ความแตกต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา


ความแตกต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา

16 กุมภาพันธ์ 2560

มีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่งในความหมายระหว่าง “ปรัชญา” (philosophy) “ศาสนา” (religion) “ลัทธิ” (Doctrine) “วิทยาศาสตร์” (science) ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ศึกษาปรัชญาสับสนได้ มาดูทัศนะเหล่านี้กัน การศึกษาทำความเข้าใจ “ปรัชญา” ดูจะเป็นเรื่องยาก ฉะนั้น เรามาเริ่มปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นกัน

ความแตกต่างระหว่างปรัชญา ศาสนา ลัทธิ และ วิทยาศาสตร์ [1]

ปรัชญา หมายถึง กลุ่มทฤษฎีความเชื่อเกี่ยวกับวิชาการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ว่าด้วยเรื่องความมีอยู่จริงของธรรมชาติที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรือ ปรัชญา หมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาหาความรู้ ความจริง ของมนุษย์โลก ธรรมชาติ และชีวิตเพื่ออธิบาย เหตุการณ์ และสิ่งต่างๆ โดยใช้หลักการของเหตุผลในวิชาตรรกวิทยาเป็น เครื่องมือ ในการเข้าถึงความจริงหรือความรู้ที่แน่นอน ปรัชญา จึงเป็น วิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และหลักแห่งความจริง

ศาสนา หมายถึง ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งหรือหลายองค์ รวมทั้งกิจกรรมหรือแนวทางในการปฏิบัติที่ปฏิสัมพัทธ์กับความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อพระองค์ หรือศาสนา หมายถึง ลัทธิความเชื่อของมนุษย์ซึ่งแสดง ถึงกำเนิดของโลกอธิบายการกระทำที่เป็นบุญ บาป ซึ่งจะมีผลต่อชีวิตในโลกหน้า อธิบายแบบแผนชีวิต ข้อปฏิบัติพิธีกรรมในแต่ละวันแต่ละช่วงชีวิต ศาสนา จึงเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า, ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ลัทธิ คือ คำสั่งสอนที่มีผู้เชื่อถือและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น ลัทธิทางการเมือง ลัทธิเศรษฐกิจ ลัทธิปรัชญา ลัทธิทางศาสนา เป็นต้น ลัทธิ จึงเป็นความเชื่อถือ, ความรู้และประเพณีที่ได้รับและปฏิบัติสืบต่อกันมา

วิทยาศาสตร์ หมายถึง กระบวนความรู้ที่ได้จากการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

ทั้ง ปรัชญา ศาสนา และ วิทยาศาตร์ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยองค์ความรู้ที่สัมพันธ์กัน ดังที่ นักบุญ โธมัส อไควนัส (St.Thomas Aquinas : 1225 – 1274) เคยกล่าวว่า “ปรัชญาคือสาวใช้ของศาสนา” หรือในเวลาต่อมาที่วิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบความจริงใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวความคิดเดิมทางด้านปรัชญาเราจะพบกับคำพังเพยว่า “ปรัชญาคือมารดาของวิทยาศาสตร์” ส่วนไอน์สไตน์ (Albert Einstein : 1879–1955) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกให้ความเห็นเกี่ยวกับศาสนากับวิทยาศาสตร์ไว้ว่า “วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากศาสนาเปรียบเสมือนคนง่อย ศาสนาที่ปราศจากวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือนคนตาบอด”

ดังนั้นศาสนาและปรัชญามีความแตกต่างในในประเด็นดังต่อไปนี้

1. ศาสนานั้นมีคำตอบที่แน่นอนว่า หลักแห่งความรู้ และความจริงนั้นเป็นอย่างไร ส่วนปรัชญา ไม่มีคำตอบที่แน่นอนเด็ดขาดว่า หลักแห่งความรู้ และความจริงนั้นเป็นอย่างไร

2. ศาสนาจะยกย่องผู้เสนอความคิดทางศาสนาว่าเป็นผู้ค้นพบหลักแห่งความรู้และความจริง และมีฐานะเป็น ศาสดา ส่วนปรัชญา ไม่ได้ยกย่องผู้เสนอความคิดทางปรัชญาว่าเป็น ศาสดาแต่ยกย่องในฐานะผู้ริเริ่มแนวคิดใหม่ๆ ในการอธิบายหลักแห่งความรู้และความจริง

3. ศาสนา เห็นว่าวิธีเดียวที่จะเข้าถึงหลักแห่งความรู้ และความจริง นั่นคือ ความศรัทธาเนื้อหาของศาสนาจึงมีทั้งส่วนที่เข้าถึงด้วยเหตุผลและส่วนที่เป็นปาฏิหาริย์ ส่วนปรัชญามีความเห็นแตกต่างออกไปในเรื่องวิธีที่จะเข้าถึงหลักแห่ง ความรู้และความจริง

4. ศาสนา กำหนดให้มี พิธีกรรม หลักปฏิบัติที่บุคคลผู้เชื่อในศาสนานั้นๆ จะต้องประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน ส่วนปรัชญานั้นจะไม่มีข้อกำหนดเรื่องพิธีกรรมหรือวัตรปฏิบัติ

บทสรุปปรัชญาและศาสนา [2]

ศาสนา หมายถึง ลัทธิความเชื่อของมนุษย์ซึ่งแสดงถึงกำเนิดของโลกอธิบายการกระทำที่เป็นบุญ บาปซึ่งจะมีผลต่อชีวิตในโลกหน้า อธิบายแบบแผนชีวิตข้อปฏิบัติพิธีกรรมในแต่ละวันแต่ละช่วงชีวิต ส่วนปรัชญา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาหาความรู้ ความจริงของมนุษย์โลก ธรรมชาติ และชีวิตเพื่ออธิบายเหตุการณ์ และสิ่งต่างๆ โดยใช้หลักการของเหตุผลในวิชาตรรกวิทยาเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงหรือความรู้ที่แน่นอน

คู่ปรับของปรัชญาคือ ศาสนา ที่มีวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ค้นคว้าทดลอง [3]

ศาสนากับปรัชญาเป็นคู่ปรับอันทรงอิทธิพล ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ที่ต่างออกไปบนโลกใบนี้ ศาสนาจึงเป็นคู่ปรับที่ขาดไม่ได้ของปรัชญา

เพราะ บ่อเกิดของปรัชญาคือความสงสัย เมื่อเราสงสัยเราจึงแสวงหาคำตอบด้วยการตั้งคำถาม พวกนักปรัชญาไม่เบื่อที่จะตั้งคำถาม เขาตั้งคำถามไปซะกับทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องไกลตัว ใกล้ตัว บางเรื่องไม่น่าถามก็ยังถาม พวกนักปรัชญาไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ

แต่บ่อเกิดของศาสนาคือความกลัว วิธีขจัดความกลัวคือความชัดเจนเหมือนเราอยู่ในห้องมืดๆ เรากลัว พอมีใครมาเปิดไฟ เราก็หายกลัวทันที ศาสนาจึงให้คำตอบกับเรื่องที่เราไม่รู้ได้ทั้งหมด เป็นคำตอบเบ็ดเสร็จแบบว่าเชื่อไปก่อนนะ เดี๋ยวชีวิตจะดีเอง

จึงพอสรุปได้ว่า ปรัชญาคือความรู้ ส่วนศาสนาคือคำสอน ปรัชญาเริ่มจากความสงสัย แต่ศาสนาเริ่มจากความกลัว ปรัชญาจะต้องหาข้อพิสูจน์จนค้นพบความจริงแล้วจึงจะปฏิบัติตามแต่ศาสนาไม่ต้องพิสูจน์เพราะว่าเป็นคำสอนที่ทุกคนจะปฏิบัติตาม

ในความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์ นั้นมีว่า วิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างมีธรรมชาติของตน วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ปรัชญา เพราะว่ามันเจาะจงศึกษาความจริงเพื่อนำไปใช้สู่ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่คำถามที่เป็นปัญหาของปรัชญา (ความจริงคืออะไร? รู้ได้อย่างไร? ฯลฯ) โดยตรง วิทยาศาสตร์สนใจทำการศึกษาค้นคว้าทดลองตามหลักการของตน เพื่อตอบปัญหาในสิ่งที่วิทยาศาสตร์สนใจ

การศึกษาเรื่องศาสนา [4]

การศึกษาศาสนาอย่างเป็นวิชาการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยศึกษาได้จากงานวิจัยเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของอาจารย์คนสำคัญๆ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในการศึกษาเรื่องนี้ เราพบว่าการให้คำจำกัดความคำว่า “ศาสนา” กลายเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาโดยเฉพาะ เพราะศาสนามีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์คือ ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจนเป็นขาวเป็นดำ ในตอนแรก การให้คำจำกัดความ “ศาสนา” เป็นการให้ความหมายเกี่ยวกับความเชื่อในพระเจ้าและการที่มนุษย์พยายามสื่อสารกับพระเจ้าเป็นสำคัญ แต่ต่อมาการศึกษาศาสนากว้างมากขึ้นและมิได้จำกัดเฉพาะศาสนาเอกเทวนิยม (Monotheism) ซึ่งมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของความเชื่อ (The belief in a single deity (one god or goddess)) นักวิชาการตะวันตกเริ่มหันมาศึกษาศาสนาทางตะวันออกและรับรู้ถึงอุดมการณ์สูงสุดของศาสนาที่ไม่จำเป็นต้องเป็นพระเจ้าเสมอไป (อเทวนิยม : Atheism) เช่น ศาสนาพุทธ เป็นต้น เมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับศาสนามากขึ้น ข้อมูลในการพิจารณาเขียนคำจำกัดความก็เปลี่ยนไป เดอร์ไคม์ (David Emile Durkheim : 1858 - 1917) ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาให้คำจำกัดความว่า “ศาสนาคือระบบรวมว่าด้วยความเชื่อและปฏิบัติเพื่อความสัมพันธ์ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์” (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์และคณะ, 2546: 4)

บทสรุปปรัชญาพุทธ [5]

“พุทธปรัชญาได้แก่ หลักคำสอนเกี่ยวกับความจริง (สัจธรรม) และหลักปฏิบัติ (จริยธรรม) บางประการของพระพุทธศาสนาที่นำมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลตามวิธีการของปรัชญา “นิยามความหมายนี้ทำให้มองเห็นขอบเขตของพุทธปรัชญาว่าจำกัดอยู่ในส่วนที่เป็นศาสนธรรมของพุทธศาสนาเท่านั้น จะไม่รวมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เว้นเสียแต่ว่าองค์ประกอบเหล่านี้ จะเกี่ยวโยงกับศาสนธรรม จึงจะศึกษาวิเคราะห์ด้วยการใช้เหตุผลเชิงปรัชญาด้วยเท่านั้น

ปรัชญาพุทธเชื่อว่า สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งในและนอกจักรวาลไม่มี “สัตตะ” อันเป็นสิ่งนิรันดร์ใดๆ มีเพียง “ภวะ” อันเนื่องจากกระแสการปรับปรุงแต่ง เป็นสังขตธรรม (โลก และ ชีวิตทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สามารถปรุงแต่งได้ อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์) ที่เลื่อนไหลติดต่อกัน เป็นสภาวธรรมที่มีการเกิดดับอยู่ทุกชั่วขณะ สรรพสิ่งที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัสไม่ว่าจะเป็นสสาร หรือเป็นอสสารเช่นพระเจ้า ล้วนแต่เป็นมายาอันเนื่องมาจากจินตนาการ ไม่มีสิ่งใดเที่ยง มีการเกิดดับหมุนเวียนด้วยเหตุปัจจัยตามหลักอิทิปปัจจัยตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับลง เป็นอนิจตา เป็นทุกขตา และเป็น อนัตตตา ตามกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) และตามธรรมนิยามในปรัชญาพุทธทุกประการ

ความแตกต่างและความเหมือนระหว่างพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา [6]

ปรัชญา แปลว่าความรักในความรู้กับศาสนานั้น มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในลำดับแห่งวิวัฒนาการที่ผ่านมาบรรดาวิชาทั้งปวง ปรัชญาเป็นวิชาแรกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ต่อมาก็คือศาสนา หากกล่าวเฉพาะพุทธศาสนากับพุทธปรัชญา ก็จะได้ลักษณะเฉพาะว่า พุทธปรัชญามีลักษณะเป็นคำถามส่วนพุทธศาสนามีลักษณะเป็นคำตอบ มีบ่อเกิดมาจากแหล่งเดียวกันคือจิตใจของมนุษย์ ดังนั้น จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า

พุทธปรัชญามีฐานะเป็นทฤษฎี พุทธศาสนาเป็นภาคปฏิบัติ พุทธปรัชญาเป็นความคิด พุทธศาสนาเป็นการกระทำ พุทธปรัชญาเกิดจากความสงสัย พุทธศาสนาเป็นการตอบสนองความสงสัยและเป็นคำตอบที่ตอบแล้ว



[1] ความแตกต่างระหว่างศาสนากับปรัชญา, http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/mo... & ความแตกต่างระหว่าง ปรัชญากับศาสนา – Philosophychicchic, สื่อการสอน, ปรัชญาทั่วไป, สนุกกับการเรียนรู้ปรัชญาและศาสนาแบบชิคๆ เคียงคู่รอยยิ้ม, 15 สิงหาคม 2558,https://philosophychicchic.com/philosophy-vs-relig... & ปรัชญา ศาสนา และ วิทยาศาสตร์, 10 ตุลาคม 2555, http://pumalone.blogspot.com/2012/10/blog-post_10.... & ศาสนาคืออะไร? ลัทธิ คืออะไร? ปรัชญา คืออะไร? แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร?, 26 กมภาพันธ์ 2554, https://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20...

[2] บทที่ 3 ความแตกต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา, 21 มิถุนายน 2558, http://www.slideshare.net/Padvee/3-49654274

Philosophy vs. Religion

Philosophy Religion • Questions all assumption of authority (political, social, traditions, never dogmatic). • Concerned with questions (large, persistent, metaphysical). • Only subservient to self-imposed standards of rationality and reasonable argument. • Value driven – according to humanity’s highest potential • Appeals to authority (God, gods, prophets, religious denomination, etc.) • Provide all-encompassing answers to the life’s questions (meaning, purpose, reality). • Principally subservient. • Value driven – according to serving the will of the Divine.

[3] แก้วมณี ทองอ่ำ, ปรัชญาต่างจากศาสนาอย่างไร, GotoKnow, 29 กันยายน 2553, https://www.gotoknow.org/posts/399346

[4] ความเหมือนและความต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา, arjankung philosophy cmu, พฤศจิกายน 2556, http://wanwisacmu.blogspot.com/2013/11/blog-post.h...

[5] ความเหมือนและความต่างระหว่างปรัชญากับศาสนา, arjankung philosophy cmu, พฤศจิกายน 2556, อ้างแล้ว & วิโรจน์ วิชัย, พุทธปรัชญาคืออะไร, ในปรัชญา : Philosophy, 17 มกราคม 2553, http://wirotephilosophy.blogspot.com/2010/01/blog-...

[6] วิโรจน์ วิชัย, พุทธปรัชญาคืออะไร, ในปรัชญา : Philosophy, 17 มกราคม 2553, อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 623484เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2017 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท