิญญาณของนางยูริดิซีกลับไปได้ เหตุเพราะสงสารในความรักของคนทั้งสอง ที่ต่างก็เป็นทั้งแรกและครั้งสุดท้ายของกันและกัน แต่นับจากวันนั้นเป็นต้นมา เทพีเพอร์เซโฟนีก็กลับมาเย็นชาตามเดิม และไม่เคยร้องไห้หรือแสดงอาการใดๆเลยยามเมื่อต้องอยู่ในปรโลก

หากกล่าวถึงตำนานรักของเทพเจ้ากรีก ก็คงหนีไม่พ้นตำนานของอีรอสกับไซคี ซึ่งมีเรื่องราวอยู่ว่า เมื่ออีรอสรู้ว่าไซคีรู้ความจริงว่าตนเองนั้นเป็นเทพบุตร จึงได้หนีหายตัวไป ไซคีจึงได้ออกตามหาพระสวามีซึ่งก็คือ เทพบุตรอีรอส กลับมา และได้เข้าไปขอให้เทพีอโฟรไดทิช่วยเหลือ โดยนางไม่รู้เลยว่าเทพีอโฟรไดทิผู้นั้นต้องการจะกำจัดนางไปให้พ้นทาง เหตุเพราะนางไซคีมีหน้าตาที่สวยกว่าพระองค์ เทพีอโฟรไดทิจึงบอกให้นางไซคีไปทูลขอความงามจากเทพีเพอร์เซโฟนีผู้เป็นราชินีแห่งปรโลกกลับมาให้พระองค์เป็นการตอบแทน แต่ในความจริงแล้ว เทพีอโฟรไดทิต้องการจะส่งนางไซคีไปตายเสียมากกว่า ซึ่งหากนางไซคียอมทำตามข้อตกลง นางก็จะได้พระสวามีกลับคืนมา ซึ่งครั้งนี้ นางไซคีก็ได้รับความช่วยเหลือจากเทพเจ้ามากมายที่เห็นแก่ความภักดีของนาง จนในที่สุด นางก็ได้เดินทางมาถึงตำหนักของเทพีเพอร์เซโฟนี พระเทพีได้มอบผอบทองคำให้แก่นาง ซึ่งเมื่อนางไซคีรับมาแล้ว ก็รีบนำผอบกลับไปให้เทพีอโฟรไดทิทันที แต่ระหว่างทางนางไซคีก็ฝ่าฝืนคำสั่งด้วยการเปิดผอบออกดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเมื่อผอบถูกเปิดออก ก็ทำให้นางไซคีเสียชีวิตลงทันที อีรอสที่แอบตามมาดูอยู่ห่างๆจึงรีบออกมาช่วยเหลือ โดยทูลขอความเห็นใจจากเทพเจ้าบนโอลิมปัส ในที่สุด เทพซีอุสก็ได้ประทานความเป็นอมตะให้แก่นางไซคีและเทพบุตรอีรอส ทำให้ทั้งสองได้กลับมาครองรักกันอย่างมีความสุขตลอดไป

ที่ยกเรื่องนี้มาพูดก็เพื่อให้ทราบว่า เทพีเพอร์เซโฟนีก็มีความสำคัญไม่น้อย และถูกกล่าวถึงในตำนานและเทพนิยายของกรีกเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 626053เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2017 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2017 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท