“โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ถ้าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์การค้า ท่านว่าไม่น่าจะผิดนะจ๊ะ


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

 

ตั้งแต่หลายปีก่อน ข่าวเรื่องดาราโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค และมีการระบุถึงโทษอาญาถึงขั้นจำคุกกันเลยทีเดียว จนทำให้หลายคนติดตามข่าวสารกันอย่างกว้างขวางว่าจะจบลงอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นบรรทัดฐานของสังคมให้ถือปฏิบัติต่อไป 

แต่ส่วนตัวผมได้แต่ก็คอยฟังอยู่เสมอว่าเมื่อไรดาราท่านใดจะถูกดำเนินคดีอาญา จะถูกฟ้องขึ้นศาลจนไปขอประกันตัวคงเป็นข่าวใหญ่ อาจดังเป็นกรณีศึกษาระดับโลกที่ไทยเป็นแบบอย่าง 

 

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีข่าวดาราท่านใดถูกฟ้องหรือมีการยื่นขอประกันตัว เลยลองพิมพ์คำว่า “โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ลงใน google.co.th ก็พบเนื้อข่าวมากมายแต่หาอ่านอย่างไรก็พบเพียงว่า จะเชิญดารามารับทราบข้อกล่าวหา จะเชิญมาให้ถ้อยคำ แล้วถ้าทำผิดกฎหมายทำไมไม่ถูกดำเนินคดีอะไรเลยล่ะ? มีข้อยกเว้นอย่างไรนะ? มันคดีอาญานะ หรือจริงๆ แล้วไม่ผิดกฎหมายนะ?

ผมเลยลองค้นใน google มาตรา 32 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หามาอ่านแบบจริงจังเลยดีกว่า ว่าท่านบัญญัติไว้อย่างไรนะ แล้วตกลงคนทั่วไปหรือดาราโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วผิดอย่างไร ผมเลยได้ข้อสรุปในมุมมองที่เห็นต่างว่าไม่ได้มีความผิดตามกฎหมายเสมอไป เข้าเรื่องเลยดีกว่าดังนี้ครับ

 

มาตรา 32 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ท่านบัญญัติเอาไว้ใจความเป็นอย่างนี้ครับ

“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือ เครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม โดยตรงหรือโดยอ้อม

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ให้กระทําได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพ ของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกําเนิด นอกราชอาณาจักร”

 

ส่วนบทกำหนดโทษได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 43

“ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับ ไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวัน ละไม่เกินห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง”

 

ในมาตรา 3 ได้กำหนดนิยามคำว่า “โฆษณา” กับ “การสื่อสารการตลาด” ไว้ดังนี้

โฆษณา” หมายความว่า การกระทําไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชน เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด

การสื่อสารการตลาด” หมายความว่า การกระทํากิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้า บริการหรือภาพลักษณ์ การประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ ข่าวสาร การ ส่งเสริมการขายการแสดงสินค้า การจัดหรือสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษ และการตลาดแบบตรง

 

อ่อ ที่แม้เป็นเพราะหลายคนไม่ได้อ่านนิยามคำว่า “โฆษณา” กับ “การสื่อสารการตลาด” ก็เกิดความกังวลสับสนไปแล้วว่า ทำอะไรก็ผิดไปหมดเลยถ้าโพสต์ภาพเครื่องดื่ม ยังครับใจเย็นๆ กฎหมายต้องอ่านครบค่อยสรุป อ่านให้จบให้ได้นะครับ

 

มาทำความเข้าใจการตีความตามกฎหมายอาญาง่ายๆ กันก่อน

การตีความกฎหมายอาญาหรือภาษาชาวบ้านเขาหมายถึงกฎหมายที่มีโทษจำคุก ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ต้องตีความตามตัวอักษรให้ครบถ้วนด้วย ทำเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย นอกจากนี้ การตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดดังกล่าว มีความหมายเฉพาะการเคร่งครัดในด้านที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำเท่านั้น มิใช่ในทางที่จะเป็นโทษแก่ผู้กระทำ ในการตีความกฎหมายอาญานั้น จะนำหลักกฎหมายอื่นที่ใกล้เคียงมาใช้บังคับให้เป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำมิได้ ในที่นี้ผมจึงวิเคราะห์หลักกฎหมายการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ในกรณี มาตรา 32 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เท่านั้น

การพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้น ประการแรกต้องดูว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบ “องค์ประกอบความผิด” ที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่ ขอย้ำว่า "ต้องครบทุกองค์ประกอบ" ในบทบัญญัติ เช่นในมาตรานั้นห้ามทำนั่นนี่กี่อย่าง หากทำแค่อย่างหนึ่งอย่างใดย่อมไม่ผิดในมาตรานั้น

หากผู้ใดกระทำผิดครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ก็ต้องดูต่อไปว่าการกระทำนั้นกฎหมายมีข้อยกเว้นความผิดไว้หรือไม่ หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด ก็ต้องดูต่อไปว่ามีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่ เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ ก็หมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องรับโทษทางอาญา

 

ทีนี้กลับมาพิจารณาอะไรคือ องค์ประกอบความผิดใน มาตรา 32 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ซึ่งอย่างที่กล่าวมาแล้วว่าความผิดต้องครบทุกองค์ประกอบ ขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งถือว่าไม่เป็นความผิด ผมเลยแยกองค์ประกอบมาตรา 32 ให้เข้าใจง่ายแก่คนทั่วไปดังนี้ครับ

 

 

องค์ประกอบความผิดในวรรคแรกของ มาตรา 32 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ


1. ต้องมี "ผู้ใด" แปลว่าใครก็ได้

2. ต้อง "โฆษณา" ซึ่งท่านก็นิยามคำว่าโฆษณาและการสื่อสารการตลาดไว้ในมาตรา 3 เพื่อประโยชน์ทางการค้า

3. ต้อง "อวดอ้างสรรพคุณ" หรือ "ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม" โดยทางตรงหรือทางอ้อม

 

 

 

 

บทวิเคราะห์ วรรคแรก

เข้าใจไปเลยว่า ต้องมีผู้ใด (ใครก็ตาม) โฆษณา (หรือสื่อสารการตลาด) เพื่อประโยชน์ทางการค้า และอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม ครบทุกองค์ประกอบความผิดจึงจะเป็นความผิดตามมาตรา 32 ครับ

 

นั่นหมายความว่าถ้าคุณโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉยๆ ต่อให้เป็นการโพสต์รูปยี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยลง facebook หรือ โซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นใดก็ตามอันเข้าความหมายของการโฆษณาตามนิยามทางกฎหมายแล้ว (โฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้า) แต่คุณไม่ได้อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมายในมาตรานี้ครับ (เออ นั่นน่ะสิ)

 

แต่อย่าชะล่าใจนะครับบางที การโพสต์แล้วบรรยายใต้ภาพว่า “ชุ่มคอ” “สดชื่น” “คลายเศร้า” นั่นก็อาจเข้าข่าย "อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงในผู้อื่นดื่ม" ได้เหมือนกันครับ แต่ครับ ยังมีคำว่าแต่ แต่คุณไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าแล้วจะผิดได้อย่างไร? เคลียร์นะครับ

 

 

 

องค์ประกอบความผิดในวรรคสอง ของ มาตรา 32 พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ

1. มีการ "โฆษณา" หรือ "ประชาสัมพันธ์" (เพื่อประโยชน์ทางการค้า) ทำได้เฉพาะให้ข้อมูล และความรู้เชิงสร้างสรรค์ โดยไม่มีภาพสินค้าหรือขวด "ยกเว้น" ภาพสัญลักษณ์เครื่องดื่มหรือสัญลักษณ์ของผู้ผลิต หรือหมายถึง "ยี่ห้อ" นั่นเอง

2. โดย "ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์"

 


 

 

บทวิเคราะห์ วรรคสอง

เจตนารมณ์แห่งกฎหมายมุ่งไปที่ "ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ถ้าบุคคลทั่วไปหรือดาราถ่ายรูปขวดเบียร์ที่มองเห็นยี่ห้อโพสต์บน facebook หรือ โซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นใดก็ตาม จะผิดกฎหมายในวรรคนี้ได้อย่างไรเมื่อเขาไม่ใช่ "ผู้ผลิต" ตามที่กฎหมายกำหนด

 

สรุป

ผมเข้าใจละตอนแรกผมตกใจไปว่า ข่าวนี้สะท้อนความไม่อ่านหนังสือ ความไม่รู้จักค้นหาความจริงของคนไทย ตั้งแต่ผู้ใหญ่ที่ใช้กฎหมายไปจนถึงเด็กเลยหรืออย่างไร 

ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่ออกมาให้ข่าวนั้นถึงแม้ท่านเหล่านั้นไม่ใช่นักกฎหมาย แต่อาจจะเป็นกลยุทธ์การปกครองที่ป้องกันการโษณาแฝงที่ผู้ผลิตอาจจะใช้เทคนิคจ้างดารามาโพสต์ก็เป็นได้ ซึ่งนั่นเป็นช่องว่างทางกฎหมายหากไม่มีหลักฐานว่าผู้ผลิตได้ว่าจ้างดาราเหล่านั้นโพสต์เพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ดำเนินคดีอะไรไม่ได้

การตีความตามกฎหมายนั้น นอกจากดูตัวอักษร ดูการกระทำ ดูเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว หากตีความไปแล้วเกิดข้อความเคลือบคลุมสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จําเลย ทั้งนี้เทียบเคียงจากหลักในการพิจารณาคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 บัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งนํ้าหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจําเลยได้กระทําผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

ในความเห็นทางวิชาการของผมเห็นว่า ถ้าไม่ว่าประชาชนหรือดารา โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงบน facebook หรือ โซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นใดก็ตาม ถ้าไม่มีเจตนาเพื่อการค้าหรืออวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมายในมาตรานี้ครับ แต่อย่างไรก็แล้วแต่เราควรคำนึงถึงศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะเยาวชนที่อาจจะเลือกเอาเยี่ยงอย่างเฉพาะด้านไม่ดีอขงเราก็เป็นได้ครับ แต่ผมเชื่อว่าปัจจุบันเยาวชนเราฉลาดพอเขาเข้าใจโลกมากกว่าคนรุ่นเก่าอีกเชื่อสิครับ

 

อ้างอิง



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ได้ให้แนวทางของกฎหมายว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นความผิดตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่าจะต้อง “อวดอ้างสรรพคุณ” หรือ“ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”


 

พระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 http://wops.moph.go.th/ops/minister_06/Office2/%E0...

หมายเลขบันทึก: 621827เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2017 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท