​ชีวิตที่พอเพียง : 2875. ไปไต้หวัน ๒๕๖๐ ๒. กิจการรีไซเคิลเพื่อชำระจิตใจ



กิจการแรกของมูลนิธิฉือจี้ ที่คณะของเราไปสัมผัสคือกิจการรีไซเคิลขยะ ไปชมในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ช่วงบ่าย

ทางบริษัททัวร์ให้ข้อมูลไว้ดังนี้


“ศูนย์การเรียนรู้สถานีรีไซเคิล การรีไซเคิลขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิลจะใช้แรงงานคนทั้งหมด แรงงานก็คืออาสาสมัครของมูลนิธินั่นเองดังนั้น แรงงานเหล่านี้จึงไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใดเป็นการทำด้วยจิตอาสาเพื่อมูลนิธิและเพื่อท่านธรรมาจารย์มีอาสาสมัค รหญิงท่านหนึ่งอายุมากแล้ว เป็นทั้งคนเก็บขยะตอนกลางคืนและมาคัดแยกขยะตอนกลางวันด้วย การได้มาซึ่งขยะที่จะต้องรีไซเคิลนั้น รถของมูลนิธิจะตระเวนไปรับขยะที่ชาวบ้านนำมาวางไว้ต ามจุดที่กำหนด ในไทเปมีจุดรับขยะที่กำหนดไว้ประมาณ ๔๐ แห่ง ทั้งประเทศไต้หวัน มีมากกว่า ๕,๖๐๐ แห่ง ซึ่งจะมีอาสาสมัครมากกว่า ๗๐,๐๐๐ คน”


ออกจากสนามบินเถาหยวน ด้วยรถบัส ขึ้นรถปุ๊บ อ. นราธิป พุ่มทรัพย์ แจ้งว่า อ. อู๋เทียนฝู รองผู้อำนวยการฉือจี้ มอบให้มาดูแล พร้อมกับคุณส้ม (ไก๊ด์) คุณนิศา (ผู้รับอนุญาตตั้งโรงเรียนฉือจี้ฝาง) และ อ. ดร. กวิชช์ ธรรมิสร (ผู้มาที่ฉือจี้แล้ว ๔๙ ครั้ง)


ผมตั้งโจทย์ให้ตัวเองค้นหาคำตอบ ว่าในกิจการนี้มีอาสาสมัครกี่แบบ กี่หน้าที่ มีการจ้างเจ้าหน้าที่ประจำกินเงินเดือน หรือค่าตอบแทนแบบอื่นไหม เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการทำงานอย่างไร


แต่เมื่อไปถึงสถานีแยกขยะกลับพบว่า คำว่า “กิจการรีไซเคิลของไม่ใช้แล้ว” น่าจะเหมาะสมกว่าคำว่า “ขยะ” และสิ่งของที่เขารับเอามารีไซเคิลนั้นมีหลากหลาย โดยมีอาาสมัครไปรับมาจากที่ต่างๆ ในตอนกลางคืน เอามาส่งที่สถานี ซึ่งจะมีอาสาสมัครมาแยกของเหล่านี้เป็น ๑๐ ประเภท จุดสำคัญคือ กิจการของฉือจี้มีความประณีตละเอียดอ่อน เขาทำความเข้าใจกับผู้บริจาคของให้ทำความสะอาดให้ดีก่อนบริจาค เช่นขวดพลาสติก ใส่น้ำหวานหรืออะไรก็ตาม ผู้บริจาคจะล้างเสียก่อนอย่างหมดจด ไม่ใช่เป็นขยะสกปรก


การรีไซเคิลก็มีหลายระดับ ระดับสูงสุด เป็นการรีไซเคิลขวดพลาสติกประเภท PET ไปเป็นเส้นใยนาโน แล้วเอาไปทอเป็นผ้าห่ม สำหรับส่งไปบริจาคช่วยเหลือคนในประเทศยากจน ในระดับศิลปะ ก็เอาขวดพลาสติกมาสลักเป็นรูปสัตว์สวยงาม เช่นรูปกุ้งที่ผมถ่ายรูปมา


การทำงานของฉือจี้มีความละเอียดอ่อน ของที่เอามารีไซเคิลจะมีการแยกชิ้นส่วนออกไปมากมาย สำหรับเอาไปใช้ประโยชน์ต่างๆ กัน


แต่ที่สำคัญที่สุด ฉือจี้ไม่ได้มองตื้นๆ แค่แยกขยะ หรือรีไซเคิลของไม่ใช้แล้ว แต่มองลึกเข้าไปในคุณค่า ที่ารพัฒนาจิตอาสา พัฒนาจิตใจให้ไม่มองสิ่งของอย่างฉาบฉวย ฝึกให้มองเข้าไปเห็นคุณค่า สร้างพลังความรักของคนต่อสิ่งของ และเป้าหมายลึกที่สุดคือการพัฒนาโลกนี้ให้ไม่มีมลภาวะ ศูนย์ที่เราไปเยี่ยมชมจึงเป็น “ศูนย์เรียนรู้รักษาสิ่งแวดล้อม


รวมแล้วกิจการแยกขยะทำรายได้ให้แก่ฉือจี้ปีละ ๖๐๐ ล้านเหรียญไต้หวัน (NTD) ซึ่งคิดเป็นเงินไทยตกราวๆ ๗๐๐ ล้านบาท


อาสาสมัครเก็บและแยกขยะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ แต่ที่เป็นเด็กก็มี คนวัยทำงานก็มี โดยอาจขับรถมาตอนเที่ยง มาแยกขยะ ๓๐ นาที แล้วกลับไปทำงานต่อ การมาเป็นอาสาสมัครนี้ ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น อาหารก็ต้องเตรียมมาเอง ค่ารถมาทำงานก็ของตนเอง รถขนขยะก็หากันมาเอง หรือมีผู้บริจาคให้ คนที่มาทำงานอาสาได้รับความสุขใจที่ได้ทำประโยชน์ และได้สมาคมกับเพื่อนร่วมอาสา ช่วยลดความซึมเศร้า ช่วยให้ชีวิตมีชีวิตีวา


กิจการรีไซเคิลขยะเริ่มปี ค.ศ. 1990 จากการที่ท่านธรรมาจารย์เห็นว่าบ้านเมืองสกปรก รกไปด้วยขยะ จึงเทศน์เรียกร้องให้มีการเก็บแยกรีไซเคิลขยะ มีแม่บ้านคนหนึ่งได้ฟังก็ริเริ่มทำ แล้วขยายตัวจนเป็นกิจการใหญ่โตกว้างขวาง และมีมิติของธรรมะอยู่ในทุกขั้นตอน



วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.พ. ๖๐

ห้อง ๗๐๖ โรงแรม Charming City Hotel, Hualien, Taiwan



1 ถนนสู่ศูนย์แยกขยะ


2 ฟังการบรรยาย


3 ขยะสิบกลุ่ม


4 รีไซเเคิลขวดพลาสติก


5 เก้าอี้พับได้และผลิตภัณฑ์รีไซเคิลอื่นๆ


6 จากขวด PET รีไซเคิลไปเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยข้างบน และสิ่งทอข้างล่าง


7 ในโรงแยกขยะ


8 ส่วนหนึ่งของขยะที่แยกแล้ว


9 ของเหล่านี้เอาไปแยกชิ้นส่วนย่อยๆ ได้มากมาย


10 เครื่องอัดกระป๋องและขวดที่อาสาสมัครประดิษฐ์เอง


11 อัดแล้วได้อย่างนี้

หมายเลขบันทึก: 625946เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2017 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2017 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดมากครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท