งานจักหยวก วิทยาลัยในวัง ในงานท่องเที่ยวไทย 2560


งานจักหยวก วิทยาลัยในวัง ในงานท่องเที่ยวไทย 2560

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (3/2/2560)


"แทงหยวกใช้ได้หลายงาน ไม่ใช่ใช้แค่เพียงงานศพ..." พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 21 กันยายน 2559 อุทัยธานี


งานจักหยวกหรืองานแทงหยวก (ในที่นี้จะขอเรียกแทงหยวก) แต่เดิมที่เรารู้จักกันนั้นใช้กับงานศพบุคคลที่มีฐานะทางสังคม เช่นงานพระบรมศพ พระศพ เพื่อประกอบจิตกาธาน งานศพพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ หรืองานศพของบุคคลสำคัญ มักจะสร้างเป็นปราสาทศพสวยงามตามคตินิยมแบบไทยประเพณี โดยการนำหยวกกล้วยตานีแกะลายกนกไทยด้วยใบมีดบางเรียวแหลมคมแบบไม่ต้องร่าง ช่างจะต้องมีความชำนาญและเชี่ยวชาญเป็นพิเศพ ทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากเป็นของสด แกะเป็นชิ้น ประกอบกันเป็นชุด ประกอบเข้าเป็นปราสาท บ้างใส่กระดาษสีเพื่อความสวยงาม นับเป็นสุดยอดงามศิลปกรรมไทยแขนงหนึ่งบรรจุในสำนักช่างสิบหมู่



เวปไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (19 เมษายน 2553) ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับลวดลายการแทงหยวก รวมถึงการใช้งานดังนี้



"แทงหยวก เป็นคำเรียกวิธีการฉลุหรือสลักกาบกล้วยให้เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายฟันปลา ลายแข้งสิงห์ เพื่อนำไปประดับเชิงตะกอนในการเผาศพ. การแทงหยวกเป็นศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันโดดเด่นของช่างฝีมือชาวจังหวัดเพชรบุรีกลุ่มที่เรียกว่า ช่างหยวก. หยวกที่นิยมนำมาสลักคือ หยวกกล้วยตานีซึ่งอิ่มน้ำ ไม่เหี่ยวง่าย ไม่มีใย เวลาแทงตัดและสลักจะไม่เปราะ เมื่อสลักหยวกเสร็จแล้วจะนำไปทาบบนกาบกล้วยอีกกาบหนึ่ง โดยวางกระดาษสีคั่นเพื่อให้เห็นลวดลายต่าง ๆ เด่นชัด. หยวกกล้วยที่สลักลวดลายแล้วนี้เรียกว่า เครื่องหยวก นำไปประดับเชิงตะกอนบนเมรุเผาศพให้ดูสวยงามและเหมาะสมกับฐานะของผู้ตายหรือฐานะของเจ้าภาพ"





สมัยที่ผมเป็นหนุ่ม ๆ ได้มีโอกาสทำงานแทงหยวกกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่วัดบางจาก เป็นงานศพพระสงฆ์สำคัญรูปหนึ่ง เราเริ่มทำงานกันตั้งแต่สาย อาจารย์เป็นผู้แทงหยวกเพียงท่านเดียว แทงลายโดยไม่ต้องมีแบบร่างเลย ทุกลายเท่ากันราวหล่อแบบ แล้วแยกวางเป็นชิ้น ๆ ผมและชาวคณะราว 4 คนมีหน้าที่ใส่กระดาษสี ประกอบหยวกโดยใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแทง ส่วนเกินก็ตัดออก ราวเที่ยงคืนอาจารย์ขึ้นพานครู ทำน้ำมนต์ธรณีสาร แล้วเริ่มประกอบชุดหยวก ประกอบปราสาทศพ กว่าจะเสร็จก็เช้าอีกวันหนึ่ง จากนั้นก็ตกแต่งสถานที่ แต่งดอกไม้ ผูกผ้า แขวนโคม จัดภูมิทัศน์ ปิดงานแขกก็ทาพอดี เป็นปราสาทศพครอบเชิงตะกอนที่สวยงามที่ผมเคยเห็นและมีส่วนสร้าง และเป็นประสบการณ์เพียงครั้งเดียว


ในงานท่องเที่ยวไทย 2560 สวนลุมพีนี บริเวณส่วนจัดงานของภาคกลาง วิทยาลัยในวัง งานจักหยวก (ช่างแทงหยวกอ่างทอง) จัดซุ้มแสดงวิธีการแทงหยวก เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั้วไป อีกทั้งเป็นการนำเสนอในมุมมองใหม่ดั่งในพระราชดำรัสข้างต้นที่ว่า งานแทงหยวกหาใช่ใช้งานศพเพียงอย่างเดียว หากแต่ประยุกต์ใช้ได้หลายงาน แม้แต่งานสร้างกรอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ผมสังเกตจากภาพถ่ายตัวอย่างงาน ช่างแทงหยวกสำนักนี้ไม่นิยมใช้กระดาษสีแทรกระหว่างลายไทยบนหยวก แต่ใชีสีแต่งแต้มเอา นับว่าสวยงามอีกแบบหนึ่ง


งานแทงหยวกนับเป็นองค์ความรู้และงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ควรศึกษา อนุรักษ์ สืบทอด และส่งต่อชั่วลูกหลานให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไปนานเท่านาน

งานท่องเที่ยวไทย 2560 (25-28/1/2560)

ภาพโดย วาทิน ศานติ์ สันติ

ข้อมูลประกอบการเขียน

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554.

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.(2553). แทงหยวก. เข้าถึงจาก http://www.royin.go.th/?knowledges=แทงหยวก-๑๙-เมษายน-๒๕๕๓. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2560.

หมายเลขบันทึก: 622609เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2017 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2017 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท