ชีวิตที่พอเพียง : 2814. ผู้นำแห่งอนาคต : สอนไม่ได้ผล



วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทาง โครงการผู้นำแห่งอนาคต สร้างเสริมเครือข่ายผู้นำสู่วิถีสุขภาวะทางปัญญา ในฐานะที่ปรึกษา


ฟังแล้วนึกเชื่อมโยงสู่บันทึกเมื่อวานซืน ที่ผมสะท้อนคิดจากการอ่านหนังสือที่ ๔ ปราชญ์ไทยเสวนากัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ที่ ศ. นพ. ประเวศ บอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ชอบให้ใครสั่งสอนตรงๆ


โครงการนี้ดำเนินการมาแล้ว ๒ ปีเศษๆ อีกประมาณครึ่งปีก็จะจบปีที่สาม ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ของโครงการ


โชคดีที่เขาเชิญคุณวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้า มาเล่าเรื่องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ของหอการค้าด้วย และคุณวิชัยก็เล่าข้อค้นพบ ที่สรุปได้แบบเดียวกันกับข้อค้นพบของทีมงานโครงการ ว่าผู้นำรุ่นใหม่ สอนไม่ได้ผล เขาไม่ยอมรับ ต้องพัฒนาโดยเปิดโอกาสให้เขาดำเนินการโครงการกันเอง โดยผู้อาวุโสทำหน้าที่ หนุน (empower) มีเรื่องเล่ารายละเอียดจากประสบการณ์ตรงจากทั้งสองฝ่ายมากมาย งดงามมากในด้านการ เรียนรู้เข้าใจคนรุ่นใหม่ ที่มีข้อแตกต่างจากคนรุ่นก่อน และรุ่นผมอย่างมากมาย


เป็นความรู้ที่บอกว่าคนรุ่นใหม่มีความว่องไว และทนความชักช้าไม่ได้ รวมทั้งไม่ชอบฟังการบรรยาย ชอบโอกาสถามปัญหาของตน นี่คือสิ่งที่คุณวิชัยบอก


ที่จริง การที่คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักธุรกิจ ไม่นิยมเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์แบบมาบรรยายนั้น น่าจะเป็น สิ่งถูกต้อง และเป็นความฉลาดของเขา เพราะการสอนความรู้สำเร็จรูปนั้น คนรับได้เรียนรู้น้อยมาก การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องได้จากการปฏิบัติ แล้วไตร่ตรองสะท้อนคิดเป็นทีม ยิ่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำ ที่เรียกว่า Transformative Learning ยิ่งต้องเรียนจากกิจกรรมหรือจากการทำงานจริง ตามด้วยการไตร่ตรอง สะท้อนคิดร่วมกัน โดยมีพี่เลี้ยงหรือวิทยากรกระบวนการคอยช่วยเหลือโดยการตั้งคำถามให้ไตร่ตรอง สะท้อนคิดได้เชื่อมโยงมากขึ้น และได้ลึกยิ่งขึ้น


ผมชื่นชมที่คุณวิชัยเป็นนักธุรกิจ ที่เอ่ยเรื่องการทำเพื่อประโยชน์สังคมจริงๆ ไม่ใช่แค่เพื่อให้ดูดี โดยแยกแยะ CSR แบบสร้างภาพลักษณ์ออกไป และชื่นชมที่ทีมงานของโครงการจับประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็นคือ ด้าน collective leadership, ด้าน ethical issues, และด้านการเปลี่ยนแปลงภายใน (transformation)


ผมดีใจที่ทั้งคุณวิชัยและทางโครงการสรุปตรงกันว่า คนรุ่นใหม่ไม่ปฏิเสธเรื่องจริยธรรม และความซื่อสัตย์ แต่ปฏิเสธวิธีสอนจริยธรรมของคนรุ่นเก่า เขาปฏิเสธวิธีการไม่ปฏิเสธสาระ


คณะกรรมการกำกับทิศทาง เสนอแนะต่อ สสส. ให้สนับสนุนโครงการระยะที่สอง โดยให้ปรับเป้าหมายไปเน้นการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในบริบทที่หลากหลาย โครงการระยะที่สอง ทำกิจกรรมเองลดลง หันไปเน้นสังเคราะห์ความรู้และวิธีการสร้างผู้นำแห่งอนาคตจากกิจการของหอการค้าไทย และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำมาสื่อสารวงกว้าง รวมทั้งสร้างภาคีความร่วมมือกว้างขวางขึ้น หาทางเชื่อมโยง ผู้นำรุ่นใหม่ในต่างบริบท ให้ได้รับฟังและเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้ผู้นำในอนาคตเข้าใจภาพรวมของสังคม มากยิ่งขึ้น และมีการดำเนินการสร้างสรรค์สังคมเชิงระบบ หรือในภาพรวมมากยิ่งขึ้น


ผมเคยเขียนบันทึกเล่าเรื่องโครงการผู้นำแห่งอนาคต ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 620234เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2016 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2016 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท