พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ผู้นำวงการโทรคมนาคมสยามสู่เวทีโลกจนมาเสนอรัฐธรรมนูญฉบับแรก


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ 
 


 


 

สิ่งที่ผมนึกออกประการแรกว่า การโทรคมนาคมใดในประวัติศาสตร์ไทยได้เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยเมื่อเหตุการณ์ใดก่อน กลับกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบกัน นึกถึงประชาธิปไตยไทยครั้งแรก ผมกลับนึกถึงท่านอดีต “จางวางกรมไปรษณีย์โทรเลข” หรืออดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลของค์ที่สอง นั่นคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2394 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2477) เป็นโอรสองค์สุดท้ายในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม (พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) อธิบดีกรมช่างศิลป์หมู่และช่างศิลา กับหม่อมน้อย 


 

 

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์


 

เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับผมมากว่าทำไมบุคคลสำคัญในวงการโทรคมนาคมไทย จึงมักได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะ “อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข” นับตั้งแต่อธิบดีพระองค์แรก สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็ได้สนองพระราชกรณียกิจสำคัญถวายเสด็จพ่อรัชกาลที่ 5 เสมอมา และสนองพระราชปณิธานถวายงานพระมหากษัตริย์จวบจนถึงสามรัชกาล หรือแม้กระทั่งสืบต่อมา อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข บางท่านก็เคยได้เป็นถึงผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบริหารรัฐบาล นั่นคือ นายกรัฐมนตรี ก็มี และอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขหลายๆ ท่านล้วนเป็นบุคคลสำคัญที่ก่อคุณูปการให้บ้านเมืองอย่างใหญ่หลวงมากมายเสมอมาจนปัจจุบัน


 

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เมื่อประสูติมีพระนามว่า หม่อมเจ้าชายปฤษฎางค์ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้า จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2426 ปีเดียวกับการสถาปนา กรมไปรษณีย์โทรเลข


 

พระองค์ท่านแม้ไม่ได้เป็นพระโอรสของเสด็จพ่อรัชกาลที่ 5 แต่ถือได้ว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่เสด็จพ่อรัชกาลที่ 5 ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งนัก ทั้งยังได้ปฏิบัติภารกิจยิ่งใหญ่สำคัญๆ ให้สำเร็จลุล่วงถวายเสด็จพ่อรัชกาลที่ 5 ไว้มากมาย 


 

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ถือเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เรียนเก่งที่สุดคนหนึ่งของไทยในความคิดของผม และยังเป็นคนที่ทำงานเก่งมาก พระองค์ท่านเป็นนักเรียนนอกรุ่นแรกของชาวสยามและบุกเบิกนำชาวสยามไปศึกษาต่างแดนต่อๆ มา เรียกได้ว่าเป็นบิดาทรัพยากรมนุษย์ยุคบุกเบิก

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 และเข้าศึกษาในคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาวิศวกรรมโยธา) โดยใช้ชื่อขณะศึกษาว่า “มิสเตอร์ปฤษฎางค์ ชุมสาย” นอกจากพระองค์เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศแล้ว เท่าที่ผมทราบพระองค์ท่านทรงเรียนได้ยอดเยี่ยมกวาดรางวัลเรียนดีทุกๆ ประเภท สอบไล่ได้รางวัลทุกสาขาวิทยาศาสตร์ที่เรียน ทั้งยังเป็นที่ชื่นชมของพระสหายร่วมมหาวิทยาลัย ในพิธีรับปริญญาทุกคนจะโห่ร้องยินดีทุกครั้งเมื่อประกาศรางวัลการเรียนยอดเยี่ยมในแต่ละรางวัลที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ขึ้นไปรับ ผมเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยนั้นเป็นผู้มามอบรางวัลให้พระองค์ท่านและกล่าวชื่นชมในความอัจฉริยะของพระองค์ท่าน โดยกล่าวประโยคหนึ่งว่า “บุรุษผู้มาจากดินแดนที่ไกลที่สุด” จนหนังสือพิมพ์อังกฤษตีพิมพ์ไปทั่ว


 

เมื่อเสด็จกลับสยามได้นำเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตรต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 5 กับเงินรางวัล 10 ชั่ง (800 บาท) และเบี้ยหวัดเพิ่มให้อีกปีละ 1 ชั่ง


 

รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นอย่างสูง และพระราชทานความหวังไปยังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์มาก ทรงโปรดถึงขั้นพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซื้ออุปกรณ์การทดลองสร้างห้อง แลป เคมีส่วนพระองค์ ในขณะกลับไปศึกษาเพิ่มเติม 


 

หลังเสด็จกลับประเทศไทย รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์รับราชการงานสำคัญมากมาย ทั้งการจัดตั้งงานโยธาธิการ งานจัดการตั้งโรงกษาปณ์ และโดยเฉพาะงานที่ถือว่ายิ่งใหญ่ต่อพระองค์ท่านและประเทศไทยนั้นก็คือการเป็น “อุปทูตแห่งสยาม” รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ปฏิบัติภารกิจจัดตั้งสถานทูตไทยใน 11 ประเทศในยุโรป และอเมริกา กล่าวได้ว่าพระองค์ท่านทรงเป็นผู้สร้างสถานทูตไทยทั้งใน ปารีส ฝรั่งเศส อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรปให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเป็นอุปทูตสยามถึง 12 ประเทศ! ทั้งยังรวมถึงการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมมากมาย เช่น สนธิสัญญาเบาริ่ง ที่ไทยเสียเปรียบอังกฤษมายาวนานก็มาแก้ไขสำเร็จด้วยพระองค์ท่าน เรื่องราวของพระองค์ท่านยิ่งใหญ่มากมายและทรงเป็นบุคคลสำคัญของแผ่นดิน


 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมได้ประจักษ์ ถึงพระราชอัจฉริยะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเลือกใช้ทรัพยากรบุคคลเพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้รุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ดังที่ฝรั่งเรียกว่า Put the right man on the right job ใช่ว่าชาวสยามจะไร้คนที่มีการศึกษาด้านการทูต หรือด้านภาษาต่างประเทศ แต่ผมเชื่อว่า สายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์อาจทรงเล็งเห็นความสามารถของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่จะทำงานใหญ่นี้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แม้จะยังมีพระชนมายุน้อยก็ตาม และภารกิจก็สำเร็จเป็นเช่นนั้นจริงๆ


 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นราชทูตแห่งสยาม และบุกเบิกสร้างสถานทูตไปทั่วยุโรป และอเมริกา ผมเชื่อว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์อาจจะมิได้ประสงค์งานดังกล่าวก็เป็นได้ เพราะพระองค์เป็นวิศวกร เป็นนักวิทยาศาสตร์ ย่อมร้อนวิชา และจากการค้นคว้าของผมพบว่าพระองค์ท่านพยายามมุ่งเป้าหมายชีวิตไปในทางสายโยธา อันเป็นงานที่พระองค์ชื่นชอบที่สุดและได้ศึกษามา แต่ก็มิได้สัมฤทธิผลดังใจหมาย เพราะได้รับพระราชทานภารกิจที่สำคัญอื่นจนล้นมือ 


 

แต่เหตุใดผมนึกถึงเรื่องประชาธิปไตยให้เกี่ยวกับการโทรคมนาคม ผมจึงคิดไขว้ไปนึกถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ นั่นก็คือ นอกจากพระองค์ท่านเคยเป็นอธิบดี กรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งดูแลพัฒนางานโทรคมนาคมของชาติและนำการโทรคมนาคมไทยเข้าเป็นสมาชิกประเทศ ทั้งสหภาพสากลไปรษณีย์ สหภาพโทรเลข หรือปัจจุบันเป็น ITU ไปแล้ว ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งพระองค์ท่านเป็นผู้ซึ่งถวายความคิดเห็นเรื่อง “ประชาธิปไตย” ถวายความเห็นว่าสยามควรมี “รัฐธรรมนูญ” แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนั่นทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ข้าหลวงที่ทรงโปรดที่สุด จนได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า ผู้ที่ทำงานสำคัญให้บ้านเมืองมากมาย ผู้ที่สืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำสยามออกสู่สากล บุคคลชาวสยามที่เรียกได้ว่าเป็นหัวกะทิระดับโลก ชีวิตกลับต้องผันผวนจนไม่มีบ้านอยู่ ออกจากราชการ จนต้องออกบวช และตกต่ำในบั้นปลายชีวิตอย่างระทมขมขื่นจนสิ้นลมหายใจในวัยชรา


 

เรื่องมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2428 อังกฤษ ได้ยึดพม่าเป็นอาณานิคม และควบคุมตัวพระเจ้าสีป่อไปได้ ครั้งนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ถวายรายงานต่อราชเลขานุการที่ปรึกษาการต่างประเทศ และทรงแปลหนังสือพิมพ์เรื่องพม่า ทูลเกล้าฯ ถวายรายงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะ 


 

รายงานฉบับดังกล่าวทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่า บ้านเมืองของพระองค์กำลังตกอยู่ในภาวะการณ์อันตราย จึงทรงปรึกษามาที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ “เป็นการส่วนพระองค์” ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เต็มที่ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระปรีชาสามารถ ทั้งยังเป็นทูตอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน จึงน่าจะเข้าใจความคิดของชาวตะวันตกเป็นอย่างดี และให้แนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามนี้ด้วย แม้ครั้งแรกพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทูลถวายว่ามิกล้ากราบบังคมทูลตามตรง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาย้ำว่าไม่ต้องเกรงกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น ให้กราบบังคมทูลทุกอย่างเต็มกำลังสติปัญญาบรรดามี


 

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จึงเอาพระราชกระแสรับสั่งมาปรึกษาพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 3 พระองค์ที่ประทับอยู่ในยุโรป คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ และพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทำงานในสถานทูตลอนดอน และปารีส 


 

โดยมีความประสงค์จะทูลเกล้าถวายความเห็นร่วมกัน ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อให้สยามมี “รัฐธรรมนูญ” ภายใต้หัวข้อการจัดการเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 (9 มกราคม พ.ศ. 2427) ขึ้น จากนั้นจึงร่วมกันลงพระนาม และลงนาม ทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารแสดงความคิดเห็นครั้งนี้


 

อีกราว 5 เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มีพระราชหัตถเลขาให้เจ้านายทุกพระองค์เสด็จกลับมาสยาม แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เสด็จกลับสยามในปีถัดไป เพราะติดราชการแก้ไขสนธิสัญญาอยู่ และการนำสยามเข้าเป็นสมาชิกสหภาพไปรษณีย์และโทรเลขสากล หลังจากนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็มิได้รับราชการเป็นราชทูตแห่งกรุงสยามอีกเลย 


 

หลังจากนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงตระหนักได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรึกษาเป็นการส่วนพระองค์มิบังควรนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นได้ทราบ จึงเสียพระทัยยิ่งนัก


 

ในช่วงก่อนหน้านั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้ทรงใกล้ชิด จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อครั้งคอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ทั้งเจ้านาย และทูตต่างชาติที่เข้าเสด็จประทับที่พระราชวังสราญรมย์ และเมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กลับมาประทับอยู่สยามในปี พ.ศ. 2429 จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข พระองค์แรก ก็ได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สนับสนุนให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้ารับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข ในตำแหน่ง “จางวางกรมไปรษณีย์โทรเลข” หรือชื่อตำแหน่งภาษาอังกฤษเรียกว่า “Director General” หรือแปลว่า “อธิบดี” แทนพระองค์ท่านนั่นเอง


 

ด้วยพระอุปถัมภ์ใน จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ส่งผลให้ชีวิตการงานในกรมไปรษณีย์โทรเลขของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ราบรื่น ทั้งสองพระองค์ได้เคยร่วมกันผลักดันสยามเข้าเป็นสมาชิก ITU มาก่อน และบุกเบิกการโทรเลขไทยในยุคแรก 


 

พระกรณียกิจของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทางด้านไปรษณีย์และโทรเลขถือว่า เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้การสื่อสารโทรคมนาคมของสยามในกาลต่อมา นำการสื่อสารโทรคมนาคมไทยเข้าสู่เวทีสากล เรียกได้ว่าทรงเป็นผู้แทนไทยพระองค์แรกที่เข้าร่วมประชุมงานด้านโทรคมนาคมในระดับนานาชาติ


 

ในช่วงท้ายชีวิตราชการของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับแต่งตั้งเป็นถึง “องคมนตรี” อย่างไรก็ตามต่อมาสยามได้จัดตั้งกรมโยธาธิการ และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ได้ร่วมจัดตั้งจนสำเร็จขึ้นมา แม้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะได้รับเชิญเป็นปลัดทูลฉลองพระองค์ แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ไม่รับ ขออยู่กรมไปรษณีย์โทรเลขตามเดิม อาจจะทรงน้อยพระทัยเพราะพระองค์ศึกษามาทางงานโยธาโดยตรง และร่วมก่อตั้งกรมโยธาธิการขึ้นมา แต่พลาดการเป็นผู้นำในหน่วยงานนี้


 

แต่ต่อจากนั้นนอกจากพลาดงานที่พระองค์ทรงถนัดแล้ว ทางการยังได้ขอริบบ้านของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์คืน และหลังจากกลับจากการร่วมเดินทางไปญี่ปุ่นกับ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เครียดถึงกับจะยิงตัวตาย สุดท้ายพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้ถวายบังคมลาออกจากราชการ และทรงท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ก่อนตัดสินใจออกผนวชในลังกา แม้ในชีวิตสงฆ์นั้น พระองค์ท่านก็ได้ก่อคุณูปการใหญ่หลวง 


 

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ลาสิกขาจากสมณเพศเพื่อมาถวายพระเพลิงพระบรมศพ


 

ความผูกพันของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดีของเจ้านายที่อุทิศตัวปฏิรูปพัฒนาบ้านเมือง และบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรในยุคนั้น ล้วนทราบถึงความโทมนัสของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ไม่รอพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากราชการก่อน แต่กลับหนีไปเลย


 

เรื่องนี้ผมรู้สึกเศร้าที่บ้านเมืองไทยก็ต้องเสียคนดีคนเก่งไปอีกคนในยุคนั้น หากท่านอดทนเข้ามาขอพระราชทานอภัยโทษหรือหาทางออกด้วยวิธีอื่น คงได้เป็นถึงเสนาบดีเป็นขุนนางคู่ราชบัลลังก์พัฒนาบ้านเมืองกว่านี้แน่นอน 


 

ในช่วงบั้นปลายชีวิตนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ตกต่ำอย่างมาก พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เลี้ยงตัวด้วยการเป็นนักเขียน เป็นนักหนังสือพิมพ์แต่ก็ถูกให้ออกเพราะเขียนตรงไปตรงมารุนแรง และชีวิตลำบากเรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ 16 มีนาคม พ.ศ. 2477 (อายุ 83 ปี) ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง


 

เพียงแค่นึกถึง แรกมีรัฐธรรมนูญในสยาม ซึ่งยังเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในวงการโทรคมนาคมไทย ก็ย่อประวัติศาสตร์ได้ยาวพอควร รายละเอียดในเนื้อหาสาระของข้อเสนอรัฐธรรมนูญแรกนั้นหากท่านผู้อ่านสนใจ ลองติดตามหาหนังสือของ สถาบันพระปกเกล้า เรื่อง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2427 ดูนะครับ แต่ก็หวังว่าคงน่าสนใจสำหรับคนทั่วไปในวงการโทรคมนาคมอยู่บ้าง เพราะในข้อคิดของผมในบทความนี้ การโทรคมนาคมสมัยใหม่น่าจะช่วยเติมเต็มประชาธิปไตยให้เต็มใบได้เช่นกัน


 


 


 


 

อ้างอิง

  • กฎหมายมหาชน เล่ม 1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะกฎหมายมหาชนในยุคต่างๆ, ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2427, สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา และคณะ, สถาบันพระปกเกล้า
  • ราชทูตแห่งกรุงสยาม, ดร.วิชิต ณ ป้อมเพชร (ราชบัณฑิต)
หมายเลขบันทึก: 625068เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2017 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท