ชีวิตที่พอเพียง : 2800. ไปโคลอมโบ ศรีลังกา : BAR



IHPP ชวนไว้ล่วงหน้าหลายเดือน ให้ไปร่วมการประชุม AAAH 9 ที่นครโคลัมโบ ศรีลังกา ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ แต่ผมติดงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ในช่วง ๑๙ - ๒๔ ตุลาคม จึงขอไปคืนวันที่ ๒๔ ไปถึงตอนดึกของคืนวันที่ ๒๕ แม้การเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ จะทำให้การเดินทางตามเสด็จสมเด็จพระเทพรัตน์ นำคณะกรรมการรางวัล นานาชาติเสด็จภาคตะวันออก 22 – 24 ตุลาคม งดไป ผมก็ปล่อยเลยตามเลยไม่เปลี่ยนวันเดินทาง


เครื่องบินจากกรุงเทพไปโคลัมโบใช้เวลาเพียง ๓ ชั่วโมง สมัยโบราณการเดินทางทางเรือระหว่าง สยามกับลังกาคงจะไม่ยากนัก ความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างสองประเทศนี้จึงแน่นแฟ้นมาก พุทธศาสนาที่สยามเรียกว่าลังกาวงศ์ พุทธศาสนาที่ลังกาเรียกว่าสยามวงศ์


เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางไปศรีลังกา เพิ่งรู้ว่าศรีลังกามีเมืองหลวงใหม่ ชื่อ Kotte ส่วน Colombo ยังคงเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจ และเมืองใหญ่ที่สุด


นอกจากไปประชุมหาความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแล้ว ผมกะไปเรียนรู้ทำความรู้จักประเทศศรีลังกาด้วย ทาง IHPP บอกว่าวันที่ ๒๙ จะพาไปเมืองแคนดี ไปไหว้พระเขี้ยวแก้ว แต่ผมก็ยังอยากเจียดเวลาก่อนหน้านั้นไปชมพิพิธภัณฑ์ Colombo National Museumและนั่งรถเที่ยวชมเมือง


เดี๋ยวนี้อยากรู้อะไรก็ถาม Google ซึ่งให้ข้อมูลศรีลังกา ที่นี่ว่าประวัติศาสตร์ของศรีลังกาย้อนไปสามพันปี และหลักฐานการมีมนุษย์อาศัยอยู่ย้อนไป ๑๒๕,๐๐๐ ปี และตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษในช่วงปี 1802 - 1948 แต่ก่อนหน้านั้นก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลปอร์ตุเกศและดัทช์ ภูมิประเทศที่อยู่ในเส้นทางเดินเรือของมหาอำนาจ ตะวันตกรวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นจุดอ่อนให้ถูกยึดครอง เป็นเมืองขึ้นอยู่ราวๆ ๔๔๐ ปี


ในช่วงแรก ศูนย์กลางอาณาจักรลังกาอยู่ที่เมืองแคนดี ที่ใจกลางเกาะ แต่เมื่อฝรั่งไปปกครอง เมืองโคลอมโบซึ่งอยู่ ชายทะเลฝั่งตะวันตกจึงกลายเป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองท่า ความเป็นเมืองท่า เส้นทางการเดินเรือ ทำให้พลเมืองมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ มีทั้งสิงหล (ร้อยละ ๗๕), ทมิฬ (ร้อยละ ๑๑), แขกมัวร์ (ร้อยละ ๙), ทมิฬอินเดีย (ร้อยละ ๔), และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เช่นลูกครึ่งฝรั่ง ที่เรียกว่า Burghers


ผมเพิ่งสังเกตว่า เกาะลังกาตั้งอยู่ระดับเส้นรุ้งเหมือนภาคใต้ของประเทศไทย ผมเปิดดูอุณหภูมิ พบว่าพอๆ กันกับของประเทศไทย


ทั้งหมดนั้น เป็น BAR คือเขียนแบบกำหนดเป้าหมายไว้ล่วงหน้า

ขอสรุปว่า ไปโคลัมครั้งแรกนี้ โอกาสไม่อำนวยให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เลย


คำเตือน

หลังจากไปมีประสบการณ์ที่โคลัมโบ ๕ วัน คำเตือนคนไทยคือ ให้ระวังคน (โดยเฉพาะคนขับรถตุ๊กตุ๊ก) มาชวนไป ๒ ที่ คือชวนไปวัด กับชวนไปซื้อจีเวลรี่ลดราคา คนเหล่านี้มีทั่วไปหมด เดินไปทางไหนก็เจอ พวกเราเจอทุกคนคนละหลายๆ ครั้ง วิธีป้องกันตัวคือไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าที่มาคุยด้วย

คนศรีลังกาบอกว่าเขาไม่ซื้อเครื่องประดับพวกนี้ที่ศรีลังกา เพราะราคาแพงมาก ผมไปดูมาแล้วไม่เห็นว่าสวย ของไทยเราสวยกว่ามาก



วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค. ๕๙ ปรับปรุง ๒๙ ต.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 619129เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท