เรื่องราวที่ได้คิดจากเรื่อง "กราบรถกู"


"กราบรถกู" ข่าวดังประเด็นร้อน ที่พิธีกรหนุ่มคนหนึ่งก่อเหตุรุนแรงตบหน้า/ชกหน้าคู่กรณีจากเหตุรถยนต์ของตนถูกมอเตอร์ไซค์ชนท้าย เห็นหลายคน โพสต์ข้อความความคิดเห็นส่วนตัว บ้างก็โพสต์คลิปและความคิดเห็นประกอบกันในประเด็นนี้ ทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพทางความคิด มีสิทธิ์แสดงออกซึ่งความคิดเห็น
+++
สิ่งที่อยากชวนกันคิด คือ เราเห็นคลิปนี้ อ่านข่าว หรือดูข่าว แล้วเรารู้สึกหรือคิดอย่างไร เห็นความคิดตัวเองหรือไม่ เห็นใจตัวเองที่รู้สึกชัดหรือเปล่า ต่อมา เมื่อเห็นชัด ๆ แล้ว ลองดูซิว่า ความคิด ความรู้สึกนั้น ดี หรือไม่ดีต่อตัวเองและผู้อื่น หรือ การโพสต์ความคิดเห็น หรือคลิปนั้น ดีต่อตัวเองหรือผู้อื่นหรือไม่ เป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษ
+++
เช่น หากคุณรู้สึกไม่ดี คิดไม่ดี และก็โพสต์ข้อความที่แสดงออกถึงความรู้สึกนั้น คนแรกที่จะได้รับผล คือ ตัวคุณเอง ต่อมาคุณก็ได้สร้างเครือข่ายขยายความทุกข์ออกไปโดยอาจไม่ได้เจตนา อันที่จริงอาจแค่รู้สึกว่ามันอั้น ๆ เดือดๆ อยากระบายออกมาเฉยๆ หรือบางคนก็มีเจตนาดี ตั้งใจเผยแพร่เพื่อให้เตือนสติ แต่.....ข้อความที่โพสต์นั้นแน่ใจไหมหนอว่า เตือนสติ หรือจะกระตุ้นให้คนขาดสติ โกรธ และเกลียดกันมากขึ้น และหากเป็นความเชื่อความเข้าใจส่วนตัว เหล่านี้เป็นกรรมดำ เช่นกัน ทำกรรมในโลกโซเชียลนั้นง่ายมากและส่งผลทวีคูณ จากที่เคยอาจจะแค่คนไม่กี่คนในกลุ่ม ก็ขยายไปไม่รู้กี่คนต่อกี่คนที่เป็นเพื่อนของเรา ใครเพื่อนในสื่อโซเชียลเยอะก็แย่มากหน่อย
+++
จำเรื่องราวที่ย้ำกันบ่อย ๆ ได้ไหมคะ "ไม่ด่วนตัดสินพิพากษาใคร" เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ใช้ฝึกกันได้ หรือหากความจริงมันกระจ่างชัด ๆ ก็มองว่าเรื่องที่ได้รู้นี้เราได้เรียนรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เก็บเกี่ยวประโยชน์ได้จากเรื่องที่ไม่ดี และใช้ฝึกสติได้ดีมากเลยค่ะ ส่วนตัวแล้วตัวเองก็ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้นอกจากในมุมของตัวเองที่กล่าวแล้ว ก็ยังได้นำเรื่องนี้มาใช้เรียนรู้กับลูกด้วย ชวนกันคิด ชวนกันคุย ในหลากหลายเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของโทษของความโกรธ การจัดการความโกรธ การไม่ด่วนตัดสินพิพากษา ความถูกต้องและความเมตตา เราทำเรื่องที่ถูกต้องได้อย่างมีเมตตา ให้อภัย แต่ก็ยังต้องทำสิ่งที่ต้องทำต่อไป เช่น ให้อภัยเขา(ไม่ถือโกรธ) แต่ก็ดำเนินการจัดการต่อไปด้วยใจเมตตา เช่น เรียกประกัน (ถ้าทำได้จะดีอย่างยิ่ง) ข้อดีของการให้อภัย ชวนลูกคิด ชวนลูกคุย
+++

จากข่าวดังกล่าวทำให้มีหลายๆ เพจออกมาแบ่งปันความคิดเห็นมากมาย ที่น่าสนใจ ที่ต่างออกไปจากประเด็น สาเหตุจากความโกรธ คือ มุ่งไปที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่สร้างนิสัยเห็นตัวเองเป็นใหญ่ ไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น โดยแยกเป็นสาเหตุใหญ่ 3 ข้อ คือ 1 เลี้ยงดูตามใจมากเกินไป หรือตรงข้ามไปเลยคือเลี้ยงแบบใช้อำนาจมากเกินไป 2. พ่อแม่ที่มักพูดเรื่องราวไม่ดีของคนอื่นให้ลูกฟัง หรือให้ลูกได้ยิน 3. การเลี้ยงดูลูกไม่ให้ได้พบความลำบาก ลูกได้รับแต่ความสะดวกสบาย เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำให้ได้ย้อนมาทบทวนบทบาทการเลี้ยงลูกของตนเองด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นส่วนตัวยังมองเห็นอีก 2 เรื่องที่อาจทำให้เกิดอาการอัตตาโป่งพองได้ คือ คำชมและชื่อเสียง คงดีหากตัวเราเรียนรู้ที่จะรู้ทันใจตัวเอง และเป็นต้นแบบดี ๆ ให้ลูกหลานของเรา

+++

นอกจากนี้ก็ยังได้เห็น ได้ข้อคิดอื่น ๆ อีกมากมาย ถึงเป็นเรื่องไม่ดี แต่ก็มีประโยชน์เหมือนกัน

หากข้อความเหล่านี้ อ่านแล้วเกิดอาการบาดใจใคร ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้นะคะ เจตนาเพื่อต้องการช่วยบรรเทาความทุกข์ พัฒนาความสุขในชีวิต อยากแบ่งปันความคิด ที่ได้เรียนรู้มา ที่ใช้แล้วเห็นผลว่าดีกับตัวเองและผู้อื่น อยากแบ่งปันความสงบสุขค่ะ

หมายเลขบันทึก: 618325เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 18:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016 18:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท