ตีมึน กรณี ธรรมกาย (๓)


อารัมภบท

๑๗.๐๐ น. ขอเมื่อวาน (วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐) เพื่อนจากนครศรีธรรมราชเดินทางมาสงขลา เดิมทีต้องการพักค้างคืนที่รีสอร์ทสักแห่งเงียบๆใกล้สนามบิน แต่ผมเสนอให้พักที่บ้านเพราะมีห้องส่วนตัว (แบบบ้านๆ ห้องพัดลม พออยู่ได้แต่ไม่ใช่รีสอร์ท) ให้เลือกคือ ๑) ห้องเดี่ยวมีห้องน้ำในตัว แต่มองไปทางหน้าต่างจะเจอยอดเมรุ เป็นห้องกระจกไม่มีผ้าม่าน เราจัดเตียงและปูเตียงให้เป็นที่เรียบร้อย ๒) ห้องนั่งผ่อนคลายชั้นบน เป็นห้องหนังสือ และสิ่งอำนวยความสะดวกสนองกิเลส เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า การเสนอดังกล่าวคือต้องการให้พักจริงๆ โดยไม่ต้องเสียเงินไปกับค่าที่พักอื่นใด แต่ก็บอกเพื่อนไปว่า ให้มาดูก่อน หากไม่พอใจหรือไม่สบายใจ เราค่อยว่ากันอีกที ขณะที่เรานั่งคุยกันในบ้าน มีเพื่อนจากโรงเรียนเทศบาลฯ มาสมทบอีกสองคน รวมเป็น ๔ คน หากเป็นพระจะเรียกว่า ๑ เตียง ชาวบ้านไม่อยากให้พระเข้าบ้าน เพราะจำนวน ๔ รูป/จำนวนคู่ ใช้ในงานอวมงคล เช่น งานศพ เป็นที่น่าแปลกใจว่า พระที่เป็นเสมือนมงคลกลายเป็นสิ่งอัปมงคลเพราะตัวเลขคู่ได้อย่างไร

เราสี่คนไม่ใช่ ๔ รูป คุยกันยาวนานจวบจน ๕ ทุ่มกว่า ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน เพื่อนที่มาจากนครศรีธรรมราช ตกลงนอนที่บ้าน แต่ขอย้ายจากห้องเดี่ยวที่จัดไว้แล้ว มาเห็นห้องนั่งเล่นผ่อนคลาย เหตุผลคือ "กลัวผี" เรื่องนี้ผมไม่อยากหลอกเพื่อนให้กลัว เพราะหาก "ผี" คือจิตวิญญาณของผุ้ที่ตายไปแล้ว ห้องนั่งเล่นนี้เอง ใครมานอนแล้วโดนทุกราย ผมเป็นห่วงในใจว่าเพื่อนจะนอนได้หรือไม่ (โปรดใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองตามโลกวิทยาศาสตร์) ๖ โมงเช้า ผมเข้าไปปลุกสอบถามว่า นอนหลับดีไหม ได้ยินคำตอบว่า หลับบ้างไม่หลับบ้าง ผมจึงบอกไปว่า ดีแล้วที่หลับบ้าง

เข้าสู่เนื้อหา

ในวงสนทนาจำนวน ๔ คน มีการพูดคุยถึงกรณี ธรรมกาย พอจะจับประเด็นได้ดังนี้ ๑) ถ้าเจ้าอาวาสออกมามอบตัว ทุกอย่างก็จบ ทำไมจึงไม่ออกมามอบตัว ๒) แน่ใจหรือไม่ว่า หากออกมามอบตัวแล้วทุกอย่างจะจบ ๓) กรณีธรรมกายไม่น่าจะเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมเด็จพระสังฆราชตลอดถึงความเป็นมาก่อนนั้นหลายปี ๔) กรณีธรรมกายมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและเกี่ยวพันกับ....ด้วย ๕) กรณีเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ มีนัยส่งถึงธรรมกาย ๖) คำว่า ธรรมกาย มีอยู่ในความคิดแบบพุทธ ถูกเปลี่ยนสถานะจากแง่มุมที่ดีเป็นแง่มุมอื่น ๗) เจ้าอาวาสสำนักวัดพระธรรมกายเป็นเพียงหุ่นเชิดหรือไม่? ๘) ต่างฝ่ายทั้งรัฐและธรรมกายมีสื่อเป็นของตนเอง แต่รัฐมีสื่อที่แน่นกว่า เราผู้เสพสื่อมักเอนเอียงไปทางสื่อ แต่ไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงที่เป็นงานเชิงลึกหรือเป็นส่วนหนึ่งของผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ และทั้งสองฝ่ายก็บิดเบือนสื่อได้เหมือนกัน ๙) เบื้องลึกจริงๆ มีบางอย่างเหนือกว่าสิ่งที่มองเห็นหรือไม่?

สรุป

ผ่านจากการสนทนา เราทิ้งคำถามของกันและกันไว้ แต่แปลกนะ ผู้ชายอย่างพวกเราเมื่อพบกัน (มีอยู่คนหนึ่งไม่ได้พบกันหลายสิบปี) คุยแต่เรื่องปวดหัว นั่งพิจารณาสิ่งที่มองเห็น แต่ลืมพิจารณาว่า ระหว่างที่เรามองสิ่งอื่น ใจเราโลภ โกรธ หลงหรือไม่?


หมายเลขบันทึก: 624695เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2017 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2017 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท