ตำนานการสื่อสารรัชกาลที่ ๙ ตอนที่ ๒ Communications Lab in the Palace


King of Communication Engineer (Part II)

: Communications Lab in the Palace

เรียบเรียงโดย ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

วุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร


 

ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือตอนหนึ่งซึ่งท่าน ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ เป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์หนึ่งที่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และเป็นผู้ซึ่งเคยถวายงานด้านการประพันธ์เนื้อร้องประกอบทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ตั้งแต่ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช และท่านได้เล่าว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ มีความสนพระทัยในวิชาช่างตั้งแต่ทรงประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทรงมีห้องปฏิบัติการช่าง หรือที่เรียกกันว่า “Work Shop” อยู่ในพระตำหนักวิลล่าวัฒนา นครโลซานน์ ทรงมีพระสหายสนิทชื่อ สไลเดลิส เป็นช่างฝีมือชาวสวิส เชื้อสายกรีก และเป็นพระอาจารย์ทางด้านช่าง ซึ่งทรงโปรดทำงานร่วมกัน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงเจริญพระชนมายุอย่างมีความสุขในครอบครัวที่อบอุ่นแม้ไม่มีพระราชบิดา ที่ดินแดนต่างประเทศอันแสนศิวิไลซ์ ห่างไกลความวุ่นวายของประเทศไทยนัก

 

แต่แล้วพระองค์ก็ต้องมาเผชิญกับมรสุมชีวิตที่เปลี่ยนฟ้าผลัดแผ่นดินอย่างรวดเร็ว เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาถูกปลงพระชนม์ สร้างความเสียพระราชหฤทัยอย่างที่สุดเป็นแน่แท้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ จำต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ ข้าพเจ้าในฐานะผู้เรียบเรียงบทความยังแอบคิดในใจไปเองว่า หากข้าพเจ้าเกิดในยุคนั้น อาจจะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลพระราชหฤทัย ขอให้พระองค์ประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์นานๆ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยหรืออาจจะทรงมีพระเกษมสำราญมากกว่า

แต่สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าน้ำตาไหล เหตุผลอะไรกันนะ? ที่บุรุษผู้สูงศักดิ์องค์หนึ่ง ยอมทิ้งความสบายทั้งชีวิต ลงมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับราษฎรยากไร้อย่างคนไทยในยุคนั้น ข้าพเจ้าพบคำตอบโดยการรับรู้สึกถึง “ความรัก” ความรักจากหัวใจผู้ชายที่แสนดีที่สุดคนหนึ่งบนโลกมนุษย์ มีต่อผู้ใดก็ได้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “คนไทย”


 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์


 

ข้าพเจ้าได้ค้นคว้ามาเจอกับ พระราชนิพนธ์เรื่องแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ชื่อเรื่องว่า “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” 

เป็นพระราชนิพนธ์ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร ‘วงวรรณคดี’ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 พระราชนิพนธ์ชิ้นนี้เป็นบันทึกเรื่องราวที่พระองค์ทรงพบเจอในขณะระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ความว่า

 

วันที่ 19 สิงหาคม 2489 วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้นแล้ว ก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์


 

พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก


 

ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด

ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆว่า “อย่าละทิ้งประชาชน”

อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะละทิ้ง อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว..."

ข้าพเจ้าอ่านมาถึงตรงนี้รู้สึกมีน้ำตา ข้าพเจ้ารู้สึกเข้าใจพระองค์ท่าน ทรงมีความรักที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ความรักของพระมหากษัตริย์กับคนไทยที่ไม่มีวันที่คนชาติอื่นใดในโลกจะเข้าใจ บางทีข้าพเจ้าคิดในใจว่าคนไทยเรานั้น ยอมตายแทนพระเจ้าแผ่นดินได้ด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่ เช่นกันพระเจ้าแผ่นดินเองก็คงทรงยอมลำบากเพื่อตอบแทนความรักของกรวดดินหินทรายดั่งชาวประชาอย่างพวกเราเช่นกัน


 

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จนิวัติกลับพระนครจริงๆ และนับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงเริ่มต้นดำเนินพระราชกรณียกิจที่ยิ่งใหญ่มากมายอย่างไม่รู้จักทรงเหน็ดเหนื่อยพระองค์เอง นับตั้งแต่ทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ไปทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศใน ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และ หลายประเทศในเอเชีย ฟื้นฟูสัมพันธภาพทางการทูตและนำภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทยสู่สายตาชาวโลก 

ส่วนภารกิจการเสด็จพระราชดำเนินในประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในทุกภาค ด้วยทรงทราบถึงทุกข์สุขของราษฎรในชนบททุรกันดาร ที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน และขาดโอกาสชีวิตที่ดี

ซึ่งกาลต่อมาพระมหากษัตริย์หนุ่มที่ทรงภูมิปัญญาและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักที่ยิ่งใหญ่ ทรงเสด็จพระราชดำเนินย่ำพระบาทไปในหลายพื้นที่ที่ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร อันตราย หรือแม้แต่บริเวณชายแดน ทรงพระวิริยะอุตสาหะเข้าถึงเพื่อรับทราบปัญหา และทรงพยายามค้นคว้าหาทางแก้ไขปัญหาให้ราษฎรตลอดเวลา และทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลงไป ได้ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นได้ด้วยพระปรีชาในหลายเรื่องราว ในหลายพื้นที่ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร โดยมิได้ทรงคำนึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย ในการเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดาร นอกจากการคมนาคมด้วยถนนหนทางแล้ว สิ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อกับคนภายนอกได้หรือขอความช่วยเหลือจากทางการเมื่อเกิดทุกข์เข็ญได้ นั่นก็คือ “การสื่อสาร”


 


 

ทรงเริ่มต้นจริงจังกับระยะวิทยุสื่อสาร

ในปี พ.ศ. 2511 อาจจะนับเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงจริงจังกับวิทยุสื่อสาร แม้พระองค์จะทรงมีพื้นฐานมามากพอสมควร แต่ในปีนั้น พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสื่อสาร กรมตำรวจ ในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องวิทยุสื่อสาร FM-1 และ FM-5 จำนวน 2 เครื่อง พร้อมประมวลสัญญาณเรียกขาน และประมวลคำย่อที่ใช้ในภารกิจของตำรวจ พร้อมถวายสัญญาณเรียกขาน “กส.9” สําหรับทรงติดต่อกับศูนย์ควบคุมข่าย “ปทุมวัน” และ “น.9” สําหรับทรงติดต่อกับข่าย “ผ่านฟ้า” ของกองบัญชาการตํารวจนครบาล นอกจากเครื่องวิทยุสื่อสารที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ยังรวมทั้งเครื่องมือตรวจวัด และสายอากาศแบบต่างๆ อีกหลายรายการ ไว้ให้ทรงใช้งานเพื่อสามารถทรงรับฟัง และติดต่อสื่อสารกับหน่วยตํารวจต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาคได้


 

ขอบคุณภาพตัวอย่างวิทยุสื่อสารแบบ FM-5 ตามในประวัติศาสตร์ จาก http://www.wb6nvh.com/mystry/mystry3.htm

 

ขอบคุณภาพตัวอย่างวิทยุสื่อสารแบบ FM-1 ตามในประวัติ

จาก http://k4che.com/HallicrafterFM-1B/MVC-762F.JPG

 

วิทยุสื่อสารทั้งแบบ FM-5 และ FM-1 เป็นยี่ห้อ   Hallicrafters ผลิตโดยบริษัท Northrop Corporation Made in USA และอีกบริษัทคือ HAMMARLUND เป็นเครื่องลักษณะเดียวกัน ผลิตในยุคปี ค.ศ. 1960's เพื่อใช้ในสงครามเวียตนาม ซึ่งสหรัฐอเมริกาเหลือใช้ในสงครามเวียตนามจึงบริจาคให้รัฐบาลไทยไว้ใช้ประโยชน์ 

โดย FM-5 เป็นวิทยุสื่อสารแบบตั้งโต๊ะหรือภาษาชาวบ้านเรียกเป็นเบส ชื่อรุ่นจริงคือ OPS/FM-5 FM-5 VHF มอดูเลชั่นแบบ FM ใช้ Crystals กำเนิดความถี่ที่ 153 MHz และมีช่วงความถี่ใช้งานในย่าน 150-163 MHz

ส่วน FM-1 เป็นมือถือหรือเรียกว่า walkies-talkie ชื่อรุ่นจริงคือ OPS/FM-1 ช่วงความถี่ใช้งานในย่าน 148-170 MHz มอดูเลชั่นแบบ FM ใช้แบตเตอรี่แบบ Eight standard D cells or two nickel-cadmium กำลังส่ง 1.5 วัตต์ และความไวภาครับสัญญาณ (Sensitivity) (20 dB) 0.6 uV

ตัวอักษรรุ่น OPS นั้นเป็นรหัสเฉพาะที่ใช้ในภารกิจ ซึ่ง CIA ได้ให้การสนับสนุนผ่านทางองค์กรที่เรียกว่า Office of Public Safety (OPS) โดยมีวัตถุประสงค์หาเครื่องวิทยุสื่อสารราคาถูกแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหรือคนหาข่าวของรัฐบาลเวียดนามใต้เพื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของเวียดกง ในยุคแรกๆ OPS ไม่ระบุยี่ห้อ เพราะสหรัฐยังไม่เข้าร่วมสงครามโดยตรง ไม่ติดอักษร ข้าพเจ้าเห็นในอินเทอร์เน็ต บางเครื่องติดภาษาเวียตนาม บางเครื่องติดภาษาไทยก็มี แนวคิดการออกแบบคือ ถูก ทนใช้ง่าย จาการค้นคว้าข้าพเจ้าเข้าใจว่าวิทยุสื่อสาร FM-1B มีระบบ Private line (PL) ด้วย โดยใช้ระบบควบคุมวงจรขยายเสียงภาครับด้วยโทนเสียงควบคุม สเควลช์ (CTCSS)

 

ทรงเริ่มต้นพบปัญหาในระบบวิทยุสื่อสาร

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้ทรงใช้เครื่องวิทยุสื่อสารดังกล่าวในการทรงรับฟังเครือข่ายของตำรวจจากภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งรายล้อมไปด้วยเสาสูงติดตั้งสายอากาศที่มีกำลังส่งสูงของทั้ง สถานีวิทยุสื่อสาร สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ รอบใจกลางกรุงเทพมหานคร จึงมีสัญญาณรบกวนแทรกสอดเข้ามาเป็นประจำ และได้ทรงบัญญัติศัพท์การรบกวนทางวิทยุสื่อสารว่า “Radio Pollution”

และในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ การติดต่อสื่อสารระหว่างกรมราชองครักษ์ และตำรวจสื่อสารใช้วิทยุสื่อสารย่าน VHF รายงานสถานการณ์ตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าสองหน่วยงานใช้วิทยุสื่อสารคนละย่านความถี่กัน แต่ในครานั้นทุกครั้งที่ตำรวจรายงานข่าว กลับไปได้ยินที่ภาครับของฝ่ายองครักษ์ชัดเจน ขณะเดียวกันเมื่อฝ่ายองครักษ์ส่งบ้างเกิดการรบกวนที่ภาครับของฝ่ายตำรวจเพียงแค่เสียงซู่ซ่าเท่านั้น ในตอนแรกยังคงมิได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งแต่ประการใด อาจจะเพราะเป็นช่วงที่เริ่มต้นศึกษาค้นคว้าจริงจังในระบบวิทยุสื่อสาร ด้วยความเข้าใจส่วนตัวของข้าพเจ้าว่า วิทยุสื่อสารน่าจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้ราษฎรและข้าราชการในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารได้อย่างดีพระองค์จึงเริ่มสนพระทัยมากขึ้นเรื่อย

 

ทรงทำการศึกษา วิจัย และทดลอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงใช้เวลาต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หลังจากเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจที่ทรงงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงไปแล้ว โดยจะทรงมาทำการค้นคว้าทดลองต่อในเวลาดึก (เลยหลังเที่ยงคืน) บางวันเลิกจนใกล้รุ่ง ในที่สุดจึงได้ข้อสรุปในชั้นต้นว่า

“ภาครับของวิทยุสื่อสาร FM-5 ที่ทรงใช้งานอยู่ ถูกออกแบบมาไม่ดีเท่าใดนัก และความสามารถในการเลือกรับสัญญาณ (Selectivity) ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเป็นเครื่องที่ สหรัฐอเมริกาสั่งซื้อเหมาเป็นจำนวนมากไปใช้ในสงครามเวียตนาม และวงจรขยายสัญญาณความถี่ปานกลาง (IF Amplifier) ให้กำเนิดความถี่ (Frequency) ไม่คงที่”

ข้าพเจ้าขออธิบายเพิ่มเติม สำหรับหลักการทำงานเครื่องวิทยุสื่อสารในยุคนั้น ความสามารถในการเลือกรับสัญญาณ (Selectivity) ของเครื่องวิทยุสื่อสารที่ดีเขาจะวัดกันที่ วงจรกรองความถี่จะต้องมีการกรองเลือกรับสัญญาณที่ตรงช่องความถี่ของตนให้ชัดที่สุด แม้สัญญาณที่ได้รับนั้นมีกำลังส่งมาถึงน้อยที่สุด โดยความถี่ช่องข้างเคียงมารบกวนไม่ได้ ส่วนวงจรขยายสัญญาณความถี่ปานกลาง (IF Amplifier) ชิ้นส่วนในวงจรที่สำคัญของระบบนี้คือ Local Oscillator และวงจร Mixer วงจรจะผลิตสัญญาณเป็นความถี่ IF (Intermediate frequency) ค่าตายตัวค่าหนึ่งก่อน โดยเครื่องวิทยุสื่อสารรุ่นนี้จะใช้ความถี่ IF เท่ากับ 455 kHz และจะนำไปผสมกับสัญญาณ RF เพื่อเข้าสู่กระบวนการแยกสัญญาณภาครับต่อไป

ข้าพเจ้าได้ค้นคว้าคุณสมบัติเครื่องวิทยุสื่อสารรุ่นนี้เข้าใจว่าภาคกำเนิดความถี่หรือ Oscillator ที่ว่ายังใช้แร่ Crystal แบบโบราณเหมือนสมัยวิทยุแร่อยู่นั่นเอง จึงทำให้การกำเนิดความถี่ไม่เสถียรพระองค์ทรงมีรับสั่งว่า ความถี่ IF ในภาครับของเครื่องวิทยุ FM-5 เป็น “Walking Frequency” หรือความถี่เดินได้ ในสมัยเป็นนักศึกษาวิศวะฯ ข้าพเจ้าก็พบว่า Crystal นั้นไม่มีเสถียรภาพเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง เมื่อค้นหาภาพวงจรและส่วนประกอบภายในของเจ้าวิทยุสื่อสารแบบ FM-5 มาศึกษาดู จากประสบการณ์เป็นวิศวกรวิทยุสื่อสาร ข้าพเจ้าเห็นพ้องตามพระราชวินิจฉัยของพระองค์ทันที

 ภาพตัวอย่างวงจรภายในวิทยุสื่อสารแบบ FM-5 VHF/FM
 

 


 

ภาพตัวอย่างวงจรภายในวิทยุสื่อสารแบบ FM-5 VHF/FM

เมื่อดูจากภาพวงจรภายในวิทยุสื่อสารแบบ FM-5 หากบอกว่าเจ้าวิทยุเครื่องนี้ใช้มือคนประกอบและเชื่อมวงจร ข้าพเจ้าก็เชื่อแบบนั้นได้ทันที ไม่ใช่โรงงานที่มีเครื่องจักรกลโรงงานที่มีมาตรฐานในการประกอบอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์แน่นอน แม้สเป็กเครื่องที่ระบุไว้ในคู่มือจะมีมาตรฐานที่สูงตาม Military standard ก็ตาม เพราะวงจรมีอุปกรณ์ปรับค่าได้ทั้งนั้น ที่สามารถปรับจูนหน้างานได้อยู่แล้วหากมีการตรวจรับสินค้า จริงอยู่การใช้งานในสงครามเวียตนามนั้นไม่น่ามีปัญหาทำการรับส่งสัญญาณได้แน่นอน แต่ในเมืองที่มีสถานีวิทยุมากมาย มีหลายคลื่นใกล้เคียงช่องสัญญาณกัน ภาครับหรือวงจรกรองความถี่ก็ตาม ต้องใช้เครื่องจักรกลที่แม่นยำในการประกอบ ที่มีประสิทธิภาพกว่าทักษะมนุษย์ และต้องมีเสถียรภาพของวงจรที่สูงกว่านี้มากๆ ดังนั้นการใช้วิทยุสื่อสารที่มีวงจรคุณภาพไม่ดีเช่นนี้มาใช้ในใจกลางเมืองกรุงดังในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเยี่ยงนี้ไม่ดีแน่

อีกปัญหาที่ยังคงอยู่นั่นคือ การรบกวนกันของวิทยุสื่อสารระหว่างกรมราชองครักษ์ และตำรวจสื่อสารเมื่อปฏิบัติงานในบริเวณใกล้เคียงกันดังที่กล่าวมา ปัญหานี้มิได้เกี่ยวข้องกับเครื่องวิทยุสื่อสารของพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ พระราชทานการบ้านให้ พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ลองไปสืบสวนหาสาเหตุ และท่านได้ทูลเกล้าฯ ถวายบทความวิชาการประมาณ 6 หน้า เรื่อง Inter modulation หรือการผสมคลื่นระหว่างวิทยุ 2 สถานีที่ส่งสัญญาณพร้อมกันอยู่บริเวณใกล้เคียงกันในระยะไม่เกิน 100 เมตร ทำให้เกิดความถี่ใหม่ออกมาตามธรรมชาติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

จากเอกสารวิชาการดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้ทรงทำการทดลองส่งวิทยุสื่อสารที่ความถี่ต่างๆ พร้อมกัน โดยทรงเริ่มตั้งแต่ 12.5 kHz แล้วเพิ่มขึ้นทีละเท่าตัวเป็น 25 kHz และ 50 kHz แล้วทรงสังเกตและบันทึกว่าผลการรบกวนกันเป็นไปอย่างไร แล้วทรงพระราชทานผลการทดลองให้ พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ทราบ นอกจากนั้นยังทรงพระราชทานความรู้ที่ได้ค้นพบเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เอกสารวิชาการฉบับดังกล่าวบอกไว้ว่า จะเกิดการรบกวนเมื่อสถานีวิทยุ 2 สถานี ส่งสัญญาณพร้อมกันในบริเวณไม่เกิน 100 เมตร แต่พระองค์ท่านทรงค้นพบว่า แม้อยู่ห่างกันเกิน 100 เมตร ก็ยังสามารถเกิดการรบกวนกันได้อยู่

แม้พระองค์จะทรงทราบว่าปัญหาที่เกิดจาก Inter modulation อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ที่สถานีวิทยุหน่วยหนึ่งไปรบกวนภาครับอีกหน่วยหนึ่ง แต่ปัญหานั้นยังคงอยู่ ขณะนั้นพระองค์ทรงมีความเชี่ยวชาญหลักการทำงาน ตลอดจนสถาปัตยกรรมวงจรวิทยุสื่อสารมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อทรงเห็นว่าปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จึงทรงหยิบปัญหาการรบกวนดังกล่าวมาทรงวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง

จากการศึกษา ทดลอง และวิเคราะห์ อยู่หลายครา พระองค์ทรงพบว่า สาเหตุที่วิทยุสื่อสารของตำรวจไปรบกวนภาครับของกรมราชองครักษ์ขณะปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากว่าวิทยุสื่อสารของกรมราชองครักษ์ใช้เครื่องยี่ห้อ Motorola ที่มีความถี่ IF (วงจรขยายสัญญาณความถี่ปานกลาง (IF Amplifier)) เท่ากับ 11.7 MHz และความถี่ที่ทั้งสองหน่วยงานใช้ต่างกัน 5.85 MHz เท่ากับครึ่งหนึ่งของความถี่ IF พอดี ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเหตุผลว่า การรบกวนที่เกิดจาก Inter modulation ดังกล่าวเป็นฟิสิกส์ของคลื่น แต่ปัญหาในทางปฏิบัติมิใช่มีเพียงเท่านั้น แต่เกิดจากเครื่องวิทยุสื่อสารด้วย "หากครึ่งหนึ่งของความถี่ IF ของฝ่ายหนึ่ง มีค่าเท่ากับผลต่างระหว่างความถี่ทั้งสองสถานี จะเกิดการรบกวนกันอย่างรุนแรง"

พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ได้บันทึกเรื่องดังกล่าวว่า อีกหลายสิบปีต่อมาท่านได้พยายามค้นคว้าเรื่องการรบกวนในลักษณะดังกล่าวเพิ่มเติมก็ไม่พบตำราและเอกสารใดเคยมีความเห็นทางวิชาการเช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบมาก่อน 

 ส่วนตัวข้าพเจ้าก็เห็นด้วย ข้าพเจ้าก็ไม่เคยทราบมาก่อนว่า ลักษณะการรบกวนในระดับ Harmful-interference อย่างนี้จะเกิดจากความถี่ IF ในภาครับวิทยุสื่อสารมีค่ามากกว่าผลต่างระหว่างความถี่สองสถานีครึ่งหนึ่งอย่างนี้เช่นกัน พระองค์ต้องทรงทำการทดลองจริงจัง นอกจากมีทฤษฎีที่ครบถ้วนแล้ว จะต้องตั้งสมมุติฐานในหลายรูปแบบ แล้วทำการทดลองในหลายมิติ และนำผลหลายๆ ครั้งมาทำการสรุปได้

การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ จะทรงมีพระราชวินิจฉัยปัญหาทางวิศวกรรมวิทยุสื่อสารดังในเกร็ดประวัติศาสตร์ได้นั้น พระองค์จะต้องมีห้องทดลองวิทยุสื่อสารส่วนพระองค์ (Communication Laboratory) ในพระตำหนัก และนอกจากจะมีวิทยุสื่อสารแล้ว อย่างน้อยข้าพเจ้าเชื่อว่าต้องมีเครื่องมือวัดในระดับเป็นห้องทดลองทางวิศวกรรมเลยทีเดียว อาทิเช่น นับตั้งแต่ Volt meter ไปจนถึง Oscilloscope หรือแม้แต่อาจจะมี Communication analyzerด้วยก็เป็นได้


 

เมื่อเร็วๆ นี้ข้าพเจ้าได้ดูรายการใน YouTube สำนักข่าว BBC ได้ส่งทีมถ่ายทำสารคดีเข้ามาในประเทศไทย ในราวปี พ.ศ. 2521 - 2522 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามเสด็จถ่ายทำพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ที่ห้องทรงงานในพระราชวังจิตรลดารโหฐาน เพื่อถ่ายทำสารคดี Soul of a Nation – The Royal Family of Thailand (ศูนย์รวมใจของชาติ – พระราชวงศ์ไทย) ซึ่งเคยออกอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2523 แม้ภาพจะไม่ชัดเนื่องจากคุณภาพเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ทำให้ได้เห็นบรรยากาศภายในห้องทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ นับจากทรงจริงจังกับวิทยุสื่อสารเมื่อสิบปีที่ผ่านมา มีชุดเครื่องมือสื่อสารจำนวนมาก ที่พระองค์ท่านทรงใช้เพื่อรับฟังข่าวสารภัยพิบัติ และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในหลายท้องที่ของประเทศ เพื่อที่พระองค์จะทรงส่งความช่วยเหลือไปยังพสกนิกรของท่านได้อย่างทันท่วงที นี่เป็นคลิปที่ชาวไทยทุกคนควรจะได้ดู

https://www.youtube.com/watch?v=pHj...

 


 


 

 

ข้าพเจ้าศึกษาค้นคว้ามาถึงตรงนี้พบว่า นอกจากแรงบันดาลในวัยเด็กที่สร้างวิทยุแร่เป็นพื้นฐานให้พระองค์สนใจศึกษาเรื่อยมาจนมีความรู้ด้านเทคโนโลยีวิทยุสื่อสารที่สูงมากในระดับหนึ่งแล้ว จึงมั่นใจว่าพระองค์เป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีด้านนี้พระองค์หนึ่งจริงๆ และนอกจากนั้นสิ่งที่ทำให้พระองค์หันกลับมาอุทิศพระองค์ทำการค้นคว้าทดลองเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ของเทคโนโลยีสื่อสารในยุคนั้น ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลที่ทรงเห็นว่า การแก้ไขปัญหาราษฎรเครื่องมือสื่อสารเป็นกุญแจสำคัญที่สุดประการหนึ่ง

เหตุผลทั้งปวงก็ด้วย “ความรัก” ที่ทำให้บนโลกนี้มี “ห้องทดลองการสื่อสาร” ในพระราชวังของพระราชาแห่งเดียวในโลก และข้าพเจ้าได้ทราบคำบอกเล่าเป็นตำนานไม่รู้จริงหรือไม่ว่า ห้องทดลองและทรงงานนี้อยู่ข้างห้องบรรทมในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อที่จะทรงอุทิศตนทรงงานได้ตลอดเวลา

“The legend of Communications Lab in the palace”

 

 

 

 


 


 

อ้างอิง

- “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์” พระราชนิพนธ์โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ตีพิมพ์ลงในวารสาร ‘วงวรรณคดี’ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490

- “พระเจ้าอยู่หัว นักวิทยุสื่อสารผู้ยิ่งใหญ่” พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ พ.ศ. 2550

- “ตามรอยเครื่องวิทยุสื่อสาร FM-1 และ FM-5 เครื่องวิทยุส่วนพระองค์ของในหลวง” ทศพนธ์ นรทัศน์ พ.ศ. 2554 (http://www.ictforall.org/Articles/HM_the_King_with... )

 


 


 


 


 


 


 

 


 


 

หมายเลขบันทึก: 617922เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2016 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2021 09:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท