พระท้อแท้


หลายวันก่อน ผมโทรหาพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน ทราบว่าวัดที่ท่านประจำอยู่ไม่ได้มีการจัดอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน แต่มีบางวัดที่จัด สามารถไปติดต่อได้ ท่านให้ชื่อวัดนั้นมาสองสามวัด ผมจำได้วัดเดียว อย่างไรก็ตาม นอกจากการสอบถามดังกล่าว ผมยังคงยืนยันในสิ่งที่ผมเสนอก่อนนั้นว่า ไม่คิดจะไปฝึกกรรมฐานบ้างหรือ? ท่านยังคงให้คำตอบเดิมว่า ยังไม่มีแรงจูงใจไปทางนั้น ตอนนี้ขอดูแลเณรที่เรียนหนังสืออย่างเดียว ดูแลให้ดีเพื่อให้เขาเจริญเติบโตต่อไปในอนาคต อยางไรก็ตาม ที่ผ่านมาผมทราบว่าท่านไปสอนอยู่หลายโรงเรียน แต่สุดท้ายก็วางมือและหันกลับมาดูแลเณรภายในวัดอย่างเดียว ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ละทิ้งหน้าที่ทางสังคมเพื่อตอบแทนข้าวน้ำชาวบ้าน นั่นคือยังคงบรรยายในโครงการธรรมะหน้าเสาธง ในบางวันต้องวิ่งบรรยายถึง ๓ โรงเรียน ผมถามท่านว่า ไม่มีรูปอื่นไปทำบ้างหรือ? คำตอบที่ผมได้ฟังคือ "ไม่ได้ไหร" (สำเนียงใต้) เป็นคำตอบของพระอื่นนั้น ผมไม่ได้ถามอะไรอื่นอีก นอกจากยังย้ำท่านว่า หากเป็นไปได้ท่านน่าจะไปศึกษาด้านกรรมฐานนะครับ

คำว่า "ไม่ได้ไหร" หรือ "ไม่ได้อะไร" มีความหมาย ๒ อย่าง อย่างแรกคือ ได้สิ่งตอบแทนไม่คุ้มค่า อย่างที่สองคือ บรรยายแค่หน้าเสาธงไม่กี่นาที มันจะได้อะไรขึ้นมา แน่นอนว่า ถ้าเราเป็นนักธุรกิจ ขายความรู้ การที่เราเดินทางไปบรรยายหน้าเสาธงคงได้ค่าตอบแทนเล็กน้อย ซึ่งไม่น่าจะคุ้มค่าเหนื่อยและเสียเวลา สู้ไปทำอย่างอื่นดีกว่า นัยอย่างหนึ่งคือ ไม่ได้เห็นคุณค่ากับการบรรยายสิ่งที่ดีต่อเด็กหน้าเสาธง ยกเว้นว่า เรามีสำนึกต่อสังคม ที่เชื่อว่า ข้อความที่เรามอบให้เด็กๆ แม้เพียงเล็กน้อย อาจมีคุณค่าที่หาประมาณไม่ได้ ดังนั้น ข้อความเล็กน้อยอาจได้อะไรขึ้นมาก็ได้

"ไม่ได้อะไร" ในความหมายที่สอง มีที่มาจากสถานการณ์ในอดีตให้พระเข้าไปสอนในวิชาพุทธศาสนา, ศีลธรรม, สังคมศึกษา เป็นต้น เมื่อระบบการศึกษาเปลี่ยนไป จะด้วยเหตุใดก็ตาม แนวคิดเรื่องพระไปสอนในโรงเรียนค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป บางโรงเรียนจึงเหลือเพียง "ธรรมะหน้าเสาธง" ดังนั้น ไม่รู้จะไปทำอะไร เดินทางครึ่งชั่วโมง บรรยายไม่นาน และ นานไม่ได้ พระคุณเจ้าหลายรูปจึงเริ่มถดถอย ในเมื่อสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญ แล้วตนจะเหนื่อยไปทำอะไรในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม

วันนี้เดินทางไปพร้อมกับสมาชิกอีก ๒ คน เพื่อไปหาวัดที่มีการบรรพชาอบรมสามเณรภาคฤดูร้อน โดยผมมีความหวังว่า ในอนาคตเราอาจต้องพัฒนาหลักสูตรให้สามเณรเหล่านี้ได้เรียนรู้ศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อให้เดือนเมษายนระหว่างปิดภาคเรียน หากไม่ได้ช่วยที่บ้านทำงาน สู้เอาชีวิตเข้าไปซุกซนในผ้าสีเหลืองแล้วได้ความรู้บางอย่างออกมา น่าจะดีกว่า เพราะเยาวชนจำนวนหนึ่งคงไม่มีโอกาสได้ไปเรียนพิเศษในสถาบันกวดวิชา วัดยังอาจเป็นที่พึ่งในด้านนี้ได้ แต่ก็ต้องเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยระหว่างบรรพชาภาคฤดูร้อน พ่อแม่น่าจะเบาใจกว่าการที่ลูกอยู่บ้าน ไม่ได้ช่วยอะไรพ่อแม่ มิหนำซ้ำยังกลายเป็นเด็กแว้นๆให้พ่อแม่หนักใจ วิชาสมัยใหม่ที่น่าจะนำเข้ามาเช่น วิชาภาษาอังกฤษ วิชาภาษาจีน ฯลฯ และอันหนึ่งที่อยากจะใส่เข้าไปในหลักสูตรคือ วิชา การต่อสู้กับความอยาก วิชาการจัดการความเครียด วิชาการจัดการตัวเองในสถานการณ์ความขัดแย้ง วิชาอยู่อย่างไรให้มีความสุข และวิชาสงบจิต เป็นต้น ซึ่งน่าจะเป็นวิชาสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาไทย ทั้งหมดคือความฝัน...เพราะเราฝันเราจึงมีชีวิต

เดินทางมาถึงวัดชลธารประสิทธิ์ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ช่างไม่มีบุญเพราะเจ้าอาวาสไม่อยู่ โดยพิจารณาจากประตูที่ปิดด้วยกุญแจ ดีหน่อยผู้นำทางของเรามีเบอร์โทรเจ้าอาวาส ขณะที่ผมคิดน้อมในใจถึงอดีตเจ้าอาวาสที่ทราบว่ายังไม่ได้ฌาปณกิจ "ขอให้พบเจ้าอาวาสหน่อยเถอะ" ทราบจากผู้นำทางว่า เจ้าอาวาสกำลังเดินทางมา น่าจะถึงภายในห้านาทีนี้ จึงเป็นความโชคดี (เรื่องโชคลาภจากการร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่คำสอนแบบพุทธ) เมื่อมาถึงเราสามคนจึงเดินเข้าไปหาท่าน เป็นพระหนุ่ม หลายอย่างที่ท่านระบายให้โยมหน้าใหม่อย่างพวกเราฟัง เป็นความรู้สึกท้อแท้ แต่ไม่ได้ท้อถอย ท้อแท้ต่อข้อความหยาบคายที่ชาวบ้านทางสื่อทีวีกล่าวอย่างไม่รู้จริง คำถามคือ รู้ได้อย่างไรว่า ชีวิตพระสบาย ที่พูดๆ กันอยู่นั้น ลองมาบวชดูไหม ฯลฯ ท่านบอกว่า ท่านเลิกดูข่าวมาหลายเดือนแล้ว ไม่แตะ ไม่สนใจ เพราะเหนื่อยใจ อยากปิดตัวเองไม่ยุ่งกับสังคม แต่ก็รับตัวเองไม่ได้หากไม่ได้ตอบแทนบุญคุณข้าวน้ำของชาวบ้าน อย่างเช่น การบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนก็เป็นหน้าที่ที่ต้องตอบแทนสังคม แต่ทางวัดคงทำได้ไม่มาก หมายถึง รับเด็กๆเข้ามาบวชจำนวนมากไม่ได้ เพราะวิทยากรและพี่เลี้ยงมีกันแค่สองคน ดูแลไม่ไหว หากดูแลไม่ดีจะส่งผลเสียต่อเด็กๆและศาสนา นอกจากนั้น ต้องมีงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อบริหารโครงการ ซึ่งทางวัดก็ไม่ได้เคยไปขอหน่วยงานใด (น่าจะหมายถึงรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยอะไร) หาทำไปเรื่อยๆด้วยตัวของวัดเอง (ผมคุ้นๆ คำนี้จัง ก็อยากทำเองนี่ เมื่ออยากทำเองก็หาเงินเองสิ) เราได้แต่ฟังท่านไปเรื่อยๆ ผมเข้าใจความรู้สึกของท่านดี ความรู้สึกบางอย่างในฐานะที่ฉันก็เป็นชาวพุทธเหมือนกัน ฉันรักศาสนาของฉันเพราะฉันผูกพันธ์กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เล็ก อันนี้น่าจะคือสิ่งที่ท่านอยากบอกให้พวกเราฟังในฐานะที่พวกเรามาจากหน่วยงานรัฐ/เคยเป็นหน่วยงานรัฐ

เมื่อเราคุยและตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย พวกเรา ๓ คนจึงขอตัวกลับ ผมได้แต่คิดในใจว่า จริงๆแล้ว พระควรอยู่นิ่งเฉยไม่ต้องมายุ่งกับสังคม ในส่วนของสังคมชาวบ้านจัดการกันเองได้ หรือว่า พระควรมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการช่วยจรรโลงสังคม บางทีกรอบทางสังคมที่วางไว้ให้เราอาจทำให้เราเป็นอย่างที่เป็นนี้ ชีวิตจริงอาจไม่ใช่ชีวิตตามคัมภีร์


หมายเลขบันทึก: 625697เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2017 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2017 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Good point! Worth thinking and meditating on.

I was grabbed by this "...ผมได้แต่คิดในใจว่า จริงๆแล้ว พระควรอยู่นิ่งเฉยไม่ต้องมายุ่งกับสังคม ในส่วนของสังคมชาวบ้านจัดการกันเองได้ หรือว่า พระควรมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการช่วยจรรโลงสังคม บางทีกรอบทางสังคมที่วางไว้ให้เราอาจทำให้เราเป็นอย่างที่เป็นนี้ ชีวิตจริงอาจไม่ใช่ชีวิตตามคัมภีร์ ..." The Buddha is His time 'sent' dhamma embassadors to many places ('countries' as in ancient time) to promote 'happiness in societies' ; the book of vinaya (the Tiptaka) is about monk's 'conduct in society' -- in return for sustenance proided by people in the community; the (mental) health of community is largely in the hand of 'monks' -- so are people's 'right view' (of the world), right behavior (or siila, including 'right composure : not drinking alcohol, taking drugs or gambling,...), right speech (truth and honesty: including on the Net or social media) and so on.

In summary, พระควรมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการช่วยจรรโลงสังคม but monks' roles are limited by monks' vinaya.

ถ้าเราจะคิดว่า.."ชืวิตจริงๆไม่ใช่อยู่ใน คัมภีร์"...เห็นจะเป็นเพราะว่า..เราถูกสอนมาให้..ยกคัมภีร์ไว้เหนือหัว..แล้วเคารพบูชา55555..มากกว่า..มั้ง..เพราะชีวิตจริงๆ. คือการปฏิบัติ. ฝึกฝนตน..มิใช่รึ.......ง่ายๆ. ถ้าเข้าใจ..ว่า..ละอัตตา..และเข้าใจด้วยความถ่องแท้ว่าทุกสิ่งนั้นไม่เที่ยง..และ.เกิดแก่เจ็บตายรวมทั้งรักโลภโกธรหลงที่มีอยู่..ในตัวตน..(ควบคุมได้)....ก็เท่านั้น..

หน้าที่. ของตนทุกรูปทุกนาม..ไม่ขึ้นกับสีที่ตกแต่งอยู่(อิอิ)...มันก็เท่านั้น. นิ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท