แนวพระราชดำริโครงการฝายชะลอน้ำ


แนวพระราชดำริโครงการฝายชะลอน้ำ

30 ธันวาคม 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]


แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น ด้านการเกษตรกรและแหล่งน้ำ ที่น่าจะกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่งก็คือ “แนวพระราชดำริฝายชะลอน้ำ” [2] อันเป็น “ฝายต้นน้ำพระราชทาน” ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

จุดกำเนิดแนวพระราชดำริ

เป็นแนวพระราชดำริที่จะจับความตั้งแต่ปี 2521จากพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 [3] ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอนพระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของ ป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟู ป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่งกล่าวคือ ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า “Check Dam” หรืออาจเรียกว่า ฝายชะลอความชุ่มชื้น ก็ได้

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2527 [4] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมมีสภาพที่แห้งแล้งและได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมความตอนหนึ่งว่า

“...ควรพิจารณาสร้างฝายเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาของห้วยฮ่องไคร้ โดยสร้างเป็นฝายแบบง่ายๆ เช่น ฝายหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย และฝายแบบชาวบ้าน โดยดำเนินการก่อสร้างเป็นช่วงๆ ทั้งในเขตพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำชลประทาน และพื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำฝน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาป่าไม้ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป ควรเร่งการดำเนินงาน ปี พ.ศ. 2527 บางส่วน และภายในปีต่อๆ ไปตามความเหมาะสม...”

โครงการ “รักษ์น้ำ สร้างฝาย ถวายในหลวง”

“ฝายกั้นน้ำ” “ฝายชะลอความชุ่มชื้น” “ฝายชะลอน้ำ” “ฝายดักตะกอน” หรือภาษาชาวบ้านเรียก “ฝายแม้ว” เป็นการเรียกชื่อตามถนัด [5] เพราะเป็นฝายที่ชาวบ้านช่วยกันทำขึ้นอย่างง่าย แต่มีประโยชน์มหาศาลแนวคิดนี้เริ่มมาจากภาคเหนือตอนบน ซึ่งถือเป็น “ทางเลือก” (Alternative) ของการดูแลรักษา ป่า น้ำ ธรรมชาติให้กับคนไทย อันเป็นทางเลือกที่ดี ง่าย และถูกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ โดยการกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็ชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง ขณะเดียวกันก็กักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลเทลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง

เป็นแนวพระราชดำริทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ เป็นการอนุรักษ์น้ำตามวัฏจักรน้ำตามธรรมชาติ (Hydrological cycle) เป็นแนวคิดในการป้องกันอันตราย ลดความรุนแรงของการไหล่บ่าของน้ำตามธรรมชาติ เป็นแนวคิดในการใช้ประโยชน์น้ำ ทั้งบริโภคและอุปโภค โดยใช้ฝายเป็นที่กักเก็บน้ำขนาดเล็ก ในลักษณะตุ่มน้ำเล็กๆ กระจายทั่วพื้นที่ เพื่อกักเก็บน้ำ

เป็นวิศวกรรมแบบพื้นบ้านเป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวร ประเภทเดียวกับฝายคอกหมู โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กิ่งไม้ ก้อนหิน ซึ่งก่อนหน้าได้ทดลองใช้มาอย่างได้ผลแล้วที่ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

ในปี 2551 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการโครงการ “รักษ์น้ำ สร้างฝาย ถวายในหลวง” [6] งบประมาณ 9.7 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างฝายต้นน้ำลำธารแบบผสมผสาน จำนวน 1,750 แห่ง ในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ คือเมืองเชียงใหม่ 650 จุด แม่ริม 600 จุด และหางดง 500 จุด เพื่อขานรับในพระราชดำริ ที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ที่ตั้งพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และพระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชะลอน้ำ ฟื้นฟูและสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าโดยไม่มีการจ้างแรงงาน แต่จะขอความร่วมมือจากประชาชนในแต่ละพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันจัดสร้าง ขณะที่งบประมาณทั้งหมดจะเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างและค่าอาหารเลี้ยงชาวบ้าน

รูปแบบของฝายชะลอน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี 3 รูปแบบ [7]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชาธิบายว่า การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้น จะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกทั้ง สองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย

(1) ฝายต้นน้ำลำธารแบบท้องถิ่นเบื้องต้น (แบบผสมผสาน) เรียกกันทั่วไปว่า “ฝายแม้ว” เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้ ไม้ล้มขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่าง ๆ ในลำห้วย ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบง่าย ๆ ก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำ ซึ่งจะสามารถดักตะกอนชะลอการไหลของน้ำ และเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณรอบฝายได้เป็นอย่างดี วิธีการนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรืออาจไม่มีค่าใช้จ่ายเลย นอกจากแรงงานเท่านั้น ในหลายรูปแบบได้แก่ ฝายผสมผสานแบบคอกหมูฝายผสมผสานแบบไม้ไผ่ฝายผสมผสานแบบกระสอบฝายผสมผสานแบบลวดตาข่ายฝายผสมผสานแบบหินทิ้งฝายผสมผสานแบบภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นต้น

(2) ฝายต้นน้ำลำธารแบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร (แบบกึ่งถาวร) ก่อสร้างด้วยหินเรียงเป็นพนังกั้นน้ำ สร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วยหรือร่องน้ำจะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้บางส่วน

(3) ฝายต้นน้ำลำธารแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (แบบถาวร) เป็นการก่อสร้างแบบถาวรส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องห้วยจะสามารถดักตะกอนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดีวิธีนี้ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ขนาดของลำห้วยซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน 4 เมตร

อาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้น ประเภทแรกเป็น “ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น” สำหรับให้มีความชุ่มชื้น รักษาความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองเป็น “ฝายดักตะกอน” สำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่ นั่นเอง

นานาประโยชน์จากฝายชะลอน้ำ [8]

(1) ช่วยลดการพังทลายของดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีมากขึ้น และแผ่ขยายกระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของ ลำห้วย

(2) ช่วยกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง คุณภาพของน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง

(3) เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ จากการที่ความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น ความหนาแน่นของพันธุ์พืชก็ย่อมจะมีมากขึ้น

(4) การที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้บางส่วนนี้ ทำให้เกิดเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนนำไปใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย

ผลสำเร็จของฝายชะลอน้ำ [9]

ปัจจุบัน ทางกลุ่มป่าสร้างฝัน เขาใหญ่ นครนายก [10] ได้นำแนวคิด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องฝายชะลอน้ำ มาจัดทำโครงการฝายชะลอน้ำ ใน 2 พื้นที่ ต้นน้ำรอบๆ เขื่อนขุนด่านปราการชล ใน ตำบลหินตั้ง และ ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก คือ ต้นน้ำลำธารสายคลองบ่อ จำนวนโครงการ 5 ฝาย และ ต้นน้ำลำธารสายคลองมะเดื่อ จำนวนโครงการ 5 ฝายและจะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื่นของผืนป่าเขาใหญ่ ฝั่งนครนายก ให้คงอยู่ต่อไป

จากผลสำเร็จของการทำฝายต้นน้ำลำธารในพื้นที่ของประชาชน ก่อให้เกิดประโยชน์ได้แก่ (1) ชุมชนสามารถกักเก็บน้ำและสามารถนำน้ำที่จัดเก็บไว้จากการสร้างฝายต้นน้ำลำธารมาใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ (2) พื้นที่ป่ารอบ ๆ บริเวณที่สร้างฝายต้นน้ำลำธาร เริ่มอุดมสมบูรณ์ป่ามีความชุ่มชื้นตลอดปีมีความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มขึ้น (3) มีความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้ชุมชนมีแหล่งอาหาร เช่น เห็ด หน่อไม้ บอน ปู เขียด กบ ปลา และสมุนไพรต่าง ๆ ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้นเป็นต้น

นอกจากนี้ภาวะโลกร้อน (Global Warming) [11] ในปัจจุบันเป็นเรื่องน่ากลัวที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์เราที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นเรามาช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำลดโลกร้อนกันเถอะ



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23258 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559 – วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2560, หน้า 66

[2]โครงการสร้างฝายประชารัฐเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2559, http://www.dnp.go.th/MFCD3/division/ส่วนจัดการต้นน้ำ/image%20กิจกรรม/โครงการฝายประชารัฐ/การดำเนินงานโครงการสร้างฝายประชารัฐเพื่.docx

& ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, มูลนิธิชัยพัฒนา, http://www.chaipat.or.th/site_content/68-4/254-the...

[3] โครงการสร้างฝายประชารัฐเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี พ.ศ. 2559, อ้างแล้ว.

“ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำ ให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไป จะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพ เขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ”

“สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก”

พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

[4] ดู ฝายต้นน้ำลำธาร, สำนักงาน กปร., http://km.rdpb.go.th/Knowledge/View/21

& ศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จ.เชียงใหม่, http://www.hongkhrai.com/index2.php

เป็นศูนย์ต้นแบบแสดงประสิทธิภาพและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำฝายอย่างนี้

จากเดิมพื้นที่ของศูนย์เป็นป่าที่ถูกถางจนเหี้ยนเตียนสุดลูกหูลูกตา

ปัจจุบัน ศูนย์กลายเป็นป่ามีต้นไม้ขึ้นกว้างใหญ่ มีสัตว์ป่าได้มาพักพิงอาศัย

ป่ามีความชุ่มชื้นตลอดปี แทบไม่มีปัญหาไฟป่ารบกวน

[5] ฝายแม้ว, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/ฝายแม้ว

[6] ทัศนีย์ ศรีมงคล, รักษ์น้ำสร้างฝาย ถวายในหลวง, 28 พฤศจิกายน 2551,

https://www.gotoknow.org/posts/225949

& โครงการ รักษ์น้ำ สร้างฝาย ถวายในหลวง, Manager Online, 3 ธันวาคม 2551, http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsI...

& “ฝายชะลอน้ำ”ของพ่อทำง่าย ประหยัด ยั่งยืน, คมชัดลึก, 21 ตุลาคม 2559, http://www.komchadluek.net/news/agricultural/24609...

[7] ฝายชะลอน้ำ (Check Dam) โดยใช้แนวพระราชดำริทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้, 8 มีนาคม 2554, http://region2.prd.go.th/ewt_news.php?nid=4811&fil... & ฝายชะลอน้ำ (Check Dam), 11 สิงหาคม 2554, http://envinature4.blogspot.com/2011/08/check-dam....

[8]นวพร เชี่ยวชาญ, ฝายชะลอน้ำได้ผล ชาวแพร่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง, 16 พฤศจิกายน 2555,

http://www.phraepao.go.th/ppao/index.php?option=com_content&view=article&id=293:-m-m-s&catid=1:2011-10-27-02-38-21&Itemid=54

& Check Dam โครงการฝายชะลอน้ำ, 7 มกราคม 2558, https://nesyaahoo.wordpress.com/

[9] โครงการก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธาร (Check Dam) ตามแนวพระราชดำริ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, มูลนิธิเกาะสีเขียว, The Green Island Foundation Thailand (GIFT), 2555, http://www.greenislandfoundation.com/check-dams

[10] ฝายชะลอน้ำ (Check Dam) โดยใช้แนวพระราชดำริทฤษฎีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้, 8 มีนาคม 2554, อ้างแล้ว

[11] สมเจตน์ เจตนสุนทรเวทิน, ฝายชะลอน้ำกับการลดภาวะโลกร้อน, 29 เมษายน 2553, http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=read...

& ภาวะโลกร้อน, http://www.greentheearth.info/

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หมายถึง การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอากาศบริเวณใกล้ผิวโลกและน้ำในมหาสมุทร ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึง 0.74 ? 0.18 องศาเซลเซียส และจากแบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศพบว่าในปี พ.ศ. 2544 – 2643 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนก็เพราะว่าก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาผลาญถ่านหินและเชื้อเพลิง รวมไปถึงสารเคมีที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ใช้ และอื่นๆอีกมากมาย

หมายเลขบันทึก: 620865เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2016 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2016 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท