​ชีวิตที่พอเพียง : 2786. ไปอเมริกา ๒๕๕๙ : ๓. เดินทาง



วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ผมมีประชุมทั้งเช้าและบ่าย ตอนบ่ายประชุมที่ สสส. ซอยงามดูพลี พอบ่ายสามโมงครึ่งผมก็ขออกจากห้องประชุม เพื่อกลับบ้านไปเตรียมตัวเดินทาง พอรถขึ้นทางด่วนที่หัวลำโพง ฝนก็เทลงมาแบบฟ้ารั่ว โชคดีที่บนทางด่วนรถยังไม่ติดมาก


หัวหน้าทัวร์กำหนดว่า นั่งแท็กซี่ออกจากบ้านสองทุ่ม เรากะว่าใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ผมโทรศัพท์จอง แท็กซี่ ๑๖๘๑ ตามบัญชา ฝนตกหนักมาก ผมลองเข้า Google Map ดูสภาพการจราจร ได้ข้อมูลว่าบนทางด่วน รถติดมาก จากบ้านไปสนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลาสองชั่วโมง เวลาหนึ่งทุ่มผมโทรไป ๑๖๘๑ ขอเปลี่ยนเป็น ขอให้ส่งรถไปรับทันที เวลา ๑๙.๑๕ น. เขาโทรมาแจ้งว่าไม่มีรถตอบรับ ผมจึงออกไปเรียกรถหน้าหมู่บ้าน ได้รถเวลา ๑๙.๒๕ น. โชเฟอร์ฉลาดกว่า Google Map บอกว่าไปทางแจ้งวัฒนะไม่ได้ อาจพบน้ำท่วมถนน ให้อ้อมไปขึ้นทางด่วนที่ด่านศรีสมาน ปรากฎว่ารถแล่นฉิวถึงสนามบินสุวรรณภูมิก่อนสองทุ่มครึ่ง เป็นการ เริ่มต้นเดินทางแบบที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการอุ่นเครื่องการเดินทาง ซึ่งคาดว่าจะเป็นอย่างนี้ไปตลอด


ก่อนสามทุ่มครึ่งเราก็ไปนั่งพักที่ห้องรับรองการบินไทย โดยที่เราเดินทางโดยสายการบินพันธมิตร ANA เที่ยว NH 808 ออกเวลา ๐.๓๐ น. วันที่ ๔ ตุลาคม


เครื่องบิน B 787 มีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งลำ ผมได้ที่นั่ง 2C สาวน้อยนั่งที่ 24D ใช้เวลาบิน ๖ ชั่วโมง ๑๐ นาที พอเครื่องขึ้นผมไม่สนใจอะไรทั้งนั้น จัดเตียงสู่ท่านอนแล้วก็นอน ผมนอนได้ ๔ ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้ ยานอนหลับช่วย อาหารเช้าเวลา ๗.๓๐ น. ผมเลือกอาหารญี่ปุ่น คราวนี้ไม่ค่อยอร่อย


ได้อ่านบทความ Voice computing : Prick up your ears. Wireless headphones and smart speakers herald a new class of device. ในนิตยสาร The Economist ฉบับ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เห็นภาพชีวิตของผู้คน ในอนาคตชัดเจน ในเรื่องการมีชีวิตอยู่กับเครื่องใช้ไอที ซึ่งหมายความว่า เราต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกคน ให้มี social / inter-personal skils and affection ให้มากขึ้นด้วย เพื่อสังคมที่ดี


อีกบทความหนึ่งในนิตยสารเล่มเดียวกันชื่อ Transport as a service : It starts with a single app. Combining old and new ways of getting around will transform transport – and cities, too นี่ก็คาดการณ์วิถีชีวิต ด้านการคมนาคมขนส่งในอนาคต ที่จะเปลี่ยนแปลงแบบนึกไม่ถึงเช่นเดียวกัน แต่ผมเถียงคนเขียน ว่าเขาเขียน เพื่ออวด “ผู้บริโภค” และทำให้การพัฒนาระบบเป็นเพียงการเขียน app ซึ่งไม่จริง ส่วนที่ยากคือการเจรจา ทางธุรกิจ เพื่อสร้าง platform ของโครงข่าย เพราะโครงข่ายบริการต้องเชื่อมต่อกัน มีความแม่นยำ และ รับผิดชอบเชื่อถือได้


แต่รายละเอียดในเรื่องน่าสนใจจริงๆ ที่เขาบอกว่าการที่ผู้คนเข้าไปอยู่ในเมืองมากขึ้น การจราจรแออัดขึ้น จะทำให้คนเบื่อระบบรถยนต์ส่วนตัว หันไปสู่ระบบ sharing economy คือคนมีรถส่วนตัวก็เอาเข้าสู่ระบบบริการ ในแนวเดียวกันกับ Uber ที่เรารู้จัก ยังมีบริษัท Lyft, Bridj ที่ใช้พลังของแนวโน้มใหม่สองประการ คือ (๑) การที่คนทุกคนมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (๒) การก่อเกิดของ sharing economy และคนรุ่นใหม่ชอบ usership มากกว่า ownership จะเกิดการปฏิวัติระบบขนส่ง ระบบขนส่งสาธารณะกับระบบขนส่งส่วนตัว จะเชื่อมเข้าหากัน


ผมชอบไอเดียผู้ก่อตั้งบริษัท start-up ชื่อ MaaS Global (Maas = Mobility as a Service) หมายความว่า ใครมีการเคลื่อนไหว (ในที่นี่คือเดินทาง) ก็ให้บริการได้ ให้บริการผ่าน App ชื่อ Whim ที่เมื่อเข้าไประบุว่า ต้องการเดินทาง จากจุด ก ไป ข ก็จะเสนอบริการต่างๆ ต่อเนื่องกัน ให้บริการจากจุด ก ถึงจุด ข จริงๆ ไม่ใช่ส่ง ถึงสถานีหรือป้ายรถเมล์ แบบในปัจจุบัน


การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบกว้างขวางมาก รวมทั้งต่อบริษัทผลิตรถยนต์ ที่จะต้องปรับตัว ผลิตรถยนต์ให้ตรงกับความต้องการใหม่ บริษัทรถยนต์ต่างๆ จึงลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทให้บริการขนส่งผู้โดยสาร แบบใหม่ เพื่อการเรียนรู้และปรับตัวของตน ดังบริษัทโฟล์ค ลงทุน ๓๐๐ ล้านดอลล่าร์ในบริษัท Gett ของอิสเรล ที่ให้บริการแบบเดียวกันกับ Uber บริษัทจีเอ็มลงทุน ๕๐๐ ล้านดอลล่าร์ในบริษัท Lyft


บริษัทผลิตรถยนต์ถึงกับลงทุนจัดบริการของตนเอง เช่น บริษัทเดมเล่อร์ ตั้งบริษัท car2go ให้บริการ car sharing บริษัทฟอร์ดตั้ง GoDrive ให้บริการเช่ารถในลอนดอนตามเวลาเป็นนาที บริษัทบีเอ็มตั้ง DriveNow เป็นต้น


การเปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมขนส่งคนไม่หยุดอยู่แค่นั้น มีหลายเมืองในยุโรปให้บริการรถบัส ต่อด้วยแท็กซี่ car sharing หรือรถจักรยาน โดยเก็บค่าบริการเป็นรายเดือน


อ่านแล้วอดสะท้อนคิดกลับมาที่กรุงเทพและเมืองไทยไม่ได้ ว่าเรามีนวัตกรรมการขนส่งด้วยรถตู้ ที่ไม่ยั่งยืน เพราะมันต้องการที่จอดมาก ก่อปัญหารถติดตามมาอีก มอเตอร์ไซคล์รับจ้าง ก็เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่ง แต่ก็ก่อความโกลาหล เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการไม่เคารพกฎจราจร น่าจะมีคนคิดวิธีการไฮเทคขึ้นใช้ในบ้านเราบ้าง


เครื่องบินลงที่สนามบิน Narita ๙.๒๐ น. เวลาท้องถิ่น พบคณะครูไทย ๑๕ คน ไปดูงานการศึกษา ของญี่ปุ่น นำโดยคนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เครื่องบิน NH 2 ไปวอชิงตัน ดีซี ออกที่ประตู ๔๒ เราเดินดูลู่ทางและประตูเครื่องบินออก แล้วไปนั่งพักผ่อนดื่มสาเก ที่ห้องรับรอง ANA ได้อ่าน นสพ. The Japan News วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ หน้าหนึ่งลงข่าว Osumi wins Nobel Prize for medicineที่น่าทึ่งคือเป็นปีที่สาม ที่คนญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลติดต่อกัน และเวลานี้มีคนญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลรวม ๒๕ คน ทำให้ผม สะท้อนคิดว่า วิธีการให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนของประเทศญี่ปุ่นน่าจะมีส่วนส่งเสริมความสำเร็จด้านการ ค้นคว้าสร้างสรรค์มากทีเดียว


วิธีจัดการเรียนรู้ อบรมบ่มนิสัยเด็กญี่ปุ่นกับเด็กไทยต่างกันโดยสิ้นเชิง


กระบวนการจัดระบบให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ที่ประตู ๔๒ ในวันนี้ดูไม่สะดวกต่อผู้โดยสาร ต้องให้เข้าคิวรอนานเกินไป ขึ้นเครื่องแล้วต้องนั่งรอนาน กว่าเครื่องจะขึ้นก็เกือบเที่ยง


เที่ยวบิน NH 2 ใช้เครื่องบิน B777-300 ผมได้ที่นั่ง 8C ซึ่งสภาพที่นั่งเหมือนขามาจากกรุงเทพไม่มีผิดสาวน้อยได้ 31G

Washoku cuisine


เครื่องบินขึ้นสักครู่ มหกรรมการกินก็เริ่มต้น โดยผมเลือกอาหารญี่ปุ่นตามที่เขาโฆษณา “World-cerebrated Washoku cuisine”. A UNESCO-designated cuisine prepared with meticulous care


เริ่มจากเครื่องดื่มเรียกน้ำย่อย ผมเลือก Umeshu Plum Wine on the rock เป็นเหล้ากลิ่นลูกพลัมแสนหอม ตามด้วยของกินเรียกความจำเริญใจ (Amuse) จานเล็กๆ มี อาหาร ๕ อย่าง สุดจำเริญลิ้น กินหมดสาวญี่ปุ่น มาถามว่าจะเอาพลัมไวน์เพิ่มอีกไหม ผมขอเปลี่ยนเป็นสาเก ตอนแรกจิ้ม (ใช้จิ้ม เพราะไม่รู้จัก) Kawagoe Sweet potato Shochu, Kawakoe Shuzojo, Miyazaki พร้อมกับบอกว่าขอเปลี่ยนเป็นเหล้าสาเก เธอบอกว่าที่จิ้มไม่ใช่ Japanese Sake ต้องจิ้มอันอื่น ได้ Hakuro Suishu Junmai Ginjo / Sake. Takenotsuyu Shuzo, Yamagata. Soft flavor and clear rice umami. Subtle and silky textured. Dry


ถาดที่สองมี ๓ ถ้วย ถ้วยขวาบนมีปลาดิบ ๓ ชิ้น กับรากบัวและปรุงรส ถ้วยซ้ายบนมี ปลาสุก ถั่วปากอ้า และเห็ดถ้วยตรงหน้ามี ลูกชิ้นปลา ลูกแปะก๊วยแห้วเกาลัด ข้าวปั้นห่อปลาและไชเท้า ปลาทอดชิ้นเล็ก และอะไรไม่ทราบสีเหลืองๆ นักเลงอาหารโปรดอ่านรายละเอียดภาษาอังกฤษเอาเอง


จานหลักมีลักษณะธรรมดาๆ ที่สุด ประกอบด้วยปลาฮาลิบัตจากกรีนแลนด์นึ่งซ้อสมิโซ ข้าว และซุปญี่ปุ่น กับผักดองปรุงรส


สรุปว่าเป็นมื้ออาหารสุดเลิศรส แถมผมยังเคี้ยวช้าๆ ทีละคำ เพื่อดื่มด่ำรสอย่างละเมียดละไม เป็นพฤติกรรมกินอาหารที่ผมแทบไม่ได้ปฏิบัติเลยในชีวิต


หลังจากนั้นเขาหยุดเสิร์ฟเพราะสภาพอากาศไม่ดี ผมจึงงีบหลับไปด้วยความเมา ตื่นขึ้นมาเขา เสิร์ฟของหวานผ่านไปแล้วผมจึงต่อด้วยช็อกโกเลต กับชาเขียว ปิดท้ายด้วยเหล้าหวาน


ในนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ฉบับเดียวกัน หน้า ๒๗ มีบทความ Thailand’s economy : The dangers of farsightednessบอกว่าเขียนจากขอนแก่น วิจารณ์รัฐบาลไทยว่าวางแผนเศรษฐกิจระยะยาว จนละเลย ดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น ที่ผมชอบคือตอนท้าย ที่ชี้ว่า รัฐบาลบริหารเงินที่ส่งไปกระตุ้นเศรษฐกิจในชนบท แบบแตกต่างไปจากเดิม คือรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ ผมคิดว่า ก่อความอ่อนแอแก่ประเทศ ในระยะยาว และจะเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุ Thailand 4.0


บทบรรณาธิการในนิตยสาร Forbes Asia ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ เรื่อง Reckoning for Biggest Wrecker of U.S. Economyอ่านแล้วน่าตกใจมาก ชี้ว่าธนาคารชาติของประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของสหรัฐอเมริกา ใช้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด ทำให้เศรษฐกิจโลกเฉื่อยชาอยู่หลายปีแล้ว ตั้งแต่เกิด วิกฤติขึ้นที่สหรัฐอมเริกาในปี 2008 – 2009


ในนิตยสารฉบับเดียวกัน หน้า ๔๕ - ๔๙ เรื่อง Glaxo Takes Its Medicine. Andrew Witty inherited a drug maker sick with scandal and spent the next eight years patching up his patient. GlaxoSmithKline may finally be well again. เป็นเรื่องบริษัทยายักษ์ใหญ่ที่ป่วยหนัก จากโรคขี้ฉ้อ หลอกลวงผู้คนเพื่อผลประโยชน์ ทางธุรกิจของตนเอง เซอร์แอนดรูว์ เข้ามาเป็นซีอีโอแก้ชื่อเสีย และสร้างความน่าเชื่อถือใหม่ คนเขียนตั้ง ชื่อเรื่องได้สะใจมาก ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่


นสพ. International New York Times ที่ใส่มากับ Japan Times ฉบับวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ ลงหน้า ๑ เรื่อง Erasing a border to pollinate technology. Seattle and Vancouver look for a mutual benefit in attracting new talent อ่านข่าวความร่วมมือของสองเมืองนี้ ที่อยู่คนละประเทศ แต่อยู่ใกล้กัน และน่าอยู่เหมือนกัน ที่จะสร้าง “Cascadia innovation corridor” ดึงบริษัท และดึงคนเก่งไปทำงาน เพื่อยกระดับทั้งสองเมืองให้เป็นแหล่ง อุตสาหกรรมไฮเทค ทำให้ผมนึกถึงแผน ๒๐ ปี ที่จะออกจากกับดักรายได้ปานกลางของไทย โดยมียุทธศาสตร์ Thailand 4.0 น่าจะต้องมี platform ส่งเสริมการพัฒนาบางพื้นที่แบบก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอย่างนี้ ที่เรามี เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว รูปแบบยังไม่เน้น innovation เพียงพอ


พอ ๘ น. เวลาวอชิงตัน ดีซี เขาก็เสิร์ฟอาหารเช้า ผมกินอาหารญี่ปุ่นตามเคย อาหารหลักเป็นปลาแมคเคอเรลจากสเปนนึ่ง กินกับข้าว มีจานเล็ก Simmered beef Japchae style อร่อยดี มีซุปและผักดอง ช่วยชูรสตามเคย ผมขอชาเขียวเป็นเครื่องดื่ม เป็นชาเขียวรสดีมาก


เครื่องบินลงเวลา ๑๐.๔๕ น. เวลา ๑๑.๑๕ น. เราก็ออกไปหารถแท็กซี่ไปยังที่พัก ได้หนุ่มชาว เอธิโอเปียเป็นโชเฟอร์ อัธยาศัยดี แต่เมื่อไปถึงอาคาร 905 6th Street SW เวลาเที่ยงพอดี ก็เข้าอาคารไม่ได้ ถามผู้หญิงที่เดินมาแกทำงานที่อาคารนั้นจึงพาเข้าไป และพาขึ้นลิฟท์ไปชั้น ๒ ไปจ๊ะเอ๋กับคุณลินนี่ เจ้าของที่พักที่รู้ว่าเราจะมาก่อนเวลาบ่ายสามโมงพอดี เขาอธิบายวิธีไปเดอะมอลล์ ตลาดปลา และถนนที่ ๔ ซึ่งมีร้านต่างๆ และมีสถานี Metro Waterfront การไปกลับพิพิธภัณฑ์เขาแนะนำให้ใช้แท็กซี่ Uber ราคาถูกกว่า


เราได้ห้องพักที่เป็นห้องเตียงคู่ มีห้องน้ำในตัว ซึ่งมีอยู่ห้องเดียวในอพาร์ทเม้นท์ 201B ซึ่งมี ๓ ห้อง อีกสองห้องใช้ห้องน้ำรวม ส่วนครัวใช้ร่วมกันทั้งสามห้อง ระบบ wifi แรงและเร็วดีมาก


การเดินทางท่องเที่ยวสบายๆ สังเกตความเป็นอยู่ของผู้คน เอามาไตร่ตรองสะท้อนคิด ให้ความสนุก เพลิดเพลินยิ่ง เป็น tailor – made tour ที่ผมคิดขึ้นเอง สำหรับความสุขสำราญของตนเอง และสนองเป้าหมายหลักคือ พาสาวน้อยเที่ยวในยามสายัณห์แห่งชีวิตคู่ แต่ก็ไม่สงวนสิทธิทางปัญญา


วิจารณ์ พานิช

๔ ต.ค. ๕๙

ห้องพัก ในอพาร์ทเม้นท์ 201B 905, 6th Street NW, Washington DC 20024



1 สนามบินนาริตะ



2 ในห้องรับรองสายการบิน ANA



3 Amuse



4 รายการของ Amuse



5 หน้าตาของอาหาร Washoku ถาดแรก



6 รายการ



7 อาหารจานหลัก



8 คำอธิบายอาหาร Washoku



9 อาหารเช้า



10 คำอธิบายอาหารเช้า



11 ที่พักคืนวันที่ ๔ - ๖ ต.ค.

หมายเลขบันทึก: 618099เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2016 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2016 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท