การสื่อสารการเมืองเรื่องปฏิบัติการจิตวิทยาคณะราษฎร


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ 

นักประวัติศาสตร์การสื่อสารสยาม
 

 


 

บทนำ

ก็ด้วยเคยเป็นครูสอนประวัติศาสตร์การสื่อสารสยามมาก็หลายปีอยู่ พอจะรู้เรื่อง “คณะราษฎร” บางมุมที่น่าจะนำมาเล่าให้หลายคนที่ไม่เคยทราบได้สนุกในการอ่าน ถ้าหากกล่าวว่า “วงการบันเทิงไทย” กำเนิดได้เพราะคณะราษฎรก็คงจะแปลกใจมิใช่น้อย


 

อันที่จริงคณะราษฎรปฏิบัติการจิตวิทยาผ่าน "สื่อ" ในการเปลี่ยนแปลงประเทศยุคเปลี่ยนผ่านการปกครอง ปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) หรือ Psychological operations (PSYOP) ผู้เขียนได้ยินครั้งแรกตอนเรียน รด. พอนึกๆ แล้วสรุปความที่เข้าใจด้วยตนเองว่า เป็นยุทธวิธีทางการทหารที่นำทฤษฏีวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยาต่างๆ มาให้ข้อมูลด้วยการโฆษณาชวนเชื่อหรือโน้มน้าวจิตใจกลุ่มบุคคลเป้าหมาย ทั้งฝ่ายศัตรูและประชาชนในปกครองของตน เพื่อควบคุมความคิด (Mind control) หรือเปลี่ยนแปลงความคิด การรับรู้ ทัศนคติ ความเห็น ความเชื่อ ที่เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ เช่น ฝ่ายคอมมิวนิสต์พยายามโน้มน้าวชาวบ้านมาเป็นพวก ก็กรอกหูว่าคอมมิวนิสต์ดีอย่างไร ส่วนฝ่ายทหารไทยก็ต้องแก้ไขควบคุมชาวบ้านให้เห็นว่าเป็นไทยดีกว่านะ คอมมิวนิสต์คือผู้ก่อการร้ายต่างหาก


 

น่าแปลกใจถ้าโตมาเรามารู้ว่าหลายฝ่ายอยากช่วงชิงมีอำนาจในการปกครองไทยเสมอมา และหนึ่งในวิธีการคือปฏิบัติการจิตวิทยามีมาตลอด แต่เราไม่เคยร่ำเรียนวิธีแยกแยะข้อมูลข่าวสารเลย การให้ข่าว (Inform) กับโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ต่างกันอย่างไร เราก็ไม่รู้


 

การล้างสมอง (Brainwashing) หรือแม้แต่การทำให้ไม่สามารถมองเห็นความเป็นจริง (mystifying) เมื่อเราได้ยิน อาจจะร้อง เฮ้ย! เป็นไปไม่ได้หรอกฉันฉลาด ฉันไอคิวสูง ใครจะมาหลอกใช้ฉันไม่มีทาง แต่อดีตนายทหารการข่าวระดับพลเอกท่านหนึ่งเคยบอกผู้เขียนว่า ถ้าเราอยากรู้ความจริงก็อย่าอ่านข่าวจากสื่อ


 

ในปัจจุบันปฏิบัติการจิตวิทยาถูกแทนที่ด้วยคำว่า Information Operations (IO) หรือการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากเรื่องปฏิบัติการจิตวิทยาในปัจจุบันยิ่งใหญ่กว้างขวางทรงประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นศัพท์ Cyber Crime ด้วยยุทธวิธีว่าด้วย Information warfare


 

แม้ในทางธุรกิจ Cyber ยุคนี้เขากล่าวว่า Content is the King ในการช่วงชิงตลาด แต่ในทางการปกครองยุคปัจจุบันผู้เขียนก็เห็นว่า “เนื้อหาข่าวสาร” (Content) ก็คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเช่นกัน ข้อมูลข่าวสารต่างๆ นอกจากให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข่าวสารของประชาชนแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้ พัฒนาบ้านเมือง ตลอดจนควบคุมความสงบในชาติได้


 

การปฏิบัติการจิตวิทยาหรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ในปัจจุบัน ต้องถูกใช้และมีการควบคุมจากรัฐตลอดเวลา หรือเรียกว่าความต่อเนื่องทางยุทธการ (Operation continuum) ไม่ว่าสภาพการณ์ของประเทศหรือสงครามจะเป็นเช่นไร นับตั้งแต่ ยามสงบ (Peacetime Engagement) ยามตึงเครียด (Tension) ยามพิพาท (Conflict) ยามศึก (War) และช่วงกลับคืนสู่ความสงบหลังสงคราม (Peace)


 

ในอดีตที่ปรากฏชัดทางประวัติศาสตร์ในการปฏิบัติการจิตวิทยาที่ไม่ใช่แค่การพูดเพื่อโน้มน้าวจิตใจ แต่เริ่มใช้เครื่องมือที่เป็นสื่ออันสามารถสื่อสารกับคนจำนวนมากได้ก็คือ คณะราษฎรในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง นับตั้งแต่ การใช้ข่าวลวง การใช้ใบปลิว การใช้หนังสือพิมพ์ การใช้วิทยุกระจายเสียง การใช้วิทยุโทรทัศน์ การใช้ภาพยนตร์ ละครเวที การประกวดนางงาม และดนตรีสากล เป็นต้น ประชาธิปไตยเป็นเรื่องดีจริงแต่จำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีมากมายในการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนผ่านสื่อทุกประเภทเป็นกระบวนการขนาดนั้นเลยรึ? อย่างไรก็ตามซึ่งสิ่งเหล่านั้นนำพามาสู่ปัจจุบันก็คือที่มาของ “วงการบันเทิงไทย”


 

ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึง “วงการบันเทิง” คนไทยมักนึกถึงแวดวงสังคมในวงการ วิทยุกระจายเสียง วงการโทรทัศน์ วงการภาพยนตร์ วงการนางงาม และวงการดนตรี เป็นต้น แต่หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ด้วยการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ด้วยวิธีแบบ Documentary research ผู้เขียนกลับพบว่า ผู้บุกเบิกวงการบันเทิงไทยนั้น แท้จริงกลับกลายเป็นท่านอดีตนายกรัฐมนตรีจอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่จากคณะราษฎร นั่นก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือสมญานาม “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” 


 

จะอย่างไรก็แล้วแต่ บทความวิชาการนี้จะขอนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงด้วยความเป็นกลางทางวิชาการ โดยวัตถุประสงค์หลักจะกล่าวถึงกระบวนการและเจตนารมณ์การกำเนิดวงการ “บันเทิง” ของไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมณ์ของภาครัฐในการใช้ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรี และกิจกรรมบันเทิงของไทยอย่างไร รัฐมีวัตถุประสงค์อย่างไรในช่วงเวลานั้น การกำกับดูแลกิจการสื่อสารในปัจจุบันและอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เพื่ออะไร และไปในทิศทางใด อันอาจจะเป็นการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาประเทศไทยให้รุ่งเรืองต่อไปในอนาคต


 

กำเนิดวิทยุกระจายเสียงแห่งสยาม

 

การถือกำเนิดกิจการวิทยุกระจายเสียงของไทยอย่างเป็นจริงเป็นจังนั้น ถือได้ว่าคาบเกี่ยวกับช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศจากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ด้วยการทำการยึดอำนาจรัฐจากพระเจ้าแผ่นดินโดยสามัญชนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบไปด้วย ข้าราชการ พลเรือน และนายทหาร ที่ทราบกันดีมีนามว่า “คณะราษฎร”

 

 

 

 

แนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยในสยาม เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อธิบดีกรมไปรษณีย์องค์ที่สอง และเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันขนานใหญ่ภายหลังเกิดเหตุ กบฏ รศ. ๑๓๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภในที่ประชุมมหาเสนาบดี เพื่อหารือความแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามมาเป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะนั้น จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ บิดาการสื่อสารไทยเป็นประธานองคมนตรีทรงท้วงติงว่า ราษฎรไทยยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ ยังไม่พร้อมที่จะเลือกผู้นำด้วยตนเอง ดังนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นด้วย และเร่งพัฒนาระบบการศึกษาไทย แต่ก็สิ้นรัชกาลไปก่อนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ไม่ทันได้ทรงวางรากฐานการศึกษาคนไทยให้พร้อมที่จะเลือกผู้นำด้วยตนเอง และเปลี่ยนแปลงการปกครองตามสังคมโลก


 

ล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๗ กิจการวิทยุกระจายเสียงได้เริ่มต้นมาเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ราว พ.ศ. ๒๔๖๙ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดตั้งกิจการวิทยุกระจายเสียงขึ้น และได้ตั้งกองช่างวิทยุ โดยการเริ่มทดลองส่งออกอากาศในวัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ และการคมนาคม ผู้บุกเบิกการสื่อสารยุคใหม่ พระองค์ทรงสนพระทัยในกิจการวิทยุกระจายเสียงอย่างสูง เพราะเป็นวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สุดของโลกในยุคนั้น จนได้ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงเพื่อทำการทดลองขนาดเล็กๆ ขึ้นในวังเพื่อการค้นคว้าส่วนพระองค์


 

ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๑ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินฯ เสด็จกลับจากการดูงานด้านคมนาคมที่ยุโรป ได้ทรงดำริให้สั่งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงจากต่างประเทศเข้ามา ๑ เครื่อง ขนาด ๒๐๐ วัตต์ ความยาวคลื่น ๓๖.๔๒ เมตร เป็นคลื่นสั้น มาติดตั้งที่ไปรษณียาคาร ซึ่งได้เริ่มทดลองออกอากาศครั้งแรก ซึ่งสถานีวิทยุนามว่า ๔ พีเจ (4PJ) อยู่ในความดูแลของกองช่างวิทยุกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่การกระจายเสียงจำกัดอยู่ในหมู่เจ้านาย ข้าราชการ ที่มีเครื่องรับวิทยุกระจายเสียงไม่กี่เครื่องเท่านั้น


 

จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๒ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินฯ ทรงค้นคว้าพบว่าหากตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงที่เดียวกันกับสถานีวิทยุโทรเลข วิทยุกระจายเสียงจะถูกรบกวนจากเครื่องส่งโทรเลข และทรงสั่งเครื่องส่งที่มีกำลังส่งสูงกว่าเดิมมา เพื่อที่จะได้กระจายเสียงไปได้ระยะทางไกลมากขึ้น ประชาชนจะได้มีความนิยมสนใจมากขึ้น มีกำลังส่ง ๒,๕๐๐ วัตต์ ใช้ความยาวคลื่น ๓๕๐ เมตร จึงได้มีการย้ายไปตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งใหม่ขึ้นที่วังพญาไท เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงถาวรแห่งแรกของไทย และประกาศชื่อสถานี ว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phyathai) โดยมีพิธีเปิดเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ และมีการถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย เนื่องในวันฉัตรมงคล โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "การวิทยุกระจายเสียง ที่ได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมาย ที่จะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิง แก่พ่อค้าประชาชน" นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนชาวไทยทั่วไปได้รับฟังพระสุรเสียงของพระมหากษัตริย์ และถือว่าเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงครั้งแรกของประเทศไทยที่เชื่อมสายใยจากกษัตริย์สู่ประชาชน

 


 

 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน


 

 

กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธินฯ เป็นบุคคลแรกของสยาม ที่ต้องการให้มีการส่ง เทเลวิชั่น (Television) หรือวิทยุโทรทัศน์ขึ้นในประเทศ ซึ่งจะเป็นประเทศแรกของเอเชียด้วยซ้ำไปหากได้มีการส่งโทรทัศน์ในยุคนั้น แต่ยังมิทันได้ประสบความสำเร็จด้วยเหตุล้มเลิกไป เนื่องจากสยามได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕...


 

หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงลี้ภัยการเมืองไปอยู่สิงคโปร์ และสิ้นพระชนม์ในปีอีก ๔ ปีถัดมา โดยมิได้กลับบ้านเกิดที่ทำคุณงามความดีนับเป็นผู้พัฒนาบ้านเมืองต่างๆ มากมายทั้งการคมนาคม และการสื่อสารแต่มิได้ดีในบั้นปลายชีวิต


 

------------

 


 

...ย้อนไปในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สองเด็กหนุ่มสามัญชนชั้นหัวกะทิของสยาม ได้รับทุนจากรัฐบาล มีโอกาสไปร่ำเรียนที่ฝรั่งเศส ทั้งคู่ได้พบกันที่ฝรั่งเศส ต่อมาพวกเขาได้เป็นผู้นำคณะราษฏร คือ ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ (เปลี่ยนนามสกุล พิบูลสงคราม ภายหลัง) และนายปรีดี พนมยงค์


 

เวลานั้นทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมากมาย โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย เกิดการล้มล้างระบอบราชาธิปไตย และสร้างประชาธิปไตยกันมากมายหลายประเทศ โค่นล้มระบอบกษัตริย์ เพราะชนชั้นกษัตริย์ และขุนนางกดขี่ประชาชน แม้ประเทศสยามจะมิได้เป็นเช่นนั้น พระมหากษัตริย์สยามในสมัยรัตนโกสินทร์ ทุกพระองค์ล้วนปกครองประเทศด้วยทศพิธราชธรรม ทรงตรากตรำอุทิศองค์เพื่อประชาราษฎร์ และพัฒนาประเทศตลอดเวลา แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ด้วยเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้บรรดาสามัญชนหัวกะทิเหล่านั้นก็มิได้ถูกกีดกันในการได้งบหลวงมาร่ำเรียนถึงแดนไกล


 

 

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ หอพัก “Rue du summerad” ในกรุงปารีส ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของบ้านเมือง โดยตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ให้ลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยวิธีการยึดอำนาจโดยเฉียบพลัน ทั้งนี้จริงๆ บางแหล่งข้อมูลบอกว่าท่านทั้งหลายได้ตั้งเป้าหมายให้สยามบรรลุเป้าหมาย ๖ ประการ ซึ่งต่อมาเรียกว่า “หลัก ๖ ประการของคณะราษฎร” มีดังนี้

  • จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
  • จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  • จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  • จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
  • จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
  • จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

 

 

ในกลุ่มผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ ต่างคนต่างก็น่าจะมีจุดหมายแตกต่างกันในการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย บางท่านอาจจะมีอุดมการณ์จริงๆ ที่คิดว่าหากประเทศสยามเป็นประชาธิปไตยแล้ว บ้านเมืองจะเจริญขึ้น ผู้คนจะพัฒนา ประเทศอยู่ร่วมกับสังคมโลกได้ แต่พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่คู่ฟ้าไทยต่อไป ส่วนบางท่านอาจจะคิดว่า สามัญชนคนธรรมดาถึงแม้มีความรู้ความสามารถก็ไม่มีโอกาสบริหารบ้านเมือง การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยึดอำนาจเท่านั้นที่จะพาเขามีโอกาส มีอำนาจ วาสนา ก็เป็นได้


 

ภายหลังการยึดอำนาจ บางท่านอาจจะกระทำการเลยเถิดไปบ้าง ราวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน และบรรดาพระญาติวงศ์มิเคยทรงสร้างคุณงามความดีให้บ้านเมืองไว้เลยหรือกระไร เช่น จับเป็นตัวประกันหากในหลวงไม่ยอมแพ้จะทำร้ายพระญาติวงศ์ จับท่านคุมขัง ยึดบ้าน ยึดวัง ยึดทรัพย์สิน จำคุก เนรเทศท่านทั้งหลาย ล้วนมิใช่สิ่งดีงามในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างแน่นอน นิติปรัชญาเขามีทฤษฎี ต้นไม้มีพิษผลของมันก็ย่อมมีพิษ (Fruits of Poisonous Tree) เมื่อเริ่ต้นกระบวนการไม่ขาวสะอาดปลายทางจะสะอาดได้อย่างไร


 

หลังจากวางแผนก่อการกันไว้อย่างดี เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ เฝ้ารอคอยวันแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างใจจดใจจ่อ แม้ท่านไม่ใช่นักวิชาการ แต่ท่านเป็นทหาร ก็ได้ศึกษาวิชาการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปจนล้ำหน้ามาก ทั้งการยึดอำนาจ การปกครอง กลยุทธ์การเมือง รอบรู้ว่าจะควบคุมประชาชน ประเทศได้อย่างไรทั้งที่อายุน้อยมาก


 

ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ หิ้วตำรา “เทคนิคการทำรัฐประหาร” ของ คูร์สิโอ มาลาปาร์เต นักเขียนระบือนามชาว อิตาลี ในยุคนั้น กลับมาจากฝรั่งเศส และเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นตำราที่ทำให้นักปฏิวัติหลายคนในโลกใช้ปฏิบัติการจนสำเร็จมาหลายประเทศแล้ว

 



 

 

ตำรา “เทคนิคการทำรัฐประหาร” ของ คูร์สิโอ มาลาปาร์เต

มีตีพิมพ์แปลเป็นภาษาไทยด้วย แต่ปัจจุบันเป็นหนังสือหายากไปแล้ว


 

 

ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ อ่านตำราเล่มนี้ทุกแง่มุมอย่างทะลุปรุโปร่ง ท่องจำจนขึ้นใจ แม้ภายหลังยึดอำนาจได้แล้ว ท่านก็ยังใช้หนังสือเล่มนี้ปราบศัตรูทางการเมืองตามกลยุทธ์ในหนังสือแนะนำ จนเรียกได้ว่าท่านเป็นสามัญชนคนแรกของไทยที่มีอำนาจสูงส่งที่สุดก็กล่าวได้


 

...เช้าตรู่ของวันศุกร์แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับที่วังไกลกังวลหัวหิน…

 

 

 

นายทหารคณะราษฎรฝ่ายปฏิวัติได้รุดไปที่กรมทหารม้าที่ ๑ ในเวลาตี ๕ ออกอุบายลวงว่า บ้านเมืองเกิดกบฎขึ้น ให้นำทหาร รถถัง รถยานเกราะ ออกไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมโดยด่วน ส่วนอีกทางหนึ่งนั้นทหารเรือก็ถูกอุบายลวงเช่นเดียวกัน จึงเดินทางมาถึงพร้อมกัน ถัดไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า นักเรียนนายร้อยในชุดฝึก ซึ่งถูกลวงว่ามาฝึกซ้อมการรบระหว่างรถถังกับทหารราบ ด้วยเช่นกัน และยังมีฝ่ายพลเรือนด้วยอีกจำนวนหนึ่งมาชุมนุมกัน

 

 

 

 

 

 

กองกำลังคณะราษฎรส่วนหนึ่งที่หน้าวังปารุสกวัน เช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

 


 

ครานั้นทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนที่ถูกอุบายลวงมามีจำนวนถึงกว่า ๒,๐๐๐ คน ได้รับคำสั่งให้ทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายในรั้วพระที่นั่งอนันตสมาคม และให้เข้าแถวคละกันทั้งหมดเพื่อไม่ให้นายทหารผู้ใดจะสั่งการได้โดยง่าย


 

จากนั้น นาทีแห่งประวัติศาสตร์ก็มาถึง เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีใจความว่า

การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ การปกครองแบบพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจด้วยพระองค์เอง ใครจะออกเสียงหรือความเห็นคัดค้านอย่างใดมิได้ทั้งสิ้น การปกครองแบบนี้ได้ปล่อยให้อาณาประชาราษฎร์เผชิญโชคชะตาทางเศรษฐกิจ และการภาษีต่างๆ ไปตามลำพัง ไม่ได้คิดหาทางแก้ไขให้บ้านเมืองดีขึ้น จะปล่อยให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย และเป็นไปตามยถากรรมนั้น เป็นการไม่พึงบังควรอย่างยิ่ง เราจึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้พระมหากษัตริย์ทรงสถิตอยู่ใต้กฎหมาย


 

 

ภายหลังกล่าวจบ พระยาพหลฯ ได้ขอความร่วมมือกับบรรดาทหารทั้งหมดที่มาอยู่ในที่ทำการนี้ ซึ่งก็ไม่ได้มีทหารผู้ใดขัดขืน จากนั้นบรรดาคณะราษฎรก็ได้แยกย้ายไปจับกุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาเป็นตัวประกัน ส่วนหนึ่งก็เดินแจกใบปลิวคำแถลงการณ์บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีประชาชนหลายพันคนมามุงดู

 

 

 

ภายใน ๓ ชั่วโมง คณะราษฎรก็ยึดกรุงเทพฯ ได้อย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะการจับกุม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล บริพัตร ครานั้นพระองค์ท่านทรงเป็นผู้รักษาพระนคร และมีอำนาจทางทหารมากที่สุดในปี พ.ศ. ๒๔๗๕
 


 

 

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ต้นราชสกุล บริพัตร ณ อยุธยา


 

เมื่อคณะราษฎรฝ่ายทหารปฏิวัติสำเร็จ คณะราษฎรฝ่ายพลเรือนซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ และเป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในการพัฒนาระบอบการปกครองแบบใหม่ การร่างรัฐธรรมนูญ แนวทางการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากฝ่ายทหารไม่สันทัด

 

 

 

เมื่อจับกุมเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ได้แล้ว คณะราษฎรได้ส่ง น.ต.หลวงศุภชลาศัย เป็นตัวแทนไปทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติกลับพระนคร โดยยื่นข้อเสนอให้เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป หากไม่รับข้อเสนอ จะทำร้ายพระญาติ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่จับกุมไว้ อีกทั้งจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นครองราชย์แทน พระองค์ได้ทรงเสียสละทุกสิ่ง ทรงแบกรับความรับผิดชอบของประเทศและราษฎรไว้โดยพระองค์เดียว ด้วยเพราะไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ จึงยอมตามคณะราษฎร ดังจดหมายตอบโต้ระหว่าง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคณะราษฎร ดังนี้


 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิวัติกลับพระนครในวันรุ่งขึ้น ผู้แทนคณะราษฎร ๗ คนได้เข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย และนำเอกสารสำคัญไปทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมาย ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕

 

 

 

ภายหลังได้มีการตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และคณะราษฎรเร่งสร้างระบอบการปกครองใหม่


 

แต่เพียง ๑ ปีให้หลัง รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเกิดขัดแย้งกับคณะราษฎร เนื่องจากเห็นว่า "แผนเค้าโครงเศรษฐกิจ" ของหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นการปกครองรูปแบบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงถูกรัฐประหารสิ้นสุดรัฐบาลในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ และเดินทางออกจากประเทศไทยไปอย่างเงียบๆ และพำนักที่มาเลเซียตลอดชั่วอายุขัย เป็นปฐมบทจุดจบชีวิตนายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบประชาธิปไตย


 

จากนั้น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ยาวนานอีกหลายสมัย และเป็นผู้บัญชาการทหารบก


 

เหตุการณ์สำคัญที่สุดในรัฐบาล นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ก็คือ การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงคณะราษฎร เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ดังนี้

 

 

 

พระราชหัตถเลขาการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงคณะราษฎร

เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗


 

 

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชสมบัติ สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๘ ตามกฎมณเฑียรบาล แห่งราชวงศ์จักรี


 

ภายต่อมารัฐบาล พันเอก พระยาพหลฯ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑ แม้ได้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือน พฤศจิกายน ๒๔๘๑ และได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ท่านก็ปฏิเสธอย่างหนักแน่น โดยให้เหตุผลว่าเพียงพอแล้วสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะวางมือทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ภายหลังท่านได้รับพระราชทานยศเป็น พลเอก พลเรือเอก และ พลอากาศเอก 


 

สภาผู้แทนราษฎรจึงหันมาเลือก นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม นายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้าคนสำคัญของคณะราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองมากที่สุดในสภาครานั้น ถูกเลือกจากสภาผู้แทน และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของไทย ในขณะที่มีอายุ ๔๑ ปี เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ยังมียศและบรรดาศักดิ์เป็น “นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม”

 

 

 

นอกจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านยังดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นนายทหารประจำอีกด้วย ซึ่งเดือน เมษายน ในปีถัดมา ท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็น พลตรี พลเรือตรี และพลอากาศตรี และปีถัดมาก็เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกด้วย นับเป็นสามัญชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มีอำนาจสูงสุดทั้งในกองทัพและในทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีใครเสมอเหมือนในประเทศนี้มาก่อน

 

 

 

ระบอบประชาธิปไตยไทยในช่วงแรกนั้น บรรดานายกรัฐมนตรีและผู้นำรัฐบาลก็ล้วนมาจากคณะราษฎร การปฏิรูปประเทศใหม่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๒ ภายใต้การนำของหลวงพิบูลสงคราม ท่านได้พยายามเปลี่ยนแปลงประเทศ โดยเริ่มจากเปลี่ยนชื่อประเทศ แล้วท่านก็เปลี่ยนประเทศสยามให้เป็นประเทศไทย! ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น “ประเทศไทย” และมีการห้ามใช้คำว่าสยาม แม้แต่พระสยามเทวาธิราชท่านก็พยายามเปลี่ยนให้ใช้คำว่า “พระไทยเทวาธิราช” แทน แต่ในที่สุดก็กลับมาใช้คำเดิม เพราะนามพระสยามเทวาธิราชท่านยังมิได้ถูกประกาศบังคับเป็นกฎหมายให้เรียกขานในราชกิจจานุเบกษา


 

ท่านได้พยายามเปลี่ยนแปลงประเทศ ให้รู้สึกได้ว่าประเทศถูกพัฒนา โดยสร้างวัฒนธรรมใหม่ สร้างระบอบทุนนิยมให้คนไทย ซึ่งมาตรการหนึ่งที่ท่านนิยมนำมาใช้คือ “รัฐนิยม” มิใช้เป็นกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลชอบ โดยการพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทย เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่มีมายาวนานให้ดูน่ารังเกียจ และพยายามสร้างวัฒนธรรมใหม่อันศิวิไลซ์ขึ้น ดังนั้นประชาธิปไตยในยุคนั้นจึงฟังดูแปลกๆสำหรับผู้เขียน เพราะเหมือนการบังคับจำกัดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตประจำวัน


 

รัฐบาลนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า “รัฐบาลมีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ในอันที่จะสร้างเสริมความวัฒนาถาวรแก่ประเทศชาติไทย ให้รุ่งเรืองมั่นคงสมกับที่เป็นอารยประเทศ และอารยชาติหนึ่งในโลก" ได้พยายามปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายสำเร็จลุล่วงไปหลายประการ และกำลังดำเนินการอยู่ก็ยังอีกหลายอย่าง อันเป็นที่ตระหนักแก่ประชาชาวไทยโดยทั่วไป


 

รัฐบาลยังได้กำหนดวิธีการฟื้นฟูส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยการจัดให้มีรัฐนิยมบ้าง คำชักชวนของรัฐบาลบ้าง และคำวิงวอนของท่านนายกรัฐมนตรีบ้าง ซึ่งเป็นไปตามลำดับโดยสมควรแก่กาละ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและปฏิบัติตามวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นสำระสำคัญแห่งความเจริญก้าวหน้า และเป็นเครื่องแสดงถึงเกียรติศักดิ์อันสูง ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องเอาใจใส่และปลูกฝังคุณลักษณะอันแสดงวัฒนธรรมให้สมแก่การเป็นอารยชนในปัจจุบัน คู่ขนานกันไปกับความเป็นอารยประเทศและอารยชาติ


 

รัฐนิยม แท้จริงคือคำชักชวนของรัฐบาลและของท่านนายกรัฐมนตรี ที่อยากให้วัฒนธรรม และประเพณีนิยมประจำชาติดูดีมีความเป็นสากล และอยากให้ชาวไทยทุกคนพึงพร้อมใจกันปฏิบัติตาม


 

รัฐบาลนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศรัฐนิยมถึง ๑๒ ฉบับ และยังได้ประกาศคำชักชวนของรัฐบาลเกี่ยวแก่การฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติไทย อีกทั้งท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกคำขอร้องเกี่ยวแก่การพนันตามสาธารณสถาน และเกี่ยวแก่การตกแต่งร่างกายของพี่น้องสตรีไทย ซึ่งล้วนเป็นระเบียบการอันพี่น้องชาวไทยทุกคนพึงต้องทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


กรมโฆษณาการจึงได้นำบรรดารัฐนิยม คำชักชวนและคำวิงวอนของรัฐบาลทั้งมวลที่เกี่ยวแก่การฟื้นฟูวัฒนธรรมแห่งชาติเท่าที่ได้ประกาศแล้วมารวบรวมไว้ในแห่งเดียวกัน และพิมพ์เป็นสมุดเล่มนี้ขึ้น

 

 

 

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑ เรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชนและสัญชาติ

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๒ เรื่องการป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๓ เรื่องการเรียกชื่อชาวไทย

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๔ เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี
ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๕ เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภค ที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๖ เรื่องทำนองและเนื้อเพลงชาติ

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๗ เรื่องชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๘ เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๙ เรื่องภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๐ เรื่องการแต่งกายของประชาชนขาวไทย

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๑ เรื่องกิจวัตรประจำวันของคนไทย

ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๒ เรื่องการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือทุพพลภาพ


 

รัฐนิยมทั้ง ๑๒ ฉบับ มีผลกระทบต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยจำนวนมาก กระทบไปจนถึงชีวิตประจำวัน หากสมัยนี้กลับไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น อาจจะรู้สึกประหลาดใจอย่างมากว่า สิ่งที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะราษฎร ผู้ซึ่งต้องการประชาธิปไตย กับมีนโยบายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนไปถึงสิทธิส่วนบุคคลอย่างมากในขณะนั้น บางสิ่งหลายท่านก็ชื่นชม บางสิ่งบางท่านก็ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าการสร้างชาตินิยมปลูกฝังให้คนไทยรักชาติ ให้สวมหมวกก่อนออกจากบ้าน กำหนดชื่อคนเสียใหม่ให้เป็นระเบียบ ให้เคารพธงชาติ ห้ามกินหมาก ห้ามนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนการสะกดอักษรหรือแม้แต่ให้ข้าราชการขายก๋วยเตี๋ยว เพื่อรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการค้าขาย ให้ความสำคัญกับระบอบทุนนิยม เป็นต้น ข้อบังคับมากมายที่กระทบถึงสิทธิ และเสรีภาพชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปของไทยในขณะนั้นย่อมเป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากอารยชาติอื่น


 


 

กำเนิดกองโฆษณาการ
 

ได้มีการจัดตั้ง “กองโฆษณาการ” ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานโฆษณาการ” เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ปีเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมโฆษณาการ” เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ในยุคหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โอนสถานีวิทยุต่างๆ ของกรมไปรษณีย์โทรเลขให้มาอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมโฆษณาการ
 

 

 

กรมโฆษณาการในยุคแรก


 

หลวงพิบูลสงครามได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็ด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศ ซึ่งภายหลังจากท่านได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอย และ ราว ๕ เดือนจากนั้น หลวงวิจิตรวาทการได้เดินทางไปฮานอยเพื่อชมกิจการโบราณคดีของสำนักตะวันออกไกลฝรั่งเศส เมื่อหลวงวิจิตรวาทการได้กลับจากฮานอยได้นำแผนที่ฉบับหนึ่งซึ่งสำนักฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำขึ้น แผนที่นั้นได้แสดงให้เห็นว่ามีชนชาติไทยกระจัดกระจายอยู่มากมาย ทั้งในอินโดจีนใต้ พม่า ในมณฑลอัสสัมของอินเดีย หลวงวิจิตรวาทการได้นำเรื่องดังกล่าวมาออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง รำพันถึง “มหาอาณาจักรไทย” ซึ่งจะรวบรวมชนชาติเชื้อไทยที่กระจายอยู่ดินแดนต่างๆ เป็นหนึ่งเดียว


 

จากนั้นในการประชุม ครม. วันหนึ่ง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ ครม. พิจารณาปัญหาด่วนนอกระเบียบวาระ โดยให้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แถลงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” โดยให้เหตุผลทางวิชาการต่างๆ นาๆ ทั้งเรื่องรากศัพท์ทางภาษา หรือแม้แต่เหตุผล ชื่อประเทศ กับชื่อสัญชาติควรจะเป็นชื่อทำนองเดียวกัน มิใช่ชาวสยาม สัญชาติไทย แม้ท่านปรีดี พนมยงค์ จะคัดค้านแต่ก็เป็นเสียงข้างน้อยในบรรดารัฐมนตรี และต่อมาได้มีความพยายามหยิบยกการเปลี่ยนชื่อประเทศกลับไปเป็นสยามอีกหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ประเทศสยาม จึงกลายเป็น ประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


 

วิทยุกระจายเสียงเครื่องมือหลักในการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน

ก็ด้วยเพราะหลวงพิบูลสงครามได้เห็นความสำคัญของวิทยุกระจายเสียงอย่างมาก จึงให้การสนับสนุนจริงจัง และประชาชนก็เริ่มนิยม หลวงพิบูลสงครามจึงใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจประชาชนให้เชื่อฟังรัฐบาล ปฏิบัติตามนโยบายชาตินิยม และท่านยังเป็นนักเขียนบทความอีกด้วย โดยท่านเขียนเป็นบทความแล้วนำไปอ่านออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง เช่นบทความ “สามัคคีชัย” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยตอนหนึ่งว่า “ชนชาติไทยทุกคนสวมหมวก จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจ”


 

กิจการวิทยุกระจายเสียงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว บางครั้งได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางเล่มได้บันทึกไว้ว่า มีการบังคับให้ประชาชนที่มีวิทยุกระจายเสียงต้องเปิดไว้ตลอดเวลาก็มี เพื่อสื่อสารนโยบายของรัฐบาล และเป็นปากเสียงที่รัฐบาลเพื่อแก้ไขข่าวในทางลบ หรือเพื่อใช้ในการปลุกเร้าสร้างความนิยมในตัวรัฐบาลได้ดีอย่างมากในยุคนั้น


 

โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ไทยต่อสู้กรณีเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส สมัยนั้นมีการตั้งสถานีวิทยุเคลื่อนที่ ๑๒ สถานีตามแนวชายแดน เพื่อให้ประชาชนร่วมเรียกร้องดินแดนคืน วิทยุสามารถสร้างกระแสชาตินิยมให้เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ มีการแต่งเพลงกราว เพลงปลุกใจจำนวนมาก เช่น เพลงตื่นเถิดชาวไทย เป็นต้น แม้ในช่วงสงครามโลก วิทยุกระจายเสียงก็มีอิทธิพลต่อการปลุกกระแสให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกมาเคลื่อนไหวอย่างมาก และสมัครเป็นยุวชนทหาร ร่วมรบกับรัฐบาลด้วย


 

ในช่วงที่รัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น ก็เปลี่ยนเพลงชาติด้วย คือเปลี่ยนทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อให้รู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนประเทศไปแล้วจริงๆ ประเทศถูกพัฒนาไปอย่างอารยประเทศไปแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนวิธีจิตวิทยาทางการเมืองชนิดหนึ่ง ให้รู้สึกว่าประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และรักชาติมากขึ้น โดยใช้วิทยุกระจายเสียงในการขับกล่อมจิตใจมวลชน สมัยนั้นคนกำลังเห่อวิทยุกระจายเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนท่านก็คงตั้งใจฟังอย่างดีด้วย มีการจับกลุ่มฟังวิทยุกระจายเสียงตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านของชำ


 

ครั้งหนึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีสาสน์ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงเรื่อง “การเคารพธงชาติ” ในช่วงเวลา ๘ นาฬิกา เพื่อปลุกความรักชาติ ให้มีความรู้สึกเป็นรัฐชาติ โดยการเคารพธงชาติควรทำพร้อมกับน้ำตาที่นองหน้า ปัจจุบันเราจะได้ยินบ่อยๆ กับคำว่าพวกคลั่งชาตินั่นเอง จอมพล ป ท่านกล่าวว่า

 

 

 

ฉันมีความรู้สึกสบายใจ เพราะคลำดูตัวพบความเป็นไทยมากขึ้น อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากเห็นพี่น้องชาวไทยผู้มีเกียรติดี ได้ทำการเคารพธงชาติ ตามคำชักชวนของกรมโฆษณาการ เป็นการพร้อมใจกันมาก...ดูไม่ใช่เรื่องสามัญเลย เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องน้ำตานองหน้ากันทั้งชาติเลยทีเดียว....ฉันจำได้ว่า มีผู้เล่าคราวฝรั่งเศสมาลดธงไทย และยกธงฝรั่งเศสขึ้นที่จันทบุรี ปรากฎว่าพวกเราน้ำตานองหน้ากันทั่ว สมมติว่าการยกธงลดธงฝรั่งเศสคราวนั้น มาปรากฏการกระทำเช้าวันนี้ที่ยอดเสาธงพระที่นั่งอนันตสมาคม พี่น้องชาวไทยจะมีความรู้สึกอย่างไรกันบ้าง ถ้าท่านไม่น้ำตาไหลนองหน้าอก ใครๆ ก็ทราบว่าท่านไม่รักชาติไทยเท่านั้นเอง...เมื่อ ๒ ปีมานี้ฉันจำได้ดี วันหนึ่งเราชักธงกันทั่วทั้งชาติ และเราได้ยินการกระทำพิธีชักธงไตรรงค์ที่ดินแดนใหม่ของเรา ที่พระตะบองทางวิทยุกระจายเสียง ในบัดนั้นเราผู้บูชาชาติเหนือหัว เราขนลุกขนพอง เราร้องไห้ หน้าเรานองไปด้วยน้ำตา บางคนหน้าอกเปียกน้ำตาชุ่มทีเดียว ฉันเห็นกับตาตนเอง แค่คราวนี้เป็นน้ำตาที่กลั่นจากขั้วหัวใจแห่งความยินดี” ประชาชนทั่วไปฟังแล้วคงรู้สึกฮึกเหิมรักชาติ คลั่งไคล้ท่านผู้นำดีแท้ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”


 

 

 

 

ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เริ่มมีการปฏิวัติ มีการพยายามก่อรัฐประหารนับครั้งไม่ถ้วน จนถึงการพยายามลอบสังหารท่าน ดังนั้นจึงมีการกวาดจับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของท่านหรือผู้ที่ต้องการโค่นล้มท่านด้วยข้อหากบฏ แม้แต่พระยาทรงสุรเดช ทหารเสือคณะราษฎรผู้ร่วมลงนามในหนังสือถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการยึดอำนาจ ก็ถูกขอร้องให้ออกนอกประเทศ


 

แต่ว่าวาสนาบารมีท่านก็แผ่กระจายทั่วท้องฟ้าอีกครั้งเมื่อสร้างคุณงามความดีใหญ่หลวงให้บ้านเมือง คราวเกิดพิพาทกับฝรั่งเศส ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศเรียกเอาดินแดนคืนจากฝรั่งเศสทำให้เกิดสงครามอินโดจีนในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ผลของสงครามครั้งนั้นไทยได้ยึดดินแดนที่ฝรั่งเศสเคยยึด คืนกลับมาโดยการเกลี้ยกล่อมฝรั่งเศสจากญี่ปุ่นด้วยอีกทาง ความดีความชอบครั้งนั้น นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้รับเลื่อนยศเป็น จอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือพิเศษ และผู้บัญชาการทหารอากาศพิเศษ


 

แต่แล้วในที่สุดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยอย่างสายฟ้าแลบ ไทยได้รบกับญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ทำให้รัฐบาล จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ต้องจำใจลงนามร่วมรบกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับบรรดาประเทศสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕


 

 

จอมพล ป. จำใจทำงานกับญี่ปุ่นไม่กี่เดือน ญี่ปุ่นพยายามแทรกแซงการปลดรัฐมนตรี จนจอมพล ป. ต้องประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เพื่อปรับ ครม. ใหม่ หาคนที่ญี่ปุ่นโปรดปรานเข้ามา แม้แต่ท่าน ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็จำต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะถูกร้องขอให้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คล้ายกับการให้ท่านปรีดี ออกไปพ้นเส้นทางการเมือง


 

 

อันที่จริงบางสื่อก็เชื่อว่า เป็นเพราะญี่ปุ่นรู้ว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ กำลังรวบรวมผู้คนจัดตั้งกองกำลังต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น หรือที่เราทราบกันดีว่าท่านคือ “หัวหน้าขบวนการเสรีไทย” นั่นเอง ญี่ปุ่นจึงอยากให้ จอมพล ป. กำจัดเพื่อนรักให้ออกไปพ้นคณะรัฐบาล


 

แต่กระนั้น การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองของจอมพล ป. ก็สิ้นสุดลง เมื่อที่ประชุมสภาไม่ผ่านร่าง พรบ. นครบาลเพชรบูรณ์ คือการย้ายเมืองหลวง และกฎหมายจัดตั้งจังหวัดใหม่

 

 

 

การลาออกจากนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกให้นายควง อภัยวงศ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข คณะราษฎรฝ่ายพลเรือนสหายร่วมทุกข์ของท่านปรีดี พนมยงค์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ของประเทศไทย เนื่องด้วยขณะนั้นผู้มีอำนาจวาสนาแกนนำคณะราษฎรอย่างจอมพล ป ก็หมดอำนาจไป ส่วนท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ในขณะนั้น จึงเหลือนายควง อภัยวงศ์ 

 

 

 

ท่านควง อภัยวงศ์ เป็นคณะราษฎรฝ่ายที่มีอุดมการณ์ต้องการเห็นการพัฒนาบ้านเมือง โดยระบอบประชาธิปไตยอันมาจากประชาชนที่แท้จริง ท่านเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มต่อต้าน จอมพล ป พิบูลสงคราม ที่ดูเหมือนจะเดินทางไปแนวเผด็จการมิใช่ประชาธิปไตยอย่างที่เคยมีเจตนาร่วมระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนเสียแล้ว นอกจากนั้นท่านควง อภัยวงศ์ก็ยังเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์พรรคการเมืองที่ยาวนานที่สุด


 

รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ยกเลิกกฎระเบียบและรัฐนิยม ที่ประชาชนไม่พอใจในสมัยรัฐบาล จอมพล ป เคยประกาศไว้ เช่น การห้ามกินหมาก ต้องสวมรองเท้า หรือสวมหมวก พร้อมกับประกาศให้ข้าราชการและประชาชนแต่งตัวตามสบาย ท่านเองก็ใส่เสื้อเชิ้ตธรรมดาไปทำงาน ไม่ต้องใส่สูท ผูกไท และงดการฉายภาพ จอมพล ป ในโรงภาพยนตร์อีกด้วย
 


 

ที่สำคัญที่สุด เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ในเดือน สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ประกาศ “สันติภาพ” ทั้งนี้ให้การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ของประเทศไทยนั้น “เป็นโมฆะ” เพราะขัดเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเจตนาแน่วแน่ที่จะสถาปนาสัมพันธไมตรีกับประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ


 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง จอมพล ป พิบูลสงคราม ถูกตั้งข้อหาให้เป็น “อาชญากรสงคราม” ถูกจำคุกอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็สามารถพ้นโทษมาได้ด้วยการช่วยเหลือของท่านปรีดี พนมยงค์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช


 

หลังการประกาศสันติภาพของรัฐบาลแล้ว นายควง อภัยวงศ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกจากนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรสรรหาผู้ที่เหมาะสมมาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองในยามหลังสงครามครานั้น


 

จากนั้นประเทศไทย ก็ได้นายทวี บุณยเกตุ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีต่อๆ กันมา และหลังจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ครบวาระ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ สภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และได้เลือกนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ระบอบประชาธิปไตยไทยก็เหมือนจะเริ่มไปได้ดี แม้ผู้นำรัฐบาลยังเป็นแกนนำคณะราษฎรอยู่ แต่ก็ดูเหมือนเป็นฝ่ายพลเรือนที่มีอุดมการณ์ และมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ร่าง พรบ. คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนไม่ผ่านสภา รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงต้องกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งตามธรรมเนียม


 

ต่อมาท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๗ ของไทย ระบอบการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยถูกพัฒนาก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะได้มีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความประชาธิปไตยมากที่สุด ทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ นายกรัฐมนตรีต้องแสดงสปิริตลาออก โดยได้ถวายบังคมลาออกเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙


 

อย่างไรก็ตามในวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ตามคำกราบทูลของประธานรัฐสภาในขณะนั้น แต่แล้ววันรุ่งขึ้นเหตุการณ์ที่คนไทยไม่เคยคาดคิดก็อุบัติในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็เสด็จสวรรคต...


 

การเสด็จสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ถวายบังคมลาออกในวันเดียวกันคือวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ กระนั้นประธานรัฐสภาก็ยังเสนอคณะผู้แทนพระองค์ให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ปีเดียวกันนั้นเอง


 

 

นายปรีดีฯ มีปัญหาสุขภาพทรุดโทรม เพราะปัญหางานหนักรุมเร้ารอบด้านในที่สุดก็ลาออกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และพลเรือตรีถวลัย์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และก็ได้เกิดการรัฐประหารขึ้น มีการพยายามจับกุมนายปรีดีฯ แต่ท่านหนีรอดไปได้ โดยผู้นำในการทำรัฐประหารคือ พลโท ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งมีจอมพล ป พิบูลสงคราม เป็นที่ปรึกษา หรืออาจจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนั่นเอง 


 

แต่การยึดอำนาจรัฐประหารครั้งนี้ แม้ได้ชัยชนะแล้ว จอมพล ป ยังไม่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที เพราะอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ จึงได้เชิญแกมบังคับนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นายควง อภัยวงศ์ แม้ไม่ได้เกี่ยวกับคณะรัฐประหาร แต่ก็ต้องเป็นหุ่นเชิดให้จอมพล ป และคณะรัฐประหาร โดยได้ฉายารัฐบาลหุ่นเชิด แต่ก็ได้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และก็จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ 


 

ปรากฏว่าหลังการเลือกตั้ง นายควง อภัยวงศ์ ชนะการเลือกตั้งได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ในที่สุดคณะรัฐประหารที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลเอก ผิน ชุนหะวัณ ก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจทันที และจี้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งภายใน ๒๔ ชั่วโมง 


 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ แล้วโฉมหน้าประชาธิปไตยของไทยก็เปลี่ยนแปลงไปในทางใด ทุกท่านก็ทราบในทุกวันนี้


 

 

ภายหลังจากนั้นนายควง อภัยวงศ์ ก็มิได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่ก็นำพรรคประชาธิปัตย์ขับเคี่ยวเผด็จการตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาจนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร จวบจนวาระสุดท้าย ทิ้งผลงานการเรียกร้องดินแดนไทยได้คืนจากฝรั่งเศส และเป็นพลเรือนคนแรกที่ปลด ผบ. สูงสุด ปลด ผบ. ทบ. เป็นพลเรือนคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตย

 

 

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากอาชญากรสงครามกลับสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

 


 

 

อันที่จริงก็มีคนทุกฝ่ายพยายามโค่นล้ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม จำนวนมาก แต่ท่านก็ปราบได้หมด บรรดานายทหารก็ดาหน้าเข้ามาปฏิวัติอยู่ตลอดเวลา อาทิเช่น กบฏเสนาธิการ กบฏแบ่งแยกดินแดน กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน กบฏสันติภาพ ตลอดจนการลอบสังหารท่านหลายครั้ง และท่านก็สร้างสมุนคู่ใจทั้งฝ่ายอำนาจมืดตำรวจ โดย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และอำนาจทหารโดย พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์


 

แม้การเมืองจะวุ่นวาย ประชาธิปไตยไทยหายไปชั่วคราว ในครา จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับคืนสู่อำนาจ สิ่งที่ท่านใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ สร้างความนิยม และรักษาอำนาจในการกลับคืนสู่บัลลังก์ครั้งนี้ก็คือ การใช้สื่อทุกประเภท ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรักษาอำนาจทางการเมือง การกระทำเหล่านี้ก็หมายถึง “การบุกเบิกวงการบันเทิง” ในประเทศไทยในเวลาต่อมานั่นเอง


 

"โทรทัศน์" เครื่องมือที่ทรงประวิทธิภาพที่สุดในการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน

ในยุคแรกของการเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. มีความคิดที่อยากจะตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นในประเทศไทยอยู่แล้ว ก็นับว่าท่านมีวิสัยทัศน์อย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติแล้ว ยังเป็นเครื่องมือตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม และเสริมอิทธิพลทางการเมืองให้กับตัวเองได้อย่างดีที่สุด


 

ในตอนแรกที่คิดจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์นั้น จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมาก แต่เนื่องจากประเทศยังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่ในช่วงเวลานั้น จึงมีคนคัดค้านเรื่องนี้พอสมควร ในที่สุดท่านก็หาหนทางให้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นจนได้ แต่ถูกจัดตั้งในรูปแบบธุรกิจในนาม บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งภาคเอกชนร่วมหุ้นกับภาครัฐบาล ด้วยทุนจดทะเบียน ๒๐ ล้านบาท โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ สำหรับเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์นั้นมาจาก บริษัท อาร์.ซี.เอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ให้การสนับสนุนความรู้ด้านเทคโนโลยี และจัดสรรทุนให้บุคลากรของไทยไปศึกษาดูงานที่สหรัฐอเมริกามาโดยตลอด จากนั้นได้ดำเนินการจัดให้มีการประกวดราคาเครื่องรับส่งโทรทัศน์ แล้วก็ดำเนินการงานด้านเทคนิคสร้างสถานีโทรทัศน์ขึ้น


 

วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์เสนอ “โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ” ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา


 

แล้วต่อมาวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการจัดตั้งวิทยุโทรภาพขึ้น และอนุมัติให้ใช้งบประมาณในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ และในช่วงทศวรรษนี้เอง กรมหมื่นนราธิปพงษ์ประพันธ์ ได้ทรงบัญญัติศัพท์ “วิทยุโทรทัศน์” ขึ้นใช้


 

แล้ววันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งถือเป็นวันชาติหรือวันยึดอำนาจของคณะราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำพิธีเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม


 

 

 

โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม กดปุ่มไฟฟ้าสีขาวในพานสีทอง เปิดป้ายนามสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทย ที.วี. มอบเป็นของขวัญวันชาติแก่ประชาชน ในขณะนั้นประเทศไทยมีเครื่องรับโทรทัศน์ประมาณเพียง ๑,๐๐๐ เครื่อง ถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย และเริ่มเผยแพร่อย่างเป็นทางการ โดยมีชื่อเรียกตามอนุสัญญาวิทยุสากลวิทยุว่า HS1/T-T.V. โดยเครื่องส่งมีกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์ แพร่ภาพแบบขาวดำ ระบบ ๕๒๕ เส้นต่อภาพ และ ๓๐ ภาพต่อวินาที ในครั้งนั้นประชาชนทั่วประเทศก็ตื่นเต้นกันอย่างยิ่งเพราะถือว่าเป็นของแปลกใหม่ ซึ่งสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ในปัจจุบันก็คือ ช่อง ๙ หรือ โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบันนั่นเอง

 

 

 

แม้การมีโทรทัศน์เกิดขึ้นในประเทศไทยจะถูกผลักดันอย่างเต็มที่โดยจอมพล ป พิบูลสงคราม และประชาชนเองก็ตื่นเต้น ตื่นตัวกับการมีโทรทัศน์อย่างยิ่ง แต่การเติบโตของโทรทัศน์นั้นก็ยังเป็นไปโดยชักช้า เพราะด้วยข้อจำกัดด้านกำลังส่งที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ต่างกับวิทยุกระจายเสียง และกำลังซื้อของประชาชนยังมีไม่มากพอ


 

จึงเกิดเป็นธุรกิจขนาดย่อมตามชุมชนมากมายที่เทคโนโลยีโทรทัศน์แพร่กระจายไป ก็คือร้านขายของชำ และร้านอาหาร ร้านขายของชำนั้นจะเอาขนมขายให้แก่ลูกค้าที่มาดูทีวี เป็นต้น แต่ในเผด็จการยุคถัดๆ มา โทรทัศน์เป็นเครื่องมือทางการเมืองอันทรงพลังที่สุดในการชักจูงประชาชนให้คล้อยตาม แต่มาถึงยุคปัจจุบันผู้เขียนมั่นใจแล้วว่าไม่ใช่ กลายเป็นสื่ออินเทอร์เน็ตอย่างแน่นอน


 

 

 

 


 


 

"ภาพยนตร์" เครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติการจิตวิทยาซื้อใจมวลชน

จอมพล ป. ได้ริเริ่มบุกเบิกภาพยนตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ตอนนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านเห็นว่าภาพยนตร์มีความสำคัญมากในการใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ภารกิจของรัฐบาล ดังนั้นท่านจึงเกิดความคิดที่จะสร้างภาพยนตร์ เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวใช้ดารานำแสดง มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารสามเหล่าทัพ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า “เลือดทหารไทย” โดยมอบหมายให้ทีมงานของบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ซึ่งนำโดยขุนวิจิตรมาตรา มาดำเนินงานถ่ายทำ ส่วนกระทรวงกลาโหม ให้การสนับสนุนในเรื่องกำลังพล และยุทโธปกรณ์ มาประกอบฉาก เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายปรากฏว่าได้รับความนิยมจากประชาชน ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม


 

ต่อมาในยุคแรกของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เริ่มแสดงความสนใจในการส่งเสริมวงการภาพยนตร์อย่างมาก ถึงขั้นซื้อกิจการโรงถ่ายภาพยนตร์ต่อจากบริษัท ไทยฟิล์ม แล้วก่อตั้งกองภาพยนตร์ทหารอากาศขึ้นมา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีการสร้างโรงภาพยนตร์ทหารบกลพบุรี หวังใช้เป็นสื่อทางการเมืองที่สำคัญ โดยผลิตภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ภารกิจของรัฐบาล อย่างจริงจัง


 

ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้ลงทุนสร้างภาพยนตร์เสียงพูดภาษาอังกฤษเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ปลุกกระแสรักเจ้าและออกฉายปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อสวนกระแสลัทธิชาตินิยมและทหารนิยมในสังคมไทยเวลานั้น

 

 

 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. ได้มอบหมายให้กองถ่ายภาพยนตร์ทหารอากาศผลิตภาพยนตร์สนองนโยบายรักชาติของรัฐบาลถึงสามเรื่องด้วยกัน ได้แก่ "บ้านไร่นาเรา" (พ.ศ. ๒๔๘๕) เป็นภาพยนตร์ที่เรียกคะแนนนิยมชาวนามากโข เพราะเนื้อเรื่องต้องการจะยกฐานะชาวนาของไทยให้มีฐานะดีเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ เป็นภาพยนตร์ขนาด ๓๕ มม. ขาว-ดำ เสียงในฟิล์ม นำแสดงโดยเรืออากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ และนางสาวอารี ปิ่นแสง ออกฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุงและโอเดียน


 

 

 

 

ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเองประเทศไทยได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้บริษัทหนังศรีกรุงสร้างภาพยนตร์ขึ้น เพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจประชาชนโดยใช้ชื่อว่า “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” ต่อมาก็เรื่อง "สงครามเขตหลัง" และ "บินกลางคืน" (พ.ศ. ๒๔๘๖)


 

ถือได้ว่าในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ถึง ๒๔๘๕ นั้น เป็นยุคทองของภาพยนตร์ไทย นอกจากมีโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม และแข่งขันกันผลิตภาพยนตร์เสียงออกมาแล้ว ยังมีกลุ่มผู้สร้างหนังพากย์ออกมาอีกหลายราย แต่เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ธุรกิจการสร้างภาพยตร์ไทยก็หยุดชะงักลง และบรรดาฟิล์มภาพยนตร์เกือบทั้งหมดในยุคทองนี้ก็ได้สาบสูญไป


 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในปี ๒๔๘๘ ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศแพ้สงคราม เพราะขบวนการเสรีไทยและความสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา กิจการต่างๆของประเทศจึงค่อยๆฟื้นตัว กิจการสร้างภาพยนตร์ไทยก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ไทยหนังพากย์ ได้เริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ได้พากย์โดยใช้ฟิล์มขนาดเล็ก ๑๖ มิลลิเมตร ขึ้นมาอีก ในระยะสามสี่ปีแรก คือจากปี ๒๔๘๙ ถึง ๒๔๙๒ ปรากฏว่ามีการสร้างภาพยนตร์ไทยดังกล่าวออกมาเฉลี่ยปีละประมาณสิบเรื่อง


 

ภายหลังการกลับมาอีกครั้งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่านเริ่มเข้าใจรายได้ธุรกิจภาพยนตร์เป็นอย่างดีจึงให้การสนับสนุนเป็นอุตสาหกรรม และได้บุกเบิกทิ้งผลงานสำคัญในวงการภาพยนตร์ไว้มากมาย ยุคนั้นเป็นยุคทองของภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง ในบรรดาภาพยนตร์ไทยหลังสงครามระยะฟื้นตัวนี้ มีภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่คือ “สุภาพบุรุษเสือไทย” นักแสดงซึ่งมีชื่อเสียงมาจากละครเวที “สุภาพบุรุษเสือไทย” ออกฉายในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๒ สามารถทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเวลานั้น ความสำเร็จอย่างสูงของภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งถ่ายทำด้วยฟิล์ม ๑๖ มิลิเมตร สีธรรมชาติ และเป็นภาพยนตร์พากย์ มีผลให้วงการสร้างภาพยนตร์ไทยตื่นตัว มีนักลงทุนเข้าสู่วงการนี้อย่างมากมายในทันที จำนวนภาพยนตร์ไทยที่ผลิตออกฉายในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ปรากฏว่าพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึงห้าเท่าจากจำนวนภาพยนตร์ไทยที่ผลิตออกมาในแต่ละปี โดยมีการผลิตราว ๕๐ ถึง ๖๐ เรื่องติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี

 

 

 

ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นอย่างมากมายและหลากหลายในระยะนี้ มิได้ตั้งเป็นบริษัทอย่างเป็นทางการ ไม่มีการสร้างโรงถ่ายใหญ่โตอย่างสมัยก่อนสงคราม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทำงานเล็กๆ ในหมู่ครอบครัวหรือญาติมิตร


 

ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยเหล่านี้ มีชื่อกิจการต่างๆกันมากมาย เช่น ปรเมรุภาพยนตร์ ภาพยนตร์พานิช บางกอกฟิล์มหรือกรุงเทพภาพยนตร์ สนั่นศิลปภาพยนตร์ เนรมิตรภาพยนตร์ สถาพรภาพยนตร์ นครพิงค์ภาพยนตร์ สหนาวีไทย อัศวินภาพยนตร์ ละโว้ภาพยนตร์ รัตนะภาพยนตร์ เอเซียภาพยนตร์ สุโขทัยภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจเข้ามาเป็นผู้สร้างด้วย เช่น ภาพยนตร์ออมสินศึกษา ภาพยนตร์กองสวัสดิการกรมตำรวจ ภาพยนตร์กองสวัสดิการกองทัพบก ผลงานภาพยนตร์ไทยที่สำคัญในระยะนี้ เช่น “รอยไถ” ของกรุงเทพภาพยนตร์ (พ.ศ. ๒๔๙๓) “พันท้ายนรสิงห์” ของอัศวินภาพยนตร์ (พ.ศ. ๒๔๙๓) “วนิดา” ของละโว้ภาพยนตร์ (พ.ศ. ๒๔๙๘) เป็นต้น

ในช่วงยุคที่สุดท้ายของจอมพล ป. กลุ่มผู้ประกอบการภาพยนตร์ ๓๕ มิลลิเมตรมาตรฐานเสียงในฟิล์ม เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยซึ่งกำลังประสบกับภาวะตกต่ำเนื่องจากประชาชนหันไปนิยมหนังพากย์ ๑๖ มิลลิเมตรกันหมด ภายหลังจากที่ได้เข้าร่วมประชุมหารือกันหลายครั้ง ในที่สุดรัฐบาลของจอมพล ป. ตัดสินใจรับในหลักการ โดยกำหนดจะสร้างศูนย์กลางผลิตภาพยนตร์ขึ้นที่ จังหวัดชลบุรี แต่ความคิดดังกล่าวไม่มีโอกาสเป็นจริงเมื่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามถูกโค่นล้มอำนาจในปี พ.ศ. ๒๕๐๐


 


 

"ดนตรีสากล"ยุทธวิธีใหม่ในการปฎิบัติการจิตวิทยามวลชน

เพลงไทยสากล” เป็นคำที่เกิดขึ้นในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ - ๒๔๘๒ อันเป็นระยะที่กำลังเร่งพัฒนาชาติไทย ให้มีวัฒนธรรมเทียมอารยประเทศ และเป็นระยะที่ห้ามการบรรเลงเพลงไทยเดิม และนั่นก็ถึงยุคดนตรีการเมือง เพื่อดำเนินนโยบายชาตินิยม ด้วยการใช้สื่อในวงการบันเทิงรอบด้าน ทั้งละคร ทั้งวิทยุกระจายเสียง ทั้งโทรทัศน์ และภาพยนตร์แล้ว ดนตรีสากลเป็นสิ่งที่รัฐบาลจอมพล ป. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

 

 

 

มีการก่อตั้งวงดนตรีสากลขึ้นในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลจำนวนมาก และได้มีการก่อตั้งกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์)แล้ว ก็ได้มีการก่อตั้ง “วงดนตรีสากลกรมโฆษณาการ” ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยมีนายเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวงดนตรี และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเพลงปลุกใจและเพลงมาร์ช ตามนโยบายของรัฐบาลในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๘๓


 

ภายหลังเปลี่ยนชื่อกรมโฆษณาการมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ วงดนตรีกรมโฆษณาการก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์” ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังได้แผ่ขยายลัทธิดนตรีไปยังเหล่าทัพต่างๆ เกิดเป็นวงดนตรีประจำเหล่าทัพ และแม่ทัพเหล่าต่างๆ ก็นิยมดนตรีด้วยเช่นกันในยุคนั้น การดนตรีจึงเติบโตรวดเร็ว และกำเนิดเพลงปลุกใจ รักชาติในกองทัพมากมายในยุคนั้น

 

 

 

อย่างไรก็ตามดนตรีสากลในยุคนั้น แม้จะพยายามสร้างบทเพลงรักชาติ ปลุกใจ ซึ่งก็ถือว่าโชคดีที่รัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง วงการดนตรีสากลบ้านเราจึงได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ช่วยให้เกิดเพลงไทยสากลดีๆ มากมาย ที่เป็นไปเพื่อความบันเทิงเริงรมย์ของคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้


 


 

ฉากจบของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม


 

อันที่จริงตัวผู้เขียนเองชื่นชอบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาตั้งแต่ยังเล็ก เพราะคุณพ่อเคยเป็นเด็กในบ้านท่าน เป็นญาติกัน ชื่อจริงของพ่อผู้เขียน จอมพล ป. ท่านก็เมตตาตั้งให้ และทุกวันนี้ผู้เขียนเองก็ยังชื่นชมท่านในความเก่งและแกร่งเป็นอย่างยิ่ง ส่วนงานวิชาการก็ค้นคว้ามาให้เห็นและพิจารณากันอย่างนี้


 

สัจจะธรรม มียศ เสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีประเทศไทยมา ก็มีฉากจบเช่นกัน

 

ท่ามกลางปัญหาทางการเมืองรุมเร้า สังคมรอบด้านไม่ยอมรับ ทั้งนักการเมือง นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน ล้วนออกมาเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งในสมัยสุดท้ายของการเป็นนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายกว่าเดิมเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ปราบปรามการประท้วงได้อย่างเต็มที่


 

แต่กาลกลับเป็นสถานการณ์สร้างวีรบุรุษขึ้นมา เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลับไปเข้าข้างประชาชน นิสิต นักศึกษา เมื่อประกาศว่า “จะให้ผมไปปราบปรามประชาชน ที่ลุกฮือขึ้นทวงสิทธิ์ของเขา เมื่อเขาเห็นว่าการเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ผมทำไม่ได้


 

 

 

แล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ถึงขั้นแตกหัก ในที่สุดวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ถึงคราวอวสาน เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้กำลังทั้ง ๓ เหล่าทัพ ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินอย่างง่ายดาย ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องหลบลี้หนีไปลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น และถึงวาระสุดท้ายในอีก ๗ ปีต่อมา ทิ้งตำนานที่ยิ่งใหญ่ทั้งให้ชาวไทยไว้เป็นบทเรียนศึกษา


 

และเช่นกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม มหาบุรุษผู้พลิกแผ่นดินไทย ก็ได้ช่วยบุกเบิกวงการบันเทิงให้คนไทยให้รุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ดังชีวิตของท่านยังไม่มีละครเรื่องใดเทียบเท่าได้เลย...


 

ข้อคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียน

อริสโตเติลกล่าวไว้ถึงรูปแบบการปกครอง ไม่ว่ารูปแบบใดหากทำเพื่อนตนและพวกพ้องกับเพื่อส่วนรวมผลลัพธ์จะแตกต่างกันตรง “สร้างคุณอนันต์” หรือ “สร้างโทษมหันต์”


 

เมื่อทำประโยชน์เพื่อตนเองหรือพวกพ้องจะกลายเป็นการก่ออาชญากรรมพิเศษที่เรียกว่า Political Crime หรือ "อาชญากรรมการเมือง" เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการเป็นฝ่ายบริหารบ้านเมืองหรืออำนาจการปกครองมาหาประโยชน์ให้ตนเอง ซึ่งอาชญากรการเมืองเป็นกลุ่มคนพิเศษที่มีความเก่งกาจ จนสามารถทำให้คนชื่นชอบตนเลือกตนเข้ามาหาประโยชน์ให้ตนเองได้ และยังช่วยปกป้องพวกเขาเมื่อทำความผิดได้ ยากที่จะนำมาลงโทษ นักวิชาการบางท่านเคยบอกกับผู้เขียนว่า เมื่อเป็นบุคคล Elite people แล้วยากที่จะถูกนำตัวมาลงโทษ บางทีแค่ออกทีวีพูดจารุนแรงตำหนิรัฐบาลบ่อยๆ ก็ได้เป็น Elite people กันแล้วสมัยนี้ ซึ่งในบทความนี้เชื่อมโยงให้เห็นเกียวโยงกับทฤษฎีชนชั้นผู้นำ (elite theory) ทฤษฎีกลุ่มบุคคล (Group Theory) การออกนโยบายสาธารณะมีแรงผลักดันกับผลประโยชน์ของกลุ่มผู้นำทางการเมืองได้รับหรือไม่ และทฤษฎีเชิงระบบ (System Theory) คล้ายกับระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิต การดำรงอยู่ของกลุ่มการเมืองเสมือนมีชีวิต (political life) แบบใดต้องขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมแบบใด จึงออกนโยบายเพื่อตนเช่นนั้น


 

เมื่อเราเข้าใจ ๓ ทฤษฎีนี้แล้วกลับไปมองผลการออกนโยบายและผลงานที่ทำต่างๆ เราจะเห็นชัดเจนว่ากลุ่มการเมืองดังกล่าวทำเพื่อตนเองหรือเพื่อส่วนรวม


 

อีกคำที่เราไม่ได้ยินกันบ่อยนะคือ "อาชญากรรมสงคราม" (War Crime) คือ การทำสงครามนอกกฎหรือจารีตประเพณีอย่างไร้เกียรติ เช่น การใช้ธงหรือชุดแบบเดียวกับข้าศึก การสังหารประชาชนของประเทศที่แพ้สงครามอย่างไร้มนุษยธรรม การทารุณกรรมเชลยศึก การเผาบ้านเผาเมือง เป็นต้น


 

ปัจจุบันการพิจาณาคดี อาชญากรรมสงคราม อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศที่จะดำเนินกระบวนยุติธรรม แต่ก่อนหน้าที่จะมีศาลนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการเฉพาะกิจระหว่างประเทศ จนกระทั่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
 


 

การนำพามาซึ่งประชาธิปไตยของคณะราษฎรด้วยการยึดอำนาจของพระมหากษัตริย์ และสุดท้ายก็ขัดแย้งฆ่าแกงกันจนบ้านเมืองลุกเป็นไฟสุดท้ายก็กลายเป็นเผด็จการ นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ชัดเจนว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตยก็เป็นไปได้แม้แต่ทุกวันนี้เรื่องความรู้ประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้ไปไกลมากไปกว่าการที่เรารุ้ว่าลงคะแนนแล้วใครได้คะแนนมากกว่าได้เป็นรัฐบาล


 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปรเมศวร์ กุมารบุญ


สนใจรับงานบรรยายด้านประวัติศาสตร์การสื่อสารกับการเมืองไทย

 

(มีความสนใจงานวิชาการด้าน การทำสงครามจิตวิทยาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต Psychological on cyber warfare)
 

หมายเลขบันทึก: 622197เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2017 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2021 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท