ที่มาของคำว่า "สวัสดี"


“#คุณชายถนัดศรี“...หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เล่าไว้ในรายการวิทยุ “#ครอบจักรวาล“ เมื่อปี ๒๕๒๓ ความว่า...

เมื่อแรกมีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใหม่ๆ เหล่านิสิตนิสิตามักทักทายกันด้วยถ้อยคำทักทายในภาษาอังกฤษ เช่น Good morning...Good afternoon...Good evening...Goodnight...เช่นนี้

เมื่อ อำมาตย์เอก #พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ เปรียญ) หรือ อ.น.ก./อนึก คำชูชีพ (ผู้อุทิศร่างเป็น #อาจารย์ใหญ่คนแรกของประเทศไทย) ซึ่งนอกจากรับราชการในกรมราชบัณฑิตแล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย "#เจ้าคุณอาจารย์“ ได้ยินเช่นนั้นเกิดปริวิตกว่า คนไทยผู้มีการศึกษาจะพากันพูดภาษาต่างประเทศกันเสียหมด กลายเป็นสื่อสารข้ามชั้นไม่เข้าใจ อีกทั้งไม่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมไทย ที่ไม่ทักทายกันตามช่วงเวลาอย่างชาวตะวันตกที่ใช้นาฬิกามาก่อนไทยเรา เพราะอาศัยสังเกตเวลาจากแนวตะวันอย่างไทยเราไม่ได้ ค่ำแล้วตะวันยังส่องอยู่เลย หากแต่คนไทยมักทักทายถามไถ่ดันถึงสารทุกข์สุกดิบ เช่น “สบายดีไหม?“ หรือ “กินข้าวหรือยัง?“ ซึ่งอาจจะวุ่นวายเรื่องคำตอบหรือละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวเกินไป ดูไม่งามตามสมัย

“เจ้าคุณอาจารย์“ ตริตรองอยู่หลายวัน จึงได้คำทักทายอย่างงดงามเหมาะแก่ทุกกาลเทศะ มอบแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกใช้ให้เผยแพร่กันในหมู่นิสิตจนทั่วมหาวิทยาลัย ด้วยการทักทายกันทุกคราที่พบเจอกันด้วยคำว่า “สวัสดี“ ความแปลกใหม่ดังว่าแพร่หลายออกไป โดยเฉพาะเมื่อบรรดานิสิตสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการเป็นส่วนใหญ่ ได้นำคำทักทายที่ท่าน “เจ้าคุณอาจารย์“ ประสิทธิ์ประสาทไว้ให้ จนแพร่หลายยิ่งขึ้นไปอีก ประมาณว่าอยู่ในช่วงพุทธศักราช ๒๔๗๖

อนึ่ง “เจ้าคุณอาจารย์“ ได้นำคำว่า “สวสฺติ“ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งตรงกับในภาษาบาลีว่า “โสตถิ“ ซึ่งมีความหมายว่า “ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง; ความปลอดภัย.“ อันนับว่าเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง แต่แก้เสียงท้ายจาก “อิ“ เป็น “อี“ ให้เสียงยาวขึ้นเป็น “สวัสดี“ [สะ...หฺวัด...ดี] ให้ถูกลิ้นรื่นหูคนไทยมากขึ้น ออกเสียงง่ายขึ้น จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างความนิยม

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๖ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำว่า “สวัสดี“ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในการปราศรัยทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และภายหลังได้มีประกาศให้ใช้คำว่า “สวัสดี“ นี้เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการสืบไป

นอกจากนี้ ในครั้งนั้นยังได้คิดปรุงศัพท์ให้ทักทายได้คล้ายชาวตะวันตกเสียอีกว่า

Good morning...อรุณสวัสดิ์

Good afternoon...ทิวาสวัสดิ์

Good evening...สายัณห์สวัสดิ์

Goodnight...ราตรีสวัสดิ์

หากแต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับคำว่า “สวัสดี“ ที่มีมาก่อน

คนไทยจึงใช้คำว่า “สวัสดี“ เป็นคำทักทายก้นอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา.

หมายเลขบันทึก: 622079เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2017 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2017 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ

-สวัสดี..


ขอบคุณบันทึกดีๆ สวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท