ล้อ “เล่น” ให้ถึงใจ โลด “แล่น” ให้ถึงชีวิต


(ภาพโดย แป้ง ปารีญา)

มองย้อนกลับไปในสมัยเป็นเด็กบ้านนอกข้างถนน แม้ว่ากันดารแสงสีและความศิวิไลซ์ หากต้องถือว่าชีวิตทั่วๆ ไปนั้น ไม่ขาดแคลนซึ่งความสนุกเท่าใดนัก เป็นความสนุกสนานที่คลุกเคล้าไปกับเสียงหัวเราะและร้องไห้ ผสมปนเปกันตามประสาของเด็กวิ่งว่าว, ทอยอีเต, เป่ายาง, ปั่นลูกข่าง, ช้อนปลาซิว, ยิงปลากด, หยอดรูปู, ถีบจักรยาน, พาเข้าป่า, เก็บลูกหว้า, ปีนเถาลูกคุย, ลักผลไม้ริมทาง รวมถึงการชกต่อยพัลวันในบางอารมณ์ ระเรื่อยขึ้นมาจนถึงวัยห่ามเข้ารุ่นหนุ่มออกเกี้ยวสาว เป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยการละเล่นมากกว่าการเล่าเรียนที่ถูกพร่ำสอนแกมบังคับให้คร่ำเครียดอย่างไม่ต้องสงสัย

เข้าวัยอิสระวัยทำงานหาเลี้ยงปากท้องแบบส่วนตัว ความจริงจังของเจ้านายผ่านกรอบแว่นทรงโตสีเข้มและขึงขัง ก็พานพบเยี่ยมเยือนในเกือบทุกซอกอณูอารมณ์ เบียดอัดพื้นที่แห่งการเล่นสนุกให้ถอยร่นกระจุกรวมตัวกันในห้วงยามหลับฝันเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่พอเล็ดรอดจากสายตาไปได้บ้างก็เพียงชั่วครู่ชั่วยามเพียงเท่านั้น เมื่อความรับผิดชอบนั้นมาพร้อมกับร่ายจ่าย ผู้มักนอนรอเกลื่อนกลาดอยู่เต็มกระเป๋าก่อนวันสิ้นเดือนเสมอๆ เป็นช่วงชีวิตที่การเล่นสนุกในแบบวัยเด็กได้ถูกพลัดพรากไปเกือบสิ้นเชิง

ผ่านวัยปากกัดเลือดสาด หลายคนโชคเวลาจัดสรรเข้าข้างจนสามารถขยับขยายสบายตัว พร้อมพื้นที่อิสระเรียกกลับคืน จึงได้เห็นการละเล่นในแบบผู้ใหญ่หลากลานตา เช่น เล่นหนังสือ, เล่นเพลง, เล่นเกม, เล่นหนัง, เล่นพระ, เล่นน้ำเมา, เล่นพนัน, เล่นเก็งกำไร, เล่นรถ, เล่นเรือ, เล่นปืน, เล่นต้นไม้, เล่นสัตว์เลี้ยง, เล่นกอล์ฟ 18 หลุม, เล่นเชิงชู้รัก, เล่นจิปาถะ หรือแม้แต่เล่นไปถึงเรื่องการเมืองเรืองอำนาจ เป็นต้น ที่หลายครั้งมักเต็มไปด้วยการชี้นำจากแวดวงทางสังคมและอำนาจตัวเลขในสมุดเช็คเหนืออารมณ์อื่นใด

คำว่า “เล่น” บนความรู้สึกส่วนตัวเท่าที่สัมผัสแต่เล็กเป็นต้นมา ได้อารมณ์ประมาณว่าอะไรก็ตามที่ทำแล้วสนุกสนาน ชอบอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะหมดสนุกจึงหยุดเล่นสิ่งนั้น

ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้คำจำกัดความไว้ว่า

“ก. ทำเพื่อสนุกหรือผ่อนอารมณ์ เช่น เล่นเรือ เล่นดนตรี; แสดง เช่น เล่นโขน เล่นละคร เล่นงานเหมา; สาละวนหรือหมกมุ่นกับสิ่งใดๆ ด้วยความเพลิดเพลินเป็นต้น เช่น เล่นกล้วยไม้; สะสมของเก่าพร้อมทั้งศึกษาหาความเพลิดเพลินไปด้วย เช่น เล่นเครื่องลายคราม เล่นพระเครื่อง เล่นแสตมป์; พนัน เช่น เล่นม้า เล่นมวย; ร่วมด้วย, เอาด้วย, เช่น งานนี้ขอเล่นด้วยคน เรื่องคอขาดบาดตายเขาคงไม่เล่นด้วย; (ปาก) ทำร้าย เช่น อวดดีนักเล่นเสีย 2 แผลเลย; กิน เช่น หิวข้าวเลยเล่นเสีย 3 จาน. ว. อาการที่ทำหรือพูดอย่างไม่เอาจริง เช่น กินเล่น พูดเล่น. เล่นๆ ก็ว่า.”

คำนี้ในภาษาอังกฤษน่าจะตรงกับคำว่า “play” ภาษาถิ่นอีสานใช้กับการจีบผู้สาวว่า “เล่นสาว” หากในถิ่นอื่นมีความเป็นมาอย่างไรไม่อาจทราบ เป็นคำเดิมของพวก “คนพูดไท” หรือเป็นคำยืมกันแน่ ค้นในคำศัพท์พื้นฐานของอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ก็ไม่ปรากฏ

โดยส่วนตัวของผู้เขียนเชื่อว่า “เล่น” เป็นคำในกลุ่มเดียวกับคำว่า “แล่น” ของทางลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งแปลว่าวิ่งหรือเคลื่อนตัวออกไป สังเกตจากนิสัยพื้นฐานของความเป็นเด็กน้อยทั้งหลาย ที่ชี้ถึงคำว่า “แล่น” ผ่านคำว่า “เล่น” ได้เป็นอย่างดี เช่น การได้ออกเล่น, การวิ่งซุกซนไปทางโน้นมาทางนี้, วิ่งเข้าวิ่งออกสำรวจค้นหาตามซอกมุม, คว้านั่นทิ้งนี่, โยนของเล่นกระจัดกระจายเต็มพื้น และไม่เคยชอบการถูกจับให้อยู่นิ่งเฉย กว่าจะสงบเงียบได้ก็ตอนหมดฤทธิ์ผล็อยหลับ หรือตอนเจ็บป่วยนอนซมถึงเตียงหมอโรงพยาบาล ล้วนเป็นความหมายของการอยู่ไม่เป็นสุขขยับมือขยับตีนเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ แทบทั้งนั้น

คำว่า “แล่น” เป็นคำเดียวกับ “แลน” ของทางอีสาน แปลว่าวิ่งเหมือนกัน เช่นในคำว่า “แล่นไม้” ถ้าแปลแบบตรงตัวก็ว่าคือการวิ่งผลัด หากในแวดวงคนรู้ภาษามีความนัยอย่างลึกซึ้ง เป็นภาษาเฉพาะกลุ่มที่แสดงตัวเปิดเผยตนได้อย่างค่อนข้างเสรี โดยไม่จำเป็นต้องปิดบังซ่อนเร้นความรู้สึกไว้ภายในเช่นบางเมืองบางสังคม ผู้เคร่งครัดกับเรื่องของเครื่องเพศตามธรรมชาติมากกว่าสภาวะทางเพศภายหลังการถือกำเนิด เป็นเรื่องราวของชุมชน “แล่นไม้” ที่ตีคู่มากับวงหมอลำแถบถิ่นอีสาน เรียกรวมกันด้วยชื่อว่า “กะเทยหมอลำ” ซึ่ง ผศ.ดร. พรเทพ แพรขาว อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการวิจัยเจาะลึกไว้ในหัวข้อ “เวทีหมอลำกับชีวิตกะเทยอีสาน” ดังคัดเนื้อข่าวบางส่วนจากมติชนออนไลน์ วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ความว่า

“อาจารย์พรเทพ เริ่มต้นเรื่องด้วยการอธิบายถึงการเลือกใช้คำว่า “กะเทย” แทน “สาวประเภทสอง/หญิงข้ามเพศ” ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะตีตราตอกย้ำแต่อย่างใด แต่ “กะเทย” เป็นคำที่กะเทยอีสานใช้ และภูมิใจนำเสนอ”

“กะเทยอีสานจะเข้าครอบครองพื้นที่ (การใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างหมอลำกับกะเทยหมอลำ)“หลังฮ้าน” (“ฮ้าน” หมายถึงเวที) โดยเป็นครูสอนเต้น หางเครื่อง ทำชุด ฯลฯ ส่วนบนฮ้านนั้น ถ้าเทียบกับหมอลำวงใหญ่ที่มีสมาชิกกว่า 100 ชีวิต อาจมีผู้หญิงเพียง 20-30% ที่เหลือเป็นกะเทย พื้นที่การแสดงหมอลำจึงเป็นพื้นที่เสรีภาพของกะเทยอีสาน ซึ่งคำว่า “เสรี” นั้น อาจารย์พรเทพ ยกตัวอย่างการแต่งตัวที่สะท้อนตัวตนของกะเทย “กะเทยอีสานจะแต่งตัวภายใต้นิยามว่า “ฟ้าขาด” หมายถึงการเปรียบท้องฟ้าดังผืนผ้าใบที่ห่อหุ้มโลกแล้วมันขาดทะลุออกไปนอกโลก หรือนัยของคำว่า ล้ำ, เกิน เช่น บางทีใส่จี-สตริง บางทีใส่ชุดว่ายน้ำ ฯลฯ มาเที่ยวในงานแสดงหมอลำ คือแต่งให้เกินความจริงเพื่อจะบอกว่าฉันเป็นกะเทย””

“ในกรณีของกะเทย จะไปงานหมอลำเพื่อเต้น พบปะเพื่อนๆ กะเทยด้วยกัน ผู้บ่าวมากหลาย และ “แล่นไม้” ซึ่ง “แล่นไม้” ที่ว่า “แล่น” ก็คือ “วิ่ง” ส่วน “ไม้” หมายถึง “ผู้ชาย” เพราะในงานหมอลำมีผู้บ่าวเยอะมาก”

“เวลาที่กะเทยอีสานบอกว่า “คืนนี้ไปเบิ่งหมอลำ” นั้นฟังดูดีมาก แต่สิ่งที่เขาให้ความหมายกับหมอลำคือ “งานบุญกะเทย” นั่นคืองานหมอลำเป็นจุดรวมตัวของกะเทย ซึ่งบางคนให้ความหมายว่า “เทศกาลกินไม้” หรือ “เทศกาลแต่งหญิง” เพราะในชีวิตจริงกะเทยอีสานจะใส่เสื้อยืดกางเกงวอร์มทำงานรับจ้างทั่วไป ไม่ได้แต่งเป็นหญิง สัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวที่บ่งบอกความเป็นกะเทย คือผมยาว ฉะนั้นเมื่อถึงเทศกาลนี้แต่ละคนจะแต่งตัวแบบ “ฟ้าขาด” บางคนถึงกับบอกว่า ช่วงที่มีหมอลำ เฝ้าแต่รอคอยเวลาค่ำอย่างใจจดใจจ่อ ไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะนึกถึงความสนุกความสุขที่จะได้ออกไปเจอเพื่อน ได้แต่งตัวเด่นๆ หลายครั้งเมื่อถามว่าหมอลำเล่นเรื่องอะไร-ไม่รู้ แต่สนุกตรงที่หลังเวที เพราะถ้าวงหมอลำซิ่ง อย่างวงวาเลนไทน์ หรือวงบัวผัน ที่มีแดนเซอร์นุ่งน้อยห่มน้อยเต้นเยอะๆ ผู้ชายจะชอบไป กะเทยก็จะชอบไป”

โดยนัยยะข้างต้น “แล่นไม้” จึงหมายถึงการออกไปจีบผู้ชายของกะเทยหมอลำ เช่นเดียวกับการออกไป “เล่นสาว” ของผู้บ่าวทั้งหลายนั่นเอง

คำว่า “แล่น” มีความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า

แล่น 1 “ก. เคลื่อนไปด้วยเครื่องยนต์หรือแรงลมเป็นต้น เช่น รถยนต์แล่นเร็ว เรือใบแล่นช้า, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น สมองกำลังแล่น ความคิดไม่แล่น; เชื่อมถึงกัน เช่น นอกชานแล่นถึงกัน. น. ชื่อวัยของเด็กถัดจากวัยจูง เรียกว่า วัยแล่น.”

แล่น 2 “น. หลอดสำหรับเป่าไฟเพื่อเชื่อมโลหะเช่นทอง นาก เงิน ให้ติดกัน, เรียกกิริยาที่ใช้หลอดเป่าไฟเพื่อเชื่อมโลหะดังกล่าวว่า เป่าแล่น.”

ซึ่งความไม่อยู่เฉย เคลื่อนตัวไปตามเส้นทาง เชื่อมต่อฟากหนึ่งเข้ากับอีกฟาก อาจสามารถสืบสาวร่องรอยขึ้นไปได้ว่า เป็นคำของ “คนพูดไท” อย่างค่อนข้างชัดเจน เช่นคัดจากคำศัพท์พื้นฐานของอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 ในคำเรียก “หนทาง” (road) ของพวก Yay ว่า “ranA1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*hrwɤnA

หรือในอีกคำว่า “คลาน” (crawl, to) เช่นไทยสยามเรียก “khla:nA2”, Sapa เรียก “ca:nA2”, Cao Bang เรียก “za:nA2”, Lungchow เรียก “kja:nA2”, Shangsi เรียก “lunA2” และคำสืบสร้าง Proto-Tai คือ “*g.lwɤ:nA

เมื่อเปิดค้นคำศัพท์พื้นฐานของ Austronesian Basic Vocabulary Database ค.ศ. 2008 ก็พบร่องรอยคำเรียกอยู่ในพวก Kra สาขาตะวันตก เช่น Gelao (Judu) เรียก “qə0 ʔlan31”, Gelao (Niupo) เรียก “qə33 ʔlan31” (พร้อมบันทึกเทียบกับคำ Proto-Austronesian ว่า “*zalan”), Gelao (Wantao) เรียก “ka0 ʔlan31” และ “ka0 ʔla31”, Gelao (Moji) เรียก “ka31 lan31”

ซึ่งการเทียบกับคำของ “คนพูดออสโตรนีเซียน” ว่า “*zalan” เป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ชั้นบรรพกาล ในภาษามาลายู-อินโดนีเซียปัจจุบันเรียกถนนว่า “jalan อ่านว่า (จ)ยาลัน” และยังกินความถึงช่องทาง, เส้นสาย, ทิศทาง หรือการย่ำเดินออกไป เป็นต้น และไม่เพียงเท่านั้น ยังสืบค้นคำข้างเคียงที่ประกอบขึ้นจากคำแกน “lan” (รวมถึง “ran”) ได้มากมายหลายสิบคำ เช่น

คำว่า “balan อ่านว่า บาลัน” แปลว่าก้อนหินเศษไม้ต่างๆ ที่กีดขวางทางเดินของแม่น้ำลำคลอง, ทำให้น้ำไหลได้ช้าลง, ไหลไม่สะดวก หรือแปลว่าการแยกทางก็ได้ และยังถูกนำไปใช้กับการหย่าร้างเช่นใช้เรียกแม่ม่าย เป็นต้น คำว่า “balan” แยกได้เป็น ba+lan โดย “ba” แปลว่าที่แบกรับน้ำหนัก คำเดียวกับ “บ่า” และ “lan” แปลว่าเส้นทาง, ทางเดิน, การเคลื่อนตัว จึงแปลรวมได้ว่าเครื่องขัดกั้นทางน้ำ ซึ่งถ้าใช้เสียง ร.เรือ แทนว่า “baran อ่านว่า บารัน” จะแปลออกว่าป่าพรุ, ป่าชุ่มน้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางรกเรื้อ หรือแปลว่าความโกรธเกรี้ยวก็ได้

คำว่า “belan อ่านว่า เบอลัน” แปลว่ากั้นขัดขวางเส้นทางเดิน มีความหมายคล้ายๆ กับ “balan”

คำว่า “bulan อ่านว่า บุหลัน” หรือ “wulan อ่านว่า วุหลัน” ที่แปลว่าพระจันทร์ คำเดียวกับคำเก่าแก่ของ “คนพูดไท” ว่า “เบลือน” ซึ่งแปรผันกลายเป็น “เดือน” ในชั้นหลัง เป็นคำที่มาจากสองคำต้นว่า bu+lan โดย “bu” แปลว่าการผุดโผล่ขึ้นของบางสิ่ง จึงรวมความหมายได้ว่า บางสิ่งผุดโผล่ขึ้นมาท่ามกลางทะเลแห่งความมืดและเคลื่อนตัวออกไปตามเส้นทาง ซึ่งได้เคยถูกอธิบายไว้ในเรื่อง “เมื่อเบลือนเคลื่อนคล้อยกลายเป็นเดือน”

คำว่า “curan อ่านว่า จุรัน” แปลว่าขัดแย้ง, ต่อสู้, ช่วงชิง, แข่งขัน, ประชัน เป็นต้น

คำว่า “delan อ่านว่า เดอลัน” แปลว่าริ้วรอย, คลื่นน้ำเล็กๆ, เป็นชั้นๆ บนผิวน้ำ หากเขียนด้วย ร.เรือ ว่า “deran อ่านว่า เดอรัน” จะแปลว่าการสั่นไหวไปมา

คำว่า “elan อ่านว่า เออลัน” แปลว่าการมุ่งไปข้างหน้าไม่ท้อถอย หรือความมุมานะบากบั่น

คำว่า “gelandang อ่านว่า เก(ง)อลันดัง” แปลว่าไปทางโน้นมาทางนี้แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่มีหางเสือกำหนดทิศทางแน่นอนไม่ได้ ซึ่งคำนี้ควรมาจาก gelan+dang โดยคำหลัง “dang” แปลในทำนองเปิดโล่ง ถูกประกอบอยู่ในหลายคำ เช่น “pandang อ่านว่า ปันดัง” แปลว่าการมองเห็นได้ไกลๆ หรือ “padang อ่านว่า ปาดัง” แปลว่าพื้นที่โล่ง สนาม หรือ “kandang อ่านว่า กันดัง” แปลว่ารั้วรอบ เล้าสัตว์ เป็นต้น

คำว่า “gelanting อ่านว่า เก(ง)อลันติง” แปลว่าแขวนห้อยตัวไว้กับบางอย่างที่อาจลื่นหลุดได้ง่าย

คำว่า “garan อ่านว่า ก(ง)ารัน” แปลว่าด้ามจับ หรือก้านยาว

คำว่า “jaran อ่านว่า (จ)ยารัน” แปลว่าม้าในปัจจุบัน

คำว่า “kelanjar อ่านว่า เกอลันจ(ย)าร” แปลว่ากระดอน, ขึ้นลง, ย้อนกลับคืน เป็นต้น

คำว่า “keran อ่านว่า เกอรัน” แปลว่าหัวจุก, ก๊อกน้ำ หรือเตาอั้งโล่

คำว่า “lanca อ่านว่า ลันจา” แปลว่าเรือที่มีขนาดใหญ่กว่า perahu มีเสาสามต้น ถ้าเขียนด้วยตัว ร.เรือ ว่า “rancah อ่านว่า รันจาห์” แปลออกได้ว่าพื้นดินเละรกเรื้อรุงรัง หรือท่อนไม้ที่เอามาตั้งขึ้นเพื่อสร้างเป็นชั้นข้างบน

คำว่า “lancang อ่านว่า ลันจัง” แปลว่าแรงไม่รู้ทิศรู้ทาง, ไม่รู้ใหญ่รู้เด็ก, บ้าบิ่น, มุทะลุ หรือแปลในอีกความหมายว่าเรือที่แล่นออกไปด้วยความเร็ว ใช้เป็นเรือรบในสมัยโบราณ ถ้าเขียนเป็น “lencang อ่านว่า เลินจัง” แปลว่าเส้นทางตรง ทางลัด ซึ่งคำนี้มาจาก lan+cang โดย “cang” แปลว่าแรง, รวด, เร็ว เช่นในคำว่า “kencang อ่านว่า เกินจัง” แปลว่าวิ่งด้วยความรวดเร็วไม่มียั้ง มีเท่าไรใส่หมด และถ้าใช้ตัว ร.เรือ เป็น “rancang อ่านว่า รันจัง” จะแปลว่าไม้แหลมเรียวปลายเอาไว้ทิ่มลงไปในดิน เป็นต้น

คำว่า “lancap อ่านว่า ลันจัป” แปลว่าเรียบและลื่น หรือดึงออกไปให้ยืดเยื้อ และเขียนเป็น “rancap อ่านว่า รันจัป” แปลว่าใบมีดคมแวววับ

คำว่า “lancar อ่านว่า ลันจาร” แปลว่าไหลลื่นไปข้างหน้า, ไม่ติดขัด, คล่องตัว

คำว่า “lancip อ่านว่า ลันจิป” แปลว่าเล็กเรียวไปทางปลาย

คำว่า “lancur อ่านว่า ลันจูร” แปลว่าน้ำพุ หรือน้ำพุ่งออกมาตามท่อ

คำว่า “lancut อ่านว่า ลันจุต” แปลว่าไหลพุ่งออกมาอย่างแรง

คำว่า “landa อ่านว่า ลันดา” แปลว่าไหลลงไปทางข้างล่าง ถ้าเขียนเป็น “randa อ่านว่า รันดา” แปลว่าหญิงม่ายแยกทางกับสามี หรือเติม “h” ข้างท้ายเป็น “randah” แปลว่าไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ หรือเขียนแปลงนิดว่า “rendah อ่านว่า เรินดาห์” จะแปลว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินคล้ายกับคำว่า “landa”

คำว่า “landai อ่านว่า ลันได” แปลว่าเอียงเทน้อยๆ เช่นที่ราบ, ข้างตลิ่ง, ชั้นตะพัก เป็นต้น หรือ “randai อ่านว่า รันได” แปลว่าเคลื่อนตัวไปตามทาง ลุยข้ามน้ำไป

คำว่า “landing อ่านว่า ลันดิง” หรือ “landur อ่านว่า ลันดูร” แปลเหมือนกันว่าโค้งห้อย ย้วยยาว คล้ายกับคำว่า “gelanting”

คำว่า “lanja อ่านว่า ลันจ(ย)า” แปลว่าไปนั่นไปนี่ หรือเขียนเป็น “lenja อ่านว่า เลินจ(ย)า” แปลใกล้เคียงว่าไม่เป็นระเบียบ และไหลย้อย

คำว่า “lanjai อ่านว่า ลันไจ(ย)” หรือ “ lanjak อ่านว่า ลันจั(ย)ก” แปลเหมือนกันว่าสูงผอมเพรียวขึ้นไป

คำว่า “lanjam อ่านว่า ลันจั(ย)ม” แปลว่าใบมีดคันไถ

คำว่า “lanjang อ่านว่า ลันจ(ย)าง” แปลว่าเรียวยาว มาจากสองคำคือ lan+jang โดยคำว่า “jang” มีความหมายแบบแนวยาว เช่นในคำว่า “panjang อ่านว่า ปันจั(ย)ง” แปลว่าการแผ่ยาวออกไป หรือ “ranjang อ่านว่า รันจั(ย)ง” แปลว่าที่นอน

คำว่า “lanjar อ่านว่า ลันจ(ย)าร” แปลว่ายืดยาวไม่หยุด, คล่องแคล่ว, ว่องไว

คำว่า “lanjau อ่านว่า ลันเจ(ย)า” แปลว่ากาง (มือ) ออก หรือ “ranjau อ่านว่า รันเจ(ย)า” แปลออกเป็นซี่เล็กๆ แหลมเรียว หรือคำใกล้ๆ ว่า “rancau อ่านว่า รันเจา” แปลว่าไม่นิ่ง, ไม่ปลอดภัย, อันตราย เป็นต้น

คำว่า “lanjung อ่านว่า ลันจุ(ย)ง” แปลว่าสูงเรียวยาว หรือคำว่า “rancung อ่านว่า รันจุง” แปลว่าปลายแหลมคม และยังมีความหมายคล้ายกับคำว่า “lanjai” และ “lanjak”

คำว่า “lanjur อ่านว่า ลันจู(ย)ร” และ “lanjut อ่านว่า ลันจุ(ย)ต” แปลว่ายืดเยื้อไปเรื่อยๆ

คำว่า “lantai อ่านว่า ลันไต” แปลตรงตัวว่าชั้นข้างล่าง, ชั้นตึก, ดาดฟ้าเรือ ถ้าเขียนเป็น “rantai อ่านว่า รันไต” จะแปลได้ว่าสาย, แถว, สร้อย เป็นต้น

คำว่า “lantak อ่านว่า ลันตัก” แปลว่าบดอัดให้แน่นเป็นชั้นๆ

คำว่า “lantam อ่านว่า ลันตัม” แปลว่าแข็งแรงมาก, บ้าบิ่น, หุนหัน หากเขียนด้วยตัว ร.เรือ ว่า “rantam อ่านว่า รันตัม” แปลว่าการร่วมมือกันทำงาน

คำว่า “lantang อ่านว่า ลันตัง” แปลว่าชัดแจ้งชัดเจน ถ้าเขียนว่า “rantang อ่านว่า รันตัง” จะแปลว่าที่ครอบ, ฝาชี, สุ่ม

คำว่า “lantar อ่านว่า ลันตาร” แปลว่าส่งให้ถึง, ม้านั่งยาว หรือบันไดก็ได้

คำว่า “lantas อ่านว่า ลันตัส” แปลว่าทางด่วน, ต่อสายตรง, เสร็จสิ้น คล้ายกับคำว่า “lencang” ถ้าเขียนว่า “rantas อ่านว่า รันตัส” ก็แปลไม่ต่างกันนักว่าตัด, ขาด, บั่น, ทำให้สั้นลง

คำว่า “lantik อ่านว่า ลันติก” แปลว่าเรียวโค้งงอ สอบเข้า หรือในคำว่า “lentik อ่านว่า เลินติก” ก็แปลว่าโค้งงอเรียวตรงปลาย

คำว่า “lanting อ่านว่า ลันติง” แปลว่าขว้างออกไปไกล, ขึ้นลง, กางมือออกจับ หรือบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนป่าพรุ ป่าชุ่มน้ำ และถ้าเขียนว่า “lenting อ่านว่า เลินติง” จะแปลว่ายืดหยุ่น

คำว่า “lantun อ่านว่า ลันตุน” แปลว่าย้อนกลับคืน หรือยกขึ้น

คำว่า “lantung อ่านว่า ลันตุง” แปลว่าพวกไม่มีอะไรทำ, แขวนลอยไปลอยมา หรือกลิ่นเหม็นชนิดรุนแรง มาจาก lan+tung โดยคำว่า “tung” แปลว่าการโอบอุ้มบางอย่างในลักษณะของการแขวนห้อย เป็นคำพิเศษของภาษาพ่อ “tung” ที่คู่กับแม่ “dung” ซึ่งถูกอธิบายไว้ในเรื่อง “ท้องทุ่งขึงขื่อฟ้าของพวกไท-กะได”

คำว่า “lantur อ่านว่า ลันตูร” แปลว่าพูดจาวกวน และถ้าเขียนว่า “lentur อ่านว่า เลินตูร” จะแปลว่าโค้งงอ

คำว่า “lanyah อ่านว่า ลันยาห์” แปลว่าดินเลนเหลวเละ หรือหล่มโคลน หรือเขียนว่า “ranyah อ่านว่า รันยาห์” ก็แปลได้ใกล้เคียงว่าไม่นิ่งเฉย

คำว่า “lanyak อ่านว่า ลันยัก” แปลว่าทำให้ดินร่วน หรือ “lenyak อ่านว่า เรินยัก” แปลว่าแห้ง ระเหย

คำว่า “lanyau อ่านว่า ลันเยา” แปลไม่ต่างจาก “lanyak” ว่าพื้นดินลุ่มโคลนแห้ง หรือ “ranyau อ่านว่า รันเยา” แปลว่าไม่อยู่เฉย, เร่ร่อน, หลงๆ ลืมๆ เป็นต้น

คำว่า “paran อ่านว่า ปารัน” แปลว่าทิศทาง ในปัจจุบันใช้เรียกแผ่นไม้หนายาว เช่น ขื่อ กับ อเส ที่เป็นส่วนรับน้ำหนักของโครงหลังคาบ้าน

คำว่า “pelan อ่านว่า เปอลัน” แปลว่าช้าลง ช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ ถ้าเขียนว่า “peran อ่านว่า เปอรัน” จะใช้กับไม้เครื่องโครงหลังคาบ้าน และให้สังเกตความเกี่ยวข้องกับคำว่า “แปลาน” ของเรือนทรงไทย

คำว่า “pulan อ่านว่า ปุลัน” แปลได้ทั้งเนื้อที่สุกแต่ยังไม่เปื่อยดีนัก หรือข้าวที่หุงสุกได้ที่ นุ่มกำลังกิน

คำว่า “rancu อ่านว่า รันจู” หรือคำว่า “rancam อ่านว่า รันจัม” แปลว่าผสม, มั่ว, ปนเป, รวม

คำว่า “rancak อ่านว่า รันจัก” แปลว่าโค่น, ตัด, ฟันให้สั้นลง ความหมายคล้ายกับคำว่า “rantas”

คำว่า “rantau อ่านว่า รันเตา” แปลว่าชายหาด, ชายตลิ่งที่แคบยาว มีความหมายใกล้กับคำว่า “landai” และ “lantai”

คำว่า “randak อ่านว่า รันดัก” แปลว่าเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ

คำว่า “randuk อ่านว่า รันดุก” แปลว่าเดินข้ามน้ำ, ข้ามทุ่ง หรือขนสัตว์ยาวๆ

คำว่า “randung อ่านว่า รันดุง” แปลว่าวิ่งชน หรือกระทุ้ง มาจาก ran+dung โดยคำว่า “dung” แปลว่าโค้งงอ คำเดียวกับ “ดุ้ง” อยู่ในกลุ่มภาษาแม่ “dung” ผู้โอบอุ้มถุงให้กำเนิด

คำว่า “saran อ่านว่า ซารัน” แปลว่าคำชี้แนวทาง

คำว่า “seran อ่านว่า เซอรัน” แปลว่ารอยขีดเป็นทางไปมา

คำว่า “telan อ่านว่า เตอลัน” แปลว่ากลืน, กินเวลา, สิ้นเปลืองทรัพยากร และถ้าเขียนว่า “teran อ่านว่า เตอรัน” จะแปลว่าเสียงหอบหายใจติดขัดแบบคนจะออกลูก หรือเสียงกู่ร้องก็ได้

(คัดจากพจนานุกรมฉบับ Kamus Besar Bahasa Indonesia ค.ศ. 2012 เป็นส่วนใหญ่)

คำทั้งหลายที่ยกขึ้นมาเทียบเคียง ทั้งที่ใช้เสียงตัว ล.ลิง และเสียงตัว ร.เรือ ต่างสังเกตได้ถึงความหมายร่วมที่เด่นชัดบางอย่าง จนสามารถสรุปความหมายชั้นพื้นฐานของกลุ่มคำ “lan/ran” แห่งอินโดนีเซียได้ว่าคือ บางสิ่งแสดงลักษณะเป็นทาง เป็นเส้น เป็นความยาว เป็นช่วงระยะ มีการเชื่อมต่อถึงกันและกัน มีส่วนหัวและส่วนหาง มีทิศทาง มีพื้นที่ประกอบ และมีการเคลื่อนตัวไปมาไม่หยุดอยู่นิ่งเฉย

ซึ่งความหมายระดับนามธรรมของกลุ่มคำ “lan/ran” เช่นข้างต้น ถือได้ว่ามีความใกล้ชิดสนิทแนบกับความหมายของคำว่า “เล่น” และ “แล่น” เป็นอย่างยิ่ง และกว่านั้นยังบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องของถนนหนทางหรือการวิ่งเล่นตามประสาเด็กน้อย เพราะเมื่อสืบสาวคำข้างเคียงของ “เล่น/แล่น” ดูบ้าง ก็พบความน่าสนใจว่ามีคำร่วมรากร่วมความหมายปรากฏในคำพูดของ “คนพูดไท” เป็นจำนวนหลายสิบคำ ทั้งในรูปของคำควบกล้ำและคำโดด และสามารถจัดจำแนกได้หลายกลุ่มคำตามบทบาทหน้าที่ อาทิ

กลุ่มคำย่อย กาน, กัน, กั้น, กลั้น, ขั้น, คัน, คั่น, คร้าน, ค้าน, ชาน, ชั้น, บั่น, บั้น, ปัน, พาน, พัน, ฟัน, ราน, ลั่น, สั้น, หั่น, หลั่น หรือกลุ่มคำย่อย ก้าน, คาน, คัน, ป่าน, ป้าน, ยาน, ย่าน, สาน, อาน หรือกลุ่มคำย่อย กร้าน, คัน, ครั่น, พรั่น, ยั่น, ราน, ลั่น, สั่น, หวั่น หรือกลุ่มคำย่อย กลืน, คลื่น, คืน, ลื่น หรือกลุ่มคำย่อย คลาน, ถลัน, ป่าน, ผ่าน, พล่าน, พลัน, ย่าน, ร่าน, ลาน, ลั่น, เล่น, แล่น, หว่าน และสุดท้ายกลุ่มคำย่อย เขยื้อน, เคลื่อน, เดือน, เบือน, เพลิน, เยือน, เลือน, เลื่อน เป็นต้น

1) กลุ่มคำย่อย กาน, กัน, กั้น, กลั้น, ขั้น, คัน, คั่น, คร้าน, ค้าน, ชาน, ชั้น, บั่น, บั้น, ปัน, พาน, พัน, ฟัน, ราน, ลั่น, สั้น, หั่น, หลั่น เป็นกลุ่มคำย่อยที่แสดงบทบาทในเชิงสกัดขัดขวางเส้นทางให้เชื่องช้าลง เคลื่อนตัวได้ไม่สะดวก หรือทำให้ขาดสะบั้นออกจากกัน

คำควบกล้ำเช่น “กลั้น” (hold the breath) ควรเป็นคำพูดที่มาก่อนคำเดี่ยวอื่นๆ มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า “ก. บังคับความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่ภายในร่างกาย ไม่ให้แสดงออกหรือหลุดออกมา.” ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความหมายอย่างแคบ ความหมายที่กว้างควรกินความถึงเรื่องของการกั้นบางอย่างไม่ให้ผ่านออกไปได้ และพอเข้าไปค้นในคำศัพท์พื้นฐานของอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 พบว่าพวก Bao Yen และ Yay เรียกแบบคำโดดแต่เสียงต่างว่า “canC1” สืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*klanC

และคำควบกล้ำในลักษณะนี้ ควรเป็นต้นทางของคำโดดต่อมา เช่น “กั้น” (block, separate) ที่แปลว่า “ก. กีดขวางหรือทำสิ่งกีดขวางเพื่อบัง คั่น หรือกันไว้ไม่ให้เข้ามา เช่น กั้นกลด ภูเขากั้นเขตแดน กั้นถนน.”

หรือคำว่า “กัน” (each other, together) ที่มีความหมายสองแบบ ทั้งกีดกันและพวกกัน พจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความคัดมาบางส่วนว่า “ว. คำประกอบท้ายกริยาของผู้กระทำตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แสดงการกระทำร่วมกัน อย่างเดียวกันหรือต่อกัน เช่นคิดกัน หารือกัน. ก. กีดขวางไม่ให้เข้ามาหรือออกไป หรือไม่ให้เกิดมีขึ้น เช่น กันฝน กันสนิม กันภัย, แยกไว้ เช่น กันเงินไว้ 500 บาท เพื่อจ่ายในสิ่งที่จำเป็น กันเอาไว้เป็นพยาน. น. ชื่อช้างศึกพวกหนึ่ง มีหน้าที่ป้องกันและล้อมทัพ, ช้างดั้ง ก็เรียก, เรียกเรือซึ่งกำหนดให้เข้ากระบวนเรือเสด็จทางชลมารค ทำหน้าที่ถวายอารักขา มีหลายลำ ตั้งเป็นแถวขนาบกระบวนเรือพระที่นั่งทั้งสองข้าง และกันอยู่ท้ายกระบวนระหว่างเรือของเจ้านายที่ตามเสด็จว่า เรือกัน.”

ซึ่งพบว่าในคำศัพท์พื้นฐานไท-ไต ใช้เหมือนกันหลายพวก เช่น Sapa, Bao Yen, Cao Bang และ Lungchow เรียก “kanA1” ส่วนพวก Saek เรียก “kinA1-v” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*kanA

หรือแปรเป็น “คั่น” (intervene between) และ “คัน” (dike between rice fields) การขีดคั่นและคันนา ที่พจนานุกรมไทยฯ ส่วนหนึ่งหมายถึง “น. แนวดินหรือแนวทรายเป็นต้น ที่พูนสูงขึ้นเป็นแนวยาว เช่น คันทราย, แนวดินที่พูนขึ้นมาสำหรับกั้นน้ำ เช่น คันนา คันดิน;” และพวกไท-ไตเรียกใช้ดังนี้คือ พวก Bao Yen เรียกเหมือนไทยสยามว่า “khanA2”, พวก Cao Bang เรียกว่า “ǥ̈anA2”, พวก Lungchow เรียก “kanA2”, พวก Shangsi และ Yay เรียกเหมือนกันว่า “hanA2”, พวก Saek เรียก “ɣalA2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า “*ɣalA

อาจรวมคำควบกล้ำว่า “คร้าน” (lazy) ที่ฟังแล้วไม่เข้าท่าเข้ากลุ่ม เพราะความเกียจคร้านจะหมายถึงการขีดคั่นได้อย่างไร แต่หากมองในมุมของการชอบอยู่นิ่งเฉยขี้เกียจเคลื่อนไหว ก็กลายเป็นสิ่งเดียวกับการขัดขวางตั้งแง่ให้การไหลเวียนนั้นสะดุดหยุดลง มีคำจำกัดความว่า “ว. มีความรู้สึกไม่อยากจะทำหรือคิดหรือไม่อยากแสดงอาการใดๆ, ตามปรกติเมื่อใช้พูดมักมีคำ ขี้ ประกอบหน้า เช่น ขี้คร้าน และมักใช้เข้าคู่กับคำ เกียจ เป็น เกียจคร้าน ขี้เกียจขี้คร้าน หมายความว่า ไม่อยากทำงาน.”

ในคำศัพท์พื้นฐานของพวกไท-ไตโดยอาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ไม่ปรากฏคำนี้ แต่กลับพบในบทความของอาจารย์ชื่อ “Layers of Chinese Loanwords in Proto-Southwestern Tai as Evidence for the Dating of the Spread of Southwestern Tai” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร MANUSYA: Journal of Humanities, special issue No 20 ปี ค.ศ. 2014 โดยถือเป็นหนึ่งในคำหยิบยืมจากภาษาจีนโบราณก่อนยุคฮั่นตอนปลาย เข้าคริสตกาลไม่นานว่า “*N-kə.rʕanʔ” เทียบกับคำสืบสร้าง Proto-Southwestern Tai ว่า “*ɡra:nC” และภาษาจีนชั้นหลังต่อมาได้กลายเป็นคำโดดไปทั้งแผง ไม่ว่าจะเป็นในช่วงยุคจีนกลาง (Middle Chinese) ว่า “lanB” จนเข้ายุคจีนแมนดาริน (Early Mandarin) ว่า “lăn”

หากสิ่งที่น่าสนใจติดปลายนิ้วคือว่า คำเรียกความเกียจคร้าน กลับไปปรากฏในคำพูดของพวก Hlai ที่สืบค้นไว้โดย Peter Norquest ในงานวิจัยเสนอจบปริญญาเอก เมื่อปี ค.ศ. 2007 เช่น พวก Bouhin, Ha Em, Lauhut, Tongzha, Baoting และ Nadouhua เรียกว่า “la:n3”, ส่วน Cunhua เรียก “lɔn[5]”, Changjiang และ Moyfaw เรียก “la:ŋ3” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*C-la:nʔ” ซึ่งสังเกตว่ารูปคำนั้นเป็นไปในแนวเดียวกับคำต้นรากภาษา “เล่น/แล่น” อย่างชนิดยากหลีกเลี่ยง และเป็นคำเก่าแบบ prototype ที่แก่กว่า Proto-Tai ผู้เป็นสาแหรกบรรพชนของ Proto-Southwestern Tai จนอาจตีความในอีกด้านว่า นี่อาจเป็นคำของพวก “คนพูดไท” แท้ๆ ที่ได้เผื่อแผ่ภาษาเกียจคร้านให้กับภาษาจีนในชั้นหลังมากกว่า

ทั้งยังเป็นคำควบกล้ำที่ไม่ว่าจะควบขี่ตัว ล.ลิง หรือ ตัว ร.เรือ ก็เข้าใจตีความเอาเองว่าได้หดสั้นเป็นคำโดดว่า “ค้าน” กับความหมายแปรเปลี่ยนว่า ผู้ชอบหมกมุ่นอยู่กับการอยู่นิ่งเฉย ต่อต้านการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวใดๆ บนคำจำกัดความว่า “ก. แย้งกัน เช่น ข้อความตอนหน้ากับตอนหลังค้านกัน, กล่าวแย้ง ไม่เห็นด้วย; (โบ; กลอน) หัก, พัง, ทำลาย, เช่น เครื่องบนกระบาลผุค้าน.”

พวกชอบการกีดกันยังขยับตัวไปถึงคำว่า “ขั้น” (step) บนคำจำกัดความว่า “น. ชั้นที่ทำลดหลั่นกันเป็นลำดับ เช่น ขั้นบันได; ลำดับ, ตอน, เช่น ในขั้นนี้.”

กลายเป็น “ชาน” (terrace) ลานเปิดโล่งบนเรือนของพวก “คนพูดไท” มีคำจำกัดความว่า “น. เรียกพื้นเรือนนอกชายคาว่า นอกชาน, พื้นที่นอกตัวเรือน ตัวเมืองหรือตัวกำแพง เป็นต้น ออกไป เช่น ชานเมือง ชานกำแพง ชานเขื่อน.”

ขึ้นถึง “ชั้น” (layer, floor) กับความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “น. ที่สำหรับวางของอย่างหนึ่ง มีพื้นซ้อนกันคล้ายตู้แต่ไม่มีบานปิด; สิ่งที่ซ้อนลดหลั่นกันเป็นขั้นๆ เช่น ฉัตร 5 ชั้น; ขั้นที่ลดหลั่นกัน เช่น ชาติชั้นวรรณะ; ขั้น, ตอน, เช่น ชั้นนี้; ลำดับ เช่น มือคนละชั้น. ว. ที่ซ้อนทับกันเป็นแผ่นๆ เช่น ขนมชั้น หินชั้น.”

ซึ่งทั้ง “ชาน” และ “ชั้น” มีความหมายใกล้ชิดกับคำว่า “หลั่น” (in descending order) ที่มีคำจำกัดความว่า “ว. สูงต่ำหรือก่อนหลังกันเป็นลำดับ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ลด เป็น ลดหลั่น. ก. อาการที่ควั่นปลายเสาให้เหลือเป็นเดือยสำหรับรับขื่อ เรียกว่า หลั่นหัวเทียน.”

และเข้าใจว่า “หลั่น” ได้หดสั้นต่อมาจนกลายเป็นคำโดดว่า “ลั่น” (overlap) เช่นในความหมายหนึ่งว่าลักลั่น “ว. ขาดความเป็นระเบียบทำให้เกิดเหลื่อมล้ำไม่เป็นไปตามกฎตามแบบตามลำดับเป็นต้น เช่น ทำงานลักลั่น เครื่องใช้ต่างชุดต่างสำรับใช้ปนกันดูลักลั่น.”

จนต้อง “พาน” (section, block) ออกไปให้หมด ส่วนหนึ่งอธิบายว่า “น. ตอน, บั้น (ใช้แก่สิ่งของบางชนิด) เช่น พานท้ายปืน, พานท้ายเรือ. ก. พบปะมักใช้เข้าคู่กับคำ พบ เป็น พบพาน หรือ พานพบ, เช่น ไม่ได้พบพานเสียนาน; ขวาง, กีดขวาง, ขึงขวาง, เช่น เอาเชือกมาพานไว้ เมื่อคนมาปะทะก็จะล้มลง, กั้นไว้ เช่น พานคนข้างหลังไว้, ระให้หมดไป เช่น เอาไม้กวาดพานหยากไย่.”

นอกจากนั้นยังขยายไปถึงเรื่องของการทำให้เส้นสายที่เคยยาวต่อเนื่อง ตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง เช่น

คำว่า “กาน” (cut off) เป็นคำที่ชาวสวนทางเมืองจันท์คุ้นเคยแบบคนรู้ใจ เช่น กานเงาะ กานทุเรียน ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “ก. ตัดเพื่อให้แตกใหม่ เช่น กานต้นมะขาม, ตัดเพื่อให้ลำต้นเปลา เช่น กานต้นสน; ควั่นเปลือกและกระพี้ต้นไม้เพื่อให้ยืนต้นตาย เช่น กานต้นสัก, ควั่นเปลือกและกระพี้ต้นไม้เพื่อให้มีลูก เช่น กานต้นมะพร้าว.”

หรือคำว่า “บั่น” (slash) ที่หมายถึงการใช้ของมีคมบางอย่างฟันให้ขาดออกจากกัน บนความหมายว่า “ก. ตัดให้สั้น, ตัดเป็นท่อนๆ.” หรือในความหมายของ “บากบั่น” ว่า “ก. พากเพียร, ตั้งหน้าฝ่าความยากลำบาก.”

และถ้ายังไม่หมดเยื่อใย ก็ต้องอาศัยคำใกล้เคียงว่า “บั้น” (section) ในรูปของขาดสะบั้น มากกว่าที่จะหมายถึงบั้นท้ายบั้นเอว ความว่า “ว. อาการที่แยกหรือขาดจากกันอย่างเด็ดขาด เช่น สัมพันธภาพขาดสะบั้น ความรักขาดสะบั้น, โดยปริยายหมายความว่า อย่างยิ่ง, อย่างมาก, เช่น กินสะบั้น.” และตามด้วยการแบ่งทรัพย์สินเงินทองในรูปความว่า “น. ครึ่งหนึ่งหรือตอนหนึ่งของสิ่งที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน เช่น บั้นต้น บั้นปลาย. สัน. ฝ่ายว่า, ส่วนว่า.”

แต่หากว่ามีผู้รอรับส่วนแบ่งมากกว่าสอง ขึ้นชั้นผู้ชำนาญการ คงต้องพึ่งพาคำว่า “ปัน” (divide) หมายถึงว่าแบ่งแยกของเดิมออกเป็นส่วนๆ เป็นท่อนๆ กระจายกันไป ดังคำจำกัดความว่า “ก. แบ่ง เช่น ปันเป็นส่วนๆ, แบ่งซื้อ ในคำว่าขอปัน, แบ่งขาย ในคำว่า ปันให้.”

ในพวกไท-ไต เช่น ไทยสยาม, Sapa, Lungchow และ Saek ใช้เหมือนๆ กันว่า “panA1” อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ สืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ไว้ว่า “*panA

ความน่าสนใจผุดโผล่ระหว่างบรรทัดว่า “ปัน” คำนี้เกี่ยวข้องมากน้อยอย่างไรกับคำว่า “พัน” ซึ่งถูกเรียกขานในหมู่พวก “คนพูดไท” หลายกลุ่ม ทั้งการแสดงบทบาทของจำนวนนับตามลำดับขั้นว่าหนึ่งพัน (one thousand) เช่น พวก Saek เรียก “phan4”, ไทยสยาม เรียก “phan1”, ลาว เรียก “phán”, พวก Dehong เรียกต่างไปนิดว่า “pan2” (คล้ายกับการเรียก “ปัน” มากกว่า “พัน”) และแม้แต่พวก Laha ก็เรียก “cạm6 phạn1” (อ้างจาก Austronesian Basic Vocabulary Database ค.ศ. 2008)

และบทบาทของการเข้าพัวพันอย่างลึกซึ้ง เช่น พวก Hlai ส่วนใหญ่เรียกในฐานะของ “braid” ว่า “phan1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*phən” (อ้างจาก Peter K. Norquest ค.ศ. 2007) และพวกไทยสยาม

โดยความหมายของ “พัน” ตามพจนานุกรมไทยฯ ให้ไว้สองลักษณะคือ หนึ่ง “ว. เรียกจำนวน 10 ร้อย. น. ตำแหน่งหัวหน้าทหารสมัยโบราณสูงกว่าหัวปาก, บรรดาศักดิ์ชั้นประทวนต่ำกว่าหมื่น, ชื่อตำแหน่งหัวหน้านายเวรในกระทรวงหมาดไทยและกลาโหม, ยศทหารชั้นสัญญาบัตรรองจากนายพล.” และสอง “ก. วนรอบด้วยสิ่งที่เป็นเส้นสายหรือสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น พันคอ พันแผล เถาวัลย์พันกิ่งไม้, ม้วน เช่น พันไหมพรม, รัดโดยรอบ เช่น พันแข้ง, เกี่ยวกันไปมา, เกี่ยวกันยุ่งเหยิง, เช่น ด้ายพันกัน.”

ถ้าพยายามมองหาความหมายร่วมของการพัวพันและจำนวนนับหลักพัน อาจพานพบความแปลกใจว่า ทั้งสองต่างประกอบขึ้นจากส่วนย่อยๆ จำนวนมากเหมือนกัน อธิบายขยายความได้ว่า การพัวพันเกิดจากการแบ่งแยกตัวและควบรวมแบบธารน้ำประสานสาย “braided rivers” และจำนวนหลักพันเกิดจากการบั่นแบ่งปันถึง 10 ร้อยหน่วย ซึ่งหมายถึงโดยพื้นฐานแล้ว “พัน” คือพวกเดียวกับคำว่า “ปัน” และคำอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ทั้งยังไม่ใช่คำที่มาจากต่างถิ่นต่างพวกแต่อย่างใด

แล้วยังพบคำเรียกคล้ายในพวก Hlai ในรูปของ “break” เช่น Bouhin และ Cunhua เรียก “phan3”, Ha Em, Lauhut และ Tongzha เรียก “pho:n3”, Zandui และ Baoting เรียก “phɔ:n3”, Nadouhua เรียก “phɔn3” และ Yuanmen เรียก “phu:n3, ส่วน Changjiang และ Moyfaw เรียกต่างไปว่า “pho:ŋ3” และ Baisha เรียก “phuaŋ3” และสืบสร้างคำ Proto-Hlai ว่า “*phə:nʔ”

หรือในรูปของ “separate” ที่ออกเสียงไปทางต้นคำอย่างเห็นๆ เช่นBouhin, Ha Em, Tongzha, Baoting, Moyfaw และ Baisha เรียกเหมือนๆ กันว่า “lan3”, Yuanmen เรียกว่า “lan6”, ส่วน Lauhut เรียกเพี้ยนไปนิดว่า “laɲ3” และ Zandui เรียก “lum6 สืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*C-ləɲʔ”

และสิ่งที่น่าสนใจถัดไปคือคำว่า “ฟัน” ทั้งฟันในปาก ซึ่งเป็นอวัยวะสำหรับการขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน และการเงื้อมีดหรือดาบฟันชู้รักให้ขาดสะบั้นออกจากกัน

โดย “ฟัน” (tooth) ในแบบแรกมีการใช้ใน “คนพูดไท” หลากหลายกลุ่ม เช่น

ในกลุ่ม Hlai (Baoding) เรียกแบบชัดเจนว่า “fan1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai โดย Peter Norquest ว่า “*fjən” ซึ่งแตกต่างจากคำสืบสร้างของอาจารย์ วีระ โอสถาภิรัตน์ ว่า “*ipan A”

ในกลุ่ม Kam-Sui เช่น พวก Mulam เรียก “fan1”, หรือออกเสียงใกล้เคียงในพวก Then เรียก “vən2”, พวก Sui เรียก “vjən1” และสืบสร้างคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*pjwan1”

ในกลุ่ม Lakkja เรียก “wan2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Lakkja ว่า “*wan A2”

ในกลุ่ม ไท-ไต สาขาเหนือบางพวก เช่น พวก Zhuang (Wuming), Laibin, Yongnan และ Long’an เรียกเหมือนกันว่า “fan2” และในกลุ่ม ไท-ไต สาขาตะวันตกเฉียงใต้ เช่น ไทยสยาม เรียก “fan2” สืบสร้างเป็นคำ Proto-Southwestern Tai ว่า “*van A2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*wan A”

ส่วนพวกอื่นๆ นั้นเรียกแตกต่างออกไป เช่น คล้ายกับคำว่า “เขี้ยว” หรือคำว่า “*l-pən A” ของ Proto-Kra ซึ่งไปคล้ายกับคำของทาง “คนพูดออสโตรนีเซียน” ที่สืบสร้างไว้ว่า “*nipen” หรือ “*lipen” (Zorc) เป็นต้น (อ้างจาก Austronesian Basic Vocabulary Database ค.ศ. 2008)

ส่วน “ฟัน” (slash) ในแบบที่สอง เท่าที่ค้นจากคำศัพท์พื้นฐานของอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 พบว่าพวกไทยสยาม, Sapa และ Yay เรียกเหมือนกันว่า “fanA2”, พวก Bao Yen เรียก “phanA2” (คล้ายกับคำเรียก “พัน”), Cao Bang เรียก “vanA2” และ Saek เรียก “valA1 -t” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*walA” (ใกล้เคียงกับ “ฟัน” ที่ใช้ขบเคี้ยว) และพจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความว่า “ก. เอาของมีคมเช่นดาบฟาดลงไป, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น เอาสันมือฟันอิฐ.”

เช่นเดียวกับคำว่า “พัน” ทั้งสองความหมายนั้นต่างมีพื้นฐานร่วมรากคือ ทำให้บางสิ่งแยกขาดออกจากกันไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งบ่งชี้นัยยะว่า “ฟัน” ที่ใช้ในแบบข้างต้น บางทีอาจพัฒนามาจากกลุ่มคำเก่าเหมือนๆ กัน และบางอารมณ์อาจเป็นกลุ่มที่เหินห่างจากความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับคำของทางออสโตรนีเซียนว่า “*nipen” หรือ “*lipen” (Zorc) ตามที่นักภาษาศาสตร์เชิงประวัติหลายท่านได้สืบสาวเรื่องราวไว้

ซึ่งอาจเป็นความเหินห่างที่อยาก “ราน” (cut off) ออกในความหมายเดียวกับ “กาน” คือการตัดให้ขาดออกจากกัน หรือการระรานก้าวร้าวชอบแตกหัก เช่นที่พจนานุกรมไทยฯ เขียนสั้นๆ ว่า “ก. ตัดหรือฟันกิ่งออก ในคำว่า รานกิ่ง.”

หากยังไม่สาแก่ใจก็บั่นจนเหลือชิ้น “สั้น” (short) เป็นคำที่ไม่ปรากฏมีการใช้ในพวกไท-ไตอื่นๆ ยกเว้นไทยสยาม บนคำนิยามว่า “ว. ลักษณะส่วนหนึ่งของสิ่งใดๆ มีกำหนดระยะยืดหรือยืนเป็นเส้นตรงจากจุดหนึ่งถึงอีกจุดหนึ่งน้อยกว่าอีกสิ่งหนึ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบกัน เช่น เสื้อแขนสั้น กระโปรงสั้น ถนนสายนี้สั้นกว่าถนนสายอื่นๆ, มีระยะเวลานานน้อยกว่าอีกช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อมีการเปรียบเทียบกัน เช่น หน้าหนาวกลางวันสั้นกว่ากลางคืน.”

สุดท้ายจึง “หั่น” (slice) ซ้ำอีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องห้ำหั่นให้หนักมือ กับคำจำกัดความว่า “ก. เอาของวางลงบนที่รองรับแล้วตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ, (ปาก) เช่น หั่นงบประมาณ.”

และท้ายกว่า กลุ่มคำนี้ยังอาจลากความไปถึงคำว่า “ขัน” (compete, tighten) ในความหมายว่าแข่งขัน, โต้แย้งเข้าประชัน, ขันให้ติดแน่น หรือคำว่า “คั้น” (squeeze) ในแบบคาดคั้น, คั้นน้ำ หรือบีบคั้นบางอย่างให้ไหลหยดย้อยออกมา หรือเผลอไผลยังคำว่า “แคลน” (lack of) ความขัดสน, ไม่คล่องตัว, ติดๆ ดับๆ เป็นต้น

การแสดงหน้าที่ของการขัดขวางเส้นทาง แบ่งแยก ตัดให้ขาดออกจากกันของกลุ่มคำย่อยนี้ สามารถเทียบเคียงได้อย่างใกล้ชิดกับคำยาวในภาษา “lan/ran” ของออสโตรนีเซียน เช่นคำว่า “balan” – กีดขวางทางน้ำ, “belan” – ขัดขวาง, “curan” –ขัดแย้ง ต่อสู้, “keran” – จุกกลั้น, “rantas” –บั่น ทำให้สั้นลง และ “rancak” –โค่น ฟัน เป็นต้น

2) กลุ่มคำย่อย ก้าน, คาน, คัน, ป่าน, ป้าน, ยาน, ย่าน, สาน, อาน เป็นกลุ่มคำที่แสดงบทบาทขยายรูปร่างยาวเดิมให้เป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น

คำว่า “ก้าน” (stem) รูปร่างยาวๆ เป็นคำควบรวมหดสั้นปรุงจนสุกได้ที่แล้ว พจนานุกรมไทยฯ ให้ความหมายบางส่วนไว้ว่า “น. ส่วนที่ต่อดอก หรือใบ หรือผล กับกิ่งไม้, เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ก้านตุ้มหู ก้านไม้ขีด; กระดูกกลางแห่งใบไม้บางอย่าง เช่น มะพร้าวจาก.” ซึ่งคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตสืบค้นไว้ว่าเรียกกันอยู่สามสี่พวก ได้แก่ ไทยสยาม, Sapa, Yay และ Saek ว่า “ka:nC1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*ka:nC

ซึ่งตรงกับคำของพวก Kam-Sui ที่รวบรวมไว้โดย Ilya Peiros ค.ศ. 1998 เช่น พวก Yanghuang เรียก “kan.3” และ Maonan เรียก “kan.6 [*v] และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*ka:n.C”

ถ้าก้านนั้นแข็งแรงและใหญ่โตเพียงพอ ก็อาจใช้เป็น “คาน” (beam) อีกหนึ่งคำรวมหดสั้น เพื่อเอาไว้แบกหาม ตั้งแต่ไม้คานหาบสาแหรก คานกระดก ครกกระเดื่อง จนถึงคานบ้านคานเรือน ที่แปรเปลี่ยนคำเรียกไปเป็น “ขื่อ” สำหรับรองรับโครงหลังคาบ้าน และคานอำนาจเพื่อการถ่วงดุลใดๆ ในคำจำกัดความว่า “น เครื่องเรือนที่ยึดเสาและรองตง ทำด้วยไม้เป็นต้น, ไม้ทำอย่างรอดเพื่อรองรับของหนัก เช่น คานเรือ; ไม้สำหรับหาบหรือหามสิ่งของต่างๆ เรียกว่า ไม้คาน. ก. รองรับหรือเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งรองรับของหนักขึ้นไว้, ถ่วงน้ำหนัก เช่น อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติกับอำนาจของฝ่ายบริหารคานกัน, โดยปริยายหมายความว่า ค้านกัน ยังตกลงกันไม่ได้.”

คำศัพท์ไท-ไตพื้นฐานสืบค้นคำว่า “คาน” (carrying pole) ไว้ดังนี้ ไทยสยาม เรียก “kha:nA2”, พวก Sapa, Bao Yen และ Lungchow เรียกว่า “ka:nA2”, Shangsi กับ Yay เรียก “ha:nA2” และ Saek เรียก “ɣa:nA2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*ԍa:nA

คำของพวก Kam-Sui ที่สืบค้นไว้โดย Ilya Peiros ก็เรียกไม่แตกต่าง เช่น Kam (Southern Dong) เรียก “la:n.2”, Then เรียก “ʔa:n.1”, Yanghuang เรียก “ɣan.1”, Maonan เรียก “ŋga:n.1”, Standard Sui และ Lingam Sui เรียก “Ra:n.1”, Mak และ Jinhua เรียก “ga:n.1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*Ra:n.A”

หากถ้าเรียวเล็กไม่พอใช้ค้ำยัน ก็อาจทำเป็น “คัน” (handle, rod) ไม้หวายยาวเรียว หรือด้ามจับ เช่น คันเบ็ดตกปลา คันร่ม กับความหมายในอีกบางส่วนว่า “น. สิ่งที่มีลักษณะยาวทำด้วยไม้เป็นต้น สำหรับถือหรือปัก เช่น คันเบ็ด คันไถ คันธง; ลักษณะนามเรียกรถหรือของที่มีด้ามถือบางอย่าง เช่น รถ 3 คัน ช้อน 4 คัน เบ็ด 5 คัน.”

พวกไท-ไต เช่น ไทยสยาม เรียก “khanA2”, Shangsi เรียก “khanA1”, Yay เรียก “kanA2” และ Saek เรียก “khalA2” และสืบสร้างคำ Proto-Tai ว่า “*galA

หรือนำมาเป็นคันว่าวผูกสาย “ป่าน” (hemp) ผู้มีความหมายในสองสามนัยยะ ทั้งชื่อของต้นปอป่าน, สายป่าน และการเดินทางของเวลา โดยความหมายว่าปอป่านและสายป่านนั้น พวกไท-ไต เช่น ไทยสยาม, Sapa, Bao Yen, Cao Bang และ Lungchowเรียกเหมือนกันว่า “pa:nB1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*pa:nB

คำพวก Kam-Sui ของ Ilya Peiros ก็เรียกใช้คล้ายๆ กัน เช่น Mulam เรียก “ŋha:n.1”, Kam (Southern Dong) เรียก “ʔa:n.1”, Yanghuang เรียก “ɣan.1”, Maonan เรียก “ŋga:n.1”, Standard Sui เรียก “Ra:n.1”, Mak และ Jinhua เรียก “ga:n.1”

เหลาดัดโครงเคราให้ออกแนว “ป้าน” (obtuse) พุ่งชันขึ้นรับลมบนไม่มีแส่ส่าย กับความหมายตรงตัวว่าไม่แหลม, รูปร่างโค้งมน หรือมุมป้านก็ว่าได้ ตรงกับคำพจนานุกรมไทยฯ ว่า “ว. ทู่, ไม่แหลม, เช่น เสื้อคอป้าน ถากเสาเข็มให้ป้านๆ.” และควรเป็นคำเก่าแก่อีกคำของพวก “คนพูดไท”

ลมลงพัดตึงส่งว่าวขึ้นเริงสำราญ ควงมือปล่อยเชือกปอยาวเร็วอย่ารั้งรอ ถึงลมชั้นค้างฟ้าจึงหาหลักผูก แหงนมองว่าวตามความ “ยาน” (flabby) ของสายป่านทิ้งท้องช้าง ที่ไม่ใช่คำเดียวกับ “ยาน” ของทางพระเวท เป็นคำเรียกอาการหย่อนยาน กับนิยามอย่างเป็นทางการว่า “ว. อาการที่หย่อนลงหรือห้อยลงกว่าระดับที่ควรมีควรเป็นตามปรกติ.” แม้จะไม่พบในคำศัพท์พื้นฐานของไท-ไตแบบตรงๆ หากลากไปทางเรื่องสายป่าน ก็อาจรู้สึกได้ถึงความนัยที่ห้อยโยงกันอยู่ ยิ่งเทียบกับคำเรียกปอป่านของพวก Kam-Sui ยิ่งเห็นถึงความใกล้ชิด

หากลมบนเกิดอาการหมุนวนปั่นป่วน ก็อาจถึงคราวกล่าวลาโครงว่าวแสนรัก ผู้จากไปพร้อมกับ “ย่าน” (climber) ป่านว่าว ซึ่งมีการใช้ในสองสามนัยยะ เช่นนัยยะหนึ่งเป็นชื่อเรียกของเถาไม้ หรือพืชเลื้อยพันธุ์ต่างๆ ในภาษาไทยว่า ย่านลิเภา ย่านไทร เป็นต้น มีคำจำกัดความว่าตรงนี้ว่า “น. เครือเถา เช่น ย่านวันยอ ย่านลิเภา, เรียกรากไทรที่ห้อยย้อยลงมาว่า ย่านไทร.”

คงได้แต่ก้มหน้าคอตกกลับบ้านไปนั่งจัก “สาน” (weave) ขึ้นโครงว่าวตัวใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องจักสานต่างๆ แต่ในอดีต สืบต่อลงมายังการสอดประสานงานเช่นในปัจจุบัน บนคำจำกัดความว่า “ก. อาการที่ใช้เส้นตอกทำด้วยไม้ไผ่ หวาย กก ใบลาน เป็นต้น ขัดกันให้เป็นผืน เช่น เสื่อ หรือทำขึ้นเป็นวัตถุมีรูปร่างต่างๆ เช่น กระบุง กระจาด.”

เป็นคำเก่าของพวกไท-ไตทั้งหลาย เช่น ไทยสยาม, Sapa และ Saek เรียก “sa:nA1”, พวก Bao Yen เรียก “tha:nA1”, พวก Cao Bang, Lungchow และ Shangsi เรียก “ɬa:nA1” และ Yay เรียก “θa:nA1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า “*sa:n”

พวก Kam-Sui เรียก “สาน” (weave, plait) คล้ายกับพวกไท-ไต เช่น พวก Kam (Southern Dong), Mak และ Jinhua เรียก “sa:n.1”, Then เรียก “tha:n.1”, Maonan เรียก “ta:n.1” และ Standard Sui เรียก “ha:n.1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*s(r)a:n.1”

และพวก Hlai บนเกาะไหหลำหลายกลุ่ม เช่น Bouhin, Ha Em, Lauhut, Tongzha, Zandui และ Baoting มีคำเรียกที่หลับที่นอน (mattress) ซึ่งสืบค้นไว้โดย Peter Norquest ในท่วงทำนองเหมือนกันอย่างน่าสนใจว่า “ka:n1” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*ka:n”

และที่น่าแปลกใจคือว่า คำเรียก “ข้าวสาร” (husked rice) ของพวกไท-ไตนั้น ช่างสอดคล้องกับคำเรียก “สาน” โดยเฉพาะ Sapa, Bao Yen, Cao Bang, Lungchow และ Yay แต่ละพวกต่างพร้อมใจกันเรียก “ข้าวสาร” และ “สาน” ด้วยคำเดียวกัน ในขณะที่ ไทยสยาม และ Saek มีคำลงท้ายต่างออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นความต้องกันที่ชวนให้สงสัยถึงเบื้องหลังของคำว่า “ข้าวสาร” ยิ่งนัก

โดยมีเจ้าหลัง “อาน” (saddle) วิ่งตามติดเป็นลูกกะเป๋ง แสดงนัยยะของความยาวและมีการแอ่นตัวตรงกลางลงไปอย่างชัดเจน เช่น หลังอาน, อานม้า หรืออานนั่ง ซึ่งพจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความไว้หลายแบบ แต่คัดส่วนที่เกี่ยวข้องมาว่า “น. เครื่องรองนั่งบนหลังสัตว์พาหนะหรือยานพาหนะบางชนิด เช่น อานม้า อานรถจักรยาน.” และคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตของอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้สืบค้นไว้ดังนี้ ไทยสยาม, Cao Bang, Shangsi, Yay, Saek เรียกเหมือนกันว่า “ʔa:nA1” และ Sapa เรียก “ʔa:nA” และคำสืบสร้าง Proto-Tai คือ “*ʔa:nA

อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้ตีความในภายหลังว่า คำนี้เป็นคำหยิบยืมมาจากภาษาจีน โดยไม่สามารถระบุช่วงเวลาที่แน่ชัดได้ ซึ่งภาษาจีนโบราณ (Old Chinese) สืบสร้างไว้ว่า “*[ʔ]ʕan”, ปลายยุคฮั่น (Late Han) เรียก “ʔɑn” และยุคกลาง (Middle Chinese) เรียก “ʔan” (อ้างจากเรื่อง “Layers of Chinese Loanwords in Proto-Southwestern Tai as Evidence for the Dating of the Spread of Southwestern Tai”)

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากมุมของรูปร่างลักษณะแล้ว จะเห็นว่าโน้มเอียงมาทางคำว่า “สาน” และ “ยาน” และเมื่อผสานเข้ากับคำว่า “แอ่น” ที่ใกล้เคียงทั้งในเชิงรูปและความหมายว่าโค้งตัว หรือโอนไปเอนมา ก็ยิ่งให้น้ำหนักว่าเป็นคำของ “คนพูดไท” ดั้งเดิมมากกว่าที่จะเป็นคำหยิบยืมจากภาษาจีนเก่า และกลับกลายเป็นว่า “คนพูดจีน” ต่างหาก ที่อาจมาขอหยิบยืมคำพูดไปจาก “คนพูดไท”

การขยายเส้นความยาวขึ้นเป็นรูปธรรมของกลุ่มคำย่อยนี้ สามารถเทียบเคียงได้อย่างดีกับคำในภาษา “lan/ran” เช่นคำว่า “garan” – ด้าม หรือก้านยาว, “gelanting” – แขวนห้อย, “jaran” – ม้า, “landing” หรือ “landur” – โค้งห้อย ย้วยยาว, “lanjang” – เรียวยาว, “lanjung” – สูงเรียวปลาย, “lantar” – ม้านั่งยาว, “lentur” – โค้งงอ, “panjang” – แผ่ยาว, “paran” – คาน, ขื่อ, อเส, “peran” – เครื่องโครงหลังคาบ้าน, “rancang” – ไม้เรียวแหลม, “ranjang” – ที่นอน, “ranjau” – ซี่เล็กๆ และ “seran” – รอยขีดข่วนเป็นทางยาว เป็นต้น

3) กลุ่มคำย่อย กร้าน, คัน, ครั่น, พรั่น, ยั่น, ราน, ลั่น, สั่น, หวั่น เป็นกลุ่มคำที่เน้นบทบาทของอาการแตกระแหงแห้งเป็นริ้วรอยของผิวหนังใดๆ

คำว่า “กร้าน” (rough) เป็นความหยาบกร้านแตกลายงาของผืนหนัง ผู้เดินทางผ่านประสบการณ์ ผ่านกาลเวลา กร้านเต็มที่กับชีวิตบนโลก และขาดแคลนซึ่งความชุ่มชื้นหล่อเลี้ยงมานานเกินพอ แล้วยังพอกพูนเป็นชั้นกระเตอะหนาน่ารำคาญ มีคำจำกัดความว่า “ว. มีผิวด้าน, มีผิวไม่สดใส; กระด้าง, แข็ง, หยาบ.”

เมื่อแห้งกร้านจนตกสะเก็ดหลุดร่อน จึงเกิดอาการ “คัน” (itch) ในความหมายของการคันคะเยอ แบบเมื่อเข้าหน้าหนาว เพราะผิวหนังช่างแห้งแล้ง หรืออาการคันในแบบทั่วไป ตามคำนิยามว่า “ก. อาการที่รู้สึกให้อยากเกา, อาการที่มือหรือปากอยู่ไม่สุข คือ อยากทำหรือพูดในสิ่งที่ไม่ควร เรียกว่า มือคัน ปากคัน, อาการที่ให้รู้สึกอยากด่า อยากตีเป็นต้น เรียกว่า คันปาก คันมือ คันเท้า.”

ซึ่งตรงกับคำศัพท์ไท-ไตในหลายพวก เช่น ไทยสยาม และ Bao Yen เรียก “khanA2”, Sapa เรียก “xanA2” และ Saek รียก “ɣalA2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ได้ว่า “*ɣalA

คำนี้เป็นอีกหนึ่งคำที่มีการใช้แบบคำเดียวหลายความหมายในพวกไท-ไต เช่น ไทยสยาม กับคำว่า “khanA2” ใช้ทั้งในความหมายของคันกั้นน้ำ คันที่เป็นก้านยาวๆ และคันคะเยอ, Bao Yen กับคำว่า “khanA2” ใช้ในความหมายของคันกั้นน้ำและอาการคันคะเยอ และ Saek กับคำว่า “ɣalA2” ใช้ในความหมายว่าคันกั้นน้ำและคันคะเยอ เป็นคำที่ถูกตีความว่า เกิดจากการควบรวมหดสั้นของหลายคำยาวหรือคำควบกล้ำเก่าก่อน จนท้ายสุดยุบตัวรวมเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียว และเมื่อจะใช้งานจึงต้องกำกับด้วยคำบอกหน้าที่แต่ละอย่าง

หากยังไม่หยุดคัน คำว่า “ครั่น” (feel feverish) คงเหมาะสม กับอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ตึงหน้าร้อนผิวหนัง ยามความเจ็บและความป่วยมาเยี่ยมเยือน บนคำจำกัดความว่า “ก. รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง. รู้สึกตึงเนื้อตึงตัว.”

และ “พรั่น” สะพรึง กับความสั้นๆ ว่า “ก. รู้สึกหวั่นเกรง เช่น พรั่นใจ.”

ทั้งยังรู้สึก “ยั่น” (fear) หรือ “ย่าน” ก็ใช้ ในความหมายว่าหวั่นกลัวตัวสั่นไหว “ก. ครั่นคร้าม, ท้อถอย.” เป็นคำหดสั้นที่พบในคำพูดพื้นฐานของไท-ไต เช่น ไทยสยาม เรียก “janC1 –v”, พวกSapa, Bao Yen และ Lungchow เรียกเหมือนกันว่า “ja:nC1” และ Cao Bang เรียก “ja:nC2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*ja:nC

และยิ่งผิวหนังยิ่งแตก “ราน” (cracked) กับอีกสถานะความหมายของการปริแตกเป็นลายทางว่า “ว. มีรอยปริตื้นๆ ทั่วไปบนพื้นผิวของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น หม้อราน ผนังราน กระเบื้องราน, แตกลายงาก็ว่า.”

ในภาษาของทาง Hlai มีคำหนึ่งที่เขียนในภาษาอังกฤษว่า “dry” ซึ่ง Peter Norquest ได้ทำการสืบค้นไว้ เรียกขานคล้ายกับคำเรียกผิวหนังที่แตกระแหงเพราะความแห้งแล้งในภาษา “เล่น/แล่น” หลายพวก เช่น Bouhin, Ha Em, Lauhut และ Tongzha ใช้ว่า “ra:n2” ส่วน Zandui และ Baoting ใช้ว่า “la:n2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*ɾa:nɦ”

ถึงอาจเกิดเสียงดังลือ “ลั่น” (shake, loudly) ในความหมายหนึ่งว่าการสั่นไหวจนเกิดอาการสะเทือนเลื่อนลั่น หรือเสียงดังลั่น หรือไม้แห้งหดตัวดังลั่น บนคำจำกัดความว่า “ก. มีเสียงดัง เช่น ฟ้าลั่น ไม้ลั่น กระดานลั่น, ทำให้มีเสียงดังหรือทำให้เกิดเสียงดัง เช่น ลงบันได บันไดลั่น บิดตัวจนกระดูกลั่น; ปริออกแตกออกเป็นทางยาวและมีเสียงดัง เช่น จั่นลั่น แก้วใส่น้ำร้อนลั่น; โดยปริยายหมายถึงมีเสียงดังคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ลือลั่น. ว. มีเสียงดังมาก เช่น หัวเราะลั่น ร้องไห้ลั่น.”

ให้เนื้อตัว “สั่น” (shake) สะเทิ้ม ที่ต่อเนื่องมาจากอาการยั่นย่านและหวาดหวั่น จนเกิดการสั่นสะท้านขึ้นทั่วสรรพร่างกาย สั่นตั้งแต่หัวใจไหวออกมาถึงรูขุมขนภายนอก หรือเกิดจากการสั่นไหวของแผ่นดิน ผืนน้ำ และพื้นฟ้า กับคำนิยามว่า “ก. ไหวถี่ๆ เช่น กลัวจนตัวสั่น หนาวจนคางสั่น, ทำให้ไหวถี่ๆ เช่น สั่นกระดิ่ง สั่นหัว.”

รวมทั้งการหวาด “หวั่น” (fear) มากยิ่งขึ้น อยู่ในอาการเดียวกับ “ครั่น”, “พรั่น”, “ยั่น” และ “สั่น” บนความหมายว่า “ก. พรั่น มีอาการกริ่งเกรงไป.”

ซึ่งเป็นกลุ่มคำย่อยที่เข้ากันได้ดีกับภาษา “lan/ran” เช่นในคำว่า “delan” – ริ้วรอยบนผิวน้ำที่เกิดจากการสั่นไหว, “deran” – สั่นไหว, “lanyak” และ “lenyak” – หน้าดินแห้งจับตัวแข็ง จึงต้องพรวนดินให้ร่วนซุยก่อนการเพาะปลูก,“lanyau” – ดินโคลนระเหยแห้งตัว, “ranyau” – เร่ร่อน, ไม่อยู่เป็นที่, หลงลืม เป็นต้น

4) กลุ่มคำย่อย กลืน, คลื่น, คืน, ลื่น เป็นกลุ่มคำที่แสดงบทบาทของการลื่นไหล ไม่ติดขัด ซึ่งแตกต่างจากบทบาทของกลุ่มคำในข้อย่อย 1) ที่เน้นการขัดขวางเส้นทางมากกว่า

คำว่า “กลืน” (swallow) เป็นหนึ่งในคำพูดพื้นฐานของผู้คนที่จำเป็นต้องมี และใช้คู่กับคำพูดเคี้ยวดื่มกินทั้งหลาย เป็นการกลืนบรรดาสิ่งที่กลั้วเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อยแล้วนั้นให้ไหลลื่นลงท้องไป ยกเว้นในบางความกระหายหิวมากล้นเกินกว่าความอยากในการละเลียดลิ้นชิมรสชาติของอาหาร จนถึงต้องบายพาสขั้นตอนการเคี้ยวในแก้มกระพุ้งปากไปอย่างรวดเร็ว ในแบบของการเขมือบและกลืนกิน ซึ่งสุ่มเสี่ยงถึงตายเพราะอาหารติดคาคอมานักต่อนักแล้ว

ในพจนานุกรมไทยฉบับเดิมให้คำนิยาม “กลืน” ไว้ว่า “ก. อาการที่ทำให้อาหารหรือสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในปากล่วงลำคอลงไป, โดยปริยายใช้หมายถึงอาการที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้นก็ใช้ว่า กลืน ได้ในความหมาย เช่นทำให้หายหรือสูญไป เช่น ถูกกลืนชาติ, อดกลั้นไม่สำแดงให้ปรากฏออกมา เช่น กลืนทุกข์ กลืนโศก, ประสานกันหรือเข้ากันได้สนิทดี เช่น สีกลืนกัน.”

Yongxian Luo แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ได้เคยลงบทความเรื่อง “Sino-Tai Words for to Eat” ในวารสารภาษาและภาษาศาสตร์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 2 มกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2553, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สืบสาวความสัมพันธ์ของกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับการดื่มกินของไท-ไตและจีนโบราณ ซึ่งปรากฏว่าคำ “กลืน” เป็นหนึ่งในหลายคำที่แสดงความเชื่อมโยงกันมาแต่หนหลัง และอาจถึงขั้นเป็นคำร่วม Sino-Tai เลยทีเดียว ดังที่ได้อ้างถึง Gongwan Xing ค.ศ. 1999 จากเรื่อง “A Handbook of Comparative Sino-Tai” โดยคำจีนยุคโบราณ (Old Chinese) เขียนว่า “˙ienh” และยุคกลาง (Early Middle Chinese) เขียนว่า “ʔɛnʰ” เทียบกับคำสืบสร้างไท-ไตโบราณว่า “*klïïn A1”

เนื่องจากคำนี้ไม่ปรากฏในคำศัพท์พื้นฐานของพวกไท-ไต ที่อาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้ทำการสืบสาวไว้ จึงต้องพึ่งพาทางพวก Hlai ที่ถูกสืบค้นไว้โดย Peter Norquest ซึ่งพบคำหนึ่งเขียนว่า “gluttonous” แปลว่าเขมือบ, กินอย่างตะกรุมตะกราม, หิวกระหายคงพอได้ เช่น พวก Bouhin, Ha Em, Tongzha, Baoting, Cunhua, Changjiang, Moyfaw และ Baisha ต่างเรียกเหมือนกันว่า “la:n1”, ส่วนพวก Lauhut เรียก “la:ɲ1”, พวก Zandui เรียก “la:n4”, Nadouhua เรียก “lɔn1” และพวก Yuanmen เรียก “lan4” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*C-la:ɲ” เป็นการเรียกการกินอย่างมูมมามที่ต้องบอกว่าคล้ายกับคำควบกล้ำ “กลืน” ของทางลุ่มเจ้าพระยา และกลุ่มภาษา “เล่น/แล่น” ต้นทางเสียจริงๆ

นอกจากนั้นในคำศัพท์พื้นฐานของพวก Kam-Sui ซึ่งรวบรวมไว้โดย Ilya Peiros พบว่า “swallow” ที่แปลว่ากลืน ก็ยังเรียกใกล้เคียง ดังนี้ พวก Mulam เรียก “hlan.1”, Kam (Southern Dong) เรียก “han.1”, Then เรียก “len.1”, Maonan เรียก “dan.2”, Standard Sui เรียก “dan.1”, Mak เรียก “ʔdun.3”

ซึ่งดูเหมือนว่าต่างจาก “คลื่น” (wave) ที่ฟังแล้วไม่เข้าเค้าเข้าพวก แต่หากมองในมุมการไหลลื่นของสายน้ำและการขึ้นลงของแม่ทะเลแล้ว ต้องถือว่าเป็นหลักฐานสนับสนุนชั้นดีในการถูกจัดเข้าเป็นพวกปลาไหลตัวพ่อ โดยมีคำจำกัดความแบบปัจจุบันว่า “น. น้ำในทะเลหรือแม่น้ำลำคลองเป็นต้น ซึ่งบางส่วนมีอาการเคลื่อนไหวนูนสูงกว่าระดับโดยปรกติแล้วลดลงและแลเห็นเคลื่อนไปเป็นระยะยาวหรือสั้นบนผิวน้ำ, โดยปริยายใช้แก่สิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น คลื่นเสียง คลื่นมนุษย์ ผมตัดเป็นคลื่น ถนนเป็นคลื่น.” ถึงคำนี้อาจเป็นคำหยิบยืมในภายหลังของพวกลุ่มเจ้าพระยา แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าต้นเค้าเดิมนั้นเป็นคำของพวกไท-กะไดและออสโตรนีเซียนแน่ๆ

แต่คำว่า “ลื่น” (slippery) นั้นเห็นชัดว่า เข้าคู่ควบหดสั้นกับคำควบกล้ำ เช่นคำว่า “กลืน” มากกว่าใคร หรือบางทีกับคำควบกล้ำอื่นในหมู่ภาษาเดียวกันก็เป็นได้ โดยละทิ้งกระพี้เหลือแต่แก่น บนคำจำกัดความว่า “ก. เคลื่อนที่ไปได้คล่องบนพื้นที่มีความฝืดน้อย เช่น เขาลื่นหกล้ม ลูกแก้วลื่นไปตามราง. ว. มีลักษณะทำให้เคลื่อนที่ไปได้คล่องบนพื้นที่ความฝืดน้อย เช่น ถนนลื่น กระดานลื่น ทาน้ำมันเสียตัวลื่น,โดยปริยายหมาถึงบุคคลที่มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลเม็ดแพรวพราวจนจับไม่ติด.”

เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในพวกไท-ไต อ้างจากคำศัพท์พื้นฐานไท-ไต เช่น ไทยสยาม เรียก “lɯ:nB2”, Sapa เรียก “munB2”, Bao Yen เรียก “mjɯ:nB2”, Lungchow เรียก “lɤ:nB1 –t”, Saek เรียก “mlɯ:lB2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*m.lɯ:lB

พวก Kam-Sui ก็ยังคงใช้ไม่ห่างกันมากนัก อ้างจาก Ilya Peiros เช่น พวก Kam (Southern Dong) เรียก “kan.1”, Standard Sui เรียก “djan.1” และพวก Jinhua เรียก “ljan.1”

และคำว่า “คืน” (night) ซึ่งผู้เขียนตีความว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับ “กลืน” เป็นหนึ่งในคำพูดสองคำของ “คนพูดไท” ที่มักถูกเรียกใช้ในช่วงโมงยาม ที่อยู่ฟากตรงข้ามกับฟ้ารุ่งสาง เช่น

พวก Kam-Sui ส่วนใหญ่ ใช้คำใกล้เคียงกับ “ค่ำ” เช่น พวก Dong, Southern เรียก “ȵɐm53”, พวก Chadong เรียก “ȵam5 lap7”, พวก Then, Sui และ Maonan เรียก “ʔȵam5”, พวก Biao (Shidong) เรียก “ha:m5”, พวก Mak (Laliu) และ Ai-Cham (Taiyang) เรียก “ȵam5” และ Dong, Northern เรียก “ȵɐm55” และสืบสร้างคำ Proto-Kam-Sui ว่า “*ʔȵam5” และเป็นคำที่หมายถึงตอนพลบค่ำเท่านั้น

พวกไท-ไตใช้ “ค่ำ” และ “คืน” ปะปนกันไป บางพวกใช้คำเดียวแทนทั้งพลบค่ำและค่ำคืน บางพวกใช้แยกกัน เช่น ไท-ไตสาขาเหนือ ส่วนใหญ่เรียก “ham6” คำเดียว, พวก Saek เรียก “ɣam5” แทนพลบค่ำ และ “ɣɯn4” แทนค่ำคืน, Zhuang (Wuming) เรียก “toŋ2 ham6” แทนพลบค่ำ และ “kja:ŋ1 ŋɯn2” แทนค่ำคืน

ไท-ไตสาขากลาง เรียกต่างๆ กัน ที่คล้าย “ค่ำ” และ “คืน” เช่น Longzhou เรียก “kam6”, Daxin เรียก “hɯn2”, Debao เรียก “jam6”, Guangnan Nong เรียก “ham6”, Yanshan Nong เรียก “xɯn2” เป็นต้น

ไท-ไตสาขาตะวันตกเฉียงใต้ มักเรียกคู่กัน เช่น Dehong เรียก “xam6” และ “xɨ n2”, Tai Phake เรียก “khü:n2” และ “kham5”, Tai Aiton เรียก “khɯn2” และ “kham2” และไทยสยาม เรียก “ค่ำ” และ “คืน”

อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้สืบสร้างคำ Proto-Tai สำหรับ “ค่ำ” และ “คืน” ไว้ว่า “ɣamB” และ “ɣɯ:nA” ตามลำดับ

ส่วนพวก Hlai และ Kra เรียกผิดแผกแตกต่างออกไปค่อนข้างมาก (อ้างจากพจนานุกรม Austronesian Basic Vocabulary Database ค.ศ. 2008)

คำว่า “ค่ำ” ได้เคยถูกกล่าวถึงตีความไว้ในเรื่อง “ค่ำแล้ว แฮ เดือนเจอค่ำ” เป็นคำโดดที่ก่อเกิดจากคำควบกล้ำว่า “คล้ำ” (ถอดเสียงจากสำเนียงจีนโบราณว่า “ɦgraams”) ที่แปลว่าหม่นหมองในสมัยปัจจุบัน หากในสมัยขับขานบทเพลงชู้รักอันอื้อฉาว “Song of the Yue boatman” เมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว บนที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนล่าง คำนี้หมายถึงความมืดค่ำยามตะวันชิงพลบ เป็นคำควบกล้ำที่อยู่ในหมู่เดียวกับภาษา “น้ำ” ของไท-กะไดและออสโตรนีเซียน จากคำว่า “dalam” ที่แปลว่าภายใน ข้างใน หรือคำใกล้เคียงเช่น “ malam” ที่แปลว่ากลางคืน คำเดียวกับ “ล้ำ”, “ลำ” และ “แรม” เป็นต้น

คำว่า “คืน” โดยทั่วไปแปลนัยยะได้สองแบบว่ากลางคืนและการกลับคืน ในกรณีกลางคืน สามารถตีความได้ว่าหมายถึงดวงตาวัน ผู้เป็นต้นแสงแห่งการมองเห็น ยามถูกกลืนกินมืดลับเข้าไปสู่ปากและท้องอันกว้างขวางใหญ่โตของพญาคันคาก และในกรณีของการกลับคืน เช่นยามรุ่งเช้า ก็เป็นการ “คลาย” หรือ “คาย” (หนึ่งในภาษา “ร้อย”) ดวงตาวันออกมาจากท้องของพญาคันคาก กลับคืนสู่อ้อมอกของผืนโลกดังเดิม สอดคล้องกับความหมายสองลักษณะตามพจนานุกรมไทยฯ ที่ยังรักษาความหมายดั้งเดิมไว้ได้ดีว่า “น. ระยะเวลาตั้งแต่ย่ำค่ำถึงย่ำรุ่ง, เวลากลางคืน. คืนยังรุ่ง ว. ตลอดคืน.” และ “ก. กลับเข้าสู่ภาวะหรือฐานะเดิม. ว. กลับดังเดิม เช่น ได้คืน กลับคืน ส่งคืน.”

คำในกลุ่มย่อยแห่งการลื่นไหลนี้ อาจเทียบเคียงได้แบบใกล้ชิดกับคำของภาษา “lan/ran” เช่น “delan” – คลื่น ริ้วรอย, “deran” – การสั่นไหว, “kelanjar” – เด้งขึ้นลง ย้อนกลับคืน, “lancap” – ลื่น เรียบ, “lantun” – ยกขึ้น ย้อนกลับคืน, “lenja” – ไหลย้อย ไม่เป็นระเบียบ, “telan” – กลืน เป็นต้น

5) กลุ่มคำย่อย คลาน, ถลัน, ป่าน, ผ่าน, พล่าน, พลัน, ย่าน, ร่าน, ลาน, ลั่น, เล่น, แล่น, หว่าน เป็นกลุ่มคำที่แสดงบทบาทของการวิ่งไปวิ่งมาในแบบคล่องตัวว่องไว ยิ่งกว่าคำในกลุ่มลื่นไหล เปรียบเทียบให้เห็นภาพเช่นการเคลื่อนที่บนพื้นดินกับการเคลื่อนที่บนผืนน้ำ

คำว่า “คลาน” (crawl) เป็นคำควบกล้ำเก่าแก่ที่ยังคงรูปร่างและสืบต่อความหมายทอดยาวลงมาจนถึงทุกวันนี้ ในอาการของการคืบตัวไปข้างหน้าแบบสัตว์สี่ขา และเลื้อยตัวตวัดไปมาแบบสัตว์ไร้ขา มีความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “ก. ไปด้วยมือและเข่าอย่างเด็ก: กิริยาที่ใช้เท้าและมือทั้ง 2 ทาบพื้นแล้วเคลื่อนไป เรียกว่า คลานสี่เท้า; กิริยาที่เคลื่อนไปด้วยเข่าและศอก เรียกว่า คลานศอก, ด้วยเข่า เรียกว่า คลานเข่า; กิริยาที่เดินไปอย่างช้าๆ ของสัตว์บางชนิด เช่น เต่า จระเข้, เคลื่อนไปอย่างช้าๆ เช่น รถยนต์ค่อยๆ คลานไป.”

คำศัพท์พื้นฐานไท-ไตปรากฏดังนี้ ไทยสยาม เรียก “khla:nA2”, Sapa เรียกโดดว่า “ca:nA2”, Cao Bang เรียก “za:nA2”, Lungchow เรียก “kja:nA2”, Shangsi เรียก “lunA2” และที่น่าสนใจคือพวก Yay และ Saek ใช้คำคล้ายกับ “เลื่อน” ว่า “rɯǝnA2” และ “luǝnA2” ตามลำดับ แล้วสืบสร้างเป็นคำ Proto-Tai ว่า “*g.lwɤ:nA

คำว่า “ถลัน” (dash, rush) ถึงจะไม่ใช่คำควบกล้ำเก่าแก่ เพราะอาจเห็นว่าใช้ตัว ถ.ถุง ขึ้นนำ หรือเป็นคำหยิบยืมเข้ามาแต่ภายหลัง แต่มั่นใจพอควรว่าเป็นคำดั้งเดิมของไท-กะได โดยพจนานุกรมไทยฯ ให้คำนิยามว่า “ก. พรวดพราดเข้าไปหรือออกมาโดยไม่รั้งรอ.”

คำว่า “ป่าน” (even now) ในลักษณะการผ่านไปของช่วงเวลา เช่น ป่านฉะนี้ หรือล่วงเลยมาป่านนี้ เป็นอีกหนึ่งความหมายที่ดูเหมือนขยายมาจากความเดิมว่า ปอป่านและสายป่าน

คำว่า “ผ่าน” (past, pass, cross) เป็นคำที่มีความใกล้ชิดกับคำว่า “ป่าน” แบบการเดินทางของเวลา มีคำจำกัดความอย่างยาวว่า “ก. ล่วงจุดใดจุดหนึ่งไป เช่น รถผ่านสนามหลวง, อาการที่เคลื่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เช่น รถสายนี้ผ่านสามย่าน สีลม, ล่วงเลย เช่น เวลาผ่านไป 5 ปี; โดยปริยายหมายความว่า เคย เช่น ผ่านตามาแล้ว ผ่านหูมาก่อน หรือ ชำนาญเชี่ยวชาญ เช่น ผ่านงานมามาก ผ่านศึกมาหลายครั้ง, ยอมให้ก่อน เช่น ผ่านไปก่อน, ยอมให้ล่วงเข้าไปได้ เช่น บัตรผ่านประตู, สอบได้ เช่น ผ่านชั้นประถมปีที่ 1 แล้ว, ได้รับความเห็นชอบ เช่น พระราชบัญญัติงบประมาณผ่านสภาแล้ว, ตัดทาง, ลัดทาง, เช่น ห้ามเดินผ่านสนาม, ข้าม เช่น ไฟแดงห้ามผ่าน มองผ่านไป, เปลี่ยน เช่น ผ่านมือ, ครอบครอง เช่น ผ่านเมือง, บอกราคาสูงเกินไป ในความว่า บอกราคามากไป, ล่วงพ้นไป เช่น เวลาผ่านไป. ว. เรียกม้าที่มีลายขาวขวางพาดตัวว่า ม้าผ่าน; ถ้าประกอบหน้านามบางคำหมายความว่า พระเจ้าแผ่นดิน เช่น ผ่านเกล้า ผ่านเผ้า ผ่านพิภพ ผ่านฟ้า.”

คำนี้น่าจะเป็นคำเก่าแก่ ถึงแม้ว่าไม่พบในคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตของอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ แต่ร่องรอยของคำนี้ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในคำเรียก “วันวาน” (yesterday) และ “ปีวาน” (last year) ของพวก Hlai เช่นที่ Peter Norquest ได้สืบสาวไว้ว่า

โดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าพวก Ha Em, Lauhut, Tongzha, Zandui, Baoting, Cunhua, Nadouhua และ Yuanmen ต่างเรียกทั้ง “วันวาน” และ “ปีวาน” ในคำเดียวเหมือนกันว่า “phan3” ส่วนที่เหลือ เช่น พวก Changjiang, Moyfaw และ Baisha เรียกด้วยคำเดียว หากรูปคำต่างไปนิดว่า “ph3” และพวก Bouhin เรียกด้วยคำเดียวเช่นกันว่า “phen3” แม้แต่พวก Jiamao ก็เรียก “วันวาน” ไม่ต่างนักว่า “phɔ:n1” หากเรียก “ปีวาน” ต่างออกไป และสืบสร้างคำ Proto-Hlai สำหรับ “วันวาน” และ “ปีวาน” ว่า “*phǝnʔ” และ “*pǝnʔ” ตามลำดับ

และมีข้อสังเกตเพิ่มเติมระหว่างบรรทัดด้วยว่า “วาน” แบบกรณีข้างต้น เป็นไปได้สูงว่าอาจมีรากที่มาร่วมกับคำในกลุ่มนี้ ทั้งยังอาจกินความไปถึงคำว่า “ผัน” (change) เช่น ผันผ่าน, ผันหน้า, ผันน้ำอีกด้วย

คำควบกล้ำว่า “พล่าน” (excitedly) ใช้กับจิตใจที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ร้อนรนในห้วงอารมณ์ และอยากพุ่งตัวออกไปในทันที มีคำจำกัดความว่า “ว. อาการเป็นไปในลักษณะป่วน วุ่น สับสน ลนลาน ซ่าน หรืออย่างอื่นที่คล้ายกัน เช่น เดือดพล่าน วิ่งพล่าน เดินพล่าน.”

คำว่า “พลัน” (suddenly) มีความหมายไม่แตกต่างจากคำว่า “พล่าน” เท่าไรนัก ใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว อย่างรวดเร็วจนตั้งสติไม่ค่อยทัน อย่างปัจจุบันทันด่วน หรือหุนหันพลันแล่น มีคำจำกัดความว่า “ว. ทันที เช่น โดยพลัน เร็วพลัน.”

คำว่า “ย่าน” (area) กับอีกความหมายในการเรียกชื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มีคำจำกัดความว่า “น. แถว, ถิ่น, เช่น เขาเป็นคนย่านนี้, บริเวณ เช่น ย่านบางลำพู, ย่านสำเพ็ง, ระยะทางตามกว้างหรือยาวจากตำบลหนึ่งไปยังอีกตำบลหนึ่ง; ของที่ตรงและยาว.”

คำว่า “ร่าน” (hasten) ในอารมณ์กลางๆ แห่งการอยู่ไม่เป็นสุข ต้องแล่นออกไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ มีคำจำกัดความว่า “ก. อยาก, ใคร่ (มักใช้ในทางกามารมณ์); รีบ, ด่วน.” ควรเป็นคำที่สืบทอดเจตนารมณ์มาจากคำควบกล้ำดั้งเดิมในกลุ่มนี้

คำว่า “ลาน” ในพวกลุ่มเจ้าพระยามีความหมายเกี่ยวข้องอยู่สองนัยยะ คือลานในฐานะที่ราบเปิดโล่ง (field) กับลานในฐานะอาการลนลาน (scurry) ลานทั้งสองแบบนี้ไม่พบการเรียกในคำศัพท์พื้นฐานไท-ไต โดยลานในแบบแรก พวกไท-ไตส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “ทุ่ง” (open field) และ “ไร่” (dry field) แทน

แต่พบร่องรอยบางอย่างในพวก Kam-Sui (Ilya Peiros ค.ศ. 1998) เช่น Maonan เรียก “nda:n.1”, Standard Sui เรียก “ɣa:n.6” และ Mak เรียก “dja:n.1”

หรือในพวก Hlai (Peter Norquest ค.ศ. 2007) เรียกลักษณะนามของ “long/thin” อย่างน่าสนใจ เช่น Baohin เรียก “ɗen2”, พวก Ha Em, Lauhut, Nadouhua, Changjiang และ Moyfaw เรียกเหมือนกันว่า “ɗan2”, พวก Tongzha, Zandui, Baoting, Cunhua และ Yuanmen เรียกไม่ต่างนักว่า “ɗan5” และ Baisha เรียก “ɗaŋ2” และสืบสร้างเป็นคำ Proto-Hlai ว่า “*ɗǝnɦ” และว่าไปช่างคล้ายกับคำเรียก “ด้าน” ของพวกลุ่มเจ้าพระยาอย่างมาก จนคิดไปว่าหรือ “ด้าน” ก็เป็นอีกหนึ่งคำที่อยู่ในภาษากลุ่มนี้

พจนานุกรมไทยฯ ให้คำจำกัดความของลานในฐานะที่ราบเปิดโล่งว่า “น. บริเวณที่ว่าง, สนาม, เช่น ลานจอดรถ, ที่สำหรับนวดข้าว; ในทางกีฬาหมายถึง สนามที่เล่นกีฬา, คู่กับลู่.” และลานในฐานะลนลานว่า “ว. อาการที่กลัวตกใจ หรือรีบร้อนเป็นต้นจนทำอะไรไม่ถูก เช่น ไฟไหม้ข้างบ้าน เขาวิ่งหนีไฟลนลานเลยไม่ได้หยิบอะไรมา.”

คำว่า “ลั่น” (shoot) ในอีกความหมายว่าการยิงวิ่งออกไป มีคำนิยามส่วนหนึ่งว่า “ก. ยิง เช่น ลั่นธนู ลั่นปืน.”

คำว่า “หว่าน” (sow) คำนี้มักใช้คู่กับการหว่านไถเพื่อปลูกพืชพันธุ์แต่เดิมมา เป็นการขว้างเม็ดข้าวเม็ดพืชออกไปจากกำมือ ให้ตกกระจายทั่วผืนนาและผืนไร่ จนกลายเป็นคำสมัยใหม่ถูกนำไปใช้กับการหว่านโปรยสิ่งล่อใจต่างๆ เพื่อหวังผลที่จะได้กลับคืนในปริมาณมากกว่า มีคำจำกัดความว่า “ก. โปรย เช่น หว่านทาน, สาดให้เทกระจายเช่น หว่านข้าวเปลือก, โดยปริยายหมายความว่า แจกจ่ายไปทั่วๆ เช่น หว่านเงิน.”

พวกไท-ไตใช้คำนี้กันแพร่หลาย เช่น ไทยสยาม, Bao Yen และ Shangsi เรียก “wa:nB1”, พวก Sapa และ Lungchow เรียกแทบไม่ต่างว่า “va:nB1”, Cao Bang เรียกโทนสามัญว่า “wa:nA1” และ Saek เรียก “va:lB1” และสืบสร้างได้คำเก่าว่า “*C̥.wa:lB

ซึ่งคำนี้ยังควรเข้าคู่กับคำว่า “เกลื่อน” (scatter) ซึ่งแสดงการกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณอย่างไม่เป็นระเบียบ ตามหลังการ “หว่าน” มีความหมายตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “ว. เรี่ยรายหรือกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ลอยเกลื่อน หล่นเกลื่อน. ก. ทำให้ยุบหรือราบลง เช่น เกลื่อนที่ เกลื่อนฝี. เกลื่อนกล่น, เกลื่อนกลาด ว. เกลื่อน.”

กลุ่มคำย่อยที่เน้นความคล่องแคล่ว เคลื่อนตัวไปข้างหน้า เทียบได้กับคำในภาษา “lan/ran” มากมาย เช่น “elan” – มุ่งไปข้างหน้า, “gelandang” – วิ่งไปทางนั้นทางนี้, “jalan” – ทางวิ่ง ถนน, “lancang” – วิ่งเร็วแรง มุทะลุ, “lancar” – คล่องตัว ไม่ติดขัด, “lancut” – ไหลพุ่งไปข้างหน้า, “landa” – ไหลลงไปทางที่ต่ำ, “landai” – ที่ราบเอียงเทน้อยๆ , “lanja” – ไปนั่นไปนี่, “lanjar” – ยืดยาว คล่องตัว, “lantai” – ชั้น ขั้นบันใด, “lantam” – หุนหัน พลันแล่น, “lantas” – ทางด่วน สายตรง, “pelan” – ทำให้ช้าลง วิ่งช้าๆ , “randah” – ไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ , “randai” – ลุยผ่านไป, “rendah” – ต่ำเรี่ยดิน, “rantau” – ชายหาด ชายทะเล, “randak” – เคลื่อนตัวช้าๆ , “randuk” – ข้ามน้ำข้ามทุ่ง, “randung” – วิ่งชน และ “saran” – ชี้แนวทาง เป็นต้น

6) กลุ่มคำย่อย เขยื้อน, เคลื่อน, เดือน, เบือน, เพลิน, เยือน, เลือน, เลื่อน เป็นกลุ่มคำที่แสดงบทบาทของอาการเคลื่อนตัวอย่างเชื่องช้า ค่อยเป็นค่อยไป ล่องลอยเบามือนุ่มละมุน

ในภาษาของ “คนพูดออสโตรนีเซียน” เช่นอินโดนีเซียนั้น ไม่มีการใช้สระ “เอือ” แต่อย่างใด ดังนั้นจึงเข้าใจ (เอาเอง) ว่าสระตัวนี้เป็นของใหม่ที่พวก “คนพูดไท” ได้พัฒนาขึ้นภายหลัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือลำดับความเป็นมาของคำเรียกดวงจันทร์ ซึ่งผันแปรมาจากรูปเก่าคำเดิม เขียนในภาษาออสโตรนีเซียนว่า “*bulaN” และอินโดนีเซียเรียกขานว่า “bulan อ่านว่า บุลัน/บุหลัน” แปลกันแบบชัดถ้อยคำว่า “พระจันทร์” (moon) หากไม่ควรสับสนกับคำที่พึ่งหยิบยืมเข้ามาใช้ เช่น “บุหลัน”

ซึ่งคำเรียกพระจันทร์ ได้ถูกนักภาษาศาสตร์เชิงประวัติสืบสาวกันค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า เป็นคำร่วมรากเดียวกันระหว่างคำเรียกของทาง “คนพูดไท” และ “คนพูดออสโตรนีเซียน” เป็นคำเรียกที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางในภาษาของทั้งสองพวกจนถึงทุกวันนี้

ในหมู่ “คนพูดไท” โดยเฉพาะพวก Proto-Tai ได้แปรเปลี่ยนโครงสร้างต้นทางสองพยางค์ “*bulaN” ไปอยู่ในโครงสร้างคำควบกล้ำภายใต้สระ “เอือ” เรียก “*ɓlɯǝn A” อย่างชัดถ้อยชัดคำ และยังคงสภาพเสียงตัว บ.ใบไม้ และตัวกล้ำ ล.ลิง ไว้ได้ดีกว่าพวกอื่นๆ แม้สืบต่อลงมายังชั้นลูก เช่นสาย Proto-Southwestern Tai ก็ยังเรียกได้ใกล้เคียงคือ “*ʔblɯan A3” จนภายหลังเช่นในชั้นลุ่มเจ้าพระยาจึงได้นำเสียง ด.เด็ก มาเป็นตัวนำแทนเสียง บ.ใบไม้ ในคำ “เบลือน” รวมถึงหดสั้นกลายเป็น “เดือน” ในที่สุด

ส่วนคำเรียกพระจันทร์ของไท-กะไดสายอื่นๆ เป็นดังเช่น

คำสืบสร้างของ Proto-Hlai ฉบับ Peter Norquest เรียก “*C-ɲa:n”

และฉบับของอาจารย์ วีระ โอสถาภิรัตน์ เรียก “*ɲa:n A”

คำสืบสร้างของ Proto-Kra คำหนึ่งเรียก “*m-ɖjan A”

และคำสืบสร้างของ Proto-Kam-Sui เรียก “*nüa:n1”

(อ้างจาก Austronesian Basic Vocabulary Database ค.ศ. 2008)

แล้ว “เดือน” แห่งทุ่งเจ้าพระยายังแผ่แสงนวลเย็น อ่อนโยน และละมุนละไม ไปถึงสายตาคู่หนึ่งในภาษาอินโดนีเซีย ดึงดูดชักชวนให้แสดงออกถึงอารมณ์ร่วมนี้ ในคำว่า “pulen อ่านว่า ปุเลิน” ผู้เป็นเพื่อนใกล้ชิดกับ “pulan” – ข้าวสุกนุ่มกำลังดี ได้อย่างบางเบา ล่องลอย และนุ่มนวล เป็นคำที่มีความหมายเข้ากับคำเก่าแก่ว่า “*bulaN” ผู้ผุดโผล่ขึ้นท่ามกลางทะเลแห่งความมืดมิด และล่องลอยออกไปอย่างอ่อนละมุนเป็นอย่างยิ่ง

คำควบกล้ำที่แสดงอาการเช่น “เบลือน” ยังส่งอิทธิพลอย่างเต็มกำลังมาถึงคำว่า “เคลื่อน” (move) ที่หมายถึงการเลื่อนตัวออกไปจากตำแหน่งที่ตั้งอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีคำจำกัดความว่า “ก. ออกจากที่หรือทำให้ออกจากที่ เช่น เคลื่อนขบวน รถไฟค่อยๆ เคลื่อนไป, เลื่อนหรือทำให้เลื่อนไปจากที่ เช่น กระดูกเคลื่อน เคลื่อนตู้ไป.”

ถึงคำว่า “เลื่อน”ลอยอย่างต่อเนื่องจากคำว่า “เคลื่อน” บนความหมายและหน้าที่แทบไม่แตกต่าง คัดส่วนหนึ่งจากพจนานุกรมไทยฯ ว่า “ก. เคลื่อนหรือย้ายจากที่เดิมโดยลักษณะอาการต่างๆ เช่น ลาก เสือกไส ยกขึ้น กดลง; เปลี่ยนเวลาจากที่กำหนดไว้เดิม เช่น เลื่อนเวลาเดินทาง เลื่อนวันประชุม; เขยิบชั้นหรือตำแหน่งฐานะสูงขึ้นไปกว่าเดิม เช่น เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง; เพิ่มเติม (ใช้แก่อาหาร) เช่น เลื่อนแกง เลื่อนของหวาน.”

หรือในบางช่วงก็ “เลือน” หายไปจากท้องฟ้ายามค่ำคืน กับคำนิยามว่า “ว. มัวๆ , ไม่แจ่มแจ้ง, เช่น ภาพเก่าสีเลือนไปจนเห็นหน้าไม่ชัด มองเห็นเลือนๆ , เฟือนๆ เช่น ความจำเลือนไป. ก. บัง, กั้น, เช่น มีกำแพงแลงเลือน ต่อต้าย. (ยวนพ่าย).­­”

คำว่า “เบือน” บางทีก็จำเป็นต้องงัดขึ้นมาใช้กับบางผู้คน บนคำจำกัดความสั้นๆ ว่า “ก. หันหน้าหนี ในคำว่า เบือนหน้า.”

หากหลายผู้คนได้เมียงมองแล้วช่างเพลิด “เพลิน” สายตา และผ่อนคลายสบายอารมณ์ ในความว่า “ก. อาการที่ปล่อยอารมณ์อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ชอบใจจนลืมนึกถึงสิ่งอื่น เช่น ทำงานเพลิน ฟังดนตรีเพลิน กินเล่นเพลินๆ .”

จนอยากขยับ “เขยื้อน” เข้าไปใกล้ๆ ทีละคืบสองคืบแบบไม่ให้รู้ตัว กับคำนิยามว่า “ก. ไหวตัวหรือเคลื่อนที่ไปเล็กน้อย, ทำให้ไหวตัวหรือให้เคลื่อนที่ไปเล็กน้อย.”

หรือในบางชั่วขณะ อาจพลัดหลงได้ไปเยี่ยม “เยือน” ถึงหน้าประตูบ้านของเธอว์ผู้นั้นอย่างไม่ทันตั้งตัว แบบที่คำนิยามให้ไว้ว่า “ก. เยี่ยม เช่น ลมหนาวมาเยือน ไปเยือนยุโรป.”

จึงเป็นกลุ่มคำที่แสดงบทบาทของการเลื่อนไหลลอยผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “เบลือน” และ “*bulaN” จนถึงภาษา “เล่น/แล่น” และ “lan/ran” ได้อย่างลงตัวไม่ขัดเขินแต่อย่างใด

จากคำในกลุ่มย่อยทั้งหมดของภาษา “เล่น/แล่น” ที่ยกขึ้นมากล่าวอ้างจำนวนหลายสิบคำ เทียบกับคำในกลุ่มภาษายาว “lan/ran” แล้ว ผู้เขียนอยากฟันธงแบบหมอทำนายชื่อดังเหลือเกินว่า ช่างสอดคล้องกลมกลืนไปด้วยกัน ทั้งในเรื่องของรูปคำเนื้อหาหลักและความหมายระดับพื้นฐาน

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำย่อยที่เกี่ยวกับการกีดขวางเส้นทาง หรือตัดขาดสะบั้นหมดเยื่อใย

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำย่อยที่เกี่ยวกับกิ่งก้าน ความยาว และการแบกรับน้ำหนัก

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำย่อยที่เกี่ยวกับการสั่นไหว แห้งระเหย สั่นสะท้าน และแตกรานลายงา

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำย่อยที่เกี่ยวกับการกลืนกินเวลายามค่ำคืน จนถึงการลื่นไหลไปกับกระแสน้ำ

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำย่อยที่เกี่ยวกับการวิ่งไปข้างหน้า ตามเส้นทางและความยาว แบบไม่มีการรั้งรอ

และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคำย่อยที่เกี่ยวกับการเลื่อนลอยออกไปอย่างเชื่องช้าละมุนละไม

เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มากเกินกว่าจะเป็นกลุ่มคำที่เกิดจากการหยิบยืมในภายหลัง เพราะต่างยึดโยงอย่างเหนียวแน่นอยู่บนแก่นแกนภาษา “เล่น/แล่น/lan/ran” ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นอีกหนึ่งกลุ่มภาษาที่มีความข้องเกี่ยวร้อยพัวพัน “คนพูดไท” และ “คนพูดออสโตรนีเซียน” เข้าด้วยกันแต่ครั้งโบราณกาลอย่างยากที่จะหลีกหนีเลือนหายไปโดยง่าย...แม้ถึงปัจจุบันกาล

ป.ล. ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า คำกลุ่มนี้อาจช่วยไขที่มาของคำเรียก “บ้านเรือน” ในหมู่ “คนพูดไท” ก็เป็นได้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 15 กุมภาพันธ์ 2560

คำสำคัญ (Tags): #เล่น#แล่น
หมายเลขบันทึก: 623779เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2017 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2017 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท